|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
ท่ามกลางความร้อนแรงของกรณี "ปราสาทพระวิหาร" ทัศนะของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนถูกนำเสนอเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคม ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พร้อมด้วยประสบการณ์ทำงานนานกว่าสิบปีในคณะกรรมการดังกล่าว ผู้อาวุโสท่านนี้จึงเป็น "กุญแจสำคัญ" ที่ช่วยไขข้อข้องใจให้สังคม และในคำตอบเหล่านั้นยังแฝงทางออกหรือทางเลือกให้กับคนไทยอีกด้วย
Q: จากเจตนารมณ์ของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่ว่า เพื่อสร้างความร่วมมืออันดีในหมู่ประเทศภาคีในการรักษา มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไป มีจุดหักเหใดที่ทำให้กรณีปราสาทพระวิหารบานปลายมาเป็นข้อพิพาทระหว่างมิตรประเทศ?
A: ก่อนอื่น เราก็ต้องยอมรับว่า ปราสาทพระวิหารนั้นมีคุณค่าควรแก่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก และสิ่งที่น่าจะเป็นคือ การขึ้นทะเบียนร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชาด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ
1) การขึ้นทะเบียนแต่ตัวปราสาทพระวิหารถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ในตัวเองเพราะขาดความบริบูรณ์ ต้องเสนอรวมกับโบราณสถานและพื้นที่รายรอบที่อยู่ใน ดินแดนไทย และ
2) ตัวปราสาทอยู่ในสภาพชำรุด เสื่อมโทรมหนักและพังทลายได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีแผนจัดการเขตอนุรักษ์หรือพื้นที่กันชน (buffer zone) ซึ่งจะต้องกินแดนของไทยและพัวพันกับการใช้อำนาจอธิปไตยของไทย ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ให้ไทยและกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกร่วมกัน
แต่เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกยอมรับคำขอของกัมพูชาที่ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว ก่อนการประชุมมรดกโลกที่เมืองไครช์เชิร์ส นิวซีแลนด์ ในปี 2550 ผมก็ให้แนะนำกับกระทรวงต่างประเทศไปว่า ท้ายสุด หากคณะผู้แทนไทยพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นการขอขึ้นทะเบียนร่วมกันระหว่างสองประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลกได้ คณะผู้แทนไทยจำเป็นต้องแถลงท่าทีในที่ประชุมไปเลยว่า ไทยไม่สามารถจะให้ความเห็นชอบได้เพราะจะทำให้กระทบถึงการใช้อำนาจ อธิปไตยเหนือดินแดนเรา และจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ต่อการบริหารจัดการและการคุ้มครองมรดกโลกที่ไทย ถือว่าตั้งอยู่ในดินแดนฝ่ายไทย... แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ทำกัน
มติที่ไครช์เชิร์สออกมาว่า กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนตัวปราสาทก็ต่อเมื่อฝ่ายไทยให้ความเห็นชอบสนับสนุนอย่างยิ่ง (active support) ผมก็แนะนำว่าไทยต้องยืนหยัดบนจุดยืนเดิมและต้องไม่ให้การสนับสนุนคำขอของกัมพูชา ท่าทีของกระทรวงต่างประเทศก็ยังยืนหยัดเช่นนั้นมาตลอด จนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่าทีก็เริ่มเปลี่ยน และร้ายแรงที่สุดก็คือการออกแถลงการณ์ร่วม และการเมืองระหว่างประเทศที่แทรกแซงคณะกรรมการมรดกโลก ปราสาทพระวิหารจึงได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามคำขอของกัมพูชา ทั้งที่ไม่มีแผนจัดการบริเวณพื้นที่เขตกันชนซึ่งกินเขตแดนในอำนาจอธิปไตยของไทย
Q: ภายหลังมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ผลประโยชน์ที่กัมพูชาคาดหวังว่าจะได้รับคืออะไร?
A: แน่นอน! นอกจากการหวังผลทางด้านการโปรโมตการท่องเที่ยวและเงินทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่มรดกโลก กัมพูชา ย่อมหวังจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร เพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยว ตามแผนเดิมของกัมพูชา เชื่อว่าจะมีการกำหนดพื้นที่เขตกันชนรอบตัวปราสาทและพื้นที่รอบนอกของตัวปราสาท (Development Zone) เพื่อ ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและรองรับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม แหล่งบันเทิง และกาสิโน ฯลฯ ซึ่งผิดกับเจตนารมณ์แท้จริงของมรดกโลกที่ต้องเน้นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ต้องคำนึงถึงสมรรถนะการรองรับนักท่องเที่ยวของแหล่งมรดกโลก และต้องมีข้อกำหนดไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการท่องเที่ยว แต่ทุกวันนี้ ทุกคนมองผิดไปหมดว่าการ ท่องเที่ยว สำคัญที่สุด ทั้งที่จริงแล้วการท่องเที่ยวมากเกินไปถือเป็นการคุกคามแหล่งมรดกโลก!
Q: หลังจากที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารสำเร็จ สิ่งใดที่ประเทศไทยควรทำเพื่อไม่ให้สูญเสียมากไปกว่านี้?
A: สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ "คณะกรรมการ 7 ชาติ" ที่กัมพูชาจะเป็นผู้จัดเรียกประชุมภายใต้อุปถัมภ์ของ UNESCO เพื่อมาอนุรักษ์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งเป็นเรื่องพิลึกที่สุดในประวัติการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลก ลำพังการจัดการพื้นที่กันชน ประเทศไทยก็เสียหายมากอยู่แล้วจากการปล่อยให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหารได้โดยเราไม่ได้เข้าร่วม แต่การมีคณะกรรมการเจ็ดชาติจะทำให้การเจรจาตกลงยุ่งยาก ขึ้น จากเดิมที่มี "Stakeholder" หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มรดกโลกตรงนี้แค่ 2 ประเทศ แต่นี่กลายเป็นไทยจะมีอีก 5 ชาติกลายเป็นหอกปักเราอยู่
สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ประกาศต่อคณะกรรมการมรดกโลก และ UNESCO ให้รับทราบว่า ประเทศไทยจะให้จัดทำพื้นที่ กันชนในเขตแดนไทยได้เฉพาะเพื่ออนุรักษ์ตัวปราสาทตามพันธะผูกพันต่อรัฐภาคี โดยให้มีบริเวณเพียงพอสมเหตุผลเท่าที่ไทยเห็นชอบด้วย ส่วนนอกบริเวณดังกล่าว ไทยจะไม่ยินยอม ให้มีการก่อสร้างหรือกิจกรรม เพื่อธุรกิจใดๆ หากปรากฏชัดว่า "คณะกรรมการ 7 ชาติ" ยังคงขวางกั้นและเบียดเบียนอธิปไตยของไทยเพื่อประโยชน์ของกัมพูชา จนถึงจุดที่แล้วไทยควรต้อง ปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว และประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญาและอาจเลยไป ถึงการถอนตัวจาก UNESCO ด้วย
Q: หากไทยถอนตัวจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกและ UNESCO จริงๆ จะมีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไร?
A: การที่ประเทศของเรามีแหล่งมรดกโลกมันก็ดี เพื่อที่ชาวโลกก็จะได้เห็นว่าเราก็มี แต่ถ้าแหล่งมรดกโลกของไทยทั้ง 5 แห่งจะถูกถอนไป ผมไม่ mind เลย ในแง่ของการท่องเที่ยว ผมว่าก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะทุกวันนี้ เราเองก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเรากันอยู่แล้ว บางทีอาจทำมากเกินไปด้วยซ้ำ สิ่งที่ควรระวัง คือในทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ การถอนตัวจากประชาคมโลกอาจจะทำให้ถูกแทรกแซง แต่สุดท้ายเพื่อรักษาหลักการและอธิปไตยของ ชาติ รัฐบาลและประชาชนคนไทยอาจต้องเตรียมพร้อมที่จะรับผลที่ตามมา
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย สุภัทธา สุขชู
|
|
|
|
|