ในปัจจุบันการชดใช้ค่าเสียหายทางร่างกาย เนื่องมาจากอุบัติเหตุทางยานยนต์ตามระบบกฎหมายไทย
จะวางอยู่บนหลักกฎหมายละเมิดกับแหล่งค่าสินไหมทดแทนอื่น ๆ อาทิ สัญญารับขนคนโดยสาร
การประกันภัย หรือกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่โดยเหตุที่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามแหล่งอื่น
ๆ ก็มีขอบเขตการใช้บังคับและการคุ้มครองอยู่ในวงจำกัด
กล่าวคือ ความรับผิดตามบทบัญญัติกฎหมาย ว่าด้วยสัญญารับขนคนโดยสารใช้บังคับเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นผู้โดยสารยานยต์ของผู้รับขนคนโดยสารเพื่อสินจ้างเท่านั้น
การประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต หรือการประกันภัยเพื่อความรับผิดของบุคคลภายนอกก็ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าที่ควร
ทั้งยังมีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายอีกหลายประการ
ส่วนกฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทนก็มีขอบเขตการคุ้มครองเฉพาะตัวลูกจ้าง
และลูกจ้างนั้นก็ต้องมิใช่ลูกจ้างของส่วนราชการ หรือกิจการอื่นที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
นอกจากนี้ การที่ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าทดแทน ก็ต่อเมื่อต้องระสบอุบัติเหตุเท่านั้น
อันเนื่องมาจากการทำงานแม้กฎหมายจะมีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้น แต่การกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนนี้ก็มีขอบเขตจำกัด
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายแพ่งลักษณะละเมิด จึงยังเป็นกฎหมายหลักที่ใช้บังคับกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ของประเทศไทยในปัจจุบัน
ส่วนแหล่งค่าสินไหมทดแทนอื่น ๆ ที่จะมาคุ้มครองผู้เสียหายนั้นยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ในส่วนของความรับผิดตามกฎหมายลักษณะละเมิดวางอยู่บนพื้นฐานของความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ทำละเมิดไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายได้
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้รับผิดหลบหนีไป เป็นต้น อันทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือได้รับน้อยกว่าที่ควร
นอกจากนี้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็อาจจะเป็นไปโดยล่าช้า
อันสืบเนื่องมาจากการฟ้องร้องคดีในศาล
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ในต่างประเทศจึงได้มีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เพื่อความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้น โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น
3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นตอนแรก การปรับปรุงกฎหมายลักษณะละเมิดเดิม ขั้นตอนที่
2 เป็นการออกกฎหมาย ซึ่งมีผลเป็นการประกันว่าผู้ก่อความเสียหายสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ซึ่งก็ได้แก่ กฎหมายที่บังคับให้ประกันภัยความรับผิดทางละเมิดที่เกิดจากรถยนต์
(COMPULSORY AUTOMOBILE LIABILITY INSURANCE) โดยกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ขับรถยนต์วางหลักประกัน
ซึ่งปกติได้แก่กรมธรรม์ประกันภัย เพื่อประกันการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย
และขั้นตอนที่ 3 คือ การออกกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ขับขี่ยานยนต์เอาประกันภัยความสูญเสียเพื่อให้ผู้รับประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
โดยไม่คำนึงถึงความผิดและกำหนดระยะเวลาในการให้ชำระค่าสิไหมทดแทนในเวลาอันรวดเร็ว
ในขั้นตอนที่ 3 นี้ ผู้เสียหายอันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เกือบทุกราย
จะได้รับการเยียวยาเบื้องต้นตามรูปแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้
ปัจจุบัน ผู้เสียหายในประเทศไทยก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางยานยนต์เช่นเดียวกับนานาประเทศ กล่าวคือมีปัญหาเรื่องผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือได้รับน้อยกว่าที่ควร
และปัญหาผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทนล่าช้า
สำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย จึงมีนโยบายร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
จึงเกิดขึ้นมาโดยมีลักษณะเป็นการประกันความสูญเสีย เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่สาม
และจัดตั้งกองทุนประกันภัยยานยนต์ เพื่อส่งเสริมโครงสร้างการประกันภัยดังกล่าว
โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมายที่บังคับให้มีการประกันภัยความรับผิดกล่าวคือ
เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีหลักประกันสำหรับผู้ประสบภัย โดยการประกันภัยกับบริษัทประกันภัยหรือจะวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด
พันธบัตรรัฐบาลไทยหรือทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในประเทศกระทรวงต่อนายทะเบียนก็ได้
2. 2. บุคคลแทบทุกคนที่ได้รับความเสียหายจะมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตามร่างพระราชบัญญัตินี้
แต่อย่างไรก็ตามก็จะไม่รวมถึงเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ คนงาน หรือลูกจ้างประจำรถที่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งอยู่ในรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ในจุดนี้ผู้ร่างอาจจะเห็นว่า มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองอยู่
แต่ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กฎหมายแรงงานก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ
อันทำให้ลูกจ้างหรือคนงานก็ยังมิได้รับการเยี่ยวยาความเสียหายขั้นต้นตามร่างพระราชบัญญัตินี้
3. ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากรถ ให้เจ้าของรถ บริษัทประกัน หรือนายทะเบียนแล้วแต่กรณี
ชดใช้ความเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยโดยมิต้องพิสูจน์ความผิด โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความผิดของผู้ประสบภัยเองหรือผู้ประสบภัยมีส่วนประมาทอยู่ด้วยหรือไม่
4. ค่าเสียหายที่จะได้รับตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น
อันได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายระหว่างการรักษาพยาบาล และค่าปลงศพ เรื่องนี้เห็นได้ว่ากฎหมายมิได้เปลี่ยนแปลงระบบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเดิม
ซึ่งมีกฎหมายลักษณะละเมิดเป็นพื้นฐานโดยเป็นเพียงการคุ้มครองในเบื้องต้นเท่านั้น
หมายความว่า ค่าเสียหายในส่วนอื่น ๆ อาทิเช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้
ค่าเสียหายอันมิได้เป็นตัวเงิน ยังคงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ตามเดิม
5. เจ้าของรถ บริษัทประกันภัย นายทะเบียน จะต้องชำระค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จภายใน
7 วัน นับแต่มีคำขอจากผู้ประสบภัย และผู้ที่ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยก็มีสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับบุคคลผู้ต้องรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หรือในกรณีที่เจ้าของรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้จัดให้มีหลักประกันและไม่ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นไม่ครบจำนวน
หรือในกรณีที่รถถูกโจรกรรมและเจ้าของรถได้ไปร้องทุกข์ต่อพนังกานสอบสวนไปก่อให้เกิดความเสียหาย
ผู้ประสบภัยก็สามารถเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้
6. บทกำหนดโทษของเจ้าของรถที่มิได้จัดให้มีประกัน โดยกำหนดไว้แต่เพียงโทษปรับ
คือ ปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท ดังนั้นเพื่อให้มีการจัดให้มีประกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กฎหมายน่าจะถือว่า การจัดให้มีหลักประกันเป็นเงื่อนไขของการจดทะเบียนยานยนต์ประจำปี
คือ หากเจ้าของรถไม่สามารถแสดงกรมธรรม์ประกันภัยต่อเจ้าหน้าที่ได้ก็จะไม่รับการจดทะเบียนยานยนต์ซึ่งต่อมาหากพบว่า
ยานยนต์ใดไม่ได้จดทะเบียนก็ควรดำเนินคดีอาญากับเจ้าของ หรือผู้ขับขี่ และเพิกถอนใบทะเบียนยานยนต์
รวมทั้งใบอนุญาตขับขี่เพื่อขจัดยานยนต์ที่เจ้าของไม่พร้อมที่จะชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ใดได้ออกไปจากท้องถนน
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่สิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
เรื่องโดย คมกฤช เกียรติดุริยกุล
สำนักงานกฎหมายสนองตู้จินดา