|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ประสาร"ชี้ประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากยังไม่กระทบผู้ฝากเงินทันทีที่ประกาศใช้ แต่หลังจากมีการลดวงเงินค้ำประกันลงจะทำให้มีเงินไหลออกจากแบงก์ขนาดเล็กมากขึ้น และทำให้มีการแข่งขันกันระดมเงินฝากมากขึ้น ด้านสศค.คาดหากมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น อาจะทำให้สเปรดของแบงก์ลดเหลือ 2%จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 4%
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากในวันที่ 11 ส.ค.นี้ จะยังไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินเนื่องจากทางการได้ให้เวลาในการปรับตัวด้วยการทยอยลดวงเงินค้ำประกัน ซึ่งในส่วนของผู้ฝากเงินคงจะมีความกังวลบ้าง แต่ต่อจากนี้ทางการรวมถึงสถาบันการเงินก็จะมีการให้ความรู้กับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยต่อจากนี้คงจะเห็นสถาบันการเงินมีความเข้มข้นในการแข่งขันระดมเงินฝากมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าการแข่งขันเรื่องของเงินฝากนั้นก็มีมากพอสมควร
ส่วนการแข่งขันเรื่องของอัตราดอกเบี้ยก็คงเป็นวิธีหนึ่ง แต่ที่สำคัญคงอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากกว่า ซึ่งผู้ฝากจำเป็นต้องดูถึงผลตอบแทนที่จะได้รับรวมถึงความเสี่ยง ดังนั้น จึงต้องหาจุดสมดุลให้กับตัวเอง
"ลูกค้า 60% ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงแต่ยังมีเวลาที่จะอธิบายให้เข้าใจและให้ข้อมูลกับลูกค้า ซึ่งช่วงต่อจากนี้แบงก์ก็คงจะพยายามเสริมฐานะให้เข้มแข็งขึ้นและเงินฝากก็คงจะมีออกบ้างรับบ้าง ส่วนของแบงก์เองคงจะเป็นฝ่ายรับและหากมีสภาพคล่องมากก็คงไม่มีผลกับต้นทุนมากนักเพราะเราสามารถเอาไปลงทุนในตลาดเงินได้ส่วนตั๋วแลกเงิน(B/E)ต่อจากนี้คงจะเป็นที่นิยมมากขึ้น"นายประสาร กล่าวว่า
สำหรับสินเชื่อครึ่งปีแรกของธนาคารนั้น มีการเติบโตทั้งจากสินเชื่อรายใหญ่ รายย่อย และสินเชื่อขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งในส่วนของครึ่งปีหลังคงจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยทั้งปีสิ้นเชื่อน่าจะขยายตัวอยู่ที่เป้าหมาย 15% ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อในครึ่งปีแรกนั้นมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ลูกค้ามีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.8%และในสิ้นปีนี้จะควบคุมให้อยู่ที่ไม่เกิน 4% โดยในส่วนที่เป็นจำนวนเงินนั้นมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ 4% จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4.1% แต่เฉลี่ยทั้งปีน่าจะเกินกว่า 4% โดยการที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังมีการลดลงเพราะว่าแนวโน้มการแข่งขันเรื่องเงินฝากจะมีมากขึ้นทำให้ต้นทุนเงินเพิ่มขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ถือว่าไม่ได้เลวร้ายมากนักและน่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่เกือบ 5% โดยการส่งออกมีการขยายตัวอยู่ที่กว่า 20%ส่วนการอุปโภคบริโภคและการลงทุนมีการชะลอลงบ้าง
คาดสเปรดลดเหลือแค่2%
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายหลังพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากประกาศใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมาสู่ธนาคาพาณิชย์ขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะยึดติดอยู่กับขนาด และต้องการกระจายความเสี่ยง
“ประชาชนส่วนใหญ่ยึดติดกับความสัมพันธ์กับแบงก์ขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้เต็มที่ในอีก 5 ปี เงินจะทยอยออกจากแบงก์เล็กมากขึ้น ซึ่งคนมักจะเชื่อว่าแบงก์ขนาดใหญ่จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทำให้รัฐบาลคงจะไม่ปล่อยให้ล้มง่ายๆ”นายโชติชัยกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์เล็กคงจะต้องมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อแข่งขันด้านการระดมเงินฝาก โดยนอกจากทรัพยสินของธนาคาร ทั้งเรื่องของลูกหนี้ และความเข้มงวดในการปล่อยกู้แล้ว อัตราดอกเบี้ยอาจมีส่วนในการนำมาเป็นเครื่องมือในการระดมเงินฝากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากธนาคาพาณิชย์ขนาดเล็กมีการปรับตัวในเรื่องของสินทรัพย์ ลูกหนี้ และความเข้มงวดในการปล่อยกู้ได้ คงจะทำให้ประชาชนหันมามีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือระดมเงินฝากได้ แต่คาดว่าหลังจากนี้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้(สเปรด)ของแต่ละธนาคารอาจมีการปรับตัวลดลงจาก 4% จนเหลือ 2% ในอนาคต
|
|
|
|
|