Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2551
"สไตรค์" สไตล์อินเดีย             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Social




สไตรค์หรือการหยุดงานประท้วงนั้นมีอยู่ในทุกประเทศ แต่การหยุดงานที่เรียกว่า "General Strike" ที่พร้อมใจกัน (สมัครใจหรือไม่อีกเรื่อง) ทุกภาคส่วนองค์กร หยุดปิด ละงาน จนร้านรวงถนนหนทางเงียบโล่งเสมือนเมืองมีปฏิวัติรัฐประหาร คงไม่มีประเทศใดทำได้จริงจัง หนักแน่น บ่อย แต่สัมฤทธิ์ผลน้อยเท่าอินเดีย

ในบ้านเราเมื่อพูดถึงการสไตรค์หรือหยุดงานประท้วง มักจะหมายถึงการนัดหยุดงานโดยกลุ่มคนหรือพนักงานของหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อประท้วง แสดงความไม่เห็นด้วย หรือตั้งข้อเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนใหญ่เมื่อหยุดหรือละงานแล้ว มักจะรวมตัวชุมนุมกันที่หน้าหน่วยงานนั้น หรือในพื้นที่สาธารณะที่มีนัยสำคัญต่อการประท้วง รวมถึงอาจมีการเดินขบวนเพื่อเพิ่มแรงกดดัน ต่ออีกฝ่าย การประท้วงลักษณะนี้เมืองไทยคุ้นเคยกันดี แม้ว่าบ่อยครั้งจะมีฝ่ายไม่เห็นด้วย และมองว่าเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่รบกวนจนถึงล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่การนัดหยุดงานทั่วไปแบบ general strike นั้น อาจถือได้ว่าไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การประท้วงของไทย หากมีก็มักเป็นผลจากเหตุจลาจลหรือเหตุการณ์ความรุนแรง อื่น เช่น กรณีเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 รวมถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ครั้งต่างๆ ซึ่งการหยุดงานหรืองดดำเนินกิจการชั่วคราวเหล่านั้น ทำเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ ทั้งปิดเป็นบางส่วนบางพื้นที่ มิใช่การปิดกราวรูดพร้อมเพรียงกัน

สำหรับประเทศอินเดีย การหยุดงานประท้วงของกลุ่มคนหรือองค์กรนั้นมีเป็นปกติ จนแทบไม่เป็นข่าว มักเรียกทับศัพท์ว่าสไตรค์ แต่การหยุดงานแบบปูพรมทุกภาคส่วนนั้น คนอินเดียเรียกสั้นง่ายได้ใจความว่า "บันด์ห" (Bandh) เป็นคำกลางที่ใช้ร่วมในหลายภาษาท้องถิ่นรวมถึงฮินดี ในความหมายทั่วไปแปลว่า "ปิด" หรือ "หยุด" เช่น ร้านปิด ปิดประตู ปิดมือถือ ท่อตัน หยุดพูด (หุบปาก) เป็นต้น เมื่อมาใช้ในความหมายของการประท้วงจะหมายถึงการหยุดงาน โดยพร้อมเพรียงชนิดที่ปิดเมือง ปิดรัฐ หรือประเทศ ขึ้นกับความสำคัญของเหตุประท้วงครั้งนั้นและความพร้อมใจของภาคส่วนต่างๆ เช่นถ้าเหตุการณ์นั้นเป็นปัญหาเฉพาะของเมืองกัลกัตตา การประท้วงจะอยู่แค่เขตเมือง และปริมณฑล เรียกว่ากัลกัตตาบันด์ห ถ้าเป็น กรณีที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งรัฐ เช่นกรณีรัฐ ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมประท้วงที่นันดีกราม ชาวรัฐเบงกอลตะวันตกร่วมใจกันประท้วงทั้งรัฐ เรียกว่า Bangla Bandh ส่วนการหยุดงานประท้วงทั้งประเทศนั้นเรียกว่า Bharat Bandh (ภารัตหรือภารต เป็นอีกคำที่ใช้เรียกอินเดีย)

ตัวอย่างการประท้วงปิดทั้งรัฐมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลกลางประกาศขึ้นราคาน้ำมัน 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลของภาวะเศรษฐกิจ ในระยะยาว หลังการประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง พรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นแนวร่วมสนับสนุนพรรครัฐบาลก็ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าการขึ้นราคาน้ำมันจะยิ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อแย่ลง พร้อมกับประกาศประท้วงแบบปิดรัฐในวันรุ่งขึ้น รัฐที่ร่วมประท้วง ได้แก่ รัฐเบงกอลตะวันตก ตริปุระ และเคราล่า ซึ่งเป็นรัฐที่พรรคฝ่ายซ้ายเป็นผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น

ในกรณีนี้รัฐเบงกอลตะวันตกมาเหนือเมฆด้วยแผนเรียกคะแนนแบบสองชั้น หนึ่ง-ประกาศหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพรรคฝ่ายซ้ายไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับนโยบายดังกล่าว สอง-ประกาศลดภาษีราคาขายปลีกน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค จากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินแทนที่จะขึ้นไปอีก 5 รูปี ก็เพิ่มขึ้นเพียง 2.88 รูปี น้ำมันดีเซลจาก 3 รูปี จึงเพิ่มขึ้นเพียง 1.62 รูปี ยิ่งไปกว่านั้น เบงกอล ตะวันตกยังเผชิญกับการประท้วงปิดรัฐแบบสองวันซ้อน การประท้วงวันแรกประกาศโดยรัฐบาลท้องถิ่นภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) ส่วนวันที่สองประกาศโดย Trinamul Congress ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพื่อประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง มามาตา บันเนอร์จี หญิงเหล็ก ผู้นำพรรคประกาศเรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงในวันที่ 6 มิถุนายน พร้อมกับท้าทาย รัฐบาลท้องถิ่นให้เลิกแสดงละครเรียกคะแนน และหากแน่จริงควรถอนการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง

ผลคือการประท้วงปิดรัฐที่เรียกกันว่า Twin Bangla Bandh หรือ Back-to-Back Bandh ในวันที่ 5-6 มิถุยายนที่ผ่านมา การปิดรัฐวันแรกถือได้ว่าปิดแบบปูพรมและเหนียว แน่นกว่าวันที่สอง นับแต่หกโมงเช้าของวันที่หก ในภาคเอกชนมีเพียงร้านขายผักสดขนาด เล็กเท่านั้นที่เปิด และเปิดอยู่จนของหมดซึ่งกินเวลาราว 2-3 ชั่วโมง ร้านค้าอีกประเภท ที่เปิดคือร้านขายยา นอกเหนือจากนั้นไม่ว่าธนาคาร ไปรษณีย์ มหาวิทยาลัย โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าของชำ แม้แต่แผงขาย หมากพลูบุหรี่และร้านชาที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนอินเดีย ล้วนปิดกันทั่วหน้า ภาคคมนาคมขนส่งก็จอดเข้าอู่เกือบสนิท เว้นแต่รถไฟและรถไฟใต้ดินในกัลกัตตาที่ยังวิ่งอยู่ แต่ตารางการเดินรถก็ระส่ำระสายกันโดยเฉพาะรถไฟหลายขบวนต้องจอดแช่อยู่ตามสถานีใหญ่ เพราะถูกพนักงานฝ่ายสนับ สนุนการสไตรค์ปิดกักการเดินรถ สำหรับสนามบินแม้ว่าเปิดทำการ แต่พนักงานหลายส่วนที่ขึ้นกับสหภาพแรงงานต่างกันไป พากัน หยุดงานร่วม 2,000 คน เป็นผลทำให้ตารางการบินวันแรกปั่นป่วน แต่ปรับตัวดีขึ้นในวันที่สองของการสไตรค์

ส่วนการประท้วงชนิดปิดประเทศหรือภารัตบันด์ห ล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ภายใต้ข้อเรียกร้องและการนำโดยพรรคภารัติยะ จานาตะหรือ BJP พรรคฝ่ายค้านที่ประท้วงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นปล่อยให้มีการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงถึง 7.57 เปอร์เซ็นต์ ในการประท้วงครั้งนั้น รัฐแต่ละรัฐให้ความร่วมมือประกาศหยุดงานในระดับต่างกันไป รัฐที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ปิดตัวอย่างเหนียวแน่น เห็นได้ชัดว่าเป็นรัฐที่พรรคฝ่ายค้านกุมอำนาจในรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ราชาสถาน มัธยประเทศ กุจราต ชัตติสการ์ห รวมทั้งอัสสัม และการ์นาตะกะ บันด์ห ใหญ่น้อยเหล่านี้ ร้อยทั้งร้อยประกาศและคุมเกมโดยพรรคการเมืองทั้งแบบพรรคเดี่ยวและพรรคแนวร่วม พร้อมกับมีบรรดาสหภาพสำคัญๆ ในพื้นที่นั้นๆ หนุนหลัง บันด์หแต่ละครั้งจะหนักแน่นและปิดสนิท แค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับฐานอำนาจที่พรรคเหล่านั้นมีอยู่ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็เป็นวิธีประกาศศักดาให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่า ฝ่ายตนกุมฐานเสียงในพื้นที่ได้เด็ดขาดหรือไม่ ซึ่ง ถือเป็นเรื่องเสี่ยงไม่ใช่น้อย เพราะหากประกาศ ไปแล้วไม่มีคนให้ความร่วมมือ ไม่มีสหภาพใดหนุนจริง ผลก็คือเสียหน้า

ในขณะเดียวกันใช่ว่าภาคส่วนต่างๆ จะเห็นดีเห็นงามไปกับการหยุดงานเหล่านี้อย่างกรณีบันด์หซ้อนในรัฐเบงกอลฯ ที่ผ่านมา ภาคเอกชนหลายแห่งล้วนแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถทัดทานกระแสเสียงส่วนใหญ่ เช่นที่สัญชัย จักราบอตี ประธานบริษัท CII ภาคพื้นตะวันออก ให้ความเห็นว่า

"เป็นเรื่องน่าเศร้า เราไม่เคยสนับสนุน บันด์ห อันที่จริงเราไม่เชื่อว่าการหยุดงานปูพรมแบบนี้เป็นวิถีทางการประท้วง บันด์หที่นำโดยพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนมีแต่จะทำให้รัฐของเราเสียชื่อในตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ" "การหยุดงานประท้วงมีแต่จะทำให้เราไร้ความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุน" รองประธานหอการค้าอินเดียให้ความเห็น "เราไม่ได้ต่อต้านพรรคการเมือง แต่การหยุด งานไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา"

แม้ว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการหยุดงานประท้วง แต่น่าสนใจว่าในวันเปิดทำการหลังการบันด์หทุกครั้งไม่เคยมีหน่วยงานใดประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หรือถ้ามีก็ไม่เป็นข่าว ซึ่งถ้าเป็นกรณีของอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่บ้านเรา ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวคงจะเป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งตามด้วยผลกระทบและความโกลาหล ที่เกิดจากการสไตรค์ ในอินเดียผู้คนแทบไม่เหลือความตื่นตกใจอีกต่อไป เมื่อมีการประกาศบันด์ห ไม่ว่าปิดเมือง รัฐ หรือประเทศ สิ่งแรกและดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่คนอินเดีย ทำเมื่อรู้ข่าว คือสำรวจว่าจำเป็นต้องซื้อหาตุนข้าวปลาอาหารอะไรหรือไม่ สำหรับคนที่ต้องเดินทางไม่ว่าด้วยรถไฟหรือเครื่องบิน หากเลื่อนตั๋วได้ก็มักเลือกที่จะเลื่อน จากนั้นก็เพียงทำตัวนิ่งๆ เหมือนมีวันหยุดแบบที่ทุกคนหยุดพร้อมหน้าพร้อมตากัน อย่าเผลอคิดว่า หยุดแล้วจะไปชอปปิ้งดูหนังหรือกินข้าวนอกบ้าน ก็เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการปิดและรับมือการปิดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนคนเดินถนนอินเดียโดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำจะเห็นด้วยกับการประท้วงเหล่านี้เสียทั้งหมด เพราะนอกจากจะไม่เห็นผลในเชิงรูปธรรมจากการหยุดงานแบบสายฟ้า แลบที่พวกเขาไม่ได้ร่วมตัดสินหรือสมัครใจ นานวันเข้าบันด์หซึ่งอย่างน้อยเคยการประท้วง แสดงความไม่เห็นด้วย ในวิถีทางอันเป็นประชาธิปไตยและอหิงสา กำลังถูกพรรค การเมืองต่างสีต่างฝ่ายนำไปใช้ประลองกำลังและต่อรองผลประโยชน์ แต่เชื่อเถอะว่า ในประเทศที่การต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์ยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งทุกระดับของประเทศจะเป็นสัญญาณเตือนชั้นดีแก่นักการเมือง ว่าเมื่อไรถึงเวลาที่ต้องเดินเกมอย่างสร้างสรรค์และใช้ความร่วมมือของประชาชนให้ถูกทาง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us