ทักษิณสั่งปรับแบงก์กรุงไทย (KTB) ชมสัดส่วนหนี้เน่าน้อยแค่ 4% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
ถือว่าแบงก์ปรับตัวดีขึ้น ส่วนแผนแปรรูปเพิ่ม ยันต้องรอความพร้อมแบงก์ และภาวะตลาดหุ้น
ขณะที่เอ็มดีแบงก์ยัน ขณะนี้กรุงไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพราะปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง
แถมลดดอกเบี้ยสลึงเดียว รายได้แบงก์วูบ 1.2 พันล้านบาทต่อปี คาดกระจายหุ้น เพิ่ม
ก.ย.นี้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารธนาคารกรุงไทย
วานนี้ (7 ก.ค.) ว่าธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
โดยเฉพาะให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสาขาทั่วประเทศจำนวนมาก
รวมทั้งระบบธนาคารสามารถรองรับลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมส่วนธนาคารมหานคร ที่โอนมาหลังการควบรวมกิจการ
ธนาคารยังมีระบบไอทีทันสมัย พัฒนาต่อเนื่องสามารถสนองนโยบายรัฐบาล หลังจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
ที่มุ่งพัฒนาประชาชนระดับรากหญ้ามากกว่าฐานบน
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) การปล่อยกู้ระหว่างปี 2544-45
ประมาณ 10% ส่วน ใหญ่เป็นหนี้คงค้าง หนี้ใหม่ไม่มากนัก จึงถือว่าธนาคารกรุงไทยปรับตัวดี
จากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งต่อเนื่อง
อีกทั้งนโยบายด้านสินเชื่อ แนวโน้มดี ซึ่งสามารถสะท้อนภาพรวมให้รัฐบาลเห็นโครงสร้าง
และเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจได้อย่างดี
ทักษิณแนะกรุงไทยปรับองค์กรให้ทันสมัย
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแนะว่า ธนาคารควรจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้มีบริการคล่องตัวมากขึ้น
เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ โดยร่วมมือกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) เพื่อทำหน้าที่ดึงบริการด้านการเงินในชุมชน ทั้งการโอนและรับฝากธนาณัติ
นโยบายการขยายกองทุนให้ชุมชนฝึกตนเอง ทำหน้าที่ธนาคารหมู่บ้านในชุมชนของตนเองได้เบื้องต้น
มีหมู่บ้านในโครงการแล้ว 2.4 หมื่นแห่ง
"ผมได้เสนอและมอบนโยบายการปรับวัฒนธรรมขององค์กร ให้มีความทันสมัยขึ้น แบงก์กรุงไทยมีวัฒนธรรมความเป็นรัฐวิสาหกิจมานาน ต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองก์กรมียุทธศาสตร์สมัยใหม่
ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยมาถูกทางแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มอบนโยบายด้านสินเชื่อให้กับธนาคารเป็นพิเศษ
แต่ให้ทางธนาคารพิจารณาเองว่า การปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจใด จะมีโอกาสที่ดี เพื่อสะท้อนภาพต่อรัฐบาล
ให้สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามสภาพที่เป็นจริง และทันต่อเหตุการณ์โลก"
พ.ต.ท. ทักษิณกล่าว
ไม่เร่งแปรรูปกรุงไทยเพิ่ม
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายหุ้นธนาคารกรุงไทยเพิ่มว่า ต้องพิจารณาความพร้อมธุรกิจก่อน
เนื่องจากธนาคารกรุงไทยอยู่ในช่วงปรับปรุงโครงสร้าง ยังต้องดูภาวะตลาดหุ้นประกอบกันด้วย
"ต้องดูจังหวะของตลาดฯ และความพร้อมของแบงก์ให้ดี อาจต้องรอให้หุ้นราคาดี
มีผลตอบแทนมากขึ้นอีก ก็น่าจะมีความพร้อมที่จะขาย เพราะโดยพื้นฐานธนาคารมีความเข้มแข็งอยู่มาก
แต่การกระจายหุ้น ก็ไม่ได้หมายความต้องรอตามที่รัฐบาลสั่ง แต่ทำตามความพร้อมของธุรกิจเป็นหลัก"
นายกรัฐมนตรีกล่าว
ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยขณะนี้
ทางด้านนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าขณะนี้ธนาคารยังไม่จำเป็น
ต้องปรับลดดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เนื่องจากขณะนี้ สภาพคล่องยังปกติ
อย่างไรก็ตาม จะดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเงินไหลเข้ามากเกินปกติ ก็ไม่มีแรงกดดันต้องปรับลดดอกเบี้ย
เพราะการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สิ้นมิถุนายน ธนาคารปล่อยสินเชื่อแล้ว
50,000 ล้านบาท แต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 อัตราขยายตัวสินเชื่ออาจชะลอตัวบ้าง คาดสินเชื่อธนาคารสิ้นปีนี้
ขยายตัวสุทธิไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาท
เขายังมั่นใจว่า ผลประกอบการธนาคารสิ้นปีนี้ แนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจต่างๆ
เริ่มขยายตัวมากขึ้น นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า ตอนนี้สภาพคล่องมาก ธนาคารกำลังถ่วงดุลระหว่างผู้ฝากและผู้กู้
โดยขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่า ขณะนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลงเหลือ 1.9%
แต่ถ้าขยายสินเชื่อได้มาก ก็จะทำให้รายได้ธนาคารใกล้เคียงปีที่ผ่านมา โดยการขยายสินเชื่อสุทธิครึ่งปีแรก
ปล่อยได้ 2.8 หมื่นล้านบาทจะปล่อยสินเชื่อต่อไปไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะจะเน้นลูกค้ารายย่อย
วงเงินกู้ต่ำกว่า 40 ล้านบาท
ลดดอกเบี้ยสลึงรายได้วูบ 1.2 พันล้านบาทต่อปี
"ผมยอมรับว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทุก 25 สตางค์ จะมีผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร
1,200 ล้านบาทต่อปี แต่ธนาคารมองระยะยาว คิดว่าการดำเนินการทั้งหมด จะเกิดผลดีต่อธนาคารในอนาคต
โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างลูกค้าเอสเอ็มอี สัดส่วน 60% และรายใหญ่ 40% เพื่อจะเป็นกระจายความเสี่ยง
และรองรับมาตรฐานบีไอเอสใหม่" นายวิโรจน์กล่าว
ขายหุ้นเพิ่ม ก.ย.
นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า การกระจายหุ้นธนาคารเพิ่ม คาดว่าจะกระจายหุ้นได้ทันกันยายนนี้
หรือช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์เอื้ออำนวยมาก ดัชนีตลาดฯปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
จึงน่าจะเป็นช่วงเหมาะสมกระจายหุ้นเพิ่ม
นอกจากนี้ ตามแผนธนาคารต้องการจะกระจายหุ้นหลังปิดงวดบัญชีครึ่งปี เพื่อจะให้แสดงผลดำเนินงานชัดเจน
และเป็นแรงจูงใจนักลงทุนสนใจซื้อหุ้นธนาคาร อีกทั้งมองว่า ภาวะตลาดหุ้นไทย หลังกันยายน
อาจไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า