Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์28 กรกฎาคม 2551
“วัน ทู โก” เทียบชั้นTG แม้แต่ฝันยังยากจะเป็นจริง             
 


   
www resources

โฮมเพจ สายการบินโอเรียนท์ไทย

   
search resources

โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์
Low Cost Airline




คำสั่งหยุดบินแค่ 30 วัน ดูจะไม่เพียงพอสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำอย่าง “วัน ทู โก” เสียแล้ว เบื้องหน้าเบื้องหลังของการยืดระยะเวลาเพิ่มอีก 15 วันเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สายการบิน วัน ทู โก ให้น้ำหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากสาเหตุที่ถูกปิดให้บริการคือ “มาตรฐานความปลอดภัยต่ำ” แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้บริการของลูกค้าของ วัน ทู โก เป็นอย่างมาก

เพราะจากข่าวที่ออกมาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ทางกรมขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ได้ระบุข้อหาที่ร้ายแรงของวัน ทู โก ที่ได้กระทำมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแต่ส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

1.ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพสำหรับตรวจสอบตนเองและบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน โดยปล่อยให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคู่มือที่ได้รับความเห็นชอบ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยที่กรมกำหนด

การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายในการเดินอากาศ โดยเฉพาะการจัดตารางบินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของกรมเรื่องการกำหนดข้อจำกัดเวลาทำการบิน และเวลาปฏิบัติหน้าที่ และคู่มือ Fight Operation Manual ที่ได้รับการรับรอง

2.ไม่มีระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมและไม่มีองค์กรและบุคลากรที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริง โดยใช้บุคลากรปนเปคละกันไปหมดทั้งสายการบิน วัน ทู โก และสายการบินโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ส ไม่สามารถแบ่งแยกหน้าที่บุคลากรของทั้ง 2 สายการบินได้

3.จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมนักบินแบบเครื่องบินเอ็มดี 80 Series และใช้ฝึกอบรมนักบินของสายการบินโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลนส์ โดยไม่ผ่านการรับรองจากกรม 4.ไม่จัดให้พนักงานอำนวยการบินเข้ารับการอบรมตามที่กำหนดไว้ใน Flight Operation Manual ที่ได้รับการรับรองจากกรม และ 5.ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฏหมายโดยยื่นผลการตรวจสอบความเชี่ยวชาญนักบินแบบเครื่องบินเอ็มดี 80 Series เป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

“กรมได้ส่งหนังสือไปยังสายการบินวัน ทู โก เพื่อแจ้งว่าได้พักใช้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือเอโอซีของสายการบินวัน ทู โก เป็นเวลา 30 วัน และพักใช้ใบรับรองในส่วนของเครื่องบินเอ็มดี 80 Series เป็นเวลา 30 วันเช่นกัน ส่งผลให้ วัน ทู โก ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลา 30 วันเริ่มตั้งแต่วันนี้ (21 ก.ค.) เป็นต้นไป” เป็นคำกล่าวของ ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมขนส่งทางอากาศ

เพียงเท่านี้ก็ทำให้ วัน ทู โก หมดอนาคตที่จะกลับมาเหินเวหาในบ้านเราได้อีกต่อไป ด้วย “ความเชื่อมั่น” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจการบินลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้บริการจากสายการบินใดหากปราศจากความเชื่อมั่น สายการบินนั้นรอเวลานับถอยหลังได้เลย แม้จะใช้กลยุทธ์ “ราคา” เป็นตัวช่วยฉุดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการในยุคที่เงินในกระเป๋ามีมูลค่าเหลือน้อยก็ใช่ว่าจะได้ผล

การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเพื่อกลับมาใช้บริการอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากแผนการตลาดทุกอย่างของ วัน ทู โก ยังยืนอยู่บนพื้นฐานการบริหารจัดการแบบเดิมๆ คือ เครื่องบินลำเดิมเพียงแต่ยกเครื่องใหม่ หรือใช้การตลาดแบบเดิมๆที่ใช้อยู่ในการแข่งขันทางธุรกิจ หวังสร้างภาพลักษณ์โดยรวมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ากลับคืนมาคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักและท้ายที่สุดลูกค้าก็อาจจะไม่กลับมาใช้บริการอีก

สิ่งสำคัญของการแข่งขันในธุรกิจโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่กำลังดุเดือดอย่างยิ่งโดยเฉพาะสงครามราคาที่ถูกหยิบนำมาใช้ได้ผลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากำลังถูกลดบทบาทลงมาด้วยพิษราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเกือบเท่าตัวในปัจจุบัน ขณะเดียวกันข้อด้อยในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย กลายเป็นประเด็นทางการตลาดที่หลายค่ายออกมาใช้เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น การออกแคมเปญโฆษณาเครื่องใหม่ป้ายแดงของไทยแอร์เอเชียที่ออกมาทันทีที่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินวันทูโกเกิดเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 กันยายนปีที่ผ่านมา เนื่องจากเครื่องบินของวันทูโก ล้วนเป็นเครื่องบินเก่าที่ใช้งานมานาน

แม้ที่ผ่านมา เจ้าของสายการบิน วัน-ทู-โก จะพร่ำบอกกับสื่อมวลชน และประชาชนผู้ใช้บริการมาตลอดว่า สายการบินวัน-ทู-โก ของตนเป็น Low Fare airline ไม่ใช่ โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เหมือนกับไทยแอร์เอเชีย ซึ่งวัตถุประสงค์ของถ้อยความนี้ก็เพื่อสร้างความแตกต่าง และเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดูดี มีระดับกว่าหากใช้บริการของวัน-ทู-โก แต่กระนั้น message นี้ไม่สามารถปรับทัศนคติของผู้บริโภคให้เชื่อได้อย่างที่ อุดม ต้องการ แต่การใช้กลยุทธ์ทุกที่นั่งราคาเดียวก็ถือเป็นจุดเด่นเดียวที่ทำให้ วัน ทู โก ได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคอย่างดี เมื่อเทียบกับสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ผู้บริโภครู้สึกไม่ค่อยสนุกกับการแย่งที่นั่ง จนทำให้หลังๆไทยแอร์เอเชียต้องแก้เกมด้วยการออกบริการเอ็กซ์เพรสบอร์ดดิ้ง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถขึ้นเครื่องก่อนใคร และสามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจ แต่งานนี้ผู้โดยสารต้องเสียค่าธรรมเนียนเพิ่มอีกคนละ 150 บาทหากเป็นเที่ยวบินในประเทศ และ 250 บาทสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ

การวาง Position ว่าเป็นสายการบินแบบ low fare และการวางกลยุทธ์ราคาดังกล่าวทำให้วัน ทู โก มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการจำนวนไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่ผู้บริหารของวัน ทู โก ออกมากล่าวอ้างว่าการปิดให้บริการเป็นเวลา 2 เดือนนี้จะทำให้สูญเสียจำนวนผู้โดยสารไปราว 4 หมื่นคน และต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วไปล่วงหน้าแล้วกว่า 70 ล้านบาท

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด อุดม กลับแก้เกมนี้ด้วยการจะลบภาพลักษณ์ของการเป็น Low fare airlines ของวัน ทู โก ให้หมดสิ้นไป ดังจะเห็นได้จากการประกาศเป็นคู่แข่งกับการบินไทย โดยขอเวลากว่า 45 วันเพื่อล้างภาพลักษณ์เดิมๆทิ้งไปจนหมด เพื่อพัฒนาเป็นสายการบินชั้นนำแบบเต็มราคาคือ Full Fare Airline กลยุทธ์ที่ใช้จึงไม่แตกต่างกับสายการบินไทย ที่มีบริการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องหรือแม้แต่บริการอื่นๆบนภาคพื้นดินที่ต้องมีความพร้อมเพื่อไว้ต่อกรกับการบินไทย

ในอนาคตอันใกล้สิ่งที่ วัน-ทู-โก ต้องเจอนั่นก็คือการตลาดที่แสนจะยากเย็น กอปรกับยิ่งต้องเผชิญหน้าการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ตลอดกาลอย่าง การบินไทย ซึ่งได้เปรียบ วัน ทู โก ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ มาตรฐานความปลอดภัย จำนวนฝูงบินที่มากกว่า เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ และสมรรถนะที่เหนือกว่า ตลอดจนเส้นทางบินที่มีอยู่ในมือบวกกับศักยภาพความพร้อมด้านบุคลากร รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่มีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่ง วัน-ทู-โก เองต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะสามารถต่อกรกับคู่แข่งขันได้หรือไม่ เพราะการกระโดดเข้ามาเล่นเกมธุรกิจครั้งนี้เป้าหมายสำคัญคือเพื่อขอมีที่ยืนในธุรกิจสายการบินอีกครั้ง

เมื่อ วัน ทู โกมีเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้สิ่งที่จะตามมาคือเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่ วัน ทู โก จำเป็นต้องใช้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจุดยืนใหม่ทั้งหมด หลังพ้นคำสั่งหยุดให้บริการทางด้านการบิน ความพยายามที่วัน ทู โก จะกระโดดเข้าสู่เส้นทางสายการบินในระดับเดียวกับ TG จึงต้องหาแหล่งเงินทุนหนาจากต่างประเทศเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน-ทู-โก บอกว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับสายการบินต่างชาติรายหนึ่ง เข้ามาถือหุ้นในบริษัท เพื่อร่วมดำเนินกิจการสายการบินในประเทศไทย โดยจะเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ

สัดส่วนของการลงทุนในเมืองไทยที่มักมีข้อจำกัดคือกำหนดคนไทยถือหุ้น 51%และต่างชาติ 49% เงื่อนไขดังกล่าวอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติมากนัก หากแต่ วัน ทู โก จะต้องมีเงื่อนไขอะไรพิเศษเพื่อดึงนักลงทุนชาวต่างชาติกระเป๋าหนักเข้ามา สิ่งสำคัญคือจุดคุ้มทุนที่นักลงทุนชาวต่างชาติมักมองเป็นสิ่งแรกว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ส่งผลให้แผนการตลาดที่ วัน ทู โก ที่วางไว้จะต้องยั่วยวนชวนให้นักลงทุนชาวต่างชาติตัดสินใจยอมมาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่า วัน ทู โก จะใช้งบลงทุนประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับเปลี่ยนฝูงบินใหม่ เป็นเครื่องแอร์บัส เอ-320 และ โบอิ้ง 737-800 จากเดิมที่บริษัทเคยใช้เครื่องเอ็มดี-82 จำนวน 10 ลำ และโบอิ้ง 747 ทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งฝูงบิน ด้วยเหตุผลสั้นๆคือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม วัน ทู โก ก็เตรียมใจเผื่อไว้หากไม่มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาร่วมทุนจะด้วยเพราะเม็ดเงินที่มีจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาทหรือจะด้วยเหตุผลอื่นๆก็ตาม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อุดม บิ๊กบอสวัน ทู โก ยอมรับว่า มีการวางทิศทางดำเนินงานของไว้แล้ว ด้วยการเดินหน้าธุรกิจการบินต่อ แต่จะเน้นไปที่การเปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำแทนการให้บริการแบบปกติ

“ผมมีความเป็นใจนักเลงพอ ในเมื่อสงสัยว่าฝูงบินผมไม่ได้มาตรฐาน ก็ยินดีที่จะปิดปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีในช่วงนี้ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกเส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต เมื่อปีที่ผ่านมา ผมยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากกว่า 50% เพราะยิ่งเปิดให้บริการมากก็ขาดทุนมาก โดยเฉลี่ยทุกวันนี้ขาดทุนวันละ 1-2 ล้านบาท” อุดม กล่าว

การประกาศกลับมาด้วยบทบาทใหม่ของ วัน-ทู-โก ครั้งนี้ เป็นทางออกที่จะต้องมารอดูว่า จะสามารถกลับมานั่งอยู่ในธุรกิจนี้ได้หรือไม่

การให้บริการการบินเต็มรูปแบบของ วัน-ทู-โก กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 45 วันนับจากนี้ไป หากไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง วัน-ทู-โก จำเป็นต้องอาจปิดฉากจากวงการการบินเมืองไทยอย่างถาวร เพราะคงไม่มีเวทีไหนให้ วัน-ทู-โก เล่นได้อีกต่อไป

ในทางกลับกันการประกาศหยุดบินของ วัน ทู โก ส่งผลให้บริการในตลาดโลว์คอสต์ กลายเป็นสนามรบที่ค่อนข้างจะเหลือคู่แข่งขันน้อยลงไปทุกที ปัจจุบันเหลือสายการบินต้นทุนต่ำเปิดให้บริการอยู่ 2 สายเท่านั้น คือ ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ขณะที่นกแอร์กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติและทำตลาดค่อนข้างลำบาก หลังจากมีการปรับแผนการตลาดลดจำนวนฝูงบินจากเดิมที่มีอยู่ 9 ลำเหลือเพียง 3 ลำ และลดเส้นทางบินลง ไปกว่าครึ่งหนึ่ง

ที่ผ่านมา วัน-ทู-โก คือหนามชิ้นใหญ่ สำหรับไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ในการทำตลาด เพราะนโยบายตั๋วราคาเดียวทุกที่นั่ง สร้างความลำบากใจให้กับไทยแอร์เอเชีย อย่างมากสำหรับการกำหนดราคาตั๋วขั้นสูงสุด เพราะไม่สามารถกำหนดราคาตั๋วขั้นสูงสุดเหนือกว่าราคาตั๋วของ วัน-ทู-โก ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าไหลไปหา วัน-ทู-โก กันหมด

อย่างไรก็ตาม สภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ทุกสายการบินประสบกับภาวะขาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ต่างประสบกับปัญหาหนัก เพราะต้นทุนพุ่ง แต่ก็จำเป็นต้องแข่งขันกันเรื่องของราคาถูก ในการจูงใจผู้โดยสาร เพราะตลาดสายการบินโลว์คอสต์ถูกสร้างด้วยกลยุทธ์ด้านราคา มากกว่าความคุ้มค่าในการเดินทาง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ค่ายโลว์คอสต์ กำหนดราคาต่ำได้มากกว่ากัน ค่ายนั้นก็ได้เปรียบ ส่งผลให้ตอนนี้โลว์คอสต์แอร์ไลน์แต่ละรายกำลังแข่งกันขาดทุน มากกว่าการสร้างกำไร เพราะทุกรายยังคงเล่นสงครามราคากันอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยแอร์เอเชีย ที่ถือว่ามีเม็ดเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนในมาเลเซีย ส่งผลทำให้ไทยแอร์เอเชียยังสามารถเดินหน้าแคมเปญตั๋วราคาต่ำได้อย่างยาวนาน และต่อเนื่องออกมาให้เห็นอยู่ประจำ

เพราะไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะที่สุดสำหรับการขยี้คู่แข่งขันได้เหมาะเท่าเวลานี้อีกแล้ว เพียงแค่ไทยแอร์เอเชียดัมพ์ราคาต่อไป ขณะที่นกแอร์ยังคงแค่ประคองตัวให้อยู่รอดบนเส้นทางธุรกิจการบิน สำหรับสายการบิน วัน ทู โก ก็เตรียมโบกมือลาตลาดโลว์คอสต์หลังจากเมื่อพ้นคำสั่งหยุดบิน ดังนั้นอานิสงส์จึงตกมาที่ ไทยแอร์เอเชียเต็มๆ เพราะสายป่านต้นทุนที่ยาวกว่าใคร การเป็นเจ้าตลาดโลว์คอสต์เบอร์หนึ่งของไทยอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us