วันที่ 13 เมษายน 2532 ห้าวันหลังจากที่ ครม.สมัยพลเอกชาติชายสัญจรไปถึงขอนแก่นแล้วอนุมัติในหลักการโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากมูล
การชุมนุมคัดค้านก็เริ่มต้นขึ้นและยังไม่เลิกราจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ส่วนใหญ่จะขาดความเป็นขบวนการและไม่ค่อยได้รับความสนใจ
แต่ก็ถือเป็น "งาน" ที่เพิ่มขึ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) มาโดยตลอด โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ตัวโครงการเดินหน้าก่อสร้างไปแล้วเกือบ
10% ปรากฎว่าเสียงตั้งคำถามถึงผลเสียกลับดังขึ้นกว่าเคย
ประเด็นล่าสุดเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากการสร้างเขื่อนคือจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของโครงการฯ
ที่ได้รับการเปิดเผยออกมาอย่างมีน้ำหนักโดยนายแพทย์จำนวนหนึ่ง
เนื่องจากในลำน้ำมูลนั้น มีหอย NEOTRICULA APERTA สายพันธุ์ BETA ที่สามารถเป็นพาหะกึ่งกลางของโรคพยาธิใบไม้เลือด
(SCHISTOSOMA) ที่ระบาดและเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศลาวที่เกาะโขงทางภาคใต้
ถือเป็นแหล่งระบาดที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ที่นั่นมีหอยตระกูล NEOTRICULA APERTA
เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นคนละสายพันธุ์
จากผลการทดลองพบว่า หอย NEOTRICULA APERTA ในแม่น้ำมูลนั้น ติดเชื้อ SCHISTOSOMA
ได้ง่ายที่สุด และพยาธินี้ก็สามารถเข้าสู่คนได้ง่ายมากโดยการไชทางผิดหนัง
จึงนับได้ว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้
ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า ปัจจัยตัวใดคือสาเหตุที่ทำให้หอยในแม่น้ำมูลไม่ติดเชื้อ
SCHISTOSOMA ทั้ง ๆ ที่อยุ่ไม่ไกลจากแม่น้ำโขงเพียงแต่กล่าวได้ว่า สภาพนิเวศน์แบบที่เป็นอยู่ของแม่น้ำมูลนั้นเองคือเกราะคุ้มกันภัยที่ดี
แสดงว่าต้องมีปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งที่ทำให้วงจรชีวิตของพยาธินี้ไม่บรรจบ
ในความไม่รู้นี้เองที่ทำให้ไม่อาจรู้ด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ส่วนใดของแม่น้ำมูลได้บ้าง
และเปลี่ยนได้ในระดับใดประเทศไทยจึงจะยังคงปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้เลือดต่อไป
แม้แต่ในรายงานการศึกษาผลกระทบโครงการด้านสาธารณสุขของ กฟผ. เองก็ยังกล่าวไว้ว่า
โรคพยาธิใบไม้เลือด คือ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่มีโครงการปากมูล
ทั้งจังหวัดอุบลราชธานีก็ยังเป็นบริเวณที่มีศักยภาพในการแพร่ระบาดของโรคนี้
ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขได้ง่าย
พร้อมกับได้มีข้อเสนอให้มีการติดตามผลและเฝ้าระวังซึ่งทางเจ้าของโครงการก็ได้เตรียมงบประมาณด้านนี้ไว้แล้ว
3.4 ล้านบาท
ส่วนคำถามที่ กฟผ. ไม่อาจตอบได้ก็คือ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงเงิน 3.4 ล้านบาทเพียงพอไหม
และมีทางแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ในเมื่อประเทศต่าง ๆ ก็ยังมีปัญหาในการควบคุมโรคนี้
ศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ศิริ ศรมณี 1 ในผู้ร่วมศึกษายอมรับในจุดนี้เช่นกัน
เพียงแต่ก็เชื่อว่าการก่อสร้างเขื่อนปากมูลจะไม่ทำให้สภาพตามธรรมชาติของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่ความเชื่อนี้ขัดแย้งกับประสบการณ์จากหลาปยระเทศที่พบว่า เขื่อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคร้ายนี้แพร่กระจาย
ข้อสรุปนี้มีทั้งสภาพความจริงที่อียิปต์ และหนังสือชื่อ ANTHROPOLOGY IN
PERSPECTIVE เป็นเครื่องยืนยัน
เสียงถามว่า "ทำไมจะต้องเสี่ยง" และ "ทำไมเลือกที่จะตามแก้ปัญหามากกว่าป้องกันเสียแต่แรก"
จึงมีความหมายอย่างยิ่งโดยที่ความหมายที่แท้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นการบอกให้หยุดโครงการเขื่อนปากมูลนั่นเอง