Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน28 กรกฎาคม 2551
โบรกเกอร์ปรับเป้าดัชนี หุ้นไร้สัญญานดีถึงปีหน้า อัดรัฐเลิกห่วงตัวเลขศก.             
 


   
search resources

Stock Exchange




ตลาดหุ้นไทยรอบนี้เข้าสู่ภาวะหมีนานสุดในรอบ 5 ปี จากหลายปัจจัยลบถาโถม ชี้ 3 เดือนข้างหน้าดัชนียังต่ำกว่า 700 จุด และยังไม่มีสัญญาณดีขึ้นจนถึงปีหน้า ด้านโบรกเกอร์เตรียมปรับเป้าดัชนีลงอีก พ่วงคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนเหลือ 11.50% แนะขายหุ้นทิ้งหันลงทุนตราสารหนี้แทน หลังผลตอบแทนสูงขึ้น พร้อมอัดรัฐบาลหากมัวแต่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเกิดปัญหาเงินเฟ้อค้างในระดับสูง

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)หรือ BLS เปิดเผยว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะตลาดขาลงหรือ ภาวะตลาดหมี ( Bear Market) ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะตลาดหมีจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนแล้วตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในรอบนี้ ซึ่งเริ่มเกิดตั้งแต่เดือนพฤาภาคมนั้นคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะหมีนานกว่าปกติ เนื่องจาก ปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจ ค่าเงิน ราคาน้ำมันสูง อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐของอเมริกา ที่มีความรุนแรงมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้คาดว่าในช่วง 3 เดือนจากนี้ไป ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงแกว่งตัวในระดับที่ต่ำกว่า 700 จุด จากอยู่ในภาวะตลาดหมี ซึ่งเกิดขึ้นตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นไทย ทั้งความตรึงเครียดทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยประเมินตลาดหุ้นไทยปีนี้จนถึงปีหน้าจะไม่ค่อยดี ทำให้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะเป็นไปในลักษณะเก็งกำไร (เทรดดิ้ง) ดังนั้นบริษัทจึงแนะนำให้นักลงทุนมีการลดพอร์ตการลงทุน และขายหุ้นออกมาเพื่อไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้แทน เพราะมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่า จากราคาของพันธบัตรได้ปรับลดลงรับกับดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้านี้แล้ว โดยปัจจุบันพันธบัตรอายุ 10 ปี มีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 6% และ 5 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 5.2-5.3%

สำหรับผู้ลงทุนที่ยังคงต้องการลงทุนในหุ้น ขอให้เลือกหุ้นที่ผลประกอบการไม่ผันผวนขึ้นลงตามเศรษฐกิจ เป็นสินค้าจำเป็น สามารถผลักต้นทุนสูงไปยังผู้บริโภคได้ โดยมีอัตราหนี้สินไม่สูง อีกทั้งสามารถรักษาระดับการเติบโตรายได้และกำไรให้เติบโตเพิ่มขึ้น และเงินปันผลในระดับดี เช่นหุ้นในกลุ่มค้าปลีก เช่น หุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC กับหุ้นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)หรือ CPALL อาหาร เช่นหุ้นบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด(มหาชน)หรือTVO ที่ประกอบธุรกิจขายน้ำมันพืช และหุ้นบริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือUVAN ที่ดำเนินธุรกิจขายน้ำมันปาล์ม หุ้นโรงไฟฟ้าหรือน้ำประปา และหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล

นายชัยพร กล่าวว่า บริษัทจึงเตรียมที่จะปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เป็นครั้งที่ 2 แต่ยังไม่สรุปตัวเลข จากครั้งแรกปรับลดลงอยู่ที่ 916 จุด จากต้นปีที่มองว่าดัชนีปีนี้จะอยู่ที่ 860 จุด สิ้นปี และปรับลดการขยายตัวกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลงเหลือ 11.5% จากเดิมมองไว้ที่ระดับ 15% ทำให้มองว่ากำไรบจ.ในไตรมาส1/51 และไตรมาส2/51 นั้น ถือว่าเป็นระดับสูงสุดของปีนี้แล้ว เพราะ ตั้งแต่ไตรมาส3/51 จะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนมีการบริโภคลดลง ขณะที่ต้นทุนการดำเนินธุรกิจบริษัทบริษัทเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับลดประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้นำปัจจัยเรื่องการส่งสัญญาณดูแลเงินเฟ้อที่ขัดแย้งกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และรัฐบาลเข้ามารวมด้วย โดยธปท.ส่งสัญญาณในแง่ไม่ยอมรับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และให้ผู้ประกอบการตระหนักว่าความต้องการจะลดลง

ดังนั้นการจะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคจะทำได้ยาก หรือต้องกระทำอย่างรอบคอบ ต่างจากการส่งสัญญาณของรัฐบาลที่จะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ด้วยการปรับเพิ่มเงินเดือน ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย และอาจทำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อค้างในระดับสูง และเศรษฐกิจอาจถดถอยลงได้ โดยบริษัทคาดว่าธปท.จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีก 1 - 2 เดือนข้างหน้าอีก 0.25% จากการประชุมที่ผ่านมาขึ้นแล้ว 0.25%

โดยบริษัทคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะสูงสุดในเดือนสิงหาคม หรือ กันยายนนี้ บนพื้นฐานที่ราคาน้ำมันเวสเท็กซัสที่ระดับ 130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจากนั้นอาจจะไม่ปรับตัวลดลง จากความขัดแย้งในเรื่องการดำเนินนโยบาย แต่จะกลายเป็นว่าเมื่อเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุด อาจชะลอตัวลงและปรับตัวเพิ่มขึ้นในภายหลัง ซึ่งการกระชากนี้จะสูงกว่าระดับสูงสุดก่อนที่เงินเฟ้อจะลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศให้ปรับตัวลงแรง ราคาสินค้าจะถูกปรับขึ้นสูงจนเกิดดีมานด์ ตลาดหุ้นจะแย่ลง เพราะการผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคทำได้ยากขึ้น สุดท้ายจะกระทบต่ออัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ตาม จะเกิดเงินเฟ้อม้วนกลับในไทยหรือไม่ยังเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะสรุป แต่เชื่อว่าโอกาสจะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้น้อย แต่หากในไตรมาสต่อ ๆ ไป การส่งสัญญาณของรัฐบาลในมุมมองที่ว่าความต้องการยังแข็งแกร่งอยู่จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยบริษัทคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ระดับ 6.5-7% และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8-10%   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us