ใต้ยุทธศาสตร์ "ตงหมง" ของปักกิ่ง และสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ได้ก่อรูปเขตการค้าการลงทุนใหม่ให้กับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนอย่างน่าจับตา แต่ก็เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่า ทุนไทยจะสามารถเข้ายึดกุมตลาดใหม่นี้ได้หรือไม่
ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) มุ่งเป้าเปิดเส้นทางออกสู่ทะเลให้มณฑลหยุนหนัน และ 4 มณฑลใกล้เคียง ที่เรียกรวมกันว่า "ซีหนาน" ผ่านกรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เปิดเส้นทางคมนาคมจากซีหนาน-อาเซียน ผ่านคุน-มั่ง กงลู่ หรือถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ, เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงตอนบน มีท่าเรือจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เป็นเกตเวย์ในการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออก มีหยุนหนันเป็นเมืองหลักของการพัฒนาตามนโยบาย "ตงหมง"
พร้อมๆ กับทุ่มงบพัฒนาโครงการคมนาคมทั้งทางบก-ทางน้ำ เชื่อมซีหนาน-อาเซียน ผ่านลาว พม่า เวียดนาม และไทย เปิดทางให้ใช้ระบบการค้าพิเศษ ด้วยการยกเว้น-ผ่อนปรนภาษีนำเข้าสินค้าผ่านชายแดน รวมถึงข้อตกลง FTA ไทย-จีนที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 รวมถึงข้อตกลงจีน-อาเซียนที่จะมีผลเต็มรูปแบบในปี 2553
ทำให้ "หยุนหนัน" กลายเป็นประตู สินค้าพิเศษที่มีสิทธิพิเศษมากกว่าการนำเข้าผ่านท่าเรือต่างๆ ในฝั่งตะวันออกของ สป.จีน มาก ทั้งท่าเรือกวางเจา เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ทั้งยังร่นระยะทางส่งสินค้าจากไทย เข้าสู่ตลาดจีนได้หลายเท่าตัว หากส่งสินค้า เข้าจีนผ่านชายแดนหยุนหนัน ที่มีท่าเรือจิ่งหง เป็นเกตเวย์ มีคุนหมิงเป็นเขตเสรีทางการเงิน และมีถนนคุน-มั่ง กงลู่ รองรับ (อ่านรายละเอียดใน "คุน-มั่ง กงลู่ ท่อทุน/สินค้าจีนสู่อาเซียน" ประกอบ)
ภายใต้นโยบาย "ตงหมง" ของปักกิ่ง ได้ก่อกำเนิด "ใบอนุญาตแสดงสินค้า" ที่กินความหมายครอบคลุมทั้งกระบวนการขนส่ง-โฆษณา-จำหน่ายสินค้าขึ้นในมือของ "กลุ่มบริษัทมณีต้าหมิง" นิติบุคคลสัญชาติจีนที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100%
ซึ่งถือเป็น "ใบเบิกทาง" สำคัญสำหรับการทำตลาดใน สป.จีนที่มีผู้บริโภค มากกว่า 1,300 ล้านคน เฉพาะหยุนหนัน ก็มีประชากรมากกว่า 45 ล้านคน เกือบเท่าประเทศไทยทั้งประเทศ และเฉพาะซีหนาน หรือ 5 มณฑลตะวันตกเฉียงใต้ ก็มีประชากรมากร่วม 300 ล้านคน
กัลยาณี รุทระกาญจน์ ประธาน กรรมการบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า แม้ว่าจีนจะเดินหน้า นโยบาย "ตงหมง" เต็มที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ ชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ให้ทัดเทียมกับ ชายฝั่งทะเลตะวันออก แต่ก็ไม่ทิ้งความเข้มงวดการลงทุนจากต่างชาติที่มีมาแต่ ไหนแต่ไร เช่น ขณะที่ FTA ไทย-จีน มีผลบังคับใช้พืช ผัก ผลไม้ จีนนำเข้าไทยภายใต้ภาษี 0% แต่สินค้าเกษตรไทย แม้นำเข้าจีนเสียภาษี 0% แต่ต้องเจอ VAT แต่ละมณฑลอยู่ รวมถึง Non Tariff Barrier อีกหลายกรณี เช่น นโยบาย One License For One Product ที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า, ใบอนุญาตค้าส่ง, ใบอนุญาตค้าปลีก/กฎระเบียบการนำเข้า ทั้งการตรวจโรคพืช-มาตรฐานความปลอดภัยสินค้า, ใบแสดงถิ่นกำเนิด/มาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกัน (อ.ย., มอก.) เป็นต้น
ที่จริงแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนต่างชาติจะได้ใบอนุญาตนี้ เพราะ รัฐบาลจะอนุญาตให้เฉพาะนักลงทุนในประเทศเท่านั้น หรือถ้าเป็นกิจการร่วมทุนก็ต้องมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
"แต่เราได้มาด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 600,000 หยวน หรือประมาณ 3 ล้านบาท"
ที่มาที่ไปของใบอนุญาตแสดงสินค้าใน สป.จีน ที่แม้ว่าบริษัท มณีต้าหมิง จำกัด จะได้มาเพราะนโยบาย "ตงหมง"ซึ่งมุ่งเป้าพื้นที่ซีหนาน แต่สามารถดำเนินการได้ทุกมณฑลนั้น กัลยาณีบอกว่าได้รับอนุมัติจากปักกิ่งโดยตรงเมื่อปี 2546
กัลยาณีเชื่อว่า ใบอนุญาตแสดงสินค้าใน สป.จีนที่มีอยู่ในมือจะเกื้อหนุนสินค้าไทยทำตลาดจีนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น หลังจากกระบวนการรุกเข้าสู่ตลาดประเทศที่ได้ชื่อว่า จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก ผ่านประตู "พิเศษ" ยังไม่ปรากฏรูปธรรมเท่าใดนัก
หลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มกิจการขนาดกลาง-เล็ก (SMEs) ที่มุ่งหวังทำตลาดจีน ต้องประสบกับสารพัดปัญหา ทำได้เพียงส่งสินค้าไป "ฝากขาย" ซึ่งไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่า จะขายได้หรือไม่ สุดท้ายต้องม้วนเสื่อกันรายแล้วรายเล่า
กัลยาณีเล่าประสบการณ์นำสินค้าไทยเข้าจีน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ว่า หลังบริษัทได้ใบอนุญาตแสดงสินค้า ได้ขอสัมปทานการเคหะหยุนหนัน สป.จีน 5,000 ตร.ม. ตั้งเป็นศูนย์แสดงสินค้าไทย-จีน ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน เพื่อพัฒนาให้เป็น "permanent exhibition center" ขนาดเล็ก จากนั้นเปิดให้ผู้ประกอบการไทยเช่าพื้นที่นำสินค้าเข้าแสดงครั้งที่ 2 ในชื่องานแสดง "สินค้าข้าว-ธัญพืช" ปรากฏว่า
- ลำไยไทย 1.2 ตัน ถูกกัก เพราะ ไม่มีใบรับรองการตรวจโรคพืชจากไทย
- เจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจสอบสินค้าก่อนจัดแสดง พบว่า 72% ของรายการสินค้าทั้งหมดมีปัญหาน้ำหนักสินค้าไม่ตรงกับที่ฉลากระบุ ส่วนใหญ่แสดงน้ำหนักสุทธิ ไม่ได้แสดงน้ำหนักตามสัดส่วน
- สินค้า OTOP ของไทยบางชนิด มีเชื้อแบคทีเรียมากกว่า 1 ล้านชนิด
คราวนั้นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันวุ่นวาย แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย-กลางไทยหลายรายได้ออเดอร์กลับมา
แม้ว่ารัฐไทยจะพยายามจัดสัมมนากระตุ้นให้ SMEs ไทยบุกตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันโครงการศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ใน สป.จีน 12 แห่ง ด้วยการตีตรารับประกันให้เอกชนที่ลงทุนเปิด DC ไทยใน สป.จีน-ชักชวนให้ลงทุนเช่าพื้นที่ใน DC เพื่อนำสินค้าไทยเข้าไปวางจำหน่ายก็ตาม
แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้หลายประเด็นว่า เมื่อผู้ประกอบการไทยลงทุนเช่าพื้นที่ใน DC แล้ว จะขายปลีกหรือขายส่งได้หรือไม่/ต้องมีใบอนุญาตค้าปลีก-ค้าส่งหรือไม่/ต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใน สป.จีน หรือไม่/หรือต้องนำสินค้าไทยไปฝากขายเท่านั้น
ซึ่งในข้อเท็จจริงของการนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนนั้น จะต้องจัดส่งตัวอย่างพร้อมเอกสารขออนุญาตจากหน่วยตรวจโรคพืช, ตรวจสอบมาตรฐานน้ำหนักสินค้า ที่ต้องแจ้งในฉลากด้วยว่า สินค้าแต่ละชนิดมีสัดส่วนน้ำเท่าใด-เนื้อสินค้าเท่าใด บวกลบได้ไม่เกิน 10%
เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้วต้องยื่นเสียภาษีตามพิกัดภาษีและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องตรวจสอบพิกัดจาก Customs Import and Export Tariff of the People's Republic of China ที่ สป.จีน กำหนด และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มปีละครั้ง จำหน่ายเล่มละ 260 หยวน (กรณีนำสินค้าโชว์ในงานแสดงสินค้า เพื่อโชว์ แจกชิม ไม่ต้องเสียภาษี-VAT แต่กรณีต้องการขายสินค้าต้องชำระทั้งภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีค้าปลีก)
หมายถึงจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใน สป.จีน แน่นอน ต้องร่วมทุนกับกลุ่มทุนจีน ที่ย่อมมีความเสี่ยงในประเด็นข้อกฎหมาย-ใช้เงินทุนสูง เพื่อขอใบอนุญาตค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการทำมาตรฐาน-แพ็กเกจ-ฉลากสินค้าให้ตรงกับระเบียบข้อกฎหมายจีนกำหนดไว้ทุกกระเบียด
ดังนั้นการนำสินค้าไทยเข้าตลาดจีนระยะที่ผ่านมา จึงเป็นไปในลักษณะการนำเข้าเพื่อโชว์-ให้ชิมในงาน ก่อนจะไปจบที่ "ฝากขาย" เท่านั้น
และด้วยปมปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนว่า สุดท้ายรัฐไทยได้แต่หันมาใช้นโยบาย "กวนซี่" ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไปใส่โสร่งเป็นสินค้าพม่า เพื่อใช้สิทธิ์เป็นสินค้าชายแดน หรือนำสินค้าเข้าจีนภายใต้สิทธิทางการทูต หรือนำเข้าเพื่อแสดง-โชว์ ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากทางการจีน
ทั้งที่ในความเป็นจริงแนวทางนี้หากินได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น หรือได้แต่ "กล่อง" เท่านั้น
แต่ถ้าทำตามกฎหมายของ สป.จีนได้ จากนั้นใช้หลักกวนซี่เกื้อหนุนก็จะกินได้ยาวไม่มีที่สิ้นสุด
"ที่จริงข้าราชการไทยไปเยือนจีนเพื่อเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศบ่อยครั้งที่สุด-จีนก็รักคนไทยมากที่สุด แต่ก็เป็นไทยเองที่ไม่ได้ผลประโยชน์ทางการค้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ"
ตามตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่าง จีน-ไทยจากกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน ระบุว่า การส่งออกสินค้าจากมณฑลหยุนหนันผ่านเข้าชายแดนเชียงราย ปี 2005 มีมูลค่า 129.52 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2006 มูลค่า 109.19 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2007 มีมูลค่า 156.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2007 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 43.60% เมื่อเทียบกับปี 2006) ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทย ปี 2005 มีเพียง 21.50 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2006 มีมูลค่า 21.50 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2007 มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลายคนเชื่อว่าหลังจากถนนคุน-มั่ง กงลู่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการ มูลค่าการส่งออกของหยุนหนันผ่านเข้าสู่ประเทศไทยจะเพิ่มอีกหลายเท่า จากเดิมที่เทียบสัดส่วนได้เพียง 1% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-จีนเท่านั้น
แต่มูลค่าสินค้าจากไทยเข้า สป.จีน ผ่านพรมแดนด้านนี้ยังมีปัญหาอยู่
|