Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2534
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ดำรงค์ แสงชูวงศ์ 2 นักนิยมไพรร่วมกันจารึกความทรงจำจากป่าในอดีต             
 


   
search resources

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
ดำรง แสงชูวงศ์
Printing & Publishing




ในแวดวงวรรณกรรมโดยทั่วไปรู้จักนามชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ดีอยู่แล้ว ด้วยฐานะของนักเขียนผู้มีผลงานอันโดดเด่นเกี่ยวกับเรื่องของป่าเขาและชีวิตในพงไพร เรื่องสั้นชื่อ "ทางเสือผ่าน" ของเขาเคยได้รับการแปลเป็นภาษารัสเซียมาแล้ว แนะนวนิยายอย่าง "ไพรผาดำ" "ไพรายา" "เสือสมิง" "สมิงไพร" หรือสารเคมีอย่าง "ผจญภัยในป่าสูง" "ตระเวนไพร" "ป่ากับปืน" ฯลฯ ผลงานเหล่านี้ล้วนยืนยันได้ดีถึงการเป็นนักเขียนผู้เจนจัดทางด้านป่าพงไพร

ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันชาลีมีผลงานในแนวเรื่องป่าออกมาสู่บรรณพิภอย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่ผลงานอีกแนวหนึ่งที่เขาเริ่มสนใจในภายหลังคือสารคดีเกี่ยวกับอดีตก็มีปรากฏอยู่สม่ำเสมอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น "เมืองไทยสมัยก่อน" "สยามในอดีต" "แลหลังบางกอก" ฯลฯ รวมทั้งเคยเป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับมาแล้ว

โดยทั่วไปงานเขียนแนวป่าของชาลีถ้าไม่เสนอผ่านรูปแบบนวนิยายก็จะเป็นสารคดีโดยตรง ซึ่งอาศัยประสบการณ์ทั้งทางตรงและอ้อมมาเป็นวัตถุดิบเพราะชาลีถือได้ว่าเป็นนักเที่ยวไพรผู้ "ถึง" ซึ่งเสน่ห์ของป่ามากคนหนึ่งได้ร่วมบุกป่าฝ่าดงกับเพื่อนพ้องและนักนิยมไพรระดับประเทศมาแต่วัยหนุ่มหลายครั้งหลายครา มีโอกาสได้พบเห็นและรู้ถึงความเป็นไปของป่าแห่งต่าง ๆ ด้วยตนเองมากเท่า ๆ กับที่ได้ยินได้ฟังจากบรรดามิตรสหายหรือพรานไพร ณ หลาย ๆ พื้นที่ตามเส้นทางที่บุกฝ่าไปถึง

และมิตรคนหนึ่งที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมเที่ยวและเป็นแหล่งของเรื่องราวเกี่ยวกับป่าดงพงไพรให้กับชาลีก็คือดำรงค์ แสงชูวงศ์ ผู้ย่ำป่าในแผ่นดินไทยมาทุกผืนแล้วก็ว่าได้

ทั้งสองเพิ่มร่วมกันเขียนหนังสือ "ป่าในอดีต" ขึ้น ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวเชิงสารคดีที่ว่าด้วยชีวิตของพรานไพรและสัตว์ป่าอันสะท้อนถึงภาพป่าสมบูรณ์จากอดีตที่ไม่มีเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน

"เรื่องป่าเขียนไว้หลายร้อยเรื่องจึงเป็นเรื่องเก่า เรื่องของความหลังที่ผ่านมาแล้วถึง 40 ปี เรื่องของยุคที่ป่ายังเป็นป่าและพรานยังเป็นพราน อดีตบางครั้งก็เป็นสิ่งที่น่าคิดถึงเพราะป่าที่เคยเห็น ต้นไม้ที่เคยชม ดงที่เคยนอน บัดนี้อันตรธานไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ป่าเปลี่ยนสี" ด้วยน้ำมือของมนุษย์ผู้เจริญแล้ว" นั่นคือทัศนะที่ชาลีกล่าวเอาไว้ในส่วนนำของหนังสือ

ในแง่ของการเป็นนักเขียนชาลีเริ่มต้นจริงจังเมื่อสมัยเป็นนักเรียนชันมัธยม 2 โรงเรียนวัดปรินายก โดยได้ออกหนังสือในชั้นเรียนชื่อปรินายกสาร ขึ้นร่วมกับเพื่อน ๆ ส่วนวัยเด็กนั้นเขามีบ้านเกิดอยู่ที่เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีบิดาที่เป็นนักสะสมหนังสือและเป็นนักเขียน ที่บ้านจึงเต็มไปด้วยหนังสือและสมุดภาพเก่าจำนวนมากอันเปรียบประดุจเป็นคลังแห่งปัญญาและเป็นฐานรากสำคัญที่สร้างความเป็นนักประพันธ์ขึ้นมา

ผลงานชิ้นแรกที่ออกสู่สาธารณะจริง ๆ นั้นชื่อเรื่อง "ความรักลอยลม" ลงอยุ่ในหนังสือ "ดาวนคร"

ส่วนชีวิตของดำรงนั้นก็ได้เริ่มคลุกคลีกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเยาว์ โดยที่ย่านปทุมวันที่เขาอาศัยอยู่ สมัยนั้นยังเต็มไปด้วยร่องสวนดอกไม้ ผลไม้มีลำคลองหลายสายให้เด็กชายวัยซุกซนวิ่งวุ่นจังแมลง แทงปลาหรืองมกุ้ง ฯลฯ ดำรงค์จึงติดตราตรึงใจกับการผจญภัยประกอบกับได้พบเห็นบิดาร่วมไปเที่ยวป่ากับคณะผู้ใหญ่เป็นประจำ และเมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้มีโอกาสติดตามไปในบางครั้งก็พบว่า ตนเองชื่นชอบในสิ่งนี้จน "เข้ากระดูกดำ" จึงตั้งปณิธานใฝ่ฝันไว้เป็นมั่นเหมาะเสมอมาว่าจะต้องใช้ชีวิตผจญไปในไพรกว้างให้มากที่สุด

จากความมุ่งมั่น ดังนั้นเองดำรงค์จึงไม่สนใจที่จะหาคู่ชีวิตครองเรือน ไม่สนใจที่จะทำอาชีพการงานอันมั่งคงอันใดแต่กลับมุ่งหน้าออกท่องเที่ยว ยึดอาชีพเลี้ยงชีวิตไปตามความเหมาะสมในแต่ละช่วง เคยตั้งโรงงานทำดินประสิว ทำหวาย ทำไม้ รับจ้างสำรวจป่า ทำแผนที่ ฯลฯ งานอิสระและเสี่ยงภัยเช่นนี้ดำรงค์ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น

สำหรับชาลี เขามิได้ใช้ชีวิตเกี่ยวเนื่องแบบแน่นไปกับพงไพรเสมือนกับดำรงค์ผู้เป็นเพื่อนรุ่นน้องแต่มักได้ร่วมขบวนไปท่องป่าด้วยเสมอ ๆ ยามที่ว่างจากภารกิจและต้องการพักผ่อน

แท้จริงแล้วชาลีก็ไม่เคยคิดที่จะเขียนเรื่องป่ามาก่อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งอาณัติ บุนนาคเพื่อนผู้เป็นช่างภาพส่วนพระองค์ เดินทางกลับมาจากป่าพร้อมกับนำบันทึก 15 วันในป่ากระเหรี่ยงมาให้ ชาลีก็ได้จัดการเรียบเรียงออกมาใหม่เอาตีพิมพ์ใน "พิมพ์ไทยรายวัน" ซึ่งปรากฏว่าได้รับการรับรองจากคนอ่านและนักเขียนเรื่องป่ารุ่นอาวุโสอย่างน้อย อินทนนท์หรือมาลัย ชูพินิจก็กล่าวชมเชยถึง จึงทำให้เขาเริ่มสนใจงานแนวนี้อย่างจริงจัง

ในสมัยก่อนมีนักนิยมไพรอยู่ไม่ใช่น้อยที่อยู่ในแวดวงนักเขียน ที่ขึ้นชื่ออย่างมากก็คือมาลัย ชูพินิจ นั่นเอง นอกจากนั้นนักนิยมไพรก็มักจะเป็นเจ้านายฝ่ายต่าง ๆ ที่ออกป่าไปเพื่อเรียนรู้ป่าและลิ้มรสความแปลกใหม่ของชีวิตบางครั้งอาจจะมีการล่าสัตว์บ้างแต่ย่อมไม่ใช่เรื่องหลัก

"เราไปพักผ่อนกันมากกว่าจะไปล่าสัตว์เวลาไปด้วยกันก็ไปเฮฮา ทำกับข้าว ดูธรรมชาติกันว่าเป็นอย่างไร สมัยก่อนนี้ยังอุดมสมบูรณ์ทั่วไปหมด บางทีดำรงค์ก็เอามะขามเอาผักไปโรยตามทางไปไหนก็โรยแค่นั้นเองฟังแฟงแตงกวามันก็ขึ้นเองได้" ชาลีเล่าถึงเรื่องราวหนหลังจากการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในป่ามาแล้วกว่า 40 ปี ดำรงค์ได้ผ่านและพบเห็นมาแล้วทั้งยุคสมัยของความอุดมสมบูรณ์และยุคสมัยของความล่มสลายพังทลาย ตลอดเส้นทางการหดหายของผืนป่าเขาเป็นคนหนึ่งที่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ก็ไม่อาจจะทำอะไรได้

ดำรงค์กล่าวว่าการพัฒนานั่นเองคือตัวการหลักที่กินป่าเพราะผู้คนที่หลั่งไหลไปทำไร่ผืนใหญ่ ๆ ถนนหนทางสายแล้วสายเล่าที่ตัดเข้าไปเพื่อสร้างความเจริญและเพื่อความมั่นคงตามพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนสนามบินอย่างอู่ตะเภาล้วนแต่ทำให้ป่าย่อยยับลงไปทั้งสิ้น

"สมัยก่อนป่าเขมรกับป่าเราเป็นผืนเดียวกัน เป็นผืนใหญ่กว้างยาวเหยียด ทั้งทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งขาแข้งรวมกันก็ยังไม่ได้สักเท่ากระผีกของป่าภาคตะวันออก ดงพญาเย็นที่มีอยู่ 3 ตอน ตั้งแต่จังหวัดเลยลงมาใกล้ ๆ กรุงเทพนี่เอง แต่ขนาดนั้นก็ยังหมดไปแล้ว ถนนผ่าเข้าไปเหมือนอย่างกับใยแมงมุม เฉือนเข้าไปหมด น่าเสียดายที่สุด"

ดงพญาเย็นนับเป็นผืนป่าที่ดำรงค์รู้สึกเสียดายมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ใจกลางของประเทศ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน มีพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนของตอนบนนั้นมีอาณาเขตไล่ลงมาตั้งแต่จังหวัดเลยตามลำน้ำป่าสักหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ - หนองไผ่ - วิเชียรบุรี-ลำนารายณ์ จรดเส้นทางวะตะแบก-ห้วยยายจิ๋ว-หนองบัวโคก

ส่วนตอนกลางกินพื้นที่ตั้งแต่ลำนารายณ์-ลพบุรี-พุแค-สระบุรี บรรจบแก่งคอย-ผาเสด็จ-มวกเหล็ก-ปากช่อง-คลองไผ่ จนถึงสีคิ้ว และตอนล่างเริ่มมาจากทางตะวันตก ทับกวางมาที่หินกองนครนายก - ปราจีนบุรี-ประจันตคาม-กบินทร์บุรี จนถึงสระแก้ว

ทั้งหมดนี้คือผืนป่าดงพญาเย็นอันเลื่องชื่อเมื่อก่อนปี 2500 แต่ปัจจุบันไม่ใช่อีกแล้ว ที่เหลืออยู่ก็เพียงหย่อมเล็กนิดเดียวคือเขาใหญ่ ซึ่งก็มีน้อยคนนักรู้ว่าแต่อดีตเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของดงพญาเย็นทั้งหมด ความเกรียงไกรของเขาใหญ่แทบจะไม่มีคามหมายด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งผืน

ป่าอีกผืนหนึ่งที่หมดไปอย่างไม่น่าเชื่อก็คือป่าแถบกาญจนบุรี ซึ่งคือป่าแห่งแรกที่ดำรงค์ใช้เป็นตัวเปิดชีวิตการบุกป่าฝ่าดงของเขา เพราะความที่อยู่ใกล้กรุงเทพมากและเพียงเหยียบย่างเข้าไปถึงตัวจังหวัดก็พบป่าได้ดังใจแล้ว แม้แต่จุดที่เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ 9 ในปัจจุบัน ก็เคยมีทั้ง ไก่ป่า กระต่าย เก้ง กวางมากมายให้ได้เห็น

"มันยากที่จะอธิบายว่าทำไมถึงรักการเที่ยวป่า ถ้าใครไม่เคยผจญก็จะไม่รู้ถึงรสชาติของการได้เข้าไปสัมผัส ไม่ได้ต้องไปเที่ยวล่าสัตว์ เพียงแต่เข้าไปขึ้นเขาลงห้วย ชมนกชมไม้ ดูฝูงสัตว์ป่า มีไม้ใหญ่หนาแน่นขจัดจนแสงแดดส่องแทบไม่ถึงพื้น สิ่งเหล่านี้น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เห็นนอกจากภาพเก่า ๆ ที่แขวนไว้ข้างฝา เดี๋ยวนี้พวกเราเองก็ยังไม่ค่อยได้เข้าป่าแล้ว เพราะไม่มีที่จะให้ไป" ดำรงค์ แสงชูวงศ์กล่าวให้ภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

เรื่องราวทั้งหลายที่ชาลีร่วมกับดำรงค์หยิบจับมาสื่อด้วยภาษาหนังสือถึงภาพอดีตก็ให้ภาพความสูญเสียที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นความจงใจที่ทั้งสองต้องการสื่อถึงคนอ่านเช่นนั้นอยู่แล้ว

"เรากำลังจะออกเป็นเล่ม ๆ ต่อจากป่าในอดีตนี่ก็จะเป็นป่าโบราณ ป่าเปลี่ยนสี แล้วเล่มปิดท้ายอาจเป็นป่าพรหมจรรย์ จะเขียนถึงป่าที่ไม่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องทำลาย เปรียบเหมือนกับเป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ไม่มีใครเคยไปกอดจูบหรือสัมผัสเลย เราจะพูด ถึงป่าเมื่อยังเป็นพรหมจรรย์อยู่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วเพราะถูกทำลายโดยชายโฉด" ชาลี เอี่ยมกระสิทธุ์เล่าถึงโครงการที่วางไว้ร่วมกับดำรงค์

ปัจจุบันผืนป่าดิบของไทยเหลืออยู่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเรียกว่าเป็นป่า ก็มีแต่ทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้งและตามแนวตะเข็บชายแดนดิตพม่าซึ่งเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนยากแก่การุกเข้าไปเท่านั้นเอง

ซึ่งก็รับรองไม่ได้ว่าอีกสัก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าจะยังสามารถจัดว่าเป็นผืนป่าสมบูรณ์อีกต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะถ้ามีการสร้างเขื่อนทางแม่น้ำปายหรือยวมในพม่า รวมทั้งขณะนี้ยังมีความพยายามที่จะเข้าไปทำไม้ในแถบนั้นกันมากอีกด้วย

"เขื่อนนี้ไม่เห็นด้วยเลยอย่างน้ำโจนถ้าสร้างขึ้นมาป่าก็หมด เมืองกาญจน์จากที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน พอมีเขื่อนมาก ๆ กักน้ำแล้วแผ่นดินก็ไหวเลย มันวิกฤตเพราะผิดธรรมชาติมาก ความวิกฤตของธรรมชาติเกิดขึ้นเนื่องจากความยุ่งยากที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในธรรมชาตินั่งเอง" นั่นคือมุมมองที่เป็นบทสรุปสำหรับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติจากคนที่ผูกพันมากับป่าเขาและพงไพรมาแสนนาน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us