|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2551
|
|
เสน่ห์ของการนั่งทานอาหารข้างทาง นอกจากราคาถูก ร้านส่วนใหญ่ที่มีลูกค้าแน่นจนต้องแบ่งปันโต๊ะนั่งร่วมกันยังการันตีถึงรสชาติอาหารอันแสนอร่อยได้เป็นอย่างดี และบ่อยครั้ง การแชร์โต๊ะนั่งกับคนแปลกหน้ายังทำให้ได้เพื่อนใหม่ที่มี "คอ" เดียวกันเป็นของแถมที่อาจหาไม่ได้จากร้านอาหารรูปแบบ "Fine Dining" ทั่วไป ยกเว้นที่ ...ร้าน "Long Table"
โปสเตอร์โฆษณาร้าน Long Table ที่อยู่ในลิฟต์ของอาคาร Column Residence ซึ่งเป็นตึกที่ตั้งของร้านโต๊ะยาวแห่งนี้ดึงดูดสายตาหลายคู่ในลิฟต์ได้เป็นอย่างดี ด้วยภาพคุณนายซึ่งทั้งตัวประดับเพชรราวตู้เพชรเคลื่อนที่ในมือถือ ไวน์แดง นั่งทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกับคนขับรถมาดเข้ม
ด้านบนโปสเตอร์มีประโยคภาษาอังกฤษโปรยไว้ว่า "Are you ready to share?"
สำหรับอาคาร Column Residence ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 16 ลึกเพียง 50 เมตร เป็น serviced apartment เปิดใหม่ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับไฮ-เอนด์ ซึ่งลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและเกาหลี
ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิดที่ชั้น 25 แสงสีส้มสว่างกลางความมืดของผนังสีดำของร้านช่วยสะท้อนให้ลูกค้าได้เห็นภาพหนุมานที่วาดจากดินสอพอง ถัดไปเล็กน้อยมีดวงไฟจุดเล็กๆ ประดับ ไว้เป็นทิวแถวหลายสิบดวง ลูกค้าคนไทยหลายคนคาดเดาเอาเองว่า ดีไซเนอร์ตั้งใจนำเสนอความเป็นไทย โดยนำแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ตอน "หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน" อันที่จริง แผงดวงไฟเหล่านี้ดีไซเนอร์ตั้งใจจำลองมาจากทุ่งข้าวในท้องนาสีเขียวไกลสุดสายตาในต่างจังหวัด อันเป็นแนวคิดที่ต้องการเอาความเป็นไทยมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี แสงสีและความทันสมัย ถึงแม้การสื่อสารจะคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง แต่อย่างน้อยลูกค้าหลายคน ก็มองเห็นดีไซน์เหล่านี้เป็นศิลปะ
เดินเข้าไปไม่ไกลจะเจอกับเคาน์เตอร์ต้อนรับสีดำขลับ โดดเด่นด้วยอักขระภาษาไทยที่รายรอบโดยเรียงร้อยเป็นชื่อเต็มของจังหวัดกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ "กินเนสส์บุ๊ค" บันทึกไว้ว่ามีชื่อยาวที่สุดในโลก เพื่อเชื่อมโยงกับโต๊ะยาวที่อยู่กลางร้าน ซึ่งเป็นโต๊ะเดี่ยวที่มีความยาวถึง 24 เมตร โดยทีมผู้บริหารของร้านเชื่อว่า โต๊ะนี้น่าจะเป็นโต๊ะอาหารที่เป็นโต๊ะเดี่ยวที่ยาวที่สุดในโลก ณ เวลานี้
โต๊ะยาวราวกับโต๊ะโรงอาหารในโรงเรียนที่กลายเป็นกิมมิคของร้าน ตัวนี้สามารถรองรับแขกที่พร้อมจะ "โชว์ตัว" และแชร์โต๊ะร่วมกับคนอื่น ได้มากถึง 60 คนอย่างสบายๆ
"เวลาขับรถแล้วเห็นร้านอาหารข้างทางดังๆ เราจะเห็นว่าเวลาที่โต๊ะนั่งไม่พอ คนที่ไม่รู้จักกันก็นั่งทานด้วยกันได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ใช้คอนเซ็ปต์นี้มาดัดแปลงทำร้านอาหาร แต่ทำให้ดูดีขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ คุณพร้อมที่จะนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะ กับคนอื่นหรือยัง เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในบรรยากาศการทานอาหารของลูกค้าได้ด้วย"
ปวีณา เพชรบุตร เล่าที่มาของคอนเซ็ปต์ร้าน ในฐานะที่เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท Bed Management ซึ่งรับหน้าที่บริหารร้าน Long Table แห่งนี้ ทีมบริหารชุดนี้ยังบริหารงานให้แก่คลับชื่อดังอย่าง "Bed Supperclub" คลับเก๋ที่มีกิมมิคอยู่ที่การใช้เตียงแทนโต๊ะอาหารและ Cafe CPS
ร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นที่แตกไลน์มาจากแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์บริหารโรงแรมบูติกอีก 2 แห่งในจังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา ได้แก่ Hotel de la Paix และ "จินตามณี"
สำหรับลูกค้า "มือใหม่" ของร้านโต๊ะยาวที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือไม่พร้อมที่จะโชว์หรือแชร์กับคนแปลกหน้า และอาจต้องการความเป็นส่วนตัวมากหน่อย ที่ร้านแห่งนี้ก็ยังมีโต๊ะนั่งแบบเตียงโซฟาที่จำลองอารมณ์ความสบายแบบส่วนตัวมาจากศาลาไทยในโรงแรมหรูคอยให้บริการ หรือจะเลือกนั่งหลบมุมชิลๆ บริเวณหน้าบาร์ นอกจากนี้ยังมีโต๊ะนั่งในโซน outdoor ติดริมระเบียงที่เตรียมไว้ให้ลูกค้าทานอาหารแกล้มวิวกรุงเทพฯ มุมสูงในยามค่ำคืน ก็ได้บรรยากาศโรแมนติกไปอีกแบบ
แม้จะอยู่ในยุคน้ำมันแพง แต่เพื่อความทันสมัย ร้านโต๊ะยาวยอมลงทุนตกแต่งร้านด้วยอุปกรณ์และระบบแสงสีไฮเทค โดยเฉพาะจอ LED ที่ฉายภาพอวกาศเป็นกราฟิกหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนเพดานเหนือโต๊ะยาวทั้งโต๊ะ และอยู่บนพื้นสำหรับโต๊ะนั่งแบบเตียงโซฟาทุกโต๊ะ อีกทั้งยังมีแสงไฟสีแดงหน้าบาร์และไฟประดับตามแนวทางเดิน... เชื่อว่าเฉพาะค่าไฟของร้านนี้คงจะเป็นต้นทุนสูงทีเดียว
อาหารของร้านโต๊ะยาวเป็นสไตล์ไทยร่วมสมัย (บ้างก็เรียกว่า เป็น Thai Fusion) ซึ่งปรุงโดยเชฟใหญ่ชาวอเมริกัน เสิร์ฟในรูปแบบ A La Carte Menu ซึ่งระยะแรกยังมีให้เลือกเพียง 20 กว่าเมนูสำหรับมื้อค่ำ และมีเมนูพาสต้าและอาหารจานเดี่ยวเพิ่มเข้ามาสำหรับมื้อกลางวัน เพื่อให้บริการแก่พนักงานออฟฟิศแถบนั้น รวมถึงผู้พักอาศัยภายในตึก
สำหรับราคาอาหารมีตั้งแต่จานละไม่ถึง 200 บาทไปจนถึง 950 บาท ส่วนเครื่องดื่มก็มีให้เลือกหลากหลายทั้งค็อกเทล, ม็อคเทล, เบียร์, ไวน์, แชมเปญ, วิสกี้, บรั่นดี และคอนยัค เป็นต้น สนนราคาก็ตั้งแต่ 200-300 บาทขึ้นไปจนถึงหลักพัน
ด้วยคอนเซ็ปต์ร้านที่ดูสนุกสนานและแปลกใหม่ ดังนั้นหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้านโต๊ะยาวแห่งนี้ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมของเหล่า "ซีเล็บ" คนดังในหลากหลายวงการ รวมถึงดีไซเนอร์และครีเอทีฟทั้งหลาย โดยลูกค้าของร้านนี้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งบริกรที่ร้านให้การว่า นับจากเปิดร้านมาลูกค้าเต็มร้านเกือบทุกวัน โดยเฉพาะวันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ที่เรียกได้ว่า แทบจะไม่มีที่นั่งเหลือไว้แชร์ให้กับลูกค้าที่ walk-in เข้ามาเลย
เพียง 2-3 เดือนอาจจะสั้นไปที่จะใช้พิสูจน์ว่า คอนเซ็ปต์ "โต๊ะยาว" นี้ได้ผลอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงกระแส ในช่วงแรก "โต๊ะยาว" อาจเป็นกิมมิคสนุกสนานที่ใช้เรียกลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรูหราหรือร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างทาง รสชาติที่อร่อยก็ยังเป็นไม้เด็ดที่ใช้เรียกลูกค้าให้กลับมา "ตายรัง" อย่างได้ผล
|
|
|
|
|