Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2551
เรื่องน่ากลัวในตลาดหุ้นจีน             
 


   
search resources

Stock Exchange




เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง นิวสวีค 12 กรกฎาคม 2551


นักลงทุนที่จุ้นจ้านและไร้วุฒิภาวะของจีนคืออันตรายของตลาดหุ้นจีน

แม้จะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่การหมกมุ่นกับการเล่นหุ้นได้ล้นออกจากตลาดมาถึงตามท้องถนน ทุกๆ วันเสาร์อาทิตย์ ริมถนนสาย Guangdong Road ใกล้ๆ กับจตุรัส People's Square ในเซี่ยงไฮ้ จะมีนักลงทุนนับร้อยๆ คนที่ออกมาจับกลุ่มถกกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือเคล็ดลับในการเล่นหุ้น บางคนก็จับกลุ่มคุยกันเบาๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่บางคนก็คุยกันโขมงโฉงเฉง เสียงดังจนเรียกความสนใจของคนที่เดินผ่านไปมาให้ต้องหันมามอง คนที่เข้าร่วมวงสนทนาประสา หุ้นทุกวันหยุดเหล่านี้มีทั้งคนที่เกษียณแล้ว คนที่ถูกปลดออกจากงานและคนชั้นปลายแถว แต่ก็มีนักลงทุนจริงๆ มาร่วมวงด้วยเหมือนกัน คุณอาวัยกลางคนคนหนึ่งที่เข้าร่วมเสวนาริมถนนสายนี้บอกว่า เขาเอาเงินเก็บของครอบครัวหลายหมื่นดอลลาร์มาเล่นหุ้น

แต่อารมณ์บนถนน Guangdong Road ในยามนี้แปรเปลี่ยนเป็นความอึมครึมเสียแล้ว เช่นเดียวกับในนิวยอร์ก ลอนดอน เซาเปาโล อิสตันบูล และตลาดโลกทุกหนแห่ง อย่างไรก็ตาม การ ตกต่ำของตลาดหุ้นจีนดูจะไม่เหมือนกับที่ใดเลย เนื่องจากขนาดและขอบเขตอันใหญ่โตมโหฬารของมันนั่นเอง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ดัชนี Shanghai composite index ร่วงลงมากกว่า 50% จากจุดสูงสุดที่อยู่เหนือระดับ 6,000 จุด ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นจีนมีขนาด ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเมื่อดูจากมูลค่าตามราคาตลาด แต่ดัชนี ดังกล่าวร่วงลงมาเหลือเพียงกว่า 2,800 จุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (เทียบกับตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ร่วงลงไม่ถึง 20% ในปีนี้) ขณะนี้นักลงทุนรายย่อยของจีนจำนวนมาก (ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของ นักลงทุนในตลาดหุ้นจีน) พากันไขก๊อกเสียแล้ว ส่วนที่เหลือก็ได้แต่นั่งตบยุงไปวันๆ เท่านั้น

วิธีการที่จีนจะรับมือกับผลกระทบจากฟองสบู่ใหญ่ยักษ์นี้ ไม่เพียงจะส่งผลต่อนักลงทุนรายย่อยของจีนเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลไปไกลกว่านั้นมากนัก นักลงทุนรายย่อยของจีนซึ่งซื้อหุ้นในตลาดหุ้นจีน ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและผู้บริโภคที่ร่ำรวย ซึ่งทั้งจีนและโลกต่างฝากความหวังไว้ที่คนกลุ่มนี้ ว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมการบริโภคภายในจีน และช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกกลับคืนสู่สมดุลได้ แต่ในขณะนี้เมื่อหลายครัวเรือนในจีนพบว่า ความมั่งคั่งของตัวเองลดลงไปมากถึง 50% เนื่องจากผลขาดทุนจากการเล่นหุ้น ส่วนราคาสินค้าก็ยังแพงขึ้นไม่หยุด จึงเริ่มมีสัญญาณ ออกมาแล้วว่า ครัวเรือนชาวจีนจะระมัดระวังมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันความปั่นป่วนของตลาดจีนยังถูกซ้ำเติม ด้วยความจริงที่ว่า นักลงทุนไม่อาจจะได้รับข้อมูลพื้นฐานของบริษัท ที่แท้จริงได้ ซึ่งก็เป็นเพราะการที่รัฐบาลจีนเข้าควบคุมและยุ่มย่าม ในตลาด อันทำให้ความโปร่งใสที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ยาก ความไม่โปร่งใสดังกล่าวบวกกับความจริงที่ว่า นักลงทุนชาวจีนจำนวนมาก ยังคงเชื่อมั่นว่า ทางการจีนจะเข้าไปพยุงตลาดได้อย่างง่ายๆ เมื่อใด ก็ได้ ทำให้สถานการณ์ ตลาดหุ้นจีนยิ่งผันผวน แม้กระทั่งเมื่อวัดตามมาตรฐานของตลาดเกิดใหม่ก็ตาม

บางคนอาจคิดว่านักลงทุนจีนน่าจะเคยได้รับบทเรียนจากอดีต ในช่วงปลายทศวรรษ 90 ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เคยตกฮวบฮาบ แล้วตามด้วยการบูมอย่างรวดเร็วในปี 2001 แล้วร่วงดิ่งลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะซึมยาวตลอด 4 ปีถัดจากนั้น แต่นั่นกลับยิ่งทำให้การพุ่งพรวดขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึง 500% ในช่วงปลายปี 2005 จนถึงเดือนตุลาคม 2007 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกหุ้น IPO หลายตัวที่รัฐบาลจีนสนับสนุน ยิ่งดูน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีกสำหรับนักลงทุน

สิ่งที่ตลกก็คือ การที่รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตลาดหุ้นมาก ขึ้นโดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นในประเทศตะวันตกจะเป็นไปเพื่อการปราม แต่ในจีน เจ้าหน้าที่ของทางการและสื่อซึ่งอยู่ในควบคุมของ ทางการ กลับชอบประโคมข่าวมากเท่าๆ กับบริษัทที่พวกเขาจะต้องควบคุม กำเนิดของตลาดหุ้นจีนแต่แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อระดม ทุนสำหรับนำมาใช้ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนในช่วงทศวรรษ 1990 แม้กระทั่งทุกวันนี้รัฐบาลจีนไม่เพียงแต่จะอนุมัติการออกหุ้น IPO ทุกตัว แต่ยังเป็นผู้กำหนดราคา IPO เองด้วยซ้ำ Andy Xie นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า เจ้าหน้าที่จีนชอบที่จะ แสดงความเห็นเกี่ยวกับตลาด และใช้สื่อของรัฐกระตุ้นประชาชนให้ซื้อหุ้น เรื่องราวทำนองว่าผู้จัดการกองทุน หรือแม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจเองได้รับคำสั่งให้ซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกรณีของการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงในและรูปแบบ อื่นๆ ของการปั่นหุ้น

การที่ตลาดหุ้นจีนยังคงสามารถดึงดูดนักลงทุนในประเทศอยู่ได้ ทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่องมากมายข้างต้นก็เป็นเพราะความล้าหลังและ ความโดดเดี่ยวของระบบการเงินของจีนนั่นเอง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารในจีนอยู่ในระดับต่ำมานานแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการเงินก็มีอยู่จำกัด และช่องทางที่ชาวจีนจะลงทุนในต่างประเทศก็แทบจะไม่มี ที่ดินและตลาดหุ้นในประเทศจึงกลายเป็นเพียงแหล่งลงทุน 2 แหล่งใหญ่สำหรับที่ชาวจีนต้องการนำเงินออมไปลงทุน

ขณะนี้จีนกำลังมีบทบาทใหญ่ขึ้นทุกทีบนเวทีโลก ตลาดหุ้นที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม จึงมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งต่อจีนเองและต่อโลกด้วย จีนหวังว่าจะดึงดูดกองทุนต่างประเทศ ได้ ด้วยนโยบายที่จีนเริ่มใช้เมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งบริษัทจัดการกองทุน ต่างประเทศจะได้รับสถานภาพนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติ (qualified foreign institutional investor: QFII) กองทุนต่างประเทศซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของมูลค่าตลาดของจีน ลงทุนเป็นเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2007

สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ ทางการจีนได้ประกาศแผนการใหญ่ที่จะทำให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีการพูดถึงตลาดทุน ตลาดการเงินล่วงหน้า และตลาดอนุพันธ์ แต่ก่อนอื่นจีนจะต้องมีตลาดหุ้นที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงให้ได้เสียก่อน หากต้องการให้ฝันที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินเป็นจริง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในจีนต่อจากนี้ไปยังอาจจะเป็นอุทาหรณ์หรือคำเตือนไปถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้ แน่นอนว่าความตื่นเต้นเมื่อปีก่อน เมื่อดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งขึ้นสองเท่าในเวลา เพียง 1 เดือน ดูเหมือนจะเป็นบทเรียนที่สอนอันตรายที่เกิดจาก ตลาดที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ นักลงทุนหน้าใหม่ต่างกรูกันเข้าไปแย่งคว้า ชิ้นส่วนของเค้กที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Victor Yuan ประธานบริษัทวิจัยตลาดในจีนชื่อ Horizon ให้ตัวเลขว่า จำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นในจีนเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านบัญชีในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน จากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปีที่แล้ว หรือเพิ่มจาก 60 ล้านบัญชี เมื่อสิ้นเดือนเมษายน เป็น 100 ล้านบัญชีเมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปีกลาย แม้กระทั่งทางการจีนซึ่งกลัวว่าจะเกิดจลาจล หากฟองสบู่ ตลาดหุ้นเกิดแตกถึงกับออก ปากเตือนบรรดานักพนันหุ้นว่า ราคาหุ้นอาจตกลงได้เช่น เดียวกับตอนที่มันขึ้น ทางการ มณฑลฮกเกี้ยนถึงกับต้องส่งคำเตือนเป็นพิเศษไปถึงนักเรียนมัธยม ห้ามไม่ให้เข้า ไปข้องแวะกับตลาดหุ้นเป็นอันขาด

คำเตือนของทางการจีนดังกล่าว นับว่ามากพอดู เมื่อเทียบกับพฤติกรรมที่ผ่าน มาของทางการจีน ที่ทำให้ ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นครั้งล่าสุด ด้วยการประโคมหุ้น IPO หลายตัวของ สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่งของจีน แม้กระทั่งเมื่อเศรษฐกิจ โลกผันผวนมากขึ้นในช่วง 18 เดือนมานี้ แต่รัฐบาลจีนก็ยังกล้าผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในตลาดหุ้น โดยยอมให้ซื้อขายหุ้นที่เคยห้ามซื้อขายมาก่อน (ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ถือโดยรัฐบาลจีน) ในบริษัทจดทะเบียน

ความอยากรวยอย่างแรงกล้าของนักลงทุนรายย่อยชาวจีน ซึ่งเต็มใจที่จะเสี่ยงเพราะหวังรวยด้วยหุ้น ยิ่งเพิ่มดีกรีความผันผวน ให้แก่ตลาดหุ้นจีน Xie นักเศรษฐศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า ความอยากรวยของคนจีน ทำให้ฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีนสามารถจะพอง ตัวหรือยุบตัวได้รวดเร็วพอๆ กัน และบางทีอาจจะเร็วยิ่งกว่าที่ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดเคยเจอมาก็ได้ ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา

การที่จีนยังไม่เคยเจอการประท้วงรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้น ในประเทศอื่นๆ เมื่อตลาดหุ้นดิ่งลง อย่างเช่นอินเดีย ซึ่งนักลงทุน ออกไปประท้วงตามท้องถนนในเมืองมุมไบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Stephen Green หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Standard Chartered Bank ชี้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะธนาคารจีนไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ margin trading ได้ (ให้ประชาชนกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนซื้อหุ้น) จึงเท่ากับช่วยจำกัดผลของการขาดทุนไม่ให้มากเกินไป เมื่อตอนที่ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นสูงสุดในปีที่แล้วนั้น มูลค่าตลาดของจีนเท่ากับ 36% ของ GDP เทียบกับ 109% ในญี่ปุ่นและ 142% ในสหรัฐฯ

ผลของการขาดทุนในตลาดหุ้นกำลังเริ่มออกมาให้เห็นในรูปของการระมัดระวังการใช้จ่าย เช่น ยอดขายรถยนต์ของจีนซึ่งเคยพุ่งขึ้นเพราะคนรวยหุ้นเมื่อปีที่แล้ว นำกำไรที่ได้จากตลาดหุ้นไปซื้อรถ เริ่มตกลงจนสังเกตเห็นได้แล้ว รัฐบาลจีนเริ่มพยายาม จะป้องกันความไม่พอใจของประชาชน ด้วยการงดเก็บค่าอากรแสตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้นใหม่และสัญญาจะปรับปรุงความโปร่งใส ของบริษัทจดทะเบียน แม้ว่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดอีกครั้ง แต่ความเคลื่อน ไหวดังกล่าวของทางการจีน ก็ยังดีกว่าพฤติกรรมการปั่นหุ้นแบบเดิมๆ Paul French แห่ง Access Asia เชื่อว่า ทางการจีนเพิ่งตัดสินใจที่จะลดระดับการควบคุมทางการเมืองที่มีต่อตลาดหุ้นลง French ชี้ว่า ถ้าเป็นแต่ก่อน รัฐบาลจีนจะต้องทำให้มั่นใจว่า หุ้นออกใหม่ทุกตัวได้รับการจองซื้อเกินจำนวนหุ้นที่ออกขาย แต่ขณะนี้รัฐบาลจีนไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว หากสังเกตหุ้นจดทะเบียนหลายตัวของจีนในปีนี้ จะเห็นว่ามีหลายตัวที่มีการจองซื้อต่ำกว่าจำนวนหุ้นที่ออกขาย French ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจีนดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อจะแสดงให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นจีนกำลังเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น แม้ว่า จะต้องแลกด้วยการสูญเสียเงินหลายล้านล้าน (trillion) ที่อยู่บนราคาหน้าตั๋วของหุ้นที่รัฐบาลจีนถืออยู่ในบริษัทจดทะเบียนก็ตาม

หากสิ่งที่จีนพยายามเปลี่ยนแปลงประสบผล นั่นคือข่าวดีสำหรับทุนนิยมระบบตลาดในประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ แต่สำหรับนักลงทุนชาวจีนซึ่งเติบโตขึ้นมากับระบบที่การควบคุมจากรัฐเป็นบรรทัดฐานในชีวิตมายาวนาน การเปลี่ยน แปลงจึงต้องใช้เวลา

กลับไปที่ริมถนนสาย Guangdong Road นักลงทุนรายหนึ่งฟันธงอย่างเชื่อมั่นว่า ตลาดหุ้นจีนจะต้องขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงโอลิมปิกในเดือนนี้ (ส.ค.) เพราะรัฐบาลจีนจะต้องทำให้เป็นเช่นนั้น ความคิดแบบฟองสบู่เช่นนี้คงจะยังไม่หมดไปง่ายๆ เช่นเดียวกับการเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us