ชาวกาญจนบุรีเริ่มมั่นใจว่า สิ่งที่อยู่ในถังบนรถบรรทุกขบวนแล้วขบวนเล่าที่ผ่านเข้ามาในตัวจังหวัดต่อเนื่องกันอย่างผิดธรรมดานั้น
คือ กากสารเคมีจากท่าเรือคลองเตยเมื่อตอนสายของวันที่ 22 มีนาคม หลังจากอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งกลับมารายงานถึงสิ่งที่ได้พบจากการติดตามขบวนการรถบรรทุกไปจนสุดจุดหมายปลายทาง
บ่ายวันเดียวกัน กลุ่มเอกชนต่าง ๆ ภายในจังหวัดกาญจนบุรียื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด
ขอให้ระงับการขนย้ายสารเคมีเข้าสู่บ้านของตนจากการหารือกันก็ได้ข้อสรุปออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า
คนกาญจนบุรีไม่ต้องการกากสารเคมี
ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ณ ห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ชาวกาญจนบุรี
จึงได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการถึงเรื่องที่เกิดขึ้นโดยคณะผู้แทนจาก รสช.
ซึ่งมีหน้าที่บริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานั้น
คำเรียกร้องให้เป็นผู้เสียสละเพื่อบ้านเมืองและคำขอบคุณที่ร่วมมือในการแก้ปัญหา
โดยการรับเอากากเคมีไว้เป็นสิ่งที่สวนกับความรู้สึกของคนกาญจนบุรีที่ได้เข้าฟังการชี้แจง
ทว่า 2 เหตุผลนี้กลายเป็นความชอบธรรมที่ประกาศออกมาผ่านสื่อโทรทัศน์หลายช่อง
สร้างความเข้าใจกับสาธารณชนวงกว้างว่า เจ้าของบ้านยินยอมพร้อมใจ
จุดนี้เองที่ทำให้ป้ายคัดค้านจำนวนมากมายถูกแขวนขึ้นหน้าบ้านแทบทุกหลังในตัวเมือง
"พวกเราทุกคนมีความเห็นว่า จะต้องแสดงสิทธิเบื้องต้นด้วยการขึ้นแผ่นผ้าคัดค้านสารพิษที่หน้าบ้านแต่ละบ้าน
ใส่ข้อความตามที่เจ้าของบ้านคิด พอขึ้นแผ่นผ้าแล้วทางจังหวัดก็ยอมรับว่าเป็นการสร้างความกดดันพอสมควร"
ภินันท์ โชติรสเศรณี กรรมการคนหนึ่งของกลุ่มสตรีจังหวัดกาญจนบุรี ผู้เป็นหัวหอกคนสำคัญในการเรียกร้องสิทธิของคนกาญจน์มาโดยตลอด
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่การแสดงสิทธินี้ไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แผ่นผ้าฟ้องร้องเรื่องราวอยู่ไม่ได้นานก็ทยอยหายไปเนื่องจากเจ้าของบ้านบางหลังเกรงกลัวที่จะต้องวางตนเป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจ
มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยืนยันสิทธิของตน
"การรณรงค์แสดงความเห็นไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย จริง ๆ พูดตามหลักแล้ว
ถ้ารู้แต่แรกว่าจะขนมาก็คงจะมีการรณรงค์ไม่ให้มา แต่เมื่อมาแล้วก็ไม่ได้ถึงกับจะยัดเยียดให้ขนไป
นั่นเหมือนกับหักด้ามพร้าด้วยเข่า เท่าที่ดูมาแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบันไม่มีทางเป็นไปได้
ก็เลยขอแต่ว่าให้ทำให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองเสียที" ภินันท์กล่าวถึงเหตุที่ทำให้ตนและกลุ่มเพื่อนต้องยืนยันที่จะเรียกร้องต่อไป
กรณีของกากสารเคมีถือได้ว่าเป็น "การต่อสู้ครั้งที่ 2" ของชาวกาญจนบุรี
ส่วนการต่อสู้ครั้งที่ 1 นั้น เกิดเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน นั่นคือการรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโครงการเขื่อนน้ำโจน
ครั้งนั้นกว่าที่จะได้ในสิ่งที่เรียกร้องต้องการก็ใช้ระยะเวลายืนหยัดนานเช่นเดียวกัน
โดยกล่าวได้ว่า ทั้ง 2 กรณีเป็นเรื่องของการไม่ยอมรับสิ่งที่คนภายนอกจะนำเข้ามาสู่เมืองกาญจนบุรี
และเป็นการแสดงสิทธิ์ในฐานะคนเป็นเจ้าของบ้าน
แต่ในจุดนี้เองทำให้คนกาญจนบุรีถูกวิจารณ์ว่าแบ่งแยกจังหวัดเกินไป
เพราะวัฒนธรรมของการเคารพสิทธิ์คนพื้นเมืองยังคงไม่ได้หยั่งรากมากพอในสังคมไทย