Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2534
เบื้องหลังบุญนำจับมืออินโดฯ ตั้งโรงผลิตผ้าใบยางรถยนต์หลังเกษียณ             
 


   
search resources

พี.ที.บรันตา มูเลีย
บุญนำ บุญนำทรัพย์
Garment, Textile and Fashion




ชีวิตบั้นปลายของบุญนำ บุญนำทรัพย์ นักธุรกิจชั้นนำทางด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลกในวันนี้ถือว่าเพียบพร้อมและเพียงพอแล้วกับความหวัง และความสำเร็จเกินคาดในสิ่งที่ตนไม่คิดว่าจะยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

แม้วันที่กำหนดเกษียณตัวเองในปีนี้ ก็ยังไม่วายที่จะเปิดตัวแถลงข่าวแนะนำโครงการใหม่ ซึ่งแทบจะไม่เคยปรากฏเลยในชีวิตของเขา

งานนี้บุญนำเป็นประธานกรรมการบริษัท ไทยบรันตา มูเลีย จำกัด ซึ่งมุ่งผลิตผ้าใบยางรถยนต์

นับเป็นการลงทุนที่ต่างไปจากโครงการด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าที่เขาเคยทำ ซึ่งจะลงทุนกับเพื่อนในวงการเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่คราวนี้เป็นการร่วมทุนกับอินโดนีเซีย เรียกว่าเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติที่มีสัดส่วนถือหุ้นสูงที่สุดเท่าที่มีมา

หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมบุญนำจึงขยายมาลงทุนในโครงการที่เป็นธุรกิจนอกเหนือจากสิ่งทอ

โดยตัวบริษัท ไทยบรัน-ตาฯ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 352 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนของไทยและอินโดนีเซียสัดส่วน 51 ต่อ 49 นั่นก็คือ 49% เป็นหุ้น่ของบริษัท พี.ทีงบรันตามูเลียจำกัดผู้ผลิตผ้าใบยางรถยนต์ของอินโดนีเซีย

อีก 51% จะแยกเป็นการถือหุ้นของบริษัท ไทย นูซ่า ดีเวลลอปเม้นท จำกัด (เป็นการร่วมทุนของกลุ่มบุญนำและกลุ่มบริษัทดีของอินโดนีเซีย) 31% ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเคมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสิ่งทอ ฯลฯ

ส่วน 20% ที่เหลือเป็นหุ้นของธนาคารกรุงเทพของบุญนำโดยส่วนตัว ประภา วิริยประไพกิจ และสมศักดิ์ ลี้สวัสดิ์ตระกุล

สำหรับบริษัท พี.ที.บรันตา มูเลียเป็นสาขาของบริษัทอินโด ซิเมนต์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจของกลุ่มลิม ซู เหลียงในอินโดนีเซีย ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย เช่น ยานยนต์ เคมี ปิโตรเคมีกระจายไปทั่วโลก

เฉพาะทางด้านยานยนต์พี.ที.บรันตา มูเลียได้ตกลงเซ็นสัญญาใช้เทคโนโลยีของบริษัทกู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์จากสหรัฐฯ โดยเริ่มสร้างโรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ในปี 2526 และเสร็จในปี 2528 จากนันก็ทำสัญญาลักาณะเดียวกันกับบริษัท บริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น จำกัด แห่งญี่ปุ่น

การใช้เทคโนโลยีและระบบากรผลิตที่ทันสมัยของริษัทยางรถยนต์ทั้งสองราย ทำให้พี.ที.บรันตา มูเลียผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของตลาดทำให้เพิ่มปริมาณการผลิตจาก 6,000 ตันในปี 2529 ขึ้นมาเป็น 20,000 ตันในปี 2533

ยอดขาย 2,500 ล้านบาทในปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,500 ล้านบาทในปีนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น 37%

ตลาดของพี.ที.บรันตา มูเลีย ครอบคลุมบริษัทยางยนต์รายใหญ่ทั่วโลก เช่น กู๊ดเยียร์บริดจสโตน ยูนิโรยัล-กู๊ดริช ดันล๊อป-ซูมิโตโม โยโกฮาม่า มิชลิน ตลอดจนผู้ผลิตยางรายอื่นในอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก

โครงการผลิตผ้าใบยางรถยนต์ในไทยครั้งนี้จะตั้งโรงงานบริเวณสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้วางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเช้าวันที่ 1 ตุลาคมศกนี้ กำหนดสร้างเสร็จในปลายปี 2535 มีกำลังผลิต 12,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท

จากปริมาณดังกล่าวจะป้อนตลาดในประเทศ 50% ซึ่งคาดว่าจะช่วยทดแทนการนำเข้าได้ประมาณปีละ 900 ล้านบาทอีกครึ่งหนึ่งจะส่งออกได้ราวปีละ 750 ล้านบาท

เมื่อสร้างโรงงานแห่งนี้เสร็จจะทำให้พี.ที.บรันตา มูเลียมีกำลังการผลิตผ้าใบยางรถยนต์ทั้งหมดถึง 32,000 ตันต่อปีและจะกลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตผ้าใบยางรถยนต์ คือ ไนลอนนั้นในช่วงแรกจะให้บริษัท ดูปองต์เป็นผู้จัดการให้ก่อนเมื่อผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และโดยเฉพาะเส้นใยไนลอน 66 ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวเป็นพิเศษแล้ว ก็จะใช้วัตถุดิบในประเทศ

โครงการผลิตไนลอน 66 นี้เป็นแผนลงทุนต่อไปของบริษัท ไทยบรันตาฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอซื้อสิทธิการผลิตจากดูปองต์ โดยดูปองต์จะขอเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการ แต่ติดเงื่อนไขบีดอไอที่กำหนดว่าจะต้องให้คนไทยถือหุ้นมากกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะหันไปเลือกใช้เทคโนโลยีของรายอื่นแทน

ขณะที่ธุรกิจนกลุ่มบุญนำนั้น มีบริษัทไทยโพลิเมอร์เท็กซ์ไทล์ จำกัด เป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเสริมธุรกิจในเครือให้ครบวงจรและมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีมารูเบนี่คอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ 15% สมานโอภาสวงศ์ 10% ชาตรี โสภณพนิช 10% สุชัย วีระเมธีกุลจากเอ็มไทยกรุ๊ป 5% ประภาวิริยประไพกิจจากกลุ่มสหวิริยา 5% และบุญนำเองถือ 10% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นอื่นทั้งในและนอกวงการ

ดังนั้น โครงการผลิตไนลอน 66 ก็คือส่วนหนึ่งของธุรกิจสิ่งทอที่บุญนำคลุกคลีมาตลอดชีวิต เฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยสังเคราะห์นั้นยิ่งจะเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในอุตสหากรรมสิ่งทอ

โครงการนี้ต่างหากที่บุญนำสนใจ เพราะถนัดและเชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม พูดได้ว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจากการชักนำของแบงก์กรุงเทพ

ด้วยความที่แบงก์กรุงเทพเป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียช่วงกลางทศวรรษที่ 60 และตามมาด้วยซีพี

จากสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยาวนาน เมื่อ พี.ที.บรันตา มูเลียคิดขยายการลงทุนไปยังประเทศไทยและภูมิภาคนี้ก็ได้ติดต่อผ่านแบงก์กรุงเทพให้เป็นคนช่วยหาผู้ร่วมทุน

ขณะที่บุญนำเป็นลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีของแบงก์กรุงเทพและใช้บริการกันมานานนับหลายสิบปี เพราะบุญนำเป็นเพื่อนกับชาตรี โสภณพนิชตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย บุญนำจึงเป็นชื่อที่ทางแบงก์กรุงเทพและนำให้กับพี.ที.บรันตา มูเลีย

นับว่าเป็นความลงตัวและสอดคล้องของธุรกิจซึ่งอยู่ในสายเดียวกัน "มิใช่เป็นเพราะความเลื่องลือที่ว่า บุญนำเป็นเจ้าพ่อสิ่งทอรุ่นที่สองของไทยแต่เป็น LONG CONNECTION" ดร.แจแลล เมทิน กรรมการบริหารของพี.ที.บรันตา มูเลีย เปิดเผย "ผู้จัดการ"

การร่วมทุนครั้งนี้นับเป็นการรุกตลาดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของอินโดนีเซีย และเป็นแนวโน้มที่ดีว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้จะมีการร่วมมือทางการค้าเศรษฐกิจตลอดจนด้านอื่น ๆ มากขึ้นในอนาคตอันจะเป็นเครื่องมือต่อทางการค้าระหว่างกลุ่มภูมิภาคในอนาคต

งานนี้จึงเป็นการลงทุนของบุญนำหลังจากที่กำหนดเกษียณตัวเองในปีนี้

แต่เป็นการลงทุนที่บุญนำบอกว่า ตนก็ลงไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เป็นหลักและไม่คิดจะเป็นหลักในการลงทุนในธุรกิจใดอีกดังที่บุญนำกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "พอแล้ว เดี๋ยวนี้แก่ไปมาก มีงานก็ปล่อยให้คนอื่นทำ ที่ทำ ๆ อยู่ ก็ให้คนอื่นบริหารทั้งนั้น" โดย แอนดรีย์ พริบาดี เป็นกรรมการผู้จัดการ และแชแนลโทเกอร์ เป็นผู้จัดการทั่วไปส่วนตัวเอง "รอแค่เก็บกำไรดีกว่า จะได้ไม่เหนื่อย"

สิ่งที่จะเห็นบุญนำเป็นคนออกโรงก็คือ "เซ็นชื่ออย่างเดียว แต่เซ็น (กู้)มาก ๆ กลางคืนคิดแล้วปวดหัว" เขากล่าวอย่างติดตลกต่อหน้าชนะ กาญจนวัฒน์ ซึ่งรับผิดชอบการปล่อยเงินกู้ของแบงก์กรุงเทพและตอบกลับมาว่า "นั่นเพราะอาเจ็ก (บุญนำ) เป็นลูกค้าที่ดี"

พิธีเซ็นสัญญากู้เงิน 52 ล้านบาทจากแบงก์กรุงเทพเพื่อใช้ในการสร้างโรงงานจึงมีขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมากันพร้อมหน้าพร้อมตา ทุกคนดูยิ้มแย้มสดใสถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นปิติสิทธิอำนวย กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และชาติสิริ โสภณพนิช จากค่ายแบงก์กรุงเทพ หรือนักธุรกิจตระกูลพริบาดี ยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย

จากโครงการนี้นับเป็นการยืนยันได้ว่าแม้บุญนำจะเกษียณตัวเองก็ตาม แต่ก็ไม่อาจสลัดความเนื้อหอมที่จะมีคนมาชักชวนลงทุนในโครงการต่าง ๆ ไปได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us