|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติห่วงเอ็นพีแอลครึ่งปีหลังพุ่ง แรงกดดันจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สั่งเกาะติดสินเชื่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ความสามารถในการปรับตัวส่อเค้ามีปัญหา หลังเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ยอมรับกำลังจับตารายย่อยเจอปัญหาค่าครองชีพสูงกระทบความสามารถชำระคืนภาคครัวเรือนได้
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แรงกดดันคุณภาพสินทรัพย์หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา จากราคาน้ำมันแพงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำธุรกิจและการชำระคืนเงินกู้ของผู้ประกอบการได้ ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแง่การขยายตัวและปัจจัยแวดล้อม อาจกระทบต่อการขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และกดดันให้เกิดเอ็นพีแอลเพิ่มเติมได้
“แม้ในขณะนี้เอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่อยู่ในระดับ 6.8% แต่ในปัจจุบันแรงกดดันก่อให้เกิดเอ็นพีแอลมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวขนาดฐานของหนี้เสียและการปล่อยสินเชื่อว่าอันไหนจะออกมามากกว่ากันจนเกิดเป็นแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจ” นายบัณฑิตกล่าวและว่า ขณะนี้ธปท.ได้ให้น้ำหนักการติดตามการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะนอกจากเม็ดเงินที่ให้สินเชื่อมีปริมาณที่มากแล้ว ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในแต่ละรายสาขาธุรกิจก็แตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ สินเชื่อที่ให้แก่รายย่อย แม้ขณะนี้ยังมีตัวเลขไม่สูงนัก โดยในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 3.5% สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท. 4.6% แต่ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนของภาคครัวเรือนได้ จึงต้องติดตามดูต่อไปเช่นกัน
ทั้งนี้ สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพราะธนาคารพาณิชย์ได้ระมัดระวังและดูแลความเสี่ยงไม่ให้การขยายตัวของสินเชื่อก่อให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลในอนาคต ส่วนภาคธุรกิจก็เชื่อว่าสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ จึงไม่กระทบต่อหนี้เสีย
"แบงก์มีการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ดอกเบี้ยขาขึ้นจึงไม่กดดันเอ็นพีแอลในอนาคต หรือหากส่งผลก็จะไม่รุนแรงกลายเป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่อไป โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าเงินทุนใหม่ ซึ่งอย่างน้อยเชื่อว่าจะช่วยธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ขณะเดียวกันอัตราขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมที่สูงถึง 8-9% นี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่เร่งสูง ทำให้มีความต้องการวงเงินเพิ่มขึ้นด้วย” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ข่าวดี! มาสเตอร์แพลนคืบหน้า
สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้กับสถาบันการเงินไทยในปี 52-56 โดยล่าสุดคืบหน้าไปมากแล้ว หลังจากได้นำร่างและสาระสำคัญของแผนให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าในเดือนนี้จะมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน และสรุปเป็นร่างสุดท้ายนำเสนอเข้ากระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีภายในไตรมาส 4 เพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้ทันในช่วงต้นปี 52
ดังนั้น ในแผนมาสเตอร์แพลนฉบับนี้จะเน้นพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 9 ด้าน ได้แก่ 1.การลดต้นทุนของระบบที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบของทางการ 2.การลดต้นทุนของระบบที่เกิดจากหนี้เอ็นพีแอลที่ค้างอยู่ในระบบ 3.การเพิ่มขอบเขตธุรกิจที่สถาบันการเงินแต่ละประเภทสามารถทำได้ 4.การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นในรูปแบบสนับสนุนการเงินระดับย่อย (Micro Finance) ส่วนอีก 5 ประเด็นที่เหลือจะเป็นการเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งในแง่ของกฎหมายทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง ระบบข้อมูลด้านเครดิต บุคลากรของสถาบันการเงิน และด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นตัวสร้างฐานสำหรับการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
“ในช่วงที่ระหว่างทำแผนได้พบอุปสรรคต่อระบบการเงินไทยทั้งเรื่องสถาบันการเงินไทยยังมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงเกิดจากเอ็นพีแอลที่สะสมมาตั้งแต่อดีต ขนาดธุรกิจของสถาบันการเงินไม่ใหญ่พอที่จะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไม่ครบถ้วน และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนและผู้ประกอบการน้อย รวมถึงการแข่งขันที่สะท้อนระหว่างช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง”
นอกจากนี้ ธปท.ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน 2-3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารต่างชาติแต่ละแห่งจะต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น 2.สนับสนุนการควบรวมที่เน้นเป็นไปตามกลไลตลาดเป็นสำคัญ เพื่อให้ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น และ3.ส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหม่ทั้งในส่วนของสถาบันหรือหน่วยธุรกิจด้านการเงินเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือศักยภาพให้แก่ธุรกิจในระยะยาวและมีส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้วย
“ขนาดธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น นโยบายที่เรามีอยู่ต้องการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสามารถขยายธุรกิจโดยใช้การควบรวมเป็นเครื่องมือ ซึ่งสุดท้ายการตัดสินใจจะควบรวมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินขนาดเล็กก็พยายามหารูปแบบธุรกิจพิเศษมาช่วยลดต้นทุนและบริหารความเสี่ยง เพื่อให้สามารถต้านทานต่อการแข่งขันของผู้เล่นรายใหม่ได้ด้วย”
|
|
|
|
|