- แอลซีดีทีวีเดินเกม รีเอ็ดดูเคตหลังปรับเทคโนโลยี ลบจุดด้อย สร้างจุดเด่น
- จากพรีเมียมสู่แมสโปรดักส์ จากราคาหลักแสนเหลือหลักหมื่น จากจอใหญ่สู่จอเล็ก
- แบรนด์ยักษ์รุกกิจกรรม ลงพื้นที่ สร้างประสบการณ์ ขยายฐานลูกค้า ชิปตลาดซีอาร์ทีมาสู่แอลซีดีทีวี
เทคโนโลยีแอลซีดีทีวีที่เคยมีจุดบอดมากมายวันนี้ถูกลบไปพร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานให้ดีขึ้น ทว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอาจทำให้ผู้บริโภคตามไม่ทัน และยังติดกับข้อมูลเก่าที่ไม่ดีเกี่ยวกับแอลซีดีทีวี ดังนั้นหลังการพัฒนาเทคโนโลยี หลายๆแบรนด์จึงต้องออกมาทำการรีเอ็ดดูเคตกันอีกครั้งเพื่อลบข้อมูลในอดีตและสร้างการรับรู้ใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อแอลซีดีทีวี
โตชิบางัดกรีนคอนเซปต์ ผุดแอลซีดีทีวีประหยัดไฟ
แม้จะเป็นที่รู้กันว่าแอลซีดีทีวีประหยัดพลังงานมากกว่าพลาสม่าทีวี แต่ด้วยกำลังไฟที่สูงประมาณ 200-300 กว่าวัตต์ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับซีอาร์ทีทีวีที่กินไฟอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 วัตต์ ดังนั้นโตชิบาจึงลอนช์แอลซีดีทีวี REGZA AV 500 โดยทำการตลาดภายใต้นโยบาย 5 Green คือ Green Product, Green Company, Green Purchasing, Green Service และ Green Society โดย REGZA AV 500 ประหยัดพลังงานลงอีก25% โดยรุ่นขนาด 32 นิ้ว ราคา 22,900 บาท กินไฟ 137 วัตต์ จากเดิมที่ใช้กำลังไฟ 185 วัตต์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสินค้าให้มีขนาดเบาลง 56% โดยน้ำหนักเดิม 33 กิโลกรัม ลดเหลือ 14.3 กิโลกรัม ทำให้สามารถตั้งแขวนผนังได้สะดวกขึ้น สำหรับรุ่น 37 นิ้ว ราคา 34,900 บาท กินไฟ 170 วัตต์ และรุ่น 42 นิ้ว ราคา 42,900 บาท กินไฟ 208 วัตต์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคู่แข่งในท้องตลาด
ทั้งนี้เนื่องจากราคาแอลซีดีทีวีในตลาดรวมลดลงไป 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้โตชิบาต้องปรับราคาลงมา นอกจากนี้การที่โตชิบามีโรงงานประกอบแอลซีดีทีวีในประเทศไทย ส่งผลให้สามารถทำราคาแข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งราคาที่ลงมาใกล้ซีอาร์ทีทีวีมากเท่าไรก็จะมีส่วนสำคัญในการสวิตช์ผู้บริโภคให้หันมาใช้แอลซีดีทีวีมากขึ้น
โดยแอลซีดีทีวี 42 นิ้ว ฟูลเอชดีของโตชิบาอยู่ที่ 55,900 บาท ซึ่งแพงกว่ารุ่นธรรมดา 10,000 บาท ขณะที่ในอดีตแอลซีดีทีวีฟูลเอชดีจะมีราคาสูงกว่าแอลซีดีทีวีทั่วไปเกือบเท่าตัว นอกจากนี้โตชิบายังมีการทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคด้วยการซื้อแอลซีดีทีวีจอใหญ่โดยผู้บริโภคที่ซื้อแอลซีดีทีวีขนาด 46 นิ้วราคา 84,900 จะได้รับแอลซีดีทีวี 32 นิ้วฟรี ส่วนแอลซีดีทีวี 52 นิ้ว ฟูลเอชดี 100 เฮิรต์ซ ราคา 199,000 บาท จะได้รับแอลซีดีทีวี 37 นิ้วฟรี
ขณะเดียวกันโตชิบากำลังพิจารณาการผลิตแอลซีดีทีวีขนาดเล็กกว่า 32 นิ้ว เช่นขนาด 20, 22 และ 26 นิ้ว เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถลอนช์เข้าสู่ตลาดเมืองไทยได้ในปีหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้แอลซีดีทีวีในแต่ละครัวเรือนให้สูงขึ้น โดยโตชิบามองว่าแอลซีดีทีวีเครื่องแรกของบ้านคือไซส์ใหญ่ ส่วนแอลซีดีในห้องนอนก็จะมีขนาดที่เล็กลงเพื่อให้พอเหมาะกับขนาดของห้อง
"Key Driven ของตลาดแอลซีดีทีวีอยู่ที่เรื่องของราคา ในอดีตผู้บริโภคต่างจังหวัดเปลี่ยนทีวีจาก 14 นิ้วมาใช้ 21 นิ้วไม่ใช่เพราะเขารวยขึ้น แต่ราคาของทีวี 21 นิ้วลดลงมาใกล้เคียงกับ 14 นิ้ว คนก็หันไปเลือกจอที่ใหญ่กว่า" ฮิเดโนริ มัตสุอิ ประธาน โตชิบาไทยแลนด์ กล่าว
ปีนี้โตชิบาทุ่มงบ 100 ล้านบาทในการทำตลาดหมวดภาพและเสียงในปีนี้ โดยจะเน้นการสร้างยอดขายในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 และโอลิมปิก ปักกิ่ง เกม พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายเติบโต 50%
พานาฯ ส่งแอลซีดีพ่วงพลาสม่า ชูแนวคิด "ทีวีคุณภาพ ดูสบายตา"
เทคโนโลยีของทีวีในยุคสมัยนี้ ทำให้ขนาดความกว้างของหน้าจอซีอาร์ทีทีวีที่เคยอยู่ในระดับ 29 นิ้ว กลายเป็นแอลซีดีทีวี จอใหญ่กว่า 42 นิ้ว ตั้งวางอยู่ในห้องๆ เดิม ความใหญ่ของจอ แสงที่ส่งออกมา อาจสร้างความรู้สึกต่อผู้บริโภคว่า ความสว่างจะทำให้ดูไม่สบายตา หรือนั่งดูได้ไม่นาน จุดนี้เองที่พานาโซนิคนำมาเป็นแนวคิดในการสร้างจุดขายใหม่ให้กับเวียร่าทีวีในปีนี้
สำหรับพานาโซนิคแล้ว แอลซีดีทีวี ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ถนัดมากนัก เนื่องจากพานาโซนิคโฟกัสพลาสม่าทีวีมาตลอด แต่ด้วยกระแสแอลซีดีทีวีมาแรง ส่งผลให้พานาโซนิคต้องกระโดดเข้าสู่สมรภูมิแอลซีดี ไปพร้อมกับการรักษาตลาดพลาสม่าทีวีให้คงอยู่ไว้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา โดยในการทำตลาดพลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวีนั้น พานาโซนิคใช้ซับแบรนด์เดียวกันว่า เวียร่า โดยใช้ขนาดหน้าจอเป็นตัวแบ่งเทคโนโลยี จอใหญ่ 42 นิ้วขึ้นไปจะเป็นพลาสม่าทีวี ส่วนจอ 37 นิ้วลงมาจะเป็นแอลซีดีทีวี
แนวคิด "ทีวีคุณภาพ ดูสบายตา" ของพานาโซนิคถูกสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านกิจกรรม Panasonic Viera Marathon:The World Longest TV Watching การแข่งขันสร้างสถิติการดูทีวีที่ยาวนานที่สุดในโลก โดยพานาโซนิคใช้งบในการทำตลาดหมวดภาพและเสียง 300 ล้านบาท โดยสื่อสารถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เช่น พลาสม่าทีวีมีคอนทราสต์เรโชสูงถึง 1,000,000:1 หน้าจอลดแสงสะท้อนน้อยลง มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 1 แสนชั่วโมง ส่วนแอลซีดีทีวี ชูเทคโนโลยี IPS Alfa Panel ที่เพิ่มคุณภาพของภาพ ดูสบายตา พร้อมด้วยเทคโนโลยี 100 เฮิรต์ซ ที่ลดอาการเบลอเมื่อภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ
สำหรับซีอาร์ทีทีวี ที่ยังเป็นตลาดยังมีความต้องการอยู่ โดยแอลซีดีทีวีจอเล็กก็มิได้ส่งผลกระทบมากนักเนื่องจากช่องว่างของราคายังห่างกันเกินกว่าจะจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาหาแอลซีดีได้ พานาโซนิคจึงใช้แนวทางด้านการดีไซน์ในการรักษาตลาดซีอาร์ทีทีวี โดยออกแบบรูปลักษณ์ให้คล้ายแอลซีดีทีวี
ทั้งนี้พานาโซนิคจะมีการเดินสายโรดโชว์เพื่อเอ็ดดูเคตผู้บริโภคให้รับรู้ถึงความแตกต่างจากการใช้เทคโนโลยีจอภาพแบบต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกสบายตาไม่ต่างกัน
โซนี่ เล็งเป้าแอลซีดีจอเล็ก เจาะตลาดคอนโด-ห้องนอน
จุดเด่นของแอลซีดีทีวีที่ดึงดูดผู้บริโภคมาตลอดคือ จอขนาดใหญ่ที่ให้รายละเอียดสมจริงมากยิ่งขึ้น แต่จุดเด่นบางครั้งก็กลายเป็นจุดด้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มซึ่งดูเหมือนเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นั่นคือ กลุ่มคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ที่มีพื้นที่ห้องไม่ใหญ่นัก จุดนี้อยู่ในความสนใจของยักษ์ใหญ่ด้านเอวีแดนซากุระ นาม โซนี่
โซนี่ขยายหาฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ด้วยการลอนช์แอลซีดีทีวี รุ่น KLV-20S400A ขนาด 20 นิ้ว ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคที่อาศัยในคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ รวมถึงเป็นแอลซีดีทีวีเครื่องที่ 2 ในห้องนอน โดยมีสีต่างๆให้เลือกถึง 5 สี คือ ดำ ชมพู ส้ม เขียว ฟ้า พร้อมกับจับคู่กับเครื่องเล่นดีวีดี รุ่น DVP-PR50 ซึ่งมี 5 สีคู่กับแอลซีดีทีวีของโซนี่ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคผู้หญิงที่เข้าถึงสีสันและดีไซน์ของสินค้าได้ง่ายกว่าเรื่องเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีราคาไม่สูงมากนักโดยจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ทำให้สามารถเจาะตลาดคนเริ่มทำงานได้ไม่ยาก
ขณะที่ตลาดผู้ใหญ่หรือสาวกรุ่นเก่าที่มีกำลังซื้อสูงก็จะใช้แอลซีดีทีวีบราเวียรุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไป รวมถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่เหล่านี้เมื่อมีฐานะการงานการเงินที่มั่นคงก็อาจจะมีการเปลี่ยนไปใช้แอลซีดีทีวีบราเวียรุ่นจอใหญ่ต่อไป ซึ่งในปีนี้โซนี่ได้ปรับมาตรฐานแอลซีดีทีวีบราเวียขนาด 40 นิ้วขึ้นไปทุกรุ่นจะให้สัญญาณภาพในระดับ Full HD จากเดิมที่มีสัญญาณภาพระดับ HD Ready ร่วมด้วย โดย แอลซีดีทีวีระดับ Full HD จะมีราคาโดยเฉลี่ยสูงกว่า แอลซีดีที่เป็น HD Ready ประมาณ 50% ดังนั้นการเปลี่ยนมาเป็น Full HD จึงช่วยสร้างมูลค่าให้กับยอดขายของโซนี่
อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้กลยุทธ์ HD World ของโซนี่ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวมีการลอนช์มาประมาณ 2 ปีแล้ว ทว่ายังไม่แพร่หลายเพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว โซนี่ยังเปิดช่องว่างให้ผู้บริโภคเลือกรุ่นที่ต่ำกว่า สำหรับในปีนี้ โซนี่จะเร่งสร้างตลาดเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ โดยอาศัยความเป็น Sony United ที่มีบริษัทในเครือ อย่างโซนี่ พิคเจอร์ และโซนี่ บีเอ็มจี ในการผลิตแผ่นภาพยนตร์และแผ่นเพลงในรูปแบบของแผ่นบลูเรย์ออกมาตอบสนองตลาด Full HD
"หัวใจสำคัญ 4 ประการในการดำเนินธุรกิจของเราในปีนี้คือเรื่องของนวัตกรรม การเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจ และการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม" ไทสุก นากานิชิ กรรมการผู้จัดการ โซนี่ ไทย กล่าว
ในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมการขาย Big Match...Big Screen...Big Fun เป็นแคมเปญที่โซนี่ลอนช์ในช่วงมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลยูโร และโอลิมปิก 2008 เป็นการกระตุ้นฐานลูกค้าเก่าของโซนี่ให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีขึ้น โดยลูกค้าสามารถนำซีอาร์ที ทีวี ของโซนี่ 29 นิ้ว มาแลกซื้อแอลซีดีทีวีบราเวียเครื่องใหม่ โดยจะได้รับส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลารับประกันนานถึง 20 เดือนสำหรับแอลซีดีทีวีบราเวียรุ่น 40 นิ้วขึ้นไป ตลอดจนการรับสิทธิ์ในการลุ้นรับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท โดยรางวัลที่ 1 เป็นชุดผลิตภัณฑ์ Full HD มูลค่า 1.7 ล้านบาท ประกอบด้วย แอลซีดีทีวีบราเวีย 70 นิ้ว เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ ชุดโฮมเธียเตอร์ กล้องไซเบอร์ชอท กล้องอัลฟ่า กล้องแฮนดีแคม ไวโอ้
ยักษ์แดนโสม โหมดีไซน์ ปรับภาพแอลซีดีเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน
อีกปัญหาสำคัญของแอลซีดีทีวี คือทีวีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมมาก การตั้งวางอยู่ในห้องรับแขก จึงถูกมองเป็นจอขนาดใหญ่ที่แปลกแยกไปจากดีไซน์ของห้อง 2 ค่ายทีวีจากแดนโสม ซังซุง และแอลจี เลือกเดิมเกมผ่านช่องทางนี้
ซัมซุงประสบความสำเร็จในการใช้ดีไซน์โดย บอร์โดซ์ พลัส แอลซีดีทีวี เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของซัมซุงในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ซัมซุงสามารถเบียดแชมป์เก่าอย่างโซนี่ ขึ้นมายืนเป็นผู้นำตลาดโดยในปีนี้ซัมซุงได้ต่อยอดความสำเร็จภายใต้กลยุทธ์ ไลฟ์สไตล์ ดิจิตอล
"ปัจจัยความสำเร็จของซัมซุงเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีและดีไซน์ ทำให้สามารถสร้าง ไลฟ์สไตล์ ดิจิตอล ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานหลักเพียงอย่างเดียวไปสู่การเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้บริโภคหันมานิยมผลิตภัณฑ์ของซัมซุง" สุพจน์ ลีลานุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ธุรกิจภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว
ปีนี้ซัมซุงมีการลอนช์แอลซีดีรุ่นใหม่ F8 100 เฮิรต์ซ ฟูลเอชดี ซึ่งมี 2 ขนาดคือ 52 นิ้ว ราคา 229,990 บาท และ ขนาด 46 นิ้ว ราคา 159,990 บาท โดยใช้ตีมที่ว่า The Art of Perfection ที่นอกจากจะเน้นเทคโนโลยีความคมชัดแล้วยังมีดีไซน์หรู กรอบเงาดำ พร้อมปุ่มเปิด-ปิดแบบสัมผัส พร้อมไฟสีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดล้วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่นเดียวกับแอลจีหันมาเน้นในเรื่องของดีไซน์ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ที่ผ่านมาแอลจีมีการใช้ดีไซน์ในผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มคือเครื่องปรับอากาศรุ่นอาร์ทคูล และโทรศัพท์มือถือรุ่นช็อกโกแลต ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดด้วยดี ดังนั้นในปีนี้แอลจีจึงหันมามุ่งเน้นในเรื่องของดีไซน์เป็นพิเศษโดยเริ่มจากตลาดทีวีที่คาดว่าจะมีการเติบโตที่สูงกว่าปรกติเนื่องจากเป็นปีที่มีมหกรรมการแข่งขันกีฬา 2 อย่างคือ ฟุตบอลยูโร 2008 และโอลิมปิค ซึ่งทุกครั้งที่มีมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ ตลาดทีวีจะเติบโตมากเป็นพิเศษ
"ที่ผ่านมาแอลจีใช้เทคโนโลยีเป็นจุดขายในการสื่อสารกับผู้บริโภค ทว่าเทคโนโลยีมิใช่ปัจจัยลำดับแรกที่ผู้บริโภคมองหา หากแต่จะต้องมีดีไซน์ที่สวยงาม ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ยอดขายดีขึ้น เราจึงเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ในการสื่อสารโดยใช้เรื่องของ Emotional Marketing เป็นตัวดึงดูดผ่านการดีไซน์ที่สวยงาม" ฉันท์ชาย พันธุฟัก ผู้จัดการอาวุโสการตลาดผลิตภัณฑ์หมวดจอภาพและเสียง บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
สการ์เล็ต เป็นซีรี่ย์ รุ่นล่าสุดของแอลซีดีทีวี แอลจี ที่เน้นเรื่องดีไซน์ โดยวางตำแหน่งให้เป็นแอลซีดีระดับพรีเมียม มีราคาสูงกว่าแอลซีดีรุ่นปรกติเกือบ 1 หมื่นบาท โดยในช่วงแรกมีการลอนช์ 4 รุ่น คือ รุ่น 32 นิ้วมีราคาอยู่ที่ 29,990 บาท รุ่น 37 นิ้วมีราคา 39,990 บาท ส่วนอีก 2 รุ่นรองรับสัญญาณระดับฟูลเอชดีคือ 42 นิ้ว ราคา 74,990 บาท และ รุ่น 47 นิ้ว ราคา 99,990 บาท แม้จะเป็นโปรดักส์ไฮเอนด์ แต่ก็ถือว่าแอลจียังมีราคาถูกกว่าแอลซีดีทีวี ซัมซุง F8 ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำคอนเซ็ปต์การทำการตลาดภายใต้แนวคิด Stylish Design & Smart Technology แอลจีมีการซอยเซกเมนต์ภายใต้กลยุทธ์ STP (Segment Target Positioning) เพื่อทำการตลาดตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุดในแต่ละเซกเมนต์ โดยแอลจีมีการซอยเซกเมนต์เป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มมินิมอล ซึ่งเน้นสินค้าราคาถูก มีสัดส่วนในตลาด 10% กลุ่มแวลูแมกซิไมเซอร์ เป็นกลุ่มที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา เปรียบเทียบราคากับฟังก์ชั่นการใช้งานที่ได้มาว่าคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งมีสัดส่วน 40% ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือคือ กลุ่มสไตลิสต์ซึ่งให้ความสำคัญกับแบรนด์ มีสัดส่วน 25% เท่ากับกลุ่มพรีเมียมซีกเกอร์ ที่เน้นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งแอลจีให้น้ำหนักในการเจาะตลาด 2 กลุ่มหลัง
นอกจากนี้แอลจียังมีการพัฒนาช่องทางจำหน่ายด้วยการจัดดิสเพลย์ร้านค้าให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เน้นดีไซน์ โดยในช่วง 3 เดือนคาดว่าจะปรับดิสเพลย์ร้านค้าต่างๆได้ 49 แห่ง จากร้านค้าทั้งหมด 300 แห่ง ในขณะที่ซัมซุงเน้นการพัฒนาช่องทางจำหน่ายภายใต้คอนเซ็ปต์โททอล โซลูชั่น เพื่อเชื่อมโยงการใช้งานสินค้าต่างๆของซัมซุงเป็นการเพิ่มเฮาส์โฮลด์แชร์
ปีนี้แอลจีได้ทุ่มงบการตลาดกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีมหกรรมกีฬาใหญ่อย่างฟุตบอลยูโร 2008 และ กีฬาโอลิมปิค ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างยอดขาย โดย 30% ของงบดังกล่าวเป็นการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ส่วนอีก 70% จะใช้ในการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการจัดโปรโมชั่น แคมเปญเงินผ่อน 0% นาน 6-24 เดือน โดยแอลจีตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 15% ในปีนี้
รีเอ็ดดูเคต นิวเทคโน สร้างภาพผู้นำ
ตลาดแอลซีดีทีวีเริ่มเป็นที่จับตามาตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว ทว่าด้วยข้อจำกัดในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ในอดีตแอลซีดีทีวีไม่สามารถทำขนาดหน้าจอที่ใหญ่ได้เท่าพลาสม่าทีวี โมชั่นพิกเจอร์ก็ไม่ดี ภาพที่เคลื่อนไหวเร็วๆ จะเกิดอาการเบลอ เป็นปัญหาที่รั้งการเติบโตเอาไว้ แม้แอลซีดีทีวีก็มีข้อดีอยู่บ้างตรงที่ให้แสงสว่างที่มากกว่าพลาสม่าทีวี ทำให้แม้นั่งชมอยู่กลางแจ้งก็ชัดเจน และเป็นเทคโนโลยีที่มีการต่อเชื่อมกับคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ฐานลูกค้าที่เป็นนักเล่นคอมพิวเตอร์ก็จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีปริมาณความต้องการในตลาดมีน้อย จึงไม่เกิดอีโคโนมีออฟสเกล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงและกระทบมาถึงราคาขายที่แพงกว่าพลาสม่าทีวีถึง 3 เท่าเมื่อเทียบราคากันแบบนิ้วต่อนิ้ว
ในอดีตเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาหลักแสนบาท ดังนั้นแอลซีดีทีวีในอดีตคือโทรทัศน์ระดับพรีเมียมที่มีลูกค้าไม่กี่ราย ปริมาณความต้องการในแอลซีดีทีวีขณะนั้นมีเพียง 10,000 เครื่องเท่านั้น ในขณะที่พลาสม่าทีวียังอยู่ในยุคเฟื่องฟูมีความต้องการ 20,000 เครื่องและมีอัตราการเติบโตที่ดีจากความพยายามในการโปรโมตทีวีจอใหญ่ ซึ่งขณะนั้นยังมีโปรเจกชันทีวีอยู่ในตลาด ทว่าอัตราการเติบโตเริ่มถดถอยเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีจุดด้อยค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องภาพมืด มุมมองที่แคบ เครื่องมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก
ทว่าภายหลังการพัฒนาเทคโนโลยีจนแอลซีดีทีวีสามารถพัฒนาจอทีวีขนาดใหญ่ มีการปรับปรุงเรื่องโมชั่นพิกเจอร์โดยใช้เทคโนโลยี 100 เฮิรต์ซ ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนพร้อมกับเสนอในราคาที่ต่ำลงจนเกือบจะเท่ากับพลาสม่าทีวี ควบคู่ไปกับการเอ็ดดูเคตผู้บริโภคให้หันมาใช้แอลซีดีทีวีจอใหญ่แทนพลาสม่าทีวี ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จนปัจจุบันปริมาณความต้องการแอลซีดีทีวีในเมืองไทยสูงถึง 5.5 แสนเครื่อง และคาดว่าในปีหน้าความต้องการจะสูงถึง 8 แสนเครื่องและขยับขึ้นไปเป็น 1 ล้านเครื่องในปีถัดไป
ปัจจุบันซัมซุงเป็นผู้นำตลาดแอลซีดีทีวีด้วยส่วนแบ่งการตลาด 39% ตามด้วยโซนี่ 22% ฟิลิปส์ 9% แอลจี 9% และชาร์ป 5% แต่ถ้าเป็นสัดส่วนในเชิงมูลค่า แบรนด์ท็อปไฟว์ยังคงมีอันดับเช่นเดิม ทว่าเปอร์เซ็นต์ของโซนี่และฟิลิปส์สูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 แบรนด์ต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการโฟกัสไปที่แอลซีดีทีวีระดับพรีเมียมมากกว่ารุ่นไฟติ้งโมเดล โดยส่วนแบ่งการตลาดแอลซีดีทีวีในเชิงมูลค่า ซัมซุงอยู่ที่ 37% โซนี่ 26% ฟิลิปส์ 11% แอลจี 8% ชาร์ป 5% จากมูลค่าตลาดรวม 14,750 ล้านบาท
ภายหลังการพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับกลยุทธ์การตลาด ส่งผลให้ราคาแอลซีดีทีวีลงมาอยู่ในหลักหมื่นบาท หลายๆค่ายมีการพัฒนาหน้าจอให้มีขนาดเล็กลง เช่น ขนาด 20 นิ้ว ซึ่งจะมีราคาอยู่ที่ระดับหมื่นต้นๆ ไม่สูงเกินไปที่จะชิปตลาดซีอาร์ทีทีวีให้เปลี่ยนมาใช้แอลซีดีทีวี และยังเป็นแอลซีดีทีวีเครื่องที่ 2 ในบ้านสำหรับใช้ในห้องนอน หลังจากที่มีเครื่องใหญ่ในห้องนั่งเล่น ตลอดจนเป็นการขยายฐานไปสู่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีพื้นที่จำกัด จึงไม่เน้นทีวีจอใหญ่ แต่แบรนด์ใดจะสามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคเพื่อรอการตัดสินใจซื้อได้ ก็อยู่ที่การทำกิจกรรมการตลาด การโรดโชว์ และเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ๆ
การรีเอ็ดดูเคตผ่านกิจกรรมการตลาด การโรดโชว์ จะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการรับรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่าใครคือคนแรกที่ทำแอลซีดีทีวี แต่ตอนนี้ผู้บริโภคจะจดจำแค่ว่าใครคือผู้นำในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อแบรนด์นั้นๆ
|