คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะลุกขึ้นพูดความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชนในสิ่งที่รู้แก่ใจดีว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนไม่ทางใดทางหนึ่ง
แม้ว่าคำพูดเหล่านั้นจะมีหลักฐานสนับสนุนทุกประการก็ตาม
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ประสบกับภาวะเช่นนี้มาแล้วเมื่อไม่นานนี้เอง
การเข้าร่วมเสวนาครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนปากมูลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วพูดว่าโรคพยาธิใบไม้ในเลือดอาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณเขื่อนปากมูล
ทำให้เขาได้รับการตั้งฉายานามว่า "หมอหอย" จากสายสิทธิ พรแก้ว
ผู้ว่าราชการหึงหวัดอุบลราชธานี และหลังจากนั้นไม่นานก็ยังได้รับจดหมายจากกระทรวงสาธาณสุข-หน่วยงานต้นสังกัดให้ชี้แจงเคลียร์ตนเองใน
2 ประเด็นด้วยกันคือ หนึ่ง การไปร่วมเสวนานั้นผิดวินัยข้าราชการหรือไม่ สอง
เรื่องที่พูดไปมีความเหมาะสมถูกต้องตามจรรยาแพทย์เพียงใด
"ที่ออกมาพูดเพราะว่าผู้จัดเสวนาหาคนพูดไม่ได้แรกสุดเขาพยายามเชิญนักวิชาการหลายท่านที่ทำวิจัยและรู้เรื่องนี้ดี
ก็เผอิญอาจารย์ไม่ค่อยอยากพูดเท่าไร บอกว่าเป็นเรื่องการเมืองไม่อยากยุ่งทางกลุ่มก็มองว่าผมเป็นแพทย์แล้วก็อาจจะสนใจเรื่องนี้
เลยส่งข้อมูลของคณะที่ปรึกษาผลกระทบเขื่อนปากมูลมาให้ศึกษาแล้วผมก็หาอ่านเพิ่มเติมด้วย"
นพ.รังสฤษฎ์ เล่าความเป็นมาของการตัดสินใจเข้าร่วมอภิปรายครั้งนั้น ที่นอกจากจะทำให้เขาต้องได้รับปัญหาตามมาแล้วยังทำให้ติดอยู่ในวงโคจรของการคัดค้านเขือนปากมูลอีกด้วย
จากครั้งแรกเมื่อสองเดือนที่แล้ว เขาเป็นผู้ร่วมอภิปรายคนหนึ่ง ในเดือนถัดมาเขาได้รับเชิญให้เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
"เขื่อนกับปัญหาสาธารณสุข" อีกครั้งหนึ่งซี่งก็เพราะเหตุผลจากผู้จัดว่าไม่มีใครอีกแล้วทำให้เขาตอบรับอีกจนได้
ทั้ง ๆ ที่แนวทางแบบนี้เขาไม่ถนัด และไม่ใช่ตัวตนแบบที่เป็น
นพ.รังสฤษฎ์หรือ"หมอหม่อง" เป็นลูกชายคนเล็กของ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชน์
และ
ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ในปัจจุบันทำหน้าที่รักษาคนไข้อยู่ที่อำเภอด่านซ้าย
จังหวัดเลยย่างเข้าปีที่ 2 แล้วนับตั้งแต่จบแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล
สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ชั้นปีที่ 2 เขาคือคนหนึ่งที่ร่วมริเริ่มฟื้นฟูกิจกรรมชมรมอนุรักษ์ขึ้น
หลังจากที่กิจกรรมทางด้านนี้ถูกละเลยไปหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ครั้งนั้นในแวดวงกิจกรรมนักศึกษาของมหิดลจะมองกันว่าชมรมอนุรักษ์เป็นองค์กรของกลุ่มคนชอบเที่ยว
ทำกิจกรรมที่ไม่เอื้อประโยชน์กับสังคมแลไม่ค่อยก้าวหน้าสักเท่าไร
"เขายังไม่มองไม่เห็นกันว่าอันนี้คืออะไร เราก็พยายามบอกว่านี่ละคือต้นตอของปัญหาสลัม
ต้นต่อของปัญหาชนบทหรืออื่น ๆ ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ อาจจะพูดไม่ดีพอก็ได้
แต่ยุคนั้นก็เปลี่ยนไปแล้ว สมัยนี้กลายเป็นว่าทุกคนต้องมีคำว่าสิ่งแวดล้อมห้อยท้ายอยู่ตลอด"
รังสฤษฎ์ปิดท้ายประโยคด้วยเสียงหัวเราะขรึม ๆ
ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นจากกรณีที่รัฐบาลรื้อฟื้นโครงการเขื่อนน้ำโจนขึ้นอีกครั้ง
ทำให้มีการประสานงานกันระหว่างชมรมอนุรักษ์ต่างสถาบันก่อตั้งเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรและสภาพแวดล้อม
16 สถาบัน เพื่อร่วมมือกับประชาชนในท้องถิ่นต่อต้านโครงการนี้ จนที่สุดต้องล้มไปตามประชามติ
สำหรับการตื่นตัวในครั้งนั้น นพ.รังสฤษฎ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาทุ่มความสนใจในเรื่องข้อมูลธรรมชาติน้อยเกินไป
เมื่อเทียบกับข้อมูลด้านการเมือง
"คือในการต่อต้านเป็นแนวของการเมืองเยอะ ไม่มีใครชี้เน้นเรื่องการศึกษา
เรื่องวิชาการ แม้แต่นักศึกษาคนของชมรมอนุรักษ์ก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ
แต่จะรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องว่าใครอยู่เบื้องหลังมากกว่า ซึ่งผมไม่รู้และไม่ค่อยสนใจด้วยผมคิดว่าโอเคต้องมีคนสนใจในจุดนี้แต่ตัวเรานี่จะเน้นว่าทำอย่างไรให้คนรู้จักกับธรรมชาติและเข้าใจถึงระบบนิเวศต่าง
ๆ มากขึ้น"
ที่ด่านซ้ายนอกจากการทำงานตามอาชีพ รังสฤษฎ์ได้ทำในสิ่งที่เขารักนี้ด้วย
โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา เปิดชั่วโมงเรียนรู้ธรรมชาติขึ้นสอนเด็กครูผู้สอนก็คือ
"หมอหม่อง"
ชื่อ "หมอหม่อง" ยังเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ อื่น ๆ ด้วยจากการที่ได้เข้าร่วมงานค่ายของเขาหรือจากการอ่านหนังสือเด็กบางเล่มที่มีคอลัมน์ของเขาเปิดประจำอยู่
เนื้อหาของค่ายและของคอลัมน์ยังคงว่าด้วยเรื่องการรู้จักธรรมชาติ ความรู้เกี่ยวกับสัตว์
และป่า ฯลฯ
ความเป็นผู้สนใจธรรมชาติในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์นับเป็นจุดยืนที่มั่นคงของเขา
แม้กระทั่งกับการถกเถียงพยาธิใบไม้ในเลือดที่เขาต้องจับพลัดจับผลูเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย
สิ่งที่เขาย้ำและเรียกร้องก็คือ ขอให้มีการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เรียกร้องว่าให้ล้มโครงการการเขื่อนปากมูล
"ผมไม่ได้คาดหวังว่าเขื่อนต้องหยุดหรือไม่หยุด ผมอยากให้มีขบวนการทางวิชาการมากกว่า
ผมไม่อยากให้การตัดสินใจใด ๆ เป็นเรื่องของอวิชชาหรือเป็นเรื่องการอิงประโชน์ผมมองว่าบรรยากาศตอนนี้ไม่ได้เป็นบรรยากาศวิชาการผมอยากเน้นตรงนี้
ตัวผมเองไม่ใช่หมอหอย ผมเพียงมาทำหน้าที่ที่เขาขอมา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมไม่อยากและไม่เป็นแบบนี้ที่จะต้องขึ้นเวทีอภิปราย
ผมสนุกกว่าที่จะพาเด็กเข้าป่า" นั่นคือความรู้สึกแท้ ๆ ของหมอหนุ่มคนนี้