จำโครงการแลปทอปราคาถูกที่รัฐบาลไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะหนึ่งในประเทศตั้งต้นที่ให้ความสนใจกับโครงการนี้อย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นเปรูและอุรุกวัยที่สั่งซื้อทันทีหลายพันเครื่อง ในขณะที่เอธิโอเปีย ไทย และไนจีเรีย ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นไปแล้ว
โครงการนี้มีชื่อว่า One Laptop per Children หรือ OLDP ซึ่งพยายามที่จะจัดหาคอมพิวเตอร์แบบแลปทอปราคาถูกที่เหมาะสมกับเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเรียกว่า XO laptop และออกแบบมาเป็นสีโทนเขียว โดยคอมพิวเตอร์เหล่านี้มีเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในโรงเรียนเป็นหลัก เช่นเดียวกับการนำไปใช้ตามบ้านด้วยเช่นกัน
OLDP เป็นโครงการคอมพิวเตอร์ราคาถูกที่ Nicholas Negroponte เป็นผู้นำในการสร้างคอมพิวเตอร์ราคา 100 เหรียญสหรัฐ สำหรับเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยการตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิและร่วมมือกับรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางด้านข้อมูลข่าวสารนี้โดยการทำให้เด็กๆ เข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นนั้น ดูเหมือนว่าพวกเรากำลังหลงลืมอะไรไปบางอย่างหรือเปล่า พวกเรามองข้ามโทษของการเใช้คอมพิวเตอร์ที่จะมีต่อการเรียนและพฤติกรรมของเด็กที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านหรือเปล่า
การพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลทำให้ราคาคอมพิวเตอร์ถูกลงเรื่อยๆ และได้ทำให้แต่ละครอบครัวสามารถซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เองที่บ้านได้ นั่นทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ได้มากขึ้น ปัจจุบันเด็กๆ อเมริกันอายุระหว่าง 3 ปีถึง 17 ปีจำนวนสามในสี่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มที่คอมพิวเตอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์จำเป็นของบ้านนอกเหนือจากโทรทัศน์และโทรศัพท์ งานคอมพิวเตอร์ที่จัดขึ้นตามศูนย์ประชุมแห่งชาติทั้งหลายดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้เป็นจำนวนมากในแต่ละครั้งที่จัด เช่นเดียวกับจำนวนเงินที่สะพัดในงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในขณะที่บ้านของคนชั้นกลางจำนวนมากมีคอมพิวเตอร์มากกว่าหนึ่งเครื่องแล้ว
อย่างไรก็ดี ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองยังคงมีความแตกต่างค่อนข้างมากในหมู่ครอบครัวที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างเชื้อชาติและรายได้ของครอบครัว
ข้อมูลจากการทำสำมะโนประชากรเมื่อห้าปีก่อนแสดงให้เห็นว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อปีอาศัยอยู่ในบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ เมื่อเทียบกับ 92 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขเมื่อห้าปีก่อนนั้นยังอยู่ในช่วงที่ราคาคอมพิวเตอร์ไม่ได้ถูกในระดับที่หาซื้อได้ง่ายดายเหมือนทุกวันนี้
ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยิ่งดูห่างไกลมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนาและความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจนก็ยิ่งกว้างมากขึ้น
เมื่อดูจากตัวเลขของประเทศในกลุ่มโออีซีดี (OECD) ในปีเดียวกันก็พบว่าเด็กอายุ 15 ปีโดยส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้จากบ้านตัวเอง (โดย 91 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกา) ในขณะที่มีเพียงครึ่งหนึ่งของเด็กอายุ 15 ปีที่เข้าเรียนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่บ้านในเหล่าประเทศเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก อย่างโปแลนด์ แลตเวีย และเซอร์เบีย และน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของเด็กอายุ 15 ปี ของประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้นสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากบ้านได้
ความแตกต่างของการเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า digital divide ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดมามากกว่า 15 ปีแล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐบาลรวมถึงหน่วยงานใดๆ ก็ตามพยายามถมให้ช่องว่างนี้แคบลง ยกตัวอย่างเช่น บราซิลมีแผนที่จะนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกมาให้ประชาชนใช้
ในปี 2003 ทางรัฐบาลก็ได้ประกาศแผนที่จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศพัฒนาคอมพิวเตอร์ราคาถูกขึ้นมาเพื่อให้คนบราซิลที่รายได้ระหว่าง 140 ถึง 1,400 เหรียญสหรัฐ สามารถซื้อใช้ได้ เช่นเดียวกับโครงการ One Laptop per Children หรือ OLPC ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและเป็นความหวังใหม่ของเหล่าผู้มีรายได้น้อยทั้งหลายทั่วโลก ความเสี่ยงและประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการพยายามสร้างสรรค์คอมพิวเตอร์ราคาถูกให้เด็กมีโอกาสได้ใช้มากขึ้นนั้นได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีคนกังวลเกี่ยวกับการติดโทรทัศน์งอมแงม แต่ตอนนี้พวกเขาก็กลัวว่าเด็กๆ จะมาหลงใหลกับคอมพิวเตอร์ที่พวกเขาสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้มากกว่า ผลกระทบทางกายที่ชัดเจนอันเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์อย่างยาวนาน เช่น ความปวดล้าของตา กล้ามเนื้อ หรือโรคอ้วน การใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปยังเป็นสาเหตุของการแยกตัวออกจากสังคมหรือการโดดเดี่ยวตัวเอง ถ้าเด็กใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตเท่านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมและพฤติกรรมของเด็กเหล่านั้น
รายงานเรื่อง The Effect of Computer Use on Child Outcomes ของ Ofer Malamud และ Cristian Pop-Eleches พยายามคาดการณ์ถึงผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์จากบ้านที่มีต่อเด็กในแง่การศึกษาและพฤติกรรมที่ปรากฏออกมา รายงานฉบับนี้ได้อาศัยข้อมูลจากโครงการของรัฐบาลโรมาเนีย ในปี 2005 ที่สนับสนุนการซื้อคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ที่บ้านให้กับกลุ่มเด็กๆ ที่มีฐานะยากจนซึ่งเรียกว่า Euro 200 Program โดยทางโครงการจะให้บัตรสมนาคุณจำนวน 27,000 ใบ โดยแต่ละใบมีมูลค่า 200 ยูโร ซึ่งนักเรียนที่เข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลสามารถนำไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาใช้ได้ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตามบ้านคนที่มีฐานะยากจนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการจะเพิ่มทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ในหมู่เด็กวัยเรียนให้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีบัตรสมนาคุณเพียงแค่ 27,000 ใบ ซึ่งจัดให้กับแต่ละครอบครัว โดยเรียงตามลำดับรายได้ ทำให้ผู้ศึกษาในรายงานนี้สามารถนำมาวิเคราะห์การเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากบ้านโดยเปรียบเทียบจากปัจจัยเรื่องรายได้ของครอบครัวและประเด็นอื่นๆ ได้
Ofer และ Cristian พบว่า โครงการแจกบัตรสมนาคุณนี้ได้เพิ่มจำนวนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านถึง 25 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้เหนือระดับที่จะได้รับบัตรสมนาคุณถึง 50 เปอร์เซ็นต์ การมีคอมพิวเตอร์ที่บ้านมากขึ้นย่อมส่งผลต่อการใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
คอมพิวเตอร์ถูกเปิดใช้งานนานกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าช่วงที่จะได้รับบัตรสมนาคุณประมาณหนึ่งชั่วโมงและเด็กๆ ในครอบครัวที่ได้รับบัตรสมนาคุณก็ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับบัตร
ในแง่ระยะเวลาที่ใช้งานนั้น เด็กที่ได้รับบัตรสมนาคุณจะใช้เวลาดูโทรทัศน์และทำการบ้านลดลงประมาณ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้พวกเขากลับเรียนได้เกรดลดลงและมีแนวโน้มจะเรียนต่อลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมการดื่มและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นดัชนีวัดสำคัญทางด้านพฤติกรรม
สรุปแล้ว การสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำให้สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ที่บ้านนั้นไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาและพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้
เช่นเดียวกับการที่ผู้ปกครองเองก็ไม่ได้จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษามาติดตั้งในเครื่องเพิ่มขึ้น หรือเด็กๆ เองก็ไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์ไปใช้เพื่อการศึกษามากมายแต่อย่างใด พวกเขายังพบประเด็นสำคัญว่า การมีพ่อแม่คอยควบคุมการใช้งานรวมถึงการออกกฎสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้โครงการจัดหาโน้ตบุ๊กราคาถูกให้เด็กนักเรียนไทยจะหายเงียบไปตามสายลมแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราอาศัยรายงานชิ้นนี้มานั่งวิเคราะห์ดูเราอาจจะพอเห็นภาพอนาคตจากการดำเนินนโยบายได้บ้าง
นอกจากนี้สำหรับโครงการของประเทศไทยเอง มันยังมีเรื่องการเมืองพ่วงท้ายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองเรื่องคะแนนเสียง การเมืองเรื่องผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อนอีกมากมาย คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กไทยจึงไม่ใช่เรื่องที่จำกัดวงอยู่แค่เด็ก ผู้ปกครอง และการนำเอาไปใช้เท่านั้นยังต้องวิเคราะห์มองไปถึงประเด็นทางการเมืองและวัฒนธรรมอีกมากมาย
การจัดหาคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กไทยและเด็กทั่วโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการราคาเล็กๆ สำหรับเด็กๆ เหล่านั้น
อ่านเพิ่มเติม
1. Farivar, C. (2005), "Waiting for that $100 laptop?," http://www.slate.com/id/2131201/
2. Farivar, C. (2007), "Still waiting for that $100 laptop?," http://www.slate.com/id/2174599/
3. Fisman, R. (2008), "The $100 Distraction Device,"http://www.slate.com/id/2192798/
4. Malamud, O. and Pop-Eleches, C. (2008), "The Effect of Computer Use on Child Outcomes," May 2008.
5. OLPD, http://laptop.org/en/index.shtml
|