Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2551
อำนาจละมุนของจีน             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 

 
Charts & Figures

Figure 1-The Soft Power Index





ท้องนภาของกรุงปักกิ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ต้นเดือนกรกฎาคม 2551 ปกคลุมไปด้วยความขมุกขมัวของม่านเมฆ ม่านหมอก หรือ ม่านควัน ผมก็ไม่อาจจะทราบได้...

ทุกๆ วัน ในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ รวมถึงป้ายบนถนนหนทางจะตอกย้ำว่าเหลือเวลาอีกกี่วันจึงจะถึงพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 29 และพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ชาวจีนทั้งมวลรอคอยและเตรียมการมานับสิบปี ด้านสำนักงานของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ผู้จัดการในเขตไห่เตี้ยน ริมถนนวงแหวนรอบที่สองของกรุงปักกิ่ง ก็เตรียมพร้อมแล้วที่จะรองรับการทำงานชุดผู้สื่อข่าวที่กำลังจะเดินทางมารายงานข่าว มหกรรมกีฬาโอลิมปิกอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ในเชิงผลการแข่งขันของแต่ละชาติ การต่อสู้หรือความสำเร็จทัพนักกีฬาไทยเท่านั้น แต่รวมถึงบรรยากาศทางสังคม วัฒนธรรมจีนที่มีความเกี่ยวพันกับมหกรรมครั้งนี้ด้วย

ในส่วนของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ภายใต้การผลักดันของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ทีมข่าวกีฬาและทีมข่าวจีนได้เปิดหน้าเว็บไซต์พิเศษ Beijing 2008: One World One Dream1 มาตั้งแต่เดือน เมษายน 2551 ที่ผ่านมา

ระหว่างการประชุมเพื่อออกแบบเนื้อหาของเว็บไซต์หน้าพิเศษดังกล่าวเมื่อต้นปี ทีมข่าวกีฬาและทีมข่าวจีนได้ประชุมกันหลายครั้งหลายครา มีการประชุมครั้งหนึ่งที่ติดใจผมก็คือ เมื่อทีมข่าวจีนเสนอขึ้นมาว่า ในส่วนเนื้อหา Olympic Hero ที่รวบรวมนักกีฬาโอลิมปิกที่มีชื่อเสียงทั้งในปัจจุบันและในอดีต ในฐานะที่จีนเป็นเจ้าภาพควรจะมีการนำเสนอประวัติและความสำเร็จของเหล่านักกีฬาจีนแบบเป็นซีรีส์ด้วยหรือไม่

คำตอบจากทีมกีฬาก็คือ "คงไม่จำเป็น เพราะนอกจากนักบาสเกตบอลที่ชื่อ เหยา หมิง แล้ว คนไทยไม่ค่อยรู้จักนักกีฬาจีน เพราะแต่ไหนแต่ไร คนไทยให้ความสนใจกับนักกรีฑา นักว่ายน้ำ นักบาสเกตบอล หรือนักเทนนิสจากชาติตะวันตก มากกว่านักยกน้ำหนัก นักกระโดดน้ำ นักแบดมินตัน หรือนักปิงปองระดับโลกจากจีนอยู่แล้ว"

ผมไม่ได้รู้สึกประหลาดใจกับคำตอบของทีมกีฬา เพราะรู้ว่าสิ่งที่เขาตอบนั้นเป็นความจริง ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ผ่านคอลัมน์ China Inside-Out ในนิตยสารผู้จัดการ และนิตยสาร Positioning ผมพยายามบอกเล่าถึงแนวคิดๆ หนึ่ง ที่กำลังถูกกล่าวขวัญและพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศของจีน รวมถึงของโลก นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง Soft Power2

อำนาจละมุน หรือ Soft Power เป็นศัพท์ที่อยู่ตรงกันข้ามกับอำนาจกระด้าง หรือ Hard Power ถูกนำมาใช้ในทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่ออรรถาธิบายศักยภาพทางการเมืองของรัฐต่างๆ ที่ส่งอิทธิพลโดยทางอ้อมต่อพฤติกรรมหรือความสนใจของรัฐอื่นๆ ผ่านการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมหรือความคิด มิใช่อิทธิพลทางการทหารหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการบีบบังคับในทางตรง

"Hard Power นั้นทำให้คนกลัว แต่ Soft Power นั้นทำให้คนยอมรับ" ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยอธิบายเอาไว้แบบเข้าใจง่ายในหนังสือ Soft Power: The Means to Success in World Politics

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภาชิคาโกว่าด้วยกิจการโลก (The Chicago Council on Global Affairs) และสถาบันเอเชียตะวันออกแห่งเกาหลีใต้ (East Asia Institute) ได้มีการเผยแพร่รายงานที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง เรื่อง "อำนาจละมุนในเอเชีย 2008 (Soft Power in Asia 2008)"3

สำหรับรายงานชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของประเทศจีนต่อสังคมโลกก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิก จะเริ่มขึ้นว่าเป็นเช่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจจากซีกโลกตะวันตก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ทั้งนี้วิธีการเก็บข้อมูลนั้นผู้จัดทำใช้วิธีการสอบถามความเห็นของผู้คนจำนวน 6,106 คน ใน 6 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญในประเทศจีนคือ การที่รัฐบาลจีนใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามชาวทิเบตเมื่อเดือนมีนาคม รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในการสำรวจผู้วิจัยแบ่ง "อำนาจละมุน" ออกเป็น 5 หัวข้อ ด้วยกันคือ เศรษฐกิจ (Economic) วัฒนธรรม (Cultural) ทุนมนุษย์ (Human Capital) การทูต (Diplomatic) และการเมือง (Political) ซึ่งทุกหัวข้อถูกคำนวณโดยให้น้ำหนักเท่าๆ กัน เพื่อคำนวณออกมาเป็นดัชนีอำนาจละมุน (Soft Power Index) ที่มีตัวเลขอยู่ในช่วง 0 ถึง 1 โดย "0" นั้นหมายถึงไม่มีอิทธิพลเลย และ "1" นั้นหมายถึงมีอิทธิพลสูงที่สุด

พิจารณาจากตารางดัชนีอำนาจละมุน (ตัวเลขในช่องต่างๆ คือค่าดัชนี ส่วนตัวเลขในวงเล็บนั้นคือ ตัวเลขอันดับเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) ค่อนข้างจะมีความชัดเจนว่า แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศจีนจะสามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งสามารถแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การทูต การเมืองและการทหาร ทว่าในสายตาของคนสหรัฐฯ คนญี่ปุ่น คนเกาหลีใต้แล้ว หากมองในเชิงอำนาจละมุน ประเทศจีนยังถือว่าเป็นรองสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อยู่หลายช่วงตัว ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชาวอินโดนีเซียและเวียดนามนั้นให้ความสำคัญกับอำนาจละมุนของจีนเหนือกว่าเกาหลีใต้

แม้ว่าดัชนีอำนาจละมุนของเกาหลีใต้ในสายตาของชาวอินโดนีเซียและเวียดนามจะอยู่ต่ำกว่าจีน แต่เราจะลืมไม่ได้เลยว่า เกาหลีใต้นั้นเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่มีอาณาเขตไม่ถึง 100,000 ตร.กม. (ประเทศไทยมีอาณาเขต 513,000 ตร.กม.) และมีประชากรเพียง 50 ล้านคนเท่านั้น การที่ดัชนีอำนาจละมุนของเกาหลีใต้สามารถเทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นได้นั้นก็ต้องถือว่า ซัมซุง แอลจี ฮุนได แดจังกึม หมอโฮจุน ดงบังชิงกิ ซูเปอร์จูเนียร์ รวมถึงสินค้าเพลงและภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ ฯลฯ ต่างมีความดีความชอบไม่น้อยเลยทีเดียว

ในแง่มุมของอำนาจละมุนทางเศรษฐกิจต่อทวีปเอเชียที่ตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคนี้ รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้แผ่อิทธิพลขึ้นมาทาบรัศมีของสหรัฐฯ บ้างแล้ว โดยจากผลสำรวจระบุว่า วันนี้ชาวญี่ปุ่นเริ่มยอมรับแล้วว่า ปัจจุบันอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อเอเชียนั้นมีสูงกว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีต่อเอเชีย ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนามยังคงให้ความสำคัญกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีต่อเอเชีย มากกว่าจีนอยู่

ในส่วนของวัฒนธรรม ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ทุกประเทศให้ความเคารพต่อมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจีน แต่ในทางกลับกันพวกเขากลับระบุว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมสมัยนิยม หรือ Pop Culture ที่รวมถึงเพลง ภาพยนตร์ อาหารเครื่องแต่งกาย ฯลฯ นั้นมีอิทธิพลต่อพวกเขาน้อยมาก โดยมีเพียงชาวเวียดนามเท่านั้นที่ให้สัดส่วนใน ประเด็นนี้ค่อนข้างสูง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งผมคิดว่า น่าจะมาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่แต่เดิมทีวัฒนธรรมของเวียดนามนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนค่อนข้างสูง ประกอบกับเวียดนามยังเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับกำลังพัฒนาเท่านั้น

สำหรับชาวจีนเอง ในประเด็นของอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรืออำนาจละมุนเชิงวัฒนธรรม ชาวจีนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าชาติของตนนั้นมีความอ่อนแอในเรื่องนี้จริง โดยอาจมีความอ่อนแอกว่าเกาหลีใต้เสียด้วยด้วยซ้ำ โดยคนกลุ่มหนึ่งมองว่า แม้เหยา หมิง จะเป็นทูตเชิงวัฒนธรรมของจีนที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปมีที่ยืนในสังคมอเมริกันได้ ทว่าในทางกลับกันก็อาจมองได้เช่นกันว่า เหยา หมิง ก็ถือเป็นสื่อช่องทางหนึ่งในการที่สหรัฐฯ จะถ่ายทอดวัฒนธรรมอเมริกันผ่านรูปแบบของกีฬา เครื่องแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิตมาสู่ชาวจีนได้เช่นกัน ทั้งผลกระทบดังกล่าว ยังอาจมีอิทธิพลต่อชาวจีนสูงกว่าการที่ชาวอเมริกันเปิดรับเหยา หมิงเสียอีก

ขณะเดียวกันจากผลการสำรวจ ดัชนีอำนาจ ละมุนในส่วนของการทูตและการเมืองนั้น สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นยังคงครองสถานะที่เหนือกว่าจีนไว้ได้อย่าง ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีการสอบถามการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันนั้นจีนได้คะแนนค่อนข้างน้อยในสายตาของชาวสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับเรื่องปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ที่แม้จีนจะอาสาเป็นเจ้าภาพ ผู้เปิดโต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย (Six Party Talks) เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่าชาวสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กลับมองว่ารัฐบาลจีนไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหานี้

นอกจากนี้ หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจที่สุดของรายงานชิ้นนี้ก็คือ รายงานพยายามชี้ให้เห็นว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันก็คือ ทัศนะของชาวอเมริกันที่มองจีนกับทัศนะของชาวจีนที่มองสหรัฐฯ นั้นค่อนข้างมีความขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือ ชาวอเมริกันค่อนข้างจะมีทัศนะในแง่ลบต่อจีน ไม่ว่าจะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ นอกจากนี้ชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 68 ยังระบุด้วยว่า ในเชิงคุณค่า ทางวัฒนธรรมแล้วพวกเขาไม่มีหรือมีความเกี่ยวพันกับชาวจีนน้อยมาก ขณะเดียวกันชาวอเมริกันมากถึงร้อยละ 63 เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ให้บุตรหลานเรียนภาษาจีน

ในทางตรงกันข้ามชาวจีนกลับเชิดชูสหรัฐฯ ในเกือบทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ วัฒนธรรมสมัยนิยม ขณะที่ทัศนะของชาวจีนต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศในทวีปเอเชียก็เป็นไปในเชิงบวก เช่น การเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในทวีปเอเชีย การช่วยประเทศในเอเชียพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือของประเทศในเอเชีย และที่น่าสนใจคือรวมไปถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ยื่นมือมาเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันด้วย

หากกล่าวโดยย่อแล้ว ผลสำรวจจากรายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ณ พ.ศ.นี้ แม้ว่าทางภายนอกอำนาจกระด้าง (อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหาร) ของจีนจะสยายปีกมาครอบคลุมภูมิภาคเอเชียอย่างช้าๆ แล้ว แต่อำนาจละมุนของจีนนั้นยังคงถูกคานไว้ด้วยอำนาจละมุนของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ยังคงเข้มแข็งอยู่

เป็นเรื่องน่าสนใจว่านับแต่นี้ต่อไป จีนจะเพิ่ม "อำนาจละมุน" ด้วยวิธีที่อ่อนโยนและแนบเนียนอย่างไร?

หมายเหตุ:
1 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.manager.co.th/beijing2008/
2 อ่านคอลัมน์ China Inside-Out เรื่อง "ขงจื๊อ+จางจื่ออี๋=?" นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2550, เรื่อง " 'จีน'กับการขาดดุลวัฒนธรรม" นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนพฤษภาคม 2549 และบทความเรื่อง "แดจังกึม สายลมบูรพาจากแดนโสม"จากคอลัมน์ From China นิตยสาร Positioning ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549
3 อ่านและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้จาก http://www.thechicagocouncil.org/ สภาชิคาโกว่าด้วยกิจการโลก (The Chicago Council on Global Affairs) เดิมทีมีชื่อว่า The Chicago Council on Foreign Relations เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้ ลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยว (Isolationism) ของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลก ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาขององค์กรดังกล่าวนี้ค่อนข้างที่จะโน้มเอียงไปยังแนวคิดของการค้าเสรีตามแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us