5S - SEA SUN SAND SEX AND SERVICE คือ สโลแกนที่บ่งบอกถึงการเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีความพร้อมสูงมากในทุก
ๆ ด้านของพัทยา สร้างชื่อเสียง และนำเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าประเทศมานานหลายปี
กระทั่งไม่นานมานี้ อาการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าได้ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด
ขณะที่แผนการแก้ไขมากมายที่วางกันมาหลายสมัยทั้งใหม่และเก่ากลับมัวติดขัดด้วยอุปสรรคนานาประการ…การเสื่อมสลายของ
SEA หรือ SAND นี้อาจทำให้การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของพัทยาถึงกาลอวสานได้
หรือมิเช่นนั้นก็ไม่ต้องขายความงามทางธรรมชาติกันอีกต่อไป ยังไงก็มีความงามแห่งเรือนร่างหญิงให้ขายได้ตลอดกาล
ใครที่เคยไปพัทยาเมื่อ 7-8 ปีก่อนคงยังจำได้ถึงภาพโค้งหาดทรายยาวทอดตัวลาดสู่ท้องทะเลเชื่อมต่อแผ่นดินกับพื้นน้ำในอ่าวพัทยา
ซึ่งสะท้อนสีครามใสรับกับท้องฟ้าโปร่ง ริมถนนเรียบชายหาดก็เรียงรายอยู่ด้วยร้านค้าและสถานบริการที่พร้อมตอบสนองความต้องการและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้เดินทางมาพักผ่อน
…ธรรมชาติกับเมืองยืนอยู่เคียงข้างและควบคู่กัน
แต่ถ้ากลับไปพัทยาในวันนี้ จะได้ภาพอีกแบบหนึ่ง แม้ทะเลจะยังคงวาดวงเว้าเป็นอ่าวอยู่เช่นเดิม
แต่แนวหาดทรายก็หายไปเสียแล้ว มีเพียงคันเขื่อนคอนกรีตกั้นไว้ ยามเย็นที่น้ำทะเลขึ้นนักท่องเที่ยวจากแดนไกลผู้ตั้งใจมาเที่ยวเมืองชายทะเลลงจากรถแล้วถึงกับต้องถามว่า
"WHERE IS THE BEACH?"
สีครามของท้องทะเลถูกแต้มด้วยริ้วสีดำของน้ำจากท่อต่าง ๆ บวกกับสีสันของสกูตเตอร์ที่วิ่งกันวุ่นวาย
และเรือโดยสารที่จอดระโยงระยางริมถนนเรียบชายหาด รวมถึงถนนสาย 2 มีสถานบริการและร้านค้าเพิ่มขึ้นอีก
3-4 เท่าตัว บาร์เบียร์กระจุกตัวเป็นหย่อม ๆ กระจายเกลื่อนอยู่ทั่วไป ตัวอาคารต่าง
ๆ แออัดและเบียดเสียดอยู่ด้วยรูปร่างหน้าตาเหมือน ๆ กัน บ้างเสร็จสิ้นเป็นทรงเหลี่ยมสูงสมบูรณ์แล้ว
บ้างก็ยังระเกะระกะไปด้วยเครนก่อสร้าง ร่วมกันบดบังทิวทัศน์ไปจนสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ท้องฟ้า
มิพักต้องพูดถึงการจราจรบนท้องถนนแทบทุกสายที่คับคั่งราวกับว่า เป็นส่วนเดียวกันกับปัญหารถติดตั้งแต่เมืองกรุงไล่ไปตามถนนสุขุมวิท
จนถึงภายในตัวเมืองพัทยา
เมืองท่องเที่ยวที่เคยได้ชื่อว่า เป็นเมือง 5S คือ SEA SUN SAND SEX AND
SERVICE ดูเหมือนจะไม่มีที่เหลือให้กับ "S" 3 ตัวแรกสักเท่าไร
ข่าวคราวที่ว่าอ่าวพัทยาเริ่มเน่า - ธรรมชาติที่พัทยาตายแล้วนับว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีต่อเมืองท่องเที่ยวที่วางตัวว่า
เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเมื่อทั้งภูเก็ตและสมุยต่างก็ติดอันดับโลกแล้วเช่นกัน
แต่ข่าวคราวอย่างนี้ก็สร้างผลด้านดีเหมือนกัน นั่นคือก่อให้เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น
?
ปลายปีก่อนมีการพูดกันถึงโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเมืองพัทยารวมทั้งสิ้น
9 โครงการด้วยวงเงินประมาณ 3,598 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการเมื่อเดือนสิงหาคม
เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมาก
ทั้งในแง่ที่ว่านี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการดำริแก้ปัญหาของพัทยาในระดับกว้างและในแง่ของผลกระทบจากโครงการขนาดมหึมาทั้งหลาย
โดยเฉพาะโครงการถมทะเลบริเวณพัทยาใต้
โครงการเร่งด่วนนี้เกิดจากการผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก
(สพอ.) ที่มีสาวติตต์ โพธิวิหค เป็นผู้อำนวยการ โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น
(JICA) จัดส่งคณะเข้ามาเป็นผู้ทำการศึกษาและวางแผนแม่บท เพื่อพัฒนาเมืองพัทยาตั้งแต่เดือนเมษายน
2532 เป็นต้นมา ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เมืองแห่งนี้สามารถขยายตัวได้อย่างสอดคล้องและรองรับการพัฒนาของพื้นที่แหลมฉบังและมาบตาพุด
ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ตั้งขนาบอยู่ทางตอนเหนือและใต้ของพัทยา
ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อรงอรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเป็นการกระจายความเจริญออกจากกรุงเทพมหานครนั้น
พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่บริเวณมาบตาพุดจังหวัดระยอง ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย
ตอลดจนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญจำพวกปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี โรงแยกก๊าซ ส่วนบริเวณแหลมฉบัง
จังหวัดชลบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ จะเป็นที่ตั้งของท่าเรือพาณิชย์และอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดลกางที่ไม่มีปัญหาด้านมลพิษ
สำหรับพัทยาได้รับการวางตำแหน่งให้เป็นเมืองศูนย์กลางในด้านการท่องเที่ยวและศูนย์กลางด้านธุรกิจพาณิชย์เป็นสำคัญ
พัทยาจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่กำลังย่างกรายมาถึง
พร้อมกับพัฒนาตัวเองให้ก้าวขึ้นไปสู่การเป็นศูนย์กลางให้ได้
จากการศึกษาของ JICA ได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมของพัทยาเสื่อมโทรมถึงขั้นวิกฤต
มีปัญหาใหญ่ ๆ มากมายที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาที่ได้รับการระบุไว้
ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำประปา มลพิษทางน้ำ น้ำท่วม ขยะมูลฝอย
การกัดเซาะชายฝั่ง จราจรติดขัด มลพิษทางเสียงและอากาศ ความไร้ระเบียบในการใช้ทะเล
และการขาดแคลนท่าเทียบเรือโดยสาร เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องน้ำเสียนับว่ารุนแรงที่สุด
โดยที่ปัญหาทั้งหลายนั้นเป็นเหตุให้ชื่อเสียงในการเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศชั้นหนึ่งระดับนานาชาติกำลังจะสูญเสียไป
และแท้จริงแล้วในปี 2532 ธุรกิจที่พัทยาใต้ก็ได้เริ่มซบเซาลง…
โครงการราคา 3,598 ล้านบาท คือ ทางออกที่ JICA เสนอสำหรับแก้ปัญหาทั้งหมด
รวมทั้งเตรียมการรับมือกับอนาคตข้างหน้า โดยมีกรมโยธาธิการเป็นหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินการโครงการต่าง
ๆ ถึง 7 ใน 9 โครงการ และกำหนดระยะเวลาไว้ว่า อย่างน้อยควรจะต้องเสร็จสิ้นก่อนปี
2539 นอกจากนี้ยังจะต้องมีโครงการต่อเนื่องตามมาอีกเพื่อพัฒนาพัทยาให้เติบใหญ่ขึ้นไป
หลังจากโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ ทางสพอ. ได้ชี้แจงเรื่องให้เมืองพัทยารับทราบพร้อมกับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจในเมืองพัทยา
แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งสาวิตต์
โพธิวิหค ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" โดยกล่าวว่า
ให้ไปถามกับทางเมืองพัทยา
"ถามผม ผมจะไปรู้ดีเท่าท่านได้อย่างไร ท่านเองเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งแต่ต้นเรื่องเลย
3,600 ล้านก็ยังนิ่งอยู่ มีแต่ตัวเลข ตัวเงินไม่รู้อยู่ที่ไหน เป็นโครงการที่อยู่ในช่อง
FREEZE แข็งปึ้ก" นั่นคือคำตอบของนายกฯ เมืองพัทยา โสภณ เพ็ชรตระกูล
ส่วนทางผู้อำนวยการกองแผนงานของกรมโยธาธิการ มานะ โชติกพนิช เล่าว่า เมื่อกรมโยธาธิการ
ได้รับงานนี้มาหลังจากผ่านคณะรัฐมนตรีก็ได้เตรียมแผนปฏิบัติงานแล้ว แต่งบประมาณยังตกมาไม่ถึงจึงไม่มีการเริ่มต้นดำเนินการ
ล่าสุด ทาง สพอ. ได้นำโครงการกลับไปศึกษาใหม่อีกครั้งแล้ว เพื่อพิจารณาว่า
มีโครงการใดสามารถให้เอกชนร่วมลงทุนได้บ้าง เชื่อว่า คงจะต้องมีการเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แหล่งข่าวใน สพอ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในเวลานี้โอกาสเกิดของ
9 โครงการเร่งด่วนคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสิ่งทีเสนอไปกับรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นเพียงกรอบกว้าง
ๆ ในขั้นปฏิบัติต้องมีการศึกษาร่วมกันอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งก็ยังไม่เสร็จสิ้น
และที่สำคัญก็คือ มีโครงการอื่น ๆ ที่เร่งด่วนกว่าจะต้องผลักดันออกไปก่อน
เป็นอันว่า การพัฒนาพัทยาตามแผนของ JICA ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะฝากความหวังไว้ได้เช่นเดียวกับแผนก่อน
ๆ ที่เคยมีการเสนอขึ้นมา
การเริ่มต้นคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจังเกิดขึ้นแล้ว แต่การปฏิบัติที่จริงจังยังไม่เป็นจริง
ฝ่ายคุณภาพน้ำ กองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ได้เริ่มติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในเมืองพัทยา มาตั้งแต่ปี 2519 ขณะนั้นคุณภาพน้ำทะเลตามจุดต่าง
ๆ ยังจัดว่า อยู่ในเกณฑ์ดี คือ มีค่า pH อยู่ในช่วง 8.0 - 8.7 ค่าบีโอดี
(BOI - Biological Oxygen Demand) 0.5 - 2 มิลลิกรัม/ลิตร ยกเว้นบริเวณปากคลองนาเกลือมีค่า
pH สูงเกินกว่า 9 ค่าบีโอดี 2 - 6 มิลลิกรัม/ลิตร และค่าออกซิเจนค่อนข้างต่ำ
อีกจุด คือ ปากคลองพัทยาที่มีค่าโคลิฟอร์มสูงเกินมาตรฐานว่ายน้ำ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน
1,000 MPN/100 ลิตร แต่ปากคลองพัทยามีถึง 6,000 MPN/ 100 ลิตร
"น้ำทะเลไม่ควรจะวัด BOD เพราะข้อจำกัดในกรณีที่น้ำเค็มมาก ต้องวัด
TOC แต่เครื่องวัดแพงมาก จึงทำได้เท่านั้น เป็นการเปรียบเทียบให้รู้แนวโน้มคุณภาพน้ำ
ส่วนค่า MPN ย่อมาจาก MSOT PROBOBAL NUMBER คือ การวัดตัวโคลิฟอร์ม โดยคิดเป็นค่าสถิติออกมา
ซึ่งปกติพวกโคลิฟอร์มแบคทีเรียจะพบในลำไส้ของสัตว์เลือดอุ่นออกมากับอุจจาระ
ถ้าพบตัวนี้มากก็แสดงว่ามีการปนเปื้อนจากน้ำห้องน้ำมาก" นิศากร โฆษิตรัตน์
หัวหน้าฝ่ายคุณภาพน้ำ วล.อธิบายถึงความหมายของหน่วยวัดคุณภาพน้ำ
จากลักษณะของคุณภาพน้ำบ่งบอกให้รู้ว่า สาเหตุของปัญหาน้ำเสียที่ปากคลองนาเกลือนั้น
เกิดจากการทิ้งน้ำของโรงงานแป้งมันสำปะหลังเป็นสำคัญ จึงมีทั้งตะกอนแขวนลอยและค่าไนโตรเจน
- ฟอสฟอรัส ส่วนน้ำเสียบริเวณอ่าวพัทยาที่มีโคลิฟอร์มสูง และมีคราบน้ำมันลอยเกิดจากบ้านเรือนริมหาด
และจากเรือที่วิ่งไปมาค่าโคลิฟอร์มแบคทีเรียเป็นเพียงมาตรตัวเดียวที่บอกถึงคุณภาพน้ำในลักษณะหนึ่ง
ซึ่งตัวโคลิฟอร์มสามารถถูกความเค็มฆ่าได้ เมื่อน้ำเสียออกสู่ทะเลปริมาณโคลิฟอร์มจะลดลงระดับหนึ่ง
ฉะนั้นการที่ยังตรวจพบในปริมาณที่สูงมาก ๆ บริเวณอ่าวพัทยา จึงบอกถึงความสกปรกอย่างยิ่งของน้ำที่ถูกทิ้งออกมา
ในปี 2521 เพียง 2 ปีให้หลังปรากฏว่า ค่าโคลิฟอร์มที่ปากคลองพัทยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น
11,000 MPN/ลิตร เกินกว่ามาตรฐานที่จะว่ายน้ำอย่างปลอดภัยถึง 11 เท่า
จากการตรวจพบนี้เอง วล.จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาถึงแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำทะเลขึ้น
โดยเสนอให้มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวม
ทางด้าน JICA เองก็มิได้เพิ่งเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับเมืองพัทยาในปี 2532 นี้
แต่ได้เคยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำแผนแม่บทและศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองพัทยามาตั้งแต่ปี
2519 แล้ว และผลจากการศึกษาก็ชี้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของน้ำทั้งน้ำใช้และน้ำทิ้งว่า
จะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะสกัดกั้นการพัฒนาพัทยามาตั้งแต่ครั้งนั้น
ทว่า นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดังไม่พอ !
กว่าพัทยาจะเริ่มมีโรงบำบัดน้ำสเยแห่งแรกก็ล่วงเข้าสู่ปี 2525 ตั้งอยู่ที่ถนนพัทยาซอย
17 สร้างด้วยงบประมาณ 5 ล้านบาท และมีกำลังบำบัดประมาณวันละ 1,500 ลูกบาศก์เมตร
แต่เนื่องจากมีความไม่พร้อมด้านการจัดการ การบำรุงรักษา คนดูแล และค่าใช้จ่าย
(ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือนในการเดินระบบ) ทำให้ไม่มีการเดินเครื่องอย่างจริงจังและในที่สุดก็ต้องหยุดไปเมื่อปี
2528
แต่ถึงอย่างไร พัทยาก็นับได้ว่าเป็นเมืองแรกที่ได้รับการสนับสนุนตลอด จนถึงมีการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวม
(CENTRAL TREATMENT SYSTEM)
ในช่วงหลังจากปี 2528 นั้นเอง อ่าวพัทยาก็เริ่มมีปัญหาในขั้นที่เรียกว่า
วิกฤต จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำธรรมชาติในเมืองพัทยา โดยฝ่ายคุณภาพน้ำ
วล. เมื่อปี 2529 พบว่า ที่คลองพัทยามีค่าบีโอดีสุงถึง 23.4 มิลลิกรัม/ลิตร
และค่าออกวิเจนละลายน้ำเท่ากับศูนย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลโดยตรง เพราะเป็นปลายทางของน้ำจากแหล่งเหล่านี้
ส่วนปริมาณโคลิฟอร์มรวมในอ่าวพัทยาก็มีมากขึ้นมาก บางจุดมีความเข้มข้นเท่ากับน้ำทิ้งโดยตรงจากส้วมทีเดียว
นอกจากนั้น ตามพื้นทรายและชาดหายก็เต็มไปด้วยมูลฝอย
ในปีเดียวกันนั้น กรมโยธาธิการก็ได้ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งที่ 2 ขึ้นที่ซอยเกษมสุวรรณ
เสร็จสิ้นในวงเงิน 27.51 ล้านบาทที่ได้จากทาง สพอ.
ในปัจจุบัน เมืองพัทยาจึงมีโรงบำบัดน้ำเสีย 2 แห่งที่เปิดดำเนินการอยู่
คือ โรงบำบัดเดิมที่ซอย 17 ซึ่งได้รับการปรับปรุงระบบใหม่ มีกำลังบดบำ 5,000
ลูกบาศก์เมตร/วัน และที่ซอยเกษมสุวรรณมีกำลังบำบัด 8,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
โดยกรมโยธาธิการเพิ่งขยายระบบเพิ่มเติมเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายน รวมทั้ง 2
แห่งเท่ากับบำบัดได้วันละ 13,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ในขณะที่ปริมาณน้ำเสียของพัทยาทั้งหมดมีประมาณ
40,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
"มีความพยายามทำก็จริง แต่ไม่ทัน เพราะว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่เอกชนเขาลงทุนไปแล้ว
เขาไม่ค่อยยอม อย่างเช่น ทางแถบพัทยาใต้มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในทะเล ผิดกฎหมายแน่
ๆ แต่แก้ไขไม่ได้ พยายามจะสร้างท่อดักน้ำเสียจากอาคารพวกนี้เข้าโรงบำบัดให้หมด
แต่เนื่องจากเป็นท่อที่ใช้ร่วมกับท่อระบายน้ำฝน เวลาที่น้ำมากก็ไหลลงอ่าวโดยตรงจนได้"
นิศากร โฆษิตรัตน์ กล่าว
นอกจากเรื่องน้ำเสียแล้ว ตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในอ่าวพัทยาก็คือ
เรื่องของขยะ เพราะเมื่อมีขยะหลงเหลือหมักหมมอยู่มาก ความสกปรกย่อมปะปนไปกับน้ำและลงสู่ทะเล
เช่นเดียวกับเรื่องการจัดการน้ำเสีย การจัดการกับขยะปฏิกูลของเมืองพัทยาก็มีปัญหาทั้งในเชิงปริมาณและเทคนิค
นั่นคือปริมาณของขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ระบบกำจัดไม่อาจรองรับได้ทัน
และมีประสิทธิภาพพอ
นอกจากจะเก็บขยะได้ไม่หมด เพราะรถมีไม่เพียงพอแล้ว สถานที่กลบฝังขยะที่ใช้อยู่ก็กำลังจะเต็มเมืองพัทยายังไม่มีเตาเผาขยะ
ระบบการกำจัดที่ใช้อยู่จึงเป็นการทำ LANDFILL
"สถานที่อยู่ในซอยวัดอินทราราม ตรงถนนสุขุมวิท ทางไปสัตหีบ มีเนื้อที่อยู่
35 ไร่ ใช้ประโยชน์มาแล้ว 6 ปี จะใช้ประโยชน์ได้อีกเพียง 1 ปีเศษก็จะเต็ม
ต้องหาที่ดินผืนใหม่ เพราะขยะเป็นความจำเป็นเร่งด่วน" ผศ.นพ.วิทยา คุณานุกรกุล
ปลัดเมืองพัทยา กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
พัทยายังมีปัญหาอีกมากมายหลายปัญหาที่นับเป็นเรื่องเร่งด่วน ณ วันนี้หลังจากที่ผ่านการสั่งสมและฟักตัวมาแล้วเป็นเวลานาน
ความไม่พอเพียงด้านสาธารณูปโภคดูจะเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่มีลักษณะเป็นปัญหาที่คู่ขนานแนบเนื่องมากับปัญหาของเสีย
โดยที่สาเหตุความเป็นมานั้นก็เพราะเมืองเติบโตมากและรวดเร็ว
"สมัยก่อน พัทยาก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก พอเรามาพัฒนาพื้นที่เป็นชุมชน
เป็นแหล่งท่องเที่ยว คนมาอยู่มากขึ้น น้ำเสียก็มาก ขยะมาก สิ่งต่าง ๆ เจริญไปก่อน
พัฒนาไปก่อนที่ระบบสาธารณูปการจะเข้าไป" นิศากร โฆษิตรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุณภาพน้ำ
วล. กล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน พัทยาเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลที่มีทิวทัศน์สวยงามซ่อนตัวสงบเงียบอยู่อย่างไร้ราคา
"ผมเกิดที่นี่ ที่นาเกลือ แถบชายหาดพัทยา 30 ปีที่แล้วน้ำทะเลสะอาดใส
ผมเป็นเด็กก็ถีบจักรยานไป เป็นถนนลูกรัง ไม่มีรถวิ่ง ที่ทางก็ไม่มีใครใช้ทำอะไร
คนแถวนั้นก็ลงทะเลหาปลากัน" ชายวัยกว่า 40 ปี เจ้าของร้านขายหนังสือที่ตลาดนาเกลือทวนความหลังให้ฟัง
ที่ดินริมอ่าวพัทยาในวันก่อนไม่มีคุณภาพเหมาะที่จะทำการเกษตรจึงถูกปล่อยรกร้างด้วยหญ้าหนามเป็นส่วนใหญ่
ไม่มีใครอยากจับจองแผ่นดินไร้ประโยชน์เช่นนั้น
เล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งชื่อ ลมูล นาคสนธิ์ มีอาชีพทำไร่ปลูกมันสำปะหลัง
และรับจำนำที่ดินอยู่ริมถนนสุขุมวิท ยาที่มีชาวบ้านแถบพัทยาไปขอเอาที่ดินชายทะเลจำนำแลกกับข้าวสาร
ลมูลก็ยังไม่ยอมรับเพราะไม่รู้จะเอาไปทำประโยชน์อะไร …ถึงวันนี้หลานที่เล่าเรื่องของลุงตนเองนี้ให้ฟังจึงได้แต่บ่นเสียดาย…
การท่องเที่ยวเข้าสู่พัทยาครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2502 นักท่องเที่ยวคณะแรกที่เดินทางมากับรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนหลายคันนั้น
คือ ทหารอเมริกันจากฐานทัพนครราชสีมา ทหารเหล่านี้เวียนกันมาพักผ่อนอยู่เป็นประจำมิได้ขาด
จนกระทั่งสงครามในประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยุติลง ทิ้งปัญหามากมายไว้กับสังคมอีสาน
และวางรากความเจริญไว้กับอ่าวพัทยา
จากแผ่นดินไร้ราคา พัทยาพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพที่มีอยู่อย่างสูงในทุก
ๆ ด้าน ทั้งทัศนีย์ภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม ทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง
ชาวประมงชายทะเลผู้ยากจนด้วยการครอบครองผืนดินไร้ค่ามานาน พากันย้ายตัวเองอกไปพร้อมเงินที่ได้จากการขายที่ดินนั้น
ปล่อยให้คนจากต่างถิ่นเข้ามาสร้างเมืองพัทยาให้เป็นรูปแบบใหม่ ในราวปี 2515
ก็เริ่มมีโรงงานขนาดใหญ่เกิดขึ้น ได้แก่ ออร์คิดลอด์จ รอยัลคลิฟฟ์ เอเชีย
สยามเบย์ซอร์ ฯลฯ
ตั้งแต่ปี 2521 พัทยาทำรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศมากถึง 1,200 ล้านบาท
ในปีนี้เองที่ "เมืองพัทยา" ถือกำหนดขึ้น โดยรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ
เมืองพัทยา พ.ศ. 2521 เปลี่ยนจากสุขาภิบาลนาเกลือเข้าสู่รูปการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่ประยุกต์มาจากระบบผู้จัดการเทศบาลของสหรัฐอเมริกา
ถือว่า เมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร
แล้วพัทยาก็ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ.2528 เป็นต้นมา
"ประมาณ 10 ปีก่อนเมืองก็เป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว แต่ตลาดก็ยังเล็ก
ๆ อะไรก็เล็ก ๆ แล้วก็ขยายออก โดยภาพของเมืองก็เจริญขึ้น โรงแรมก็แทบจะเปิดกันเป็นรายเดือด
จนผมจำไม่ได้ว่ามีกี่แห่งแล้ว มีสถานบริการมากขึ้น มีบาร์มากขึ้น ผู้หญิงก็มากขึ้น
ซึ่งไม่ใช่คนท้องถิ่น มาจากที่อื่นทั้งนั้น เมื่อก่อนมีตรงพัทยาใต้เท่านั้นเอง
แต่เดี๋ยวนี้กระจายตามชายหาดไปจนถึงพัทยาเหนือแล้ว และออกไปทางจอมเทียนด้วย"
สกนธ์ หลิมวิจิตร ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับพัทยามานานกว่า 18 ปีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง
เวลานั้น เมืองเริ่มเติบโตอย่างมาก ธุรกิจน้อยใหญ่ต่างผุดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝน
เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น และชื่อเสียงพัทยาติดตลาดโลกอย่างแน่นเหนียวแล้ว ในขณะที่อีกด้านหนึ่งปัญหาต่าง
ๆ ที่สะสมตัวมานานก็เริ่มออกอากาศ และนั่นคือเค้าลางร้ายของพัทยา
ด้วยจำนวนโรงแรมที่เพิ่มขึ้น สถานบริการ ร้านค้า ชุมชนที่ขยายตัวออกไป ตลอดจนนักท่องเที่ยว
ที่เข้ามามากขึ้นได้ก่อให้เกิดความต้องการบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างอย่างขนานใหญ่
พร้อมกับผลิตของเสียอย่างขนาดใหญ่ด้วย
การไม่มีกรอบที่จะกำหนดและควบคุมความเติบโตของอาคารและสิ่งปลูกสร้างมีผลต่อปริมาณของเสียโดยตรง
ตามพระราชบัญญัติส่งเสิมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงแรมที่ต้องมีระบบจัดการน้ำเสียด้วยตนเองก็คือ
โรงแรมที่มีห้องพักเกิน 80 ห้องขึ้นไป ส่วนที่เล็กกว่านี้ไม่มีการควบคุม
ทั้ง ๆ ที่โรงแรมขนาดเล็กนั้นมีจำนวนมากมาย
จากรายงานของงานเคหะบริการชุมชน กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วล. ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ไว้เมื่อปี
2529 พบว่า จากจำนวนโรงแรมในพัทยา 191 โรง มีเพียง 18 โรงเท่านั้นเองที่มีห้องพักเกิน
80 ห้อง
ขณะที่สภาพแวดล้อมต้องเสื่อมทรามลงจากการรองรับกับของเสียต่าง ๆ ปัญหาสาธารณูปโภคขาดแคลนก็นับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง
ทั้งในแง่น้ำใช้ที่ไม่เพียงพอและผิวการจราจรที่น้อยเกินไป
"เรื่องสาธารณูปโภคนี้ไม่ค่อยทัน อย่างผมก็ต้องซื้อน้ำแทบทุกวัน ประปามาถึงแล้วก็จริง
แต่ก็มา ๆ ขาด ๆ อาจเป็นความโชคร้ายของเราก็ได้ที่อยู่บนที่สูง เวลาข้างล่างเขาใช้น้ำมาก
ๆ เราก็อด น้ำใช้นี่จำเป็นมาก ช่วงที่แขกมาก ๆ ใช้น้ำวันละ 2,600 คิว ช่วงที่ตกต่ำก็ลดไปหน่อย"
สกนธ์ หลิมวิจิตร ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงเรียนเอเชีย สะท้อนถึงภาวะเรื่องน้ำขาดแคลน
น้ำบาดาลที่ไดจากบ่อรอบนอกเมืองพัทยา มีสนนราคาประมาณคิวละ 30 บาท เป็นน้ำดิบที่ไม่อาจมั่นใจในความสะอาดมากนัก
จำเป็นจะต้องผ่านกรรมวิธีกรอง และใส่คลอรีนเสียก่อนจึงจะเข้าขั้นที่ปลอดภัยสำหรับใช้ได้
ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วมีราคาเท่ากับ 3 เท่าของน้ำประปา
ในแต่ละเดือน โรงแรมเอเชียมีค่าใช้จ่ายในการซื้อและจัดการน้ำเหล่านี้มากถึงประมารกว่า
100,000 บาท เทียบกับค่าประปาแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ส่วน
ระบบประปาของพัทยาอยู่ในความรับผิดชอบของการประปาพัทยานาเกลือ ผลิตประปาโดยอาศัยน้ำจืดจากอ่างเก็บน้ำมาบประชันที่มีความจุประมาณ
15 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้อย่างเต็มที่ก็ยังไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการ
เมื่อปี 2533 เกิดภาวะฝนแล้ง น้ำจืดในอ่างมาบประชันแห้งขอดทำให้มีการต่อท่อจากอ่างหนองค้อ
มาช่วยทางพัทยาในยามวิกฤต แต่อ่างหนงค้อก็ต้องรองรับพื้นที่ทางแหลมฉบังและชลบุรีบางส่วนมากกว่า
ในอนาคต มีโครงการที่จะนำน้ำจากอ่างหนองกลางดงห้วยซากนอก ห้วยขุนจิต และห้วยสะพานเข้ามาสมทบ
ซึ่งอ่างเหล่านี้เพิ่งก่อสร้างเสร็จหรือบางแห่งก็กำลังจะเสร็จในปีต่อไป
"ที่จริงพัทยาเองมีอ่างแห่งเดียว แต่ความต้องการมันเกินมาบประชันมานานแล้ว
ที่เตรียมการไว้เป็นการไปขโมยเขามาทั้งหมด ของเมืองชลบ้าง ระยองบ้าง ซึ่งต่างก็ต้องโตกันทั้งนั้น
ทำไมไม่เอาของตัวเองมาใช้ดีกว่า ทำเป็นแบบ RECIRCLING เทคโนโลยีมีใช้ได้
แต่ต้องลงทุนดูแลให้ดี ทุกคนต้องร่วมกัน" รศ. สุรพล สุดารา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำลังร่วมกับทีมศึกษาถึงปัญหาของพัทยาเสนอแนะ
นอกจากปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ การที่จะมีประปาตอบสนองได้เพียงพอยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตด้วย
ความต้องการน้ำของชุมชนพัทยาทั้งหมดรวมถึงพื้นที่นาเกลือและจอมเทียนมีประมาณวันละ
45,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำที่การประปาจ่ายออกในแต่ละวันจะมีเพียง
30,000 - 40,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เนื่องจากกำลังการผลิตยังจำกัดอยู่
นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะองหาทางออกต่อไป
ในระยะหลัง ๆ กล่าวได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหลัก ๆ เหล่านี้ของเมืองพัทยานับครั้งไม่ถ้วน
ทั้งจากทางรัฐบาลส่วนกลางและจากเมืองพัทยาเอง แต่ก็เป็นความพยายามที่ค่อนข้างจะไร้หวัง
เกี่ยวกับปัญหาจราจร และขยะ ทางเมืองพัทยาเพิ่งจะยื่นเสนอ "โครงการเร่งด่วนเพื่อบูรณะเมืองพัทยา"
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 230,539,500 บาท เพื่อแก้ไขสาธารณูปโภคสาธารณูปการด้านต่าง
ๆ
"เป็นการขอเงินอุดหนุนเป็นกรณีพิเศษ เสนอไป 8 โครงการผ่านกรมการปกครอง
เอาเข้าไปแปรญัตติในกระทรวงมหาดไทย ผ่านวาระแรกได้มา 50 ล้านบาท ก็คิดว่าจะจัดการเรื่องซื้อที่ดินกสลบขยะก่อน
เพราะถ้ายิ่งช้าที่ดินก็ยิ่งแพง" หมายเลขหนึ่งของเมืองพัทยา โสภณ เพ็ชรตระกูล
เล่าถึงโครงการเร่งด่วนฉบับของเมืองพัทยาเอง
อุปสรรคในการทำงานพัฒนาประการหนึ่งของเมืองพัทยาก็คือ เรื่องงบประมาณ รายได้ปกติของเมืองนั้นจะมาจากการเก็บภาษีต่าง
ๆ ในท้องถิ่นประมาณปีละ 100 ล้านบาทร่วมกับเงินงบประมาณรายปีที่ได้จากส่วนกลางอีกประมาณปีละ
35 ล้านบาท
"จำนวน 35 ล้านบาท จะเป็นค่าครุภัณฑ์ไปแล้ว 21,700,000 บาท จริง ๆ
เมืองควรได้สักปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เทียบสัดส่วนจากรายได้ที่ทำให้ประเทศได้ไม่ต่ำกว่า
10,000 ล้านบาทต่อปี จะได้นำมาแก้เรื่องต่าง ๆ ได้ เพราะถ้าพูดถึงการลงทุนของเอกชนแล้วมหาศาล
หากรัฐไม่เอื้อเฟื้อ เมืองก็ตกที่นั่งลำบาก คนไหลมาเทมา แต่ถนนก็ไม่มีรองรับ
ไม่มีท่อระบายน้ำ ไม่มีทางเดิน" พิสัย พนมวัน ณ อยุธยา สมาชิกสภาเมืองพัทยาและผู้จัดการอัลคาซ่าร์
พูดถึงข้อติดขัดในการทำงาน
เรื่องของงบประมาณมีความสัมพันธ์กับปัญหาตัวเลขประชากรที่ไม่เป็นจริงของเมืองพัทยา
กล่าวคือ ในปัจจุบันจำนวนประชากรตามทะเบียนของทางการมีอยู่เพียงประมาณ 60,000
คนเท่านั้น !
และในเมื่อแบบแผนการจัดสรรงบประมาณของประเทสไทยใช้หัวประชากรเป็นดัชนีชี้วัด
พัทยาก็ย่อมจะต้องโอบอุ้มประชากรแฝงอีกนับแสนคนไปด้วยเงินจำนวนที่ให้สำหรับคนจำนวนเพียง
60,000 คนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระบบโครงสร้างของเมืองพัทยาเองก็จัดว่าเป็นปัญหาด้วยประการหนึ่ง
ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาการบริหารงานราชการของเมืองพัทยาทั้งหมด
ถือเป็นภาระของปลัดเมืองผู้ถูกจ้างเข้ามาในฐานะมืออาชีพในขณะที่การวางแผนขึ้นกับสภาเมืองที่มีสมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง
(9 : 8) โดยนายกแท้จริงนั้นมีหน้าที่เป็นเพียงประธานสภา ระบบนี้มีลักษณะที่เป็นแบบตะวันตกค่อนข้างสูง
เน้นการบริหารโดยให้อำนาจอยู่กับคณะบุคคล ซึ่งเป็นระบบที่มีใช้เฉพาะที่เมืองพัทยาเพียงแห่งเดียว
แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่า ช่องว่างระหว่างสมาชิกาสภากับปลัดและข้าราชการของเมืองค่อนข้างจะฉีกกว้าง
การประสานในขั้นของแผนกับการปฏิบัติมีความเหลื่อมกันอยู่ และแน่นอนว่า ในเรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องกับเกมอำนาจด้วย
แม้จะมีผู้เห็นปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
ๆ …
กลับมาถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของพัทยา ส่วนนี้จัดได้ว่าเป็นโครงการขนาดมหึมาระดับชาติเพราะคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ เคยได้พิจารณาเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531
กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติเอาไว้ 3 ประการ คือ
1) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดตรวจสอบและกวดขันบรรดาโรงแรมและร้านอาหารต่าง
ๆ มิให้ระบายน้ำเสียและของเสียลงทะเล หากพบการกระทำผิดให้พิจารณาลงโทษตามกฎหมายถึงขั้นให้ดำเนินการปิดกิจการ
2) ให้ระงับการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในเขตเมืองพัทยาไว้ชั่วคราว
จนกว่าจะพิจารณาเห็นว่าผู้ขออนุญาตสามารถวางระบบการกำจัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ
3) ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมโยธาธิการ) เร่งรัดดำเนินงานการขยายระบบการกำจัดน้ำเสียเมืองพัทยาให้สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียได้อย่างเพียงพอทั้งระยะสั้นและระยะยาว
จากนั้น ในวันที่ 30 มกราคม 2533 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ "แผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามลพิษของแหล่งน้ำเมืองพัทยา"
ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน เสนอ ได้แก่ โรงบำบัดที่หาดนาจอมเทียน
ในซอยวัดบุณย์ ใช้งบประมาณราว 390 ล้านบาท กำหนดเสร็จสิ้นทั้งระบบในปี 2537
จะมีกำลังบำบัด 20,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
แผนการในอนาคตยังได้วางไว้ว่า จะเพิ่มกำลังบำบัดที่ซอยเกษมสุวรรณอีก 21,000
ลูกบาศก์เมตร/วัน และสำหรับที่ชุมชนนาเกลือก็มีโครงการเสนอแล้วโดยเมืองพัทยา
แต่ยังไม่เป็นที่ตกลง เพราะยังหาที่ดินก่อสร้างไม่ได้ และทางออกที่ว่าให้ถมทะเลบริเวณลานโพธิ์ก็ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
แต่ถ้าที่นาเกลือสร้างได้ก็จะมีกำลังบำบัดเพิ่มขึ้นอีก 12,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ทั้งหมดเหล่านี้มีกำหนดว่า จะเสร็จสิ้นภายในปี 2539 ใช้งบประมาณของรัฐทั้งสิ้น
2,160 ล้านบาท
หนึ่งในโครงการเร่งด่วนของ สพอ. ก็มีโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน
โดยได้กำหนดว่า จะสร้างบนที่ที่ทำการถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ออกไป มีกำลังบำบัด
16,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน งบประมาณส่วนนี้ไม่รวมกับส่วนแรก
เรียกว่า ถ้าทุกโครงการเป็นจิรงเมืองพัทยาก็จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ทั้งสิ้นวันละ
82,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำทิ้งทั้งหมดได้จนถึงปี 2543
"ปัญหาเรื่องน้ำเสีย นับเป็นปัญหาเร่งด่วนอันหนึ่ง แต่ก็มีโครงการแล้วที่จะสร้างโรงบำบัดขึ้น
ถ้าโครงการเสร็จ เรื่องน้ำเสียก็เป็นอันหมดปัญหา" นายกเมืองพัทยา กล่าว
แต่ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะมีโรงบำบัดน้ำเสียแล้ว อ่าวพัทยาก็ใช่จะกลับคืนดีดังเดิมได้
หากไม่มีมาตรการประกอบอื่นมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าของอาคารทุกหน่วยจะต้องต่อท่อน้ำทิ้งเข้ามาสายท่อของเมือง
หรือเรื่องของการจ่ายค่าบำบัดน้ำเพื่อให้ระบบสามารถเดินไปได้ เรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการความร่วมมือจากคนพัทยาทั้งหมดเป็นสำคัญ
ทว่า นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หาได้ยากนักจากเมืองพัทยา เพราะส่วนใหญ่คนที่นี่
ไม่มีใครรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองพัทยาอย่างแท้จริง แทบทั้งหมดคือคนต่างถิ่นที่เพียงมาอาศัยทำมาหากิน
"พัทยานั้น ถ้าแก้เรื่องน้ำเสียได้ทุกอย่างจะดีขึ้นมาก ต่อมาก็แก้เรื่องความโทรมของเมืองที่มีแต่ใช้กันมานานไม่เคยบำรุงเลย
ขอให้มีการปลูกต้นไม้ให้ดี ห้องแถวแบบกรุงเทพฯ โละทิ้งไปเสีย การปรับปรุงเรื่องความสวยงามไม่ใช่เรื่องยาก
ที่สำคัญสำหรับชายหาด คือ เขื่อนริมชายฝั่งจะต้องรีบทุบทิ้ง เพราะนั่นคือตัวการที่ทำให้ชายหาดพัทยาสั้นกว่าปกติ
เวลาที่น้ำทะเลซัดเข้ามา คลื่นกระแทกย้อนกลับก็ขุดเอาทรายออกไป ผมไม่อยากให้พัทยาเสียไป
ผมถือว่าเมืองพัทยาเป็นเมืองที่ดีมาก ต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ได้" รศ.สุรพล
สุดารา เรียกร้องความร่วมมือ
ถึงวันนี้ก็ยังคงระบุไม่ได้ว่า ความหวังในการที่จะฟื้นคืนพัทยาให้กลับน่าไปยลเยือนจะเป็นจริงได้เพียงใด
เพราะตัวกระตุ้นที่จะปลุกคนพัทยาได้อย่างแท้จริงนั้นยังไม่ได้แสดงบทบาทเต็มที่
นั่นก็คือ การล่มสลายของการทำมาหากิน - ความซบเซาของการท่องเที่ยว !
"ปัญหาของเมืองพัทยาเรื่องน้ำไม่เท่าไร ปัญหาใหญ่คิดว่า คือเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวตก
รายได้จากการท่องเที่ยวขาดไป ตกมาประมาณ 6 เดือนแล้ว ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องของส่วนรวม
อาจจะยังไม่มีสถิติตัวเลขบ่งชี้ ไม่มีผลการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว แต่ไปถามเอากับพ่อค้า
เสียจากพวกนี้แน่นอนที่สุด บ่นว่าซบเซากันมาก" แหล่งข่าวที่เป็นข้าราชการประจำของเมืองพัทยากล่าวทั้งบอกเล่าทั้งสะท้อนปัญหา
จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพัทยาปกติมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดมา ระหว่างปี
2525 - 2530 อัตราเฉลี่ยนั้นเท่ากับ 6.3% ต่อปี แต่ในปี 2532 จำนวนนักท่องเที่ยวกลับลดน้อยลงกว่าปี
2531 ถึง 9.58% และแม้ว่าในปี 2533 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในรอบปีหลัง ๆ นี้มีความซบเซาเกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ กล่าวว่า ภาวะที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งถือเป็นกระแสโดยส่วนรวมระดับโลกที่ประสบกับภัยสงคราม
และปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเองก็ไม่สู้ดีนักในสายตาชาวต่างชาติ
ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของพัทยา ไม่น่าจะเกิดจากปัญหาของตัวเมืองพัทยาเอง
จะมีก็แต่การที่ต้องแย่งชิงลูกค้าจากกันและกัน เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
การขยายตัวของธุรกิจต่าง ๆ มีสูงมากในขณะที่ตลาดเท่าเดิม
จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักในพัทยา
1,727,025 คน (ไม่รวมนักท่องเที่ยวที่ไป-กลับในวันเดียว) ขณะนั้นจำนวนห้องพักในโรงแรมต่าง
ๆ มีรวมกันประมาณ 12,000 ห้อง แต่ปัจจุบันจำนวนห้องพักเพิ่มไปถึง 24,000
ห้องทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2533 ยังคงมีประมาณ 1,757,000 คน
"มันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ว่าน้ำเหยือกเดียวแก้วหลายใบ การขยายตัวทุกอย่าง
มีลักษณะที่เป็นแก้วน้ำเข้ามาแบ่งน้ำจากเหยือกเดียว ภัตตาคารก็มากขึ้น ร้อนช็อปปิ้งมากขึ้น
แม้แต่ร้านขายผลไม้ก็มากขึ้น ทุกคนจึงบ่งว่าตัวเองตก แต่ถ้าดูแขกจริง ๆ แล้วเข้ามามาก
จำนวนรวมนักท่องเที่ยวและรายได้ต่าง ๆ ไม่ตกเท่าไร" สุรพล เศวตเศรนี
ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวฯ สำนักงานพัทยา กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ส่วน สกนธ์ หลิมวิจิตร ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงแรมเอเชีย กล่าวว่า "คนมาเยอะจริง
จำนวนไม่ลดลง เพราะตอนนี้สภาพที่เสีย ๆ ก็ไม่เด่นชัดอะไร คนก็มองว่าเมืองท่องเที่ยว
เมืองตากอากาศ มาจากต่างประเทศก็อยากมาเล่นน้ำ มาชมธรรมชาติ ทีนี้บ้านเราทำเป็นลักษณะมาขาย
SEX เป็นพวกนั้นไป มีแต่บาร์เยอะแยะ มีแต่พวกนี้ พวกนี้แขกคนละประเภทกัน
พวกนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ชายทะเล ต่อให้อยู่ที่ไหนคนที่เขาต้องการก็ไป การมาอยู่ที่ชายทะเลหมักหมมอยู่ที่นี่ทำให้แขกพวกแรกหนี
แขกเป็นคนละกลุ่มก็เปลี่ยนไป และมาแล้วมาเจอสภาพก็จะเล่าปากต่อปาก อนาคตมันจะมีผล
ตอนนี้อาจจะไม่มีผลหรอกครับ"
การตกต่ำลงของการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน นอกจากความรู้สึกถึงบรรยากาศโดยรวมว่าเป็นเช่นนั้น
ในทำนองเดียวกัน สาเหตุของการตกต่ำเกิดมาจากอะไรบ้างก็ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจน
ก็คงจะมีเพียงความเสื่อมทรามของสภาพแวดล้อมและปัญหาสารพันเท่านั้นที่เป็นจริงอยู่
ณ เมืองพัทยาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ !