|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
 |

ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวถือเป็น "ยาขนานเอก" เพราะนำสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศจำนวนมหาศาล แต่บ่อยครั้งในยามภาวะปกติ การท่องเที่ยวมักถูกมองเป็น "ผู้ร้าย" ที่เป็นตัวนำการทำลายล้างวิถีชีวิตท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนั้น ททท.ในฐานะผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงต้องระวังทุกย่างก้าวเพื่อไม่ให้เดินผิดลู่ทาง
"...การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะสร้างสรรค์ความเจริญทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอันเป็นที่รักของเราทั้งสิ้น ผลประโยชน์ที่รัฐพึงจะได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้หาเป็นรายได้ที่จะบังเกิดขึ้นแก่รัฐบาลโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ไม่ แต่จะเป็นรายได้ที่กระจายออกไปยังบุคคลหลายขั้นหลายอาชีพและเป็นรายได้ที่มองไม่เห็น แต่ที่สำคัญที่สุด กิจการนี้จะเผยแพร่วัฒนธรรม และคุณธรรมของประชาชนชาวไทยให้เป็นที่ปรากฏแก่ชาวโลก อันจะยังความนิยมยกย่อง ให้บังเกิดสืบเนื่องอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีค่ายิ่งกว่าเงินตรา..."
สุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันสถาปนาองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) เมื่อปี 2503 นำมาขยายไว้ที่แท่นหน้าตึกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่
หลายคนทราบว่า ปีนี้การบินไทยมีอายุ 48 ปี แล้ว จากการโหมโฆษณาของบริษัทการบินไทย แต่อาจมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่รับรู้ว่า การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) หรือชื่อเดิม อสท.ก็มีอายุ เท่ากัน แต่กิจการเกี่ยวกับส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีมาก่อนหน้านั้นกว่า 25 ปี
อสท.ถือกำเนิดขึ้นโดยพระดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ครั้งทรง ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ เริ่มต้นจากแผนกโฆษณาของการรถไฟ เพื่อทำหน้าที่รองรับและให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศ ไทย รวมทั้งการโฆษณาเผยแพร่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ
ประเทศไทยเริ่มเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกันมานานหลายสิบปีแล้ว ดังจะเห็นว่ากิจการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยเริ่มมีตัวตนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2479 กระทรวงเศรษฐการเสนอตั้งสำนัก งานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทำหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ โฆษณาชักชวนนักท่องเที่ยว รับรองนักท่องเที่ยว และบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก ก่อนจะยุติบทบาทไปเพราะสำนักงานถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ปี 2492 สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวถูกโอนไปอยู่ภายใต้กรมโฆษณาการ และถูกยกฐานะเทียบเท่ากอง จนปี 2502 "องค์การส่งเสริมการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" มีฐานะเป็นองค์การอิสระ ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวและคุ้มครองความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวด้วย
เรียกได้ว่า อสท.เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาจากอเมริกา ซึ่งที่นั่นท่านได้ประจักษ์ว่าการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาห-กรรมที่น่าสนใจ ในปี 2522 อสท.เปลี่ยนชื่อเป็น "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" หรือ ททท.โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับสำนักนายกรัฐมนตรี
ในปี 2545 ททท.ถูกย้ายมาอยู่ใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เหลือเพียงพันธกิจหลักคือ กิจการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แบ่งงานเป็น 3 ด้าน 1) การส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านบวกของ ประเทศไทยในเวทีโลก 2) ดึงนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่ม niche market และ 3) รณรงค์ให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย
ส่วนงานด้านนโยบายสำคัญระดับประเทศ และนโยบายระหว่างรัฐบาลหรือระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักปลัดกระทรวงฯ และงานด้านการพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เช่น การ ฝึกอบรม การจัดทำสถิติ ฯลฯ ถูกโยกไปอยู่ในความ รับผิดชอบของสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว ขณะที่หน่วยงานตำรวจท่องเที่ยวก็ถูกขึ้นตรงกับกระทรวงฯ
"ททท.ทำงานมาเกิน 48 ปีแล้ว การตลาดของเราพัฒนามาตั้งแต่เล็กแปะโปสเตอร์ แจกโบชัวร์ พัฒนามาจนเริ่มมีกลยุทธทางการตลาดหลากหลายมากมาย" พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการท่องเที่ยวคนปัจจุบันเกริ่น
ไม่เพียงประสบการณ์ทำงานกว่า 38 ปีใน ททท. (อสท.เดิม) ที่เป็นจุดแข็งสำคัญ ความทุ่มเทและจริงจังให้กับการทำงาน ก็ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรศิริกลายเป็นผู้ว่า ททท.คนที่สองที่มาจาก การคัดสรร เริ่มงานมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วท่ามกลางภาพพจน์ติดลบขององค์กรซึ่งผู้ว่า ททท.คนเก่าทิ้งไว้ให้
นับจากขึ้นแท่นผู้ว่า ททท.ดูเหมือนว่า งานส่งเสริมการท่องเที่ยวของเธอไม่ราบรื่นเลย ทั้งสถานการณ์การเมืองไทย ภาวะเศรษฐกิจโลก และวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก ล้วนทำให้เธอต้องทำงานหนักมากขึ้น ปีที่แล้ว ททท.จึงออกไปโรดโชว์และร่วมงานในต่างประเทศบ่อยที่สุด เพื่อออกไปส่งเสริม ภาพลักษณ์ด้านบวกของเมืองไทยให้ดูดีและโดดเด่น เป็น "ดาว" ท่ามกลาง 200 กว่าประเทศที่เป็นคู่แข่ง
ส่วนการเดินสายภายในประเทศ นอกจากเวที ที่ ททท.จัดขึ้นเอง อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง แม้แต่เวทีอื่นๆ อีกหลายเวทีที่ผู้ว่า ททท.ได้รับเชิญขึ้นไปพูดในวาระโอกาสที่แตกต่างกันไป แต่ทุกเวทีเธอไม่ลืมที่จะต้องพูดสอดแทรกถึงโครงการใหม่ๆ และไอเดียใหม่ๆ ของ ททท.
ในแต่ละปี ททท.มีการออกแคมเปญการท่องเที่ยวมากมาย และในแต่ละแคมเปญมีกิจกรรมตามมาอีกหลายสิบกิจกรรม สื่อการตลาดหลากหลายรูปแบบจึงถูกนำมาใช้โปรโมตแคมเปญต่างๆ รวมทั้งตอกย้ำแบรนด์ "Amazing Thailand" โดยเฉพาะพ็อกเก็ตบุ๊กซึ่ง ททท.จัดพิมพ์ปีละหลายเล่ม
เช่น "72 ชั่วโมงในประเทศไทย", "72 ชั่วโมง ในเชียงใหม่", "108 เส้นทางออมบุญ", "รักษ์มรดกไทย ภูมิใจมรดกโลก" ฯลฯ
รางวัลตอบแทนความทุ่มเทของหัวเรือใหญ่แห่ง ททท. สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สิ้นปี 2550 รายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเกือบ 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.57% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 14.8 ล้านคน ส่วนตลาดคนไทยทำรายได้กว่า 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จำนวนนักท่องเที่ยว 82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.35%
นอกจากนี้ยังมีรางวัลชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายรายการที่มาช่วยตอกย้ำความภูมิใจให้กับเธอ ไม่ว่าจะมอบให้ในนาม ททท. มอบให้ในนามผู้ว่า ททท.และมอบให้แก่ประเทศไทยในฐานะแหล่ง ท่องเที่ยวดีเด่น เพราะพรศิริมั่นใจว่า ภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองไทยที่ทั่วโลกรับรู้ ส่วนใหญ่เป็นผลแห่งการทำงานหนักของ ททท.
แม้ผลงานของ ททท. และภาพลักษณ์นักการ ตลาดตัวยงของผู้ว่า ททท. จะเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในเวทีโลก ดูเหมือนว่าภายในสังคมไทย ภาพพจน์ของ ททท. กลับกลายเป็น "จำเลยสังคม" ทุกครั้งเวลาที่เกิดความเสียหายกับแหล่งท่องเที่ยวหรือเกิดการล่มสลายของวิถีชุมชน ว่าเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมให้ เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนท้องถิ่น
ยกตัวอย่าง "แคมเปญไหว้พระ 9 วัด" ขณะที่ผู้ว่า ททท.มองว่าเป็นการตอบสนองความต้องการ และพฤติกรรมของตลาดคนไทยที่เริ่มมองหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและหันหน้าเข้าวัดมากขึ้น และส่งเสริม ความสนใจศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่ในวัดเกือบทุกวัด รวมถึงเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน
แต่มาโนช พุฒตาล มองตรงข้ามกันว่า นั่นเป็นการฉวยโอกาสอย่างบาป เพราะการส่งเสริมให้ไปทำบุญ 9 วัด ทำให้คนไปวัด ไม่ใช่เพื่อชำระจิตใจ แต่เพื่อปลดปล่อยความทุกข์หรือล้างซวย ส่วนวัด แทนที่จะได้ทำหน้าที่ให้ความรู้และเป็นศูนย์กลางการชำระจิตใจ กลับหันมาทำธุรกิจการค้า ขึ้นป้ายโฆษณาวัด วิทยุชุมชนถูกใช้เป็นช่องทางโฆษณาวัด พอวัดมีคนมาเที่ยวเยอะก็มีร้านขายของเยอะ ในที่สุด ความวุ่นวายในวัดก็ทำให้พระไม่มีเวลาสวดมนต์ หาความรู้ หรือสั่งสอนศิษย์
ประจักษ์พยานชิ้นหนึ่งที่ยืนยันคำพูดของมาโนชได้ดีที่สุด เห็นจะเป็นป้ายประกาศจัดระเบียบ ร้านค้าด้านหน้าและด้านหลังวัดมงคลบพิตรที่อยุธยา ที่มีใจความว่า "....เนื่องจากศูนย์จำหน่วนสินค้าในพื้นที่วิหารพระมงคลบพิตรกำลังเสื่อมโทรมและไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ธุรกิจการค้าและธุรกิจการท่องเที่ยวประสบการขาดทุน... จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงและจัดระเบียบร้านค้า..."
อันที่จริง ข้อวิพากษ์ของสังคมที่มีต่อการทำงานของ ททท.มีมาอยู่ตลอด หลายครั้งที่คำท้วงติงเหล่านี้ก่อให้เกิดแนวทางทำงานที่ดีกว่า เช่นการที่ ททท.เปลี่ยนมาเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ แทนที่จะมุ่งเน้นแต่ปริมาณนักท่องเที่ยวจนเกิดนักท่องเที่ยวประเภท "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" เข้ามามาก จนสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวมากกว่ารายได้น้อยนิดที่ประเทศไทยได้รับ
สำหรับแผนการตลาดการท่องเที่ยวปี 2552 ททท. ยังคงยึดกรอบนโยบาย "มิติมูลค่า" และ "มิติ คุณค่า" เพื่อเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืนโดย ททท.ตั้งเป้าไว้ว่า ปีหน้าน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยวได้มากถึง 1.1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว... นี่ถือเป็นเป้าหมายในมิติมูลค่าที่มีมูลค่ามหาศาล
ในแผนฉบับนี้มีการอ้างถึงระบบการทำงานวางแผนอันมาจากการร่วมกันคิดอย่างเป็นระบบจาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stake holder) เพื่อสร้างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้จิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและความภูมิใจในชาติ
แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนในว่า "stake holder" ที่ว่านี้หมายรวมถึงชุมชนท้องถิ่นด้วยหรือไม่ หรือเป็นคนกลุ่มใดบ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
|
|
 |
|
|