|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
หากจะเล่าเรื่องเมืองอยุธยาที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านปากคำของคนอยุธยา หนึ่งในนั้นคงต้องมีมาโนช พุฒตาล รวมอยู่ด้วย
หนุ่มใหญ่วัย 52 ผู้นี้เกิดในครอบครัวมุสลิมที่ชุมชนหัวแหลม จังหวัดอยุธยา ภายใต้ชุมชนแห่งนี้เรียกได้ว่า เขาเติบโตมาท่ามกลางความกลมกลืนสมานฉันท์ของทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม ที่อยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ในชุมชนละแวกนี้
Q: หลังจากที่อยุธยาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก วิถีชีวิตคนอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?
A: สมัยเรียน โรงเรียนของผมตั้งอยู่กลางพื้นที่มรดกโลกเลยปีละ 200 กว่าวันที่ผมต้องขี่จักรยานผ่านหลังวัดมงคลบพิตรผ่านซากวังโบราณ ผ่านบึงพระรามไปโรงเรียน เช้าเย็นก็อยู่กับโบราณสถานเหล่านี้ แต่พอมาถึงวันนี้ ผมไม่ค่อยจะแวะไปดู มรดกโลกแล้ว เพราะสะเทือนใจมากกว่าภาพจำที่ให้ความรู้สึกดีเหล่านั้น กลับถูกแทนที่ด้วยป้ายโฆษณาที่เกะกะสายตากับแผงร้านค้าขายของเต็มไปหมด
Q: ในฐานะคนท้องถิ่น คนอยุธยาคิดกันอย่างไรกับการที่โบราณสถานของตัวเองได้เป็น 1 ใน 5 แหล่งมรดกโลกของไทย?
A: สุดท้าย การที่อยุธยาได้เป็นมรดกโลกหรือไม่ สำหรับผม ผมไม่เห็นว่ามันจะมีผลอะไร เท่าที่รู้ ผลลัพธ์ออกมาก็ไม่ค่อยดีแล้ว เพราะทำให้คนมาเที่ยวเยอะเสียจนมากเกินไปหรือเปล่า ผมไม่รู้นะว่ากติกาการเป็นมรดกโลกเป็นยังไง โดยวิธีแล้วน่าจะดี เพราะรัฐก็จำเป็นต้องเข้ามาดูแลโบราณสถานให้อยู่ในสภาพที่ดีเพื่อจะได้ไม่ถูกถอดถอน แต่พอถึงเวลาก็เป็นอย่างที่เห็น ถามว่า ถ้าไม่ได้เป็นมรดกโลก ถ้าเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่ไม่ได้เป็นมรดกโลก มันแตกต่างกันแค่ไหน บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องตาลีตาเหลือกขอเป็นมรดกโลกก็ได้ ผมคิดว่าคนท้องถิ่น หลายคนอาจจะคล้ายกัน คือไม่ได้ตระหนักว่าพื้นที่มรดกโลกมีคุณค่าระดับโลก ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เห็นเสาส่งสัญญาณมือถือยืนเด่นเป็นสง่าแทนที่เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลและคงไม่ต้องทนเห็นป้ายโฆษณาและป้ายนักการเมืองเต็มเมืองอยุธยาไปหมด
Q: หลายประเทศอยากขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพราะหวังผลทางด้านการท่องเที่ยว ในฐานะคนอยุธยามองอย่างไรกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอยุธยา?
A: ธุรกิจท่องเที่ยวในอยุธยาเป็นประเภท "คนรักไม่ได้ทำ" ส่วนคนที่ทำก็ไม่ได้เป็นคนที่มาจากสายงานหรือมาจากตำแหน่ง ยกตัวอย่างมรดกโลกที่อยุธยา ถ้าให้คนรักอยุธยามาดูแล ผมว่าสภาพแวดล้อมของเมืองคงไม่ออกมาเป็นแบบนี้ เพราะคนที่รักในโบราณสถาน รักในชีวิตวัฒนธรรม และภูมิใจในประวัติศาสตร์ ก็คงไม่อยากให้ซากวัดเก่าวังโบราณของอยุธยา แปดเปื้อนหรือเสียหาย สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยทั้งความรักและความทุ่มเท ฉะนั้นคนที่จะดูแลพื้นที่มรดกโลกมันต้องไม่ใช่คนค้าขาย แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คนที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการ โบราณสถานเหล่าเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้รักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้เลย เห็นแก่เงินจากการท่องเที่ยว ถามว่า เราไม่มีคนหรือ เรามีเยอะแยะไป แต่สังคมไทยยังติด "ภาพ"คนมีความรู้มักไม่ได้ลงมือ แต่คนที่ลงมือมักมาจากสายการเมือง แล้วสายการเมืองเส้นทางมายังไงก็รู้กันอยู่แล้ว ไม่ได้มีจิตสำนึก ไม่ได้เข้าใจเรื่องแบบนี้ กรณีอยุธยา ผมก็รู้จักอาจารย์ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านตั้งเยอะ แต่ทำไมท่านเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้มาออกคำสั่งอะไรที่น่าจะมีประโยชน์ กลับเป็นบรรดาลูกเจ้าของโรงแรม เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของธุรกิจ หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้ไปทำตรงนี้
Q: การจัดการท่องเที่ยวในอยุธยาที่คุณอยากเห็นหรืออยากให้เป็นน่าจะมีลักษณะอย่างไร?
A: ก่อนอื่น ผมว่าต้องรื้อป้ายโฆษณาหรือสิ่งก่อสร้างที่บดบังทัศนียภาพของมรดกโลกออกไปให้หมด จากนั้นก็จัดพื้นที่การค้าขายต่างๆ ให้เป็นสัดส่วน จริงๆ ผมว่าทำได้เลยและถ้าทำได้ดีก็จะกลายแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งได้เลย เช่น พอพ้นตัววัดมงคลบพิตรและเลยโบราณสถานทั้งหลายไปแล้ว ก็จัดให้มีพื้นที่เป็นแหล่งขายโอท็อปหรือมีกิจกรรมพื้นเมือง และอีกอย่างที่ควรทำมากๆ ก็คือห้ามรถบรรทุกหรือรถยนต์ขนาดใหญ่เข้าไปในเกาะเมือง และทุกจุดที่เป็นโบราณสถานหรือแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก สร้างที่จอดรถรับส่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่อยู่ชานเมือง พอนักท่องเที่ยวมาถึงก็ถ่ายคนลงไป ขึ้นสามล้อถีบหรือรถจักรยานให้เช่า ไม่เพียงสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวก็ยังจะได้เที่ยวอย่างสงบด้วย
Q: สุดท้าย คุณมีทัศนะอย่างไรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว?
A: ก่อนอื่น ผมอยากให้ย้อนมาดูวิถีชีวิตของเราก่อน สมัยเด็กผมจำได้ว่า การไปเที่ยวเป็นเรื่องติดลบ พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะบอกให้อยู่บ้านทำมาหากิน ไม่ใช่เอาแต่เที่ยว ปัจจุบัน รัฐบาลเอาแต่กระตุ้นให้คนออกไปเที่ยวไปใช้จ่าย ซึ่งจริงๆ ผมเห็นด้วยกับคำของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ว่า "คนรวยควรจะใช้จ่ายเยอะๆ แต่คนจนควรอดออม" ไม่ใช่เอาแต่บอกให้ทุกคนออกไปเที่ยว แล้วการท่องเที่ยวกับการเดินทางก็ไม่เหมือนกัน การเดินทางส่วนมากเพื่อไปเก็บประสบการณ์ไปเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ แต่การเที่ยวคือการกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรือสำมะเรเทเมา ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่เที่ยว เพื่อการปลดปล่อย ไม่ใช่เพื่อการเรียนรู้ เพราะโดยพื้นฐาน คนไทยขาดทัศนะประวัติศาสตร์!!
สัมภาษณ์ และเรียบเรียงโดย สุภัทธา สุขชู
|
|
|
|
|