|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
"ที่ผ่านมาโดมอนไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราใช้เวลาไปกับการชำระหนี้ 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้หนี้ของเราหมดแล้ว และลูกๆ ก็เรียนจบ มาช่วยสานงานต่อ เราพร้อมออกมาทำตลาดอีกครั้ง" เป็นคำพูดของบุญศักดิ์ วัฒนหฤทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทโดมอน (1978) จำกัด ที่ปลุกปั้นแบรนด์โดมอนมาด้วยมือของเขาเอง
บุญศักดิ์ วัย 68 ปี ที่เขายอมรับว่าเรี่ยวแรงนับวันจะถดถอย ลงไปทุกที แต่เขาก็ไม่คิดจะยอมแพ้ หรือให้แบรนด์ DOMON หายออกไปจากวงการแฟชั่นไทย เพราะเขายังจดจำภาพความสำเร็จอย่างชัดเจนในช่วงรุ่งโรจน์ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ธุรกิจมีรายได้ 200-300 ล้านบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เขามาเปิดตัวบริษัทอีกครั้งพร้อมลูกสาวคนโต บุษบา วัฒนหฤทัย วัย 35 ปี ที่นั่งในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเป็นมือขวาของบุญศักดิ์ในช่วงเวลานี้
ในงานวันนั้นได้มีการจัดประกวดโดมอนแมน 2009 เพื่อคัดหานายแบบหน้าตาดีอีกครั้ง หลังจากที่งานประกวดโดมอนแมนร้างราไปเกือบ 10 ปีนับจากที่เริ่มประกวดครั้งแรกเมื่อปี 2529
นายแบบโดมอน เป็นสัญลักษณ์แบรนด์ของสินค้าโดมอน ปัจจุบันอยู่ในวงการบันเทิงหลายต่อหลายคน อย่างเช่น สถาพร นาควิลัย มอร์ลิส เค เจ มณฑล จิรา หรือวีรภาพ สุภาพไพบูลย์ ซึ่งกลายเป็นตำนานเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเวทีที่สร้างศิลปิน นักร้องในยุคแรกๆ
"ผมยังเห็นคุณบุษบา ดาวเรือง มาอยู่หลังเวทีเอากระดาษ มาจดรายชื่อนายแบบ เพื่อให้เข้าสังกัดแกรมมี่" บุญศักดิ์เล่าภาพ ความทรงจำในอดีตให้ฟัง เสมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นาน และดาราเหล่านั้นก็ยังอยู่ในวงการจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่ายี่ห้อ DOMON เสื้อผ้าบูติก จะได้รับความนิยมเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากว่างเว้นการทำตลาดกว่า 5 ปี ทำให้ตลาดหลงลืมยี่ห้อนี้ไปบ้างแล้ว หรือถ้าเป็นวัยรุ่นที่มีอายุ 10 กว่าปีต้นๆ แทบไม่รู้จักยี่ห้อนี้เลยก็ว่าได้
บริษัทจึงตัดสินใจใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อรีแบรนด์ ใหม่ด้วยการจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดพร้อมกับการปรับโฉมร้านใหม่ โดยมีเป้าหมายในการสร้างแบรนด์โดมอนให้กลับมามี ชื่อเสียงอีกครั้ง บริษัทเริ่มเข้าร่วมจัดงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และนำเสื้อผ้านำเสนอผ่านนิตยสารแฟชั่น และสนับสนุนในรายการบันเทิง ต่างๆ อาทิ การเข้าร่วมสนับสนุนรายการประกวดร้องเพลง AF4
บุญศักดิ์บอกว่า กิจกรรมการตลาดที่ทำในปัจจุบันแตกต่าง จากในอดีต ที่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าจะเปิดพื้นที่หรือเวทีให้กับบริษัทเข้าไปโชว์เสื้อผ้าฟรี แต่ปัจจุบันทุกอย่างต้องจ่ายเงิน และกลายเป็นต้นทุนทั้งหมด
บุษบา ลูกสาวคนโต คาดว่าการจัดกิจกรรมในปีนี้จะทำให้ บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์
การกลับมาทำตลาดครั้งใหม่จะมี 3 แบรนด์หลัก ซึ่งแตกต่างจากการทำธุรกิจช่วงเริ่มต้นที่เน้นขายเสื้อผ้าชายมากกว่าเสื้อผ้าผู้หญิงที่มีการแข่งขันกันมาก แต่เสื้อผ้าชายแทบจะไร้คู่แข่ง ในช่วงเวลานั้น
นับว่าเป็นความโชคดีของโดมอน ที่บุญศักดิ์มองเห็นตลาด ปรุโปร่งและชัดเจน!!!
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แฟชั่นก็เปลี่ยนตาม แต่ด้วยประสบ การณ์ ความเชี่ยวชาญของบุญศักดิ์ ทำให้เขามองว่าเทรนด์เสื้อผ้า ยุคสมัยนี้จะเป็นสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี จึงทำให้แบรนด์ของโดมอน แตกออกเป็น 3 ยี่ห้อ สร้างความหลากหลาย เจาะไปตามกลุ่มเป้าหมาย คือ โดมอน ดี สแควร์ และโดมอน อูโม
แบรนด์โดมอนเป็นแบรนด์หลัก เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวัยทำงาน และลูกค้าทั่วไปอายุ 25 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าคนไทย 60 เปอร์เซ็นต์ ชาวต่างชาติ 40 เปอร์เซ็นต์
สไตล์เสื้อผ้าโดมอนจะเน้นโชว์รูปร่างที่ผู้ชายไทยสมัยใหม่เริ่มนิยมสวมใส่เพิ่มมากขึ้นเหมือนต่างชาติ จากแต่ก่อนจะนิยมแบบลำลอง โล่ง สบาย
สินค้าในแบรนด์ของโดมอนจะมีความหลากหลาย เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกง รองเท้า เข็มขัด ชุดชั้นใน กระเป๋า ถุงเท้า
แบรนด์ D squared เปิดตัวมาแล้ว 10 ปี เน้นกลุ่มวัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงวัยเริ่มต้นทำงานที่ชื่นชอบแฟชั่น และมีร้าน "ดี สแควร์" เป็นช่องทางจำหน่ายหลัก ที่ตกแต่งร้านแนวอินดี้ เน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 60 เปอร์เซ็นต์
ปี 2552 แบรนด์ดี สแควร์จะเน้นสไตล์ "สก็อต คอลเล็กชั่น" เป็นเทรนด์ที่มาจากต่างประเทศมีแนวคิดต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2009
แบรนด์โดมอน อูโม เป็นสินค้าที่เน้นความพิเศษของวัตถุดิบ ที่ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ เน้นลูกค้าไทย 60 เปอร์เซ็นต์ และลูกค้าต่างประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์
ราคาที่จำหน่ายทั้ง 3 ยี่ห้อ มีเริ่มตั้งแต่ 200 กว่าบาทไปจนถึง 10,000 บาท
เสื้อยืดธรรมดาราคาขาย 200 กว่าบาท แต่ราคา 10,000 บาท จะเน้นจำหน่ายเสื้อสูทที่มีการตัดเย็บอย่างประณีต
ช่องทางการจำหน่ายสินค้า เป็นอีกช่องหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึง ใน 2 ปีนี้ (2551-2552) จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 7 แห่ง แบ่งเป็นสาขาร้านโดมอน 5 สาขา และดี สแควร์อีก 2 สาขา
ปัจจุบันร้านโดมอนมีสาขา 35 แห่ง อยู่ในห้างสรรพสินค้า ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 14 แห่ง เช่น สยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ สีลมคอมเพล็กซ์ แฟชั่นไอร์แลนด์ และสาขาในต่างจังหวัด 21 สาขา แบ่งเป็นภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ภาคใต้ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย นครศรีธรรมราช และภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ศรีราชา พัทยา
การกลับมาทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์โดมอน และแบรนด์ในเครือ บุญศักดิ์ไม่ได้ทำงานโดดเดี่ยวเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่เขาได้ลูกอีก 4 คนเข้ามาช่วยทำงาน และซ่อนความหวังไว้ลึกๆ ว่า ลูกๆ จะสานธุรกิจ สานฝันของเขาต่อไป แม้ว่ามันจะเป็นเรื่อง ที่ยากก็ตาม
"การทำธุรกิจเสื้อผ้าแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ มันไม่สามารถ ถ่ายทอดให้กับลูกๆ ได้ เพราะสไตล์ หรือมุมมองแฟชั่นเป็นเรื่องความสนใจของแต่ละบุคคล" บุญศักดิ์กล่าว
บุญศักดิ์มีทายาททั้งหมด 5 คน และ 4 คนที่มีมาร่วมงาน คนแรก บุษบา วัฒนหฤทัย วัย 35 จบทางด้านการตลาด คนที่ 2 ต่อศักดิ์ วัฒนหฤทัย อายุ 34 ปี จบการศึกษาด้านตกแต่งภายใน คนที่ 3 ทนงศักดิ์ วัฒนหฤทัย วัย 32 ปี จบการศึกษาด้านโปรดักชั่น คนที่ 4 พงษ์ศักดิ์ วัฒนหฤทัย อายุ 30 ปี จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนคนที่ 5 ทวีโชค วัฒนหฤทัย เรียนปริญญาโททางด้านวิศวกรรม
แม้ว่าตำแหน่งของบุญศักดิ์จะเป็นกรรมการผู้จัดการก็ตาม แต่เขาเริ่มวางบทบาทของตัวเองเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกๆ เท่านั้น
เขาไม่สามารถคาดเดาอนาคตของบริษัทโดมอนได้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็รอเพียงแต่ให้ทายาทของเขาได้เรียนรู้ธุรกิจไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเขาจะประเมินความสามารถของทายาทจากตัวเลขผลประกอบการว่ามีกำไรหรือขาดทุน
อย่างไรก็ดี แบรนด์ของโดมอนที่ยืนหยัดมาได้จนทุกวันนี้ จนสามารถเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีได้ในปีนี้ เป็นเพราะความสามารถของบุญศักดิ์ ในขณะที่แบรนด์คู่แข่งหายไปตามวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างเช่น แบรนด์ Layout Paccino Slot machine ทำให้บุญศักดิ์ภาคภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้
บุญศักดิ์เล่าว่า ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เขามีหนี้สิน 100 ล้าน เจ้าหนี้ตามทวงหนี้จนเขากลัว แต่สุดท้ายเขาก็ชำระหนี้ ได้ทั้งหมด
เขาเริ่มวางแผนชำระหนี้ด้วยการหยุดทำตลาดผ่านสื่อ หยุด กิจกรรมทางด้านการตลาดทุกอย่างที่ต้องใช้เงินและหันมามุ่งมั่นขายเสื้อผ้าในร้าน ลด แลก แจก แถม ทุกอย่างที่มี และขายตึกพีน่าเฮาส์ที่อยู่ในย่านสยามเซ็นเตอร์ราคา 50 ล้านบาท ขาดทุน 55 ล้านบาท เขาก็จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาธุรกิจหลักเอาไว้
บุญศักดิ์คืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกบาททุกสตางค์ ตอนที่เขียน เช็คคืนให้กับเจ้าหนี้ มือถึงกับสั่น...
เพื่อนของเขาเคยทักว่า ทำไมเขาไม่แฮร์คัท ซึ่งในตอนนั้น เขาถามเพื่อนว่า แฮร์คัท หมายถึงอะไร?
เมื่อเขารู้คำตอบว่า สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และขอตัดหนี้กับเจ้าหนี้บางส่วนได้ จึงเป็นเรื่องที่เขาเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้
แต่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เขาทำธุรกิจอย่างไม่บุ่มบ่ามและ พัฒนาธุรกิจไปอย่างไม่รีบเร่ง เรียนรู้ตลาด เพราะเขาต้องนำพาชีวิตของพนักงาน 200 กว่าคนให้อยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้
สิ่งที่เขาต้องการมากคือ พันธมิตรที่จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องการเงิน เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงงาน ที่ราคาสูง โรงงานที่มีอยู่ 2 แห่งในปัจจุบันคือ บางลำพู และบางใหญ่ ในประเทศไทย เขากำลังมองหาโรงงานแห่งใหม่ที่ลาวและเวียดนาม ที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าของไทย
การกลับมาครั้งนี้ของแบรนด์โดมอน บุญศักดิ์มองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะมีแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงและแข่งขันกันสูง ชนิดที่เรียกว่า เกิดเร็ว ดังเร็ว และตายเร็ว!!!
แต่บุญศักดิ์พูดเล่นๆ อย่างติดตลกว่า โดมอนที่รอดมาได้ เพราะทำบุญไว้เยอะ...ตอนนี้หนี้ก็ไม่มี พร้อมกับหัวเราะอย่างมีความสุข...
|
|
|
|
|