Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์7 กรกฎาคม 2551
ต้นทุนพุ่งกระทบรับสร้างบ้าน ลูกบ้านเสี่ยงเจองานไร้คุณภาพ             
 


   
search resources

Construction
สุธี เกตุศิริ




- รับสร้างบ้านถึงจุดเสี่ยง คุมต้นทุนยาก หลังราคาเหล็ก-น้ำมันพุ่งทะยานรายวัน
- วงในแฉบางรายแอบลดสเปกเหล็ก กระทบโครงสร้างบ้าน ผู้บริโภครับกรรม
- สมาคมฯ-สคบ. เร่งหาทางออก หวั่นเจ้าของบ้านโดนเอาเปรียบ

ความยากของธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ ในฟากของผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเผชิญกับภาวะราคาเหล็ก ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้วกว่าเท่าตัว ในฝั่งของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบสูงขึ้นจากการสร้างบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน การถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่พยายามลดต้นทุน แต่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในภาวะกดดันเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากตัวเลขร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากการรับสร้างบ้านในปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ

ราคาเหล็กพุ่งต้นเหตุ

ช่วงปลายปี 2550 เป็นช่วงที่ราคาเหล็กเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และสูงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องคอยจับตาเกาะติดสถานการณ์ราคากันแบบวันต่อวัน สุธี เกตุศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวท์ ทู บิวด์ และบริษัท บางกอกเฮ้าส์บิวเดอร์ จำกัด บริษัทรับสร้างบ้านในกลุ่มซีคอน กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้วราคาเหล็กอยู่ที่ระดับ 20 บาทต่อ กก. แต่จนถึงตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นมาเป็น 44-45 บาทต่อ กก. เรียกว่าภายในไม่กี่เดือน ราคาปรับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว หรือ 100% ทำให้ผู้รับเหมาที่รับงานมาในราคาต่ำได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนที่คำนวณเป็นราคาขายให้กับลูกค้าก่อนหน้านี้ไม่สอดคล้องกับต้นทุนจริงเมื่อถึงวันที่ต้องก่อสร้าง จึงเริ่มเห็นผู้รับเหมารายย่อยที่ไม่ค่อยห่วงชื่อเสียงตัวเองมากนักตัดสินใจทิ้งงาน เพราะแบกรับภาระไม่ไหว

ในส่วนของกลุ่มบริษัทซีคอนก็ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว ทำให้อัตราส่วนกำไรลดลง แต่เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะล็อคราคาวัสดุก่อสร้างได้ในระยะหนึ่ง โดยบริษัทสามารถล็อคราคาเหล็กไว้ที่ 40 บาทต่อ กก. สำหรับการก่อสร้างบ้านจำนวน 100 หลัง ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้าง อยู่ระหว่างรอลูกค้าทำสัญญา แต่หากลูกค้าตัดสินใจล่าช้า ก็อาจจะต้องปรับราคาใหม่ตามต้นทุนเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้นไป

เร่งลูกค้าสร้างก่อนต้นทุนปรับ

สุธีพบว่า ในช่วงนี้ลูกค้าที่ไม่รีบสร้างบ้าน จะชะลอการตัดสินใจออกไป ในขณะที่ลูกค้าที่ตั้งใจสร้างบ้านจริงๆ จะรีบตัดสินใจทันที ก่อนที่ต้นทุนก่อสร้างจะปรับสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งภาวะในขณะนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทมากนัก แต่การที่ลูกค้าเร่งก่อสร้างมากขึ้น ทำให้บริษัทมีงานล้นมือ กลายเป็นปัญหาของโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่อาจจะผลิตไม่ทัน อย่างไรก็ตามออร์เดอร์จำนวนมาก สามารถช่วยลดต้นทุนคงที่ของบริษัทให้ลดลงได้ แต่บริษัทคงไม่อาศัยโอกาสนี้เร่งโกยยอดขายจากลูกค้า เพราะเกินกำลังที่บริษัทจะรับงานได้

“เราใช้ระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน แต่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาเซ็นสัญญาก่อน จึงจะออร์เดอร์คำสั่งไปที่โรงงาน ซึ่งเราก็เร่งลูกค้าให้รีบเข้ามาเซ็นสัญญา เพราะหากช้ากว่านี้ต้องรอคิวยาวกว่าที่โรงงานจะผลิตชิ้นส่วนส่งมาให้ ซึ่งตอนนี้เราพยายามเริ่มสร้างให้ได้ภายใน 60-90 วัน” สุธีกล่าว

อย่างไรก็ตามสุธีไม่คาดคิดว่าต้นทุนจะปรับสูงขึ้นอย่างรุนแรงเท่าที่เห็นในขณะนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ปรับราคาขึ้นไป 5% และในเดือน ก.ค. นี้จะปรับเพิ่มอีก 5% โดยเพดานต้นทุนที่บริษัทคำนวณเผื่อสูงสุด ณ ปัจจุบันอยู่ที่ราคาเหล็ก 45 บาทต่อ กก. ราคาน้ำมันไม่เกิน 120 เหรียญต่อบาเรล ซึ่งหากราคาปรับสูงทะลุเพดาน บริษัทคงต้องกลับมาทบทวนราคาขายอีกครั้ง

ต้นทุนก่อสร้างที่ไม่นิ่ง ทำให้บริษัทรับสร้างบ้านเสนอราคากับลูกค้าได้ลำบากขึ้น แม้กระทั่งในระยะสั้นก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าต้นทุนจะพุ่งไปถึงจุดใด ซึ่งพันธุ์เทพ ทานชิติกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากตั้งราคาเผื่อสูงเกินไป ลูกค้าก็มองว่าแพง แต่หากตั้งไว้ต่ำ ก็มีความเสี่ยงว่าอาจจะก่อสร้างไม่ได้ สำหรับในส่วนของสมาชิกสมาคมฯ ทุกรายยืนยันว่าจะปรับราคาขึ้นไม่น้อยกว่า 5%

ขณะที่สุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญของบริษัทรับสร้างบ้านไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมัน และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้น แต่ปัญหาหนักอยู่ที่การควบคุมต้นทุน เพราะราคาวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นเกือบทุกวัน โดยเฉพาะเหล็กซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถคิดราคาค่าก่อสร้างตามต้นทุนกับลูกค้าได้ เพราะการสร้างบ้านต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งหากราคาวัสดุก่อสร้างยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้การควบคุมต้นทุนลำบาก

ด้านบริษัท โฮมสแตนดาร์ด จำกัด ที่เน้นตลาดรับสร้างบ้านระดับกลาง-บนเป็นหลักก็เร่งปรับตัวด้วยการเร่งเจรจาลูกค้ารายต่อรายให้ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้เร็วที่สุด เพื่อล็อกราคาวัสดุก่อสร้างให้ทันก่อนที่ราคาจะปรับขึ้นไปสูงกว่านี้ นอกจากนี้บริษัทยังปรับตัวหันไปเน้นตลาดบน ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้นผ่านบริษัท โฮม ดีเวลลอป จำกัด เนื่องจากบริหารจัดการต้นทุนได้ง่ายกว่า รวมทั้งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แม้เศรษฐกิจจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ลดขั้นตอนหวังลดต้นทุน

แหล่งข่าววงการรับสร้างบ้านกล่าวว่า มีผู้รับสร้างบ้านรายย่อยบางรายที่พยายามลดต้นทุนด้วยการเร่งงานให้เร็วขึ้น ย่นระยะเวลาทำงานด้วยการข้ามขั้นตอนทำงานบางขั้น ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของงานในระยะยาว เช่น ไม่ทิ้งให้คอนกรีตบ่มตัวก่อนเป็นเวลา 14 วัน ทำให้คอนกรีตรับกำลังได้ไม่เต็มที่ จนเกิดการแตกร้าว หรือการผสมปูนหน้างานในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสม การลดความหนาเหล็กที่ใช้ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งมีผลต่อต่อโครงสร้างและความปลอดภัยในระยะยาว และเจ้าของบ้านจะเริ่มเห็นเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี

“ต้นทุนเรื่องโครงสร้างมีมูลค่าถึง 20-30% ของต้นทุนก่อสร้างรวม แม้จะเป็นตัวเลขไม่มาก แต่ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากถึง 70-80% ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างบ้าน ที่อันตราย คือ โครงสร้างเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เจ้าของบ้านตรวจสอบเองไม่ได้ หากไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้าง แตกต่างจากเรื่องการวัสดุตกแต่งภายนอก เช่น ไม้ กระเบื้อง หากมีการลดสเปคเจ้าของบ้านจะสังเกตเห็นได้ หากผู้รับสร้างบ้านคิดจะลดต้นทุน ก็ต้องไปลดเรื่องโครงสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่มีความรู้ และวิธีปรับตัวที่ง่ายสุด คือ ต้นทุนขึ้นที่ส่วนไหน ก็ลดที่ส่วนนั้น ตอนนี้ราคาเหล็กแพง ทางออกก็ไปลดสเปกเหล็กเป็นการแก้ปัญหา” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ระบบการใช้ผู้รับเหมาช่วงก็ถูกจับตาว่าเป็นต้นเหตุทำให้บ้านไม่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกัน ในเรื่องนี้สุธีเห็นว่า โดยทั่วไปหลายบริษัทใช้ระบบนี้อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบการควบคุมคุณภาพของแต่ละบริษัทว่ารัดกุมเพียงใด ซึ่งกลุ่มซีคอนเน้นการใช้ผู้รับเหมาที่มีความชำนาญเฉพาะด้านแต่ละรายมารับงานเพียงบางส่วนของบ้านเท่านั้น เช่น ไฟฟ้า อะลูมิเนียม โดยมีวิศวกร และผู้ตรวจเข้าไปตรวจงานอีกขั้นหนึ่ง

สมาคมฯ เร่งหาทางออก

พันธุ์เทพกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องการทิ้งงานของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคม ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก หากดูจากการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้สมาคมฯ และ สคบ. กำลังเร่งหาทางออกร่วมกัน โดย สคบ. ได้นำร่างสัญญามาตรฐานของสมาคมฯ ไปดูเป็นแนวทาง และจะผลักดันให้ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจที่ต้องมีสัญญาควบคุม จากเดิมที่การรับเหมาก่อสร้างอาจว่าจ้างโดยไม่มีสัญญาได้ ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพ เช่น การใช้เหล็กเบา การใช้คอนกรีตกำลังอัดต่ำกับส่วนที่ต้องใช้งานหนักเพื่อลดต้นทุน

ในระยะสั้นสมาคมจะเร่งให้ความรู้กับบริษัทรับสร้างบ้านโดยการจัดงานสัมมนาต่างๆ ให้บริษัทต่างๆ เกิดความเข้าใจว่า ภายใต้สถานการณ์ต้นทุนสูง จะทำอย่างไรให้งานก่อสร้างออกมามีคุณภาพดีคงเดิม และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป รวมทั้งพยายามสื่อสารกับผู้บริโภคว่า ในยุคที่สินค้าราคาแพง ยิ่งจำเป็นต้องใช้มืออาชีพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ส่วนในระยะยาวจะเน้นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับวงการก่อสร้าง และการจัดทำศูนย์ข้อมูลของธุรกิจรับสร้างบ้าน

“ในภาวะนี้รายย่อยที่ไม่ปรับตัว ก็จะค่อยๆ หายไปจากตลาด แต่รายที่จะอยู่รอดได้จะต้องเป็นรายที่ทำงานมีคุณภาพจริงๆ ลูกค้าให้ความเชื่อมั่น จึงสามารถสามารถเจรจาขอขึ้นราคากับลูกค้าได้ หรือสวมบทบาทผู้รับเหมาช่วง ที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่แข่งกับรายใหญ่ในตลาด วิธีการเลือกบริษัทรับสร้างบ้านยุคนี้ เจ้าของบ้านควรดูที่ชื่อเสียง ประสบการณ์ ผลงานหลายๆ บริษัทเปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจ” พันธุ์เทพกล่าว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us