การตัดสินใจกลับมาเริ่มงานในประเทศไทยตามคำชักชวนของผู้บริหารบริษัทอนามัยภัณฑ์เมื่อปี
2517 เป็นย่างก้าวที่สำคัญต่อความสำเร็จในเวลาต่อมาของคนชื่อนิคม ผลลูกอินทร์
ในวงการอุตสาหกรรมผลิตผ้าอนามัยไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศชื่อเสียงของนิคมเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะวิศวกรออกแบบ
หลังจากที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ นิคมได้เดินทางไปศึกษาต่อยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เวสต์เวอร์จิเนีย
สหรัฐอเมริกาจนจบชั้นปริญญาตรีซึ่งในช่วงจังหวะที่เรียนจบนั้นเองได้มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นโดยที่นิคมเรียกมันว่าเป็นความบังเอิญ
และเป็นความบังเอิญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตั้งแต่นั้นมา
นิคมเล่าให้ฟังว่า "หลังจากเรียนจบ เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยปิดภาคฤดูร้อน
ผมกับเพื่อนหนีความเย็นที่เวสท์เวอร์จิเนียมาเที่ยวชายหาดทะเลที่รัฐฟลอริดาพอดีเงินหมดเลยคิดว่าจะหางานทำเล่น
ๆ ระยะหนึ่งเพื่อหาเงินใช้จ่ายในช่วงที่พักผ่อนอยู่ที่นั้นแล้วค่อยกลับไปเรียนต่อปริญญาโท
บังเอิญมีประกาศรับพนักงานของบริษัท CURT G.JOA ในตำแหน่ง DRAFTSMAN ก็ลองไปสมัครดู
แต่ตำแหน่งที่ได้กลับเป็น ENGINEER DESIGN
CURT G. JOA INC. เป็นบริษัทผู้ออกแบบ และสร้างเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยและผ้าอ้อมเด็กที่มีชื่อเสียงอยู่ในกลุ่มชั้นนำของโลก
ดังนั้นการที่นิคมซึ่งเป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมงานในบริษัทแห่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่น
ๆ ในความคิดสำหรับนิคมต่อไปอีกแล้ว
นิคมตัดสินใจทำงานที่นั่นโดยไม่กลับไปเรียนต่อตามความตั้งใจเดิม หน้าที่ของจิคมคือการออกแบบเครื่องจักรตามคอนเซปต์ที่บริษัทต้องการในช่วงที่นิคมร่วมงานอยู่กับ
CURT G. JOA ก็ได้มีโอกาสรู้จักกับประสิทธิ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการของบริษัทอนามัยภัณฑ์ในฐานะลูกค้ารายหนึ่งของบริษัท
ฯ
ครั้งนั้นประสิทธิ์พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับบริหารเดินทางมาติดต่อซื้อเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยเครื่องที่
3 จาก CURT G. JOA นิคมซึ่งเป็นคนไทยเหมือนกันจึงถูกมอบหมายจากผู้บริหารบริษัท
ฯ ให้ทำหน้าที่ในการต้อนรับลูกค้ารายนี้ เมื่อได้มีการพบปะพูดคุยกัน การทาบทามนิคมให้มาร่วมงานที่บริษัทอนามัยภัณฑ์จึงเกิดขึ้น
นิคมตัดสินใจกลับเมืองไทยและเข้าร่วมงานกับบริษัทอนามัยภัณฑ์ในปี 2517
หลังจากทำงานอยู่กับ CURT G.JOA ได้ 3 ปีในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานผลิตผ้าอนามัยเซลล็อกซ์
ในช่วงระหว่างที่นิคมคุมโรงงานผลิตผ้าอนามัยอยู่นั่นเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่วงการอนามัยแข่งขันกันอย่างดุเดือด
นิคมจึงได้มีโอกาสใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการดัดแปลงเครื่องจักรที่ใช้อยู่เดิมให้เป็นยุทธศาสตร์การตลาดใหม่ของเซลล็อกซ์ในขณะนั้น
และความสำเร็จจากการดัดแปลงเครื่องจักรของนิคมครั้งนี้ได้นำไปสู่การขยายธุรกิจใหม่ให้กับอนามัยภัณฑ์นั่นคือการเปิดแผนก
MRD (MACHINERESEARCH &DEVELOPMENT) ในปี 2521 เพื่อผลิตเครื่องจักรขาย
"หลังจากที่ผมดัดแปลงเครื่องจักรของโรงงานเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ก็มีฝรั่งซึ่งรู้จักกับผู้บริหารที่นี่ได้มาวานให้ไปทำเครื่องให้ ทำต่อเนื่องมาเรื่อย
ผมเห็นว่ามันน่าจะออกแบบขายได้จึงได้เสนอแนวคิดในการตั้งแผนก MRD ขึ้นมา"
นิคมย้อนถึงความเป็นมาในการตั้งแผนกผลิตเครื่องจักรที่มีเขาเป็นตัวจักรสำคัญ
นิคมได้นำเอาประสบการณ์จากการออกแบบเครื่องจักรเมื่อครั้งที่ทำงานอยู่กับ
CURT G. JOAมาใช้ในการสร้างเครื่องจักรให้กับ MRD ซึ่งในระยะแรกเครื่องจักรที่ผลิตขึ้นมาจะเป็นเครื่องจักรสำหรับผลิตผ้าอนามัย
โดยเป้าหมายมุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
นิคมอธิยายว่าการที่ต้องมุ่งเป้าไปที่ตลาดต่างประเทศแทนที่จะผลิตขายในประเทศก่อนนั้นเป็นเพราะตลาดภายในประเทศค่อนข้างเล็ก
และที่สำคัญก็คือ ชื่อเสียงของนิคมในฐานะผู้ออกแบบเครื่องจักรให้กับ CURT
G. JOA สำหรับตลาดต่างประเทศแล้วน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่า
จีนเป็นประเทศแรกที่นิคมออกแบบเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยขายให้เป็นเครื่องแรกหลังจากนั้นไม่นานเครื่องต่อ
ๆ มาก็เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในประเทศแถบเอเชียเช่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
บังกลาเทศ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถขยายตลาดครอบคุมทุกประเทศในเอเชียยกเว้นเกาหลี
ญี่ปุ่นและบรูไน และกำลังจะขยายตลาดไปตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา
หลังจากที่เครื่องผลิตผ้าอนามัยของ MRD เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศแล้ว
นิคมจึงหันเข้ามาเปิดตลาดเครื่องจักรในประเทศเช่นเดียวกับการขยายกำลังการผลิตและการออกแบบเครื่องจักรบรรจุผลิตภัณ์ขึ้นพร้อมกันไป
ซึ่งในส่วนนี้ นอกเหนือจากการผลิตขายเองแล้วยังรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่นด้วย
โดยมีบริษัทจาคอบ ไวท์ของอังกฤษเป็นลูกค้ารายใหญ่ในปัจจุบัน
นิคมกล่าวว่า "เหตุผลสำคัญที่ทำให้เครื่องจักรของ MRD ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศก็คือคุณภาพของสินค้าทัดเทียมกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรรายใหญ่ของโลก
ในขณะที่ราคาถูกกว่า 25% โดยประมาณ เราเน้นที่การออกแบบให้เครื่องจักรได้ใช้ประโยชน์ในการผลิตได้มากกว่า
1 แบบ และการออกแบบเครื่องเราจะออกแบบเผื่อไว้ในอนาคตถึง 5 ปี ในกรณีที่มีการพัฒนาอะไรใหม่
ๆ ออกมาเครื่องจักรนั้นสามารถที่จะดัดแปลงหรือเพิ่มเติมบางส่วนเข้าไปเพื่อให้เครื่องจักรเครื่องนั้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ปัจจุบันเครื่องจักรที่แผนก MRD ออกแบบและผลิตแบ่งตลาดออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนแรกเป็นเครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์
ซึ่งได้แก่เครื่องจักรผลิตผ้าอนามัย เครื่องจักรผลิตผ้าเย็น เครื่องจักรผลิตผ้ารองกันเปื้อนเพื่อใช้ในโรงพยาบาล
และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการผลิตเครื่องจักรผลิตผ้าอ้อมเด็กอีกด้วย อีกส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเครื่องจักรบรรจุผลิตภัณฑ์
และตลาดเครื่องจักรดังกล่าวส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดต่างประเทศถึง 70% ในขณะที่ผลิตขายในประเทศเพียง
30% เท่านั้น
นิคมเข้ามาร่วมงานกับอนามัยภัณฑ์ปีนี้เป็นปีที่17แล้วความสามารถของเขาพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดจากการเติบโตของแผนก
MRD ที่มียอดขายในปีแรกเพียง 10 ล้านบาทมาอยู่ในระดับ 70-80 ล้านบาทอย่างปัจจุบัน
แต่อะไรคงไม่สำคัญเท่ากับความภูมิใจที่นิคมได้รับในฐานะคนไทยที่ผลิตเครื่องจักรขายให้กับต่างประเทศ
และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิคมไม่คิดจะปลีกตัวออกจากอนามัยภัณฑ์นอกเหนือไปจากผลตอบแทนที่ได้