|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2551
|
|
ข่าวพายุไซโคลนนาร์กีสที่ก่อตัวขึ้นในทะเลอันดามัน พัดขึ้นชายฝั่งที่ประเทศพม่า เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ได้สร้างความตกใจให้กับคนทั่วโลก ด้วยความเสียหายที่จัดเป็นมหันตภัยครั้งหนึ่งของโลก แหล่งข่าวระบุว่า คนตายเฉียดแสนครั้งนี้เนื่องจากถูกทั้งลมพายุและคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำ ทำให้คนตายนับแสน และจำนวนเกือบ 90% ตายด้วยการจมน้ำทำนองเดียวกับคลื่นยักษ์สึนามิ จึงมีหลายคนสงสัยว่า คลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้แตกต่างจากคลื่นยักษ์สึนามิอย่างไร
คลื่นยักษ์จากพายุหมุนแตกต่างจาก คลื่นยักษ์สึนามิอย่างไร
คลื่นยักษ์สูงเกิน 10 เมตร อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการคือ พายุหมุนที่มีกำลังรุนแรงจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล หรือจากภูเขาไฟใต้ทะเล ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอันใดก็ก่อให้เกิดมหันตภัย พัดพาทุกสิ่งทุกอย่างริมชายฝั่งให้ราบ เรียบไปได้ภายในเวลาไม่กี่นาที คร่าชีวิตคนไปได้เป็นแสนคน เช่นเดียวกัน คลื่นยักษ์ทั้งสามประการแตกต่างกันที่ลักษณะของคลื่นในช่วงที่ก่อตัวขึ้นในทะเลดังนี้
คลื่นยักษ์สึนามิ
คลื่นยักษ์สึนามิเกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกใต้ทะเล เปลือกโลกตรงนี้มักจะอยู่ในบริเวณที่มีรอยเลื่อน 2 แผ่นมุดตัวกันอยู่ เมื่อเกิดการ ไหวตัวจะยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น และคลื่นจะก่อตัวขึ้นบนผิวน้ำทะเล อันเนื่องจากแรงยกตัวและไหวตัว น้ำทะเลจะวิ่งด้วยความเร็วสูงไปทั่วทุกทิศทุกทาง และมักกระทบชายฝั่งหรือเกาะที่เปิดกว้าง ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ เมื่ออยู่ในทะเลลึก คลื่นจะสูงขึ้นเพียง เล็กน้อย แต่จะมีความสูงขยายขึ้นเป็น 10 เท่า เมื่อวิ่งใกล้ชายฝั่ง มีลักษณะเหมือนกำแพงน้ำ (sea wall) กระแทกชายฝั่งด้วยความเร็วไม่สูงนัก
ความเสียหายจากคลื่นสึนามิเกิดจากแรงกระแทกเหมือนกำแพง ซึ่งกระทำต่อชายฝั่งที่เปิดออกสู่ทะเลกว้าง ส่วนคนมักจะเสียชีวิตด้วยการจมน้ำ ภัยสึนามิเมื่อปี 2547 เกิดจากรอยเลื่อนแบบมุดตัวในทะเลอันดามัน เหนือเกาะสุมาตรา ที่มีความรุนแรงเกือบสุดสเกลคือ 9 ริกเตอร์ เกิดคลื่นสูงถึง 20 เมตร กระทบชายฝั่งหลายประเทศเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไปจนถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกา และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึงสองแสนคน ตามสถิติ คลื่นยักษ์สึนามิจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติที่มีการบันทึก มา มีสึนามิเกิดขึ้นในญี่ปุ่นถึง 195 ครั้ง และคำว่า สึนามิ ก็มาจากภาษาญี่ปุ่น
คลื่นยักษ์จากภูเขาไฟใต้น้ำ
หลายคนคงจะเคยได้ยินว่า มีภูเขาไฟ ใต้น้ำจำนวนมากพอๆ กับภูเขาไฟที่โผล่ขึ้นมา แนวภูเขาไฟก็มักจะอยู่ในบริเวณเดียวกับรอยเลื่อนรอยร้าวของแผ่นดินไหว ดังเช่น แนววงแหวนไฟ (Ring of fires) ในมหาสมุทรแปซิฟิกพาดผ่านหมู่เกาะญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำไมญี่ปุ่นจึงมีทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิบ่อยนัก ก็เพราะตั้งอยู่ในแนว Ring of fire พอดีนั่นเอง ส่วนอินโดนีเซียก็ไม่น้อยไปกว่า
แนววงแหวนไฟนี้ร้อนแรงจริงๆ มีทั้งภูเขาไฟและรอยเลื่อน ด้วยเหตุใด (ผู้เขียน) ไม่แจ้งชัดนัก เมืองไทยสามารถจะหลุดรอดปลอดภัยจากแนวอันตรายนี้ไปได้อย่างหวุดหวิด แต่จะเสมอไปหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าจับตาดู คือรอยเลื่อนในทะเลอันดามันเหนือเกาะสุมาตรา นั้น กำลังมีแรงแข็งขันขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ รอยเลื่อนนี้เองที่เป็นตัวก่อกำเนิดคลื่นสึนามิ ครั้งใหญ่ปี 2547 ได้ข่าวว่ามันกำลังเริ่มสะสม กำลังที่จะไหวตัวครั้งใหญ่ขึ้นอีก เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวการไหวตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่อินโดนีเซีย ไปบ้างแล้ว กลับมาที่ภูเขาไฟใต้น้ำ หากเกิดปะทุขึ้นมาก็จะดันน้ำทะเลให้ยกตัวขึ้นเป็นคลื่นยักษ์ได้ และวิ่งออกไปทุกทิศทุกทางเช่นเดียว กับสึนามิ
คลื่นยักษ์จากพายุหมุน หรือ storm surge
พายุหมุนมักเกิดขึ้นในทะเลเขตร้อน เมื่อมวลอากาศร้อนเหนือท้องทะเลลอยตัวขึ้นสูงจะเกิดเป็นความกดอากาศต่ำ แนวลมจากความกดอากาศสูงในบริเวณรอบๆ ไหลเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดลมพัดหมุนเหวี่ยงด้วย กำลังแรง เคลื่อนตัวขึ้นชายฝั่ง หอบเอาน้ำทะเลสูงขึ้นตามไปด้วย คลื่นยักษ์จึงเกิดขึ้นควบคู่กับลมพายุ พัดขึ้นชายฝั่งด้วยความเร็วสูง แตกต่างจากคลื่นสึนามิซึ่งมีมวลเป็นกำแพงน้ำ ความเร็วต่ำ
ความสูงของคลื่นและความรุนแรงของ storm surge ขึ้นอยู่กับขนาดของลมพายุ อาจสูงได้ถึง 20 เมตร คลื่นและลมจะหมุนไปพร้อมๆ กัน เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียว และเมื่อเคลื่อนเข้าไปในทะเลแคบๆ คลื่นจะถูกบีบเพิ่มความสูงขึ้น และเพิ่มความเร็วขึ้นเมื่อใกล้ชายฝั่ง ลักษณะของชายฝั่งก็มีส่วนเพิ่มความรุนแรงขึ้นได้
ภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้เกิดพายุหมุน รุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำและอากาศเหนือท้องทะเลสูงขึ้น การหมุนวนของกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็นเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งรวมๆ กัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ที่รุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน อันเป็นช่วงที่บริเวณศูนย์สูตรของโลกรับแสงอาทิตย์ส่องมาตรงที่สุด แรงที่สุด เกิดอุณหภูมิสะสมเหนือท้องทะเลได้มาก จึงเกิดความกดอากาศต่ำ และลมหมุนรุนแรงได้ง่ายและด้วย เหตุผลใดก็ไม่ทราบ คลื่นยักษ์ประเภทนี้มักจะชอบขึ้นฝั่งที่มีลักษณะแคบๆ แบบอ่าว ดังเช่น อ่าวเม็กซิโก อ่าวเบงกอล ไปถึงทะเล เหนือใกล้เมืองลอนดอน
ความเสียหายจาก storm surge
การที่ storm surge มักจะเกิดขึ้นในที่จำกัด บริเวณชายฝั่งที่เป็นอ่าว และอ่าวส่วน ใหญ่ก็มักจะเป็นบริเวณที่แม่น้ำใหญ่ๆ ไหลออกสู่ทะเล ซึ่งมีเมืองหลวงหรือเมืองท่าใหญ่ๆ ตั้งอยู่ มีประชากรและสิ่งก่อสร้างอยู่หนาแน่น จึงรับต่อความเสียหายได้มาก การเกิด storm surge แต่ละครั้ง แต่ละแห่งจึงเป็นหายนภัยสะเทือนขวัญไปทั่วโลก ความเสียหายที่เกิดขึ้น มักจะเป็นผลมาจากทั้งคลื่นยักษ์ ความแรงของลมพายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่มไปพร้อมๆ กัน
เฮอริเคน Katrina ที่เกิดขึ้นที่อ่าว St.Louis ใกล้เมืองนิวออร์ลีนของรัฐ Mississipi ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2005 เป็นพายุหมุนร่วมกับ storm surge เช่นเดียวกับนาร์กีส เป็นภัยพิบัติลูกหนึ่งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยประสบมา ทั้งทรัพย์สินและคนตาย เนื่องมาจากคลื่นยักษ์เสีย 90% คลื่นยักษ์และพายุหมุนอาจเกิดขึ้นในเขตเหนือขึ้นไปก็ได้ เช่นที่เกิดขึ้นใน North Sea เมื่อปี 1953 เป็นผลให้เกิดการสร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่ขึ้น ชื่อว่า Thames Barrier เพื่อปกป้องเมืองลอนดอน
พายุหมุนนาร์กีสที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีรายงานว่า ก่อตัวขึ้นกลางทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งภูเก็ตของไทยเราเพียง 70 กิโลเมตร ตอนอยู่ในทะเลนาร์กีสอาจจะพัดขึ้นชายฝั่งทิศทางใดทิศทางหนึ่งก็ได้ เดชะบุญมันเลือกพัดขึ้นไปทางอ่าวเบงกอลใกล้กับพม่า ตรงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี อันเป็นที่ตั้งของเมืองย่างกุ้ง เมืองไทยก็เลยหลุดรอดไปได้อีกครั้งอย่างเฉียดฉิว
จริงๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสถิติทั่วโลกชี้ว่ามีพายุหมุนพัดขึ้นอ่าวเบงกอลอยู่เสมอจนได้ชื่อว่าเป็น "the storm surge capital of the world" คือเป็นเมืองแห่งคลื่นยักษ์พายุหมุน ตามสถิติตั้งแต่ปี 1582-1991 หรือในช่วง 400 ปีที่ผ่านมา มีพายุหมุนพัดขึ้นชายฝั่งในบริเวณนี้ถึง 142 ครั้ง ส่วนมากจะขึ้นที่ชายฝั่งของประเทศบังกลาเทศ ก่อนหน้านี้ในปี 1994 ก็เกิดเหตุคร่าชีวิตคนบังกลาเทศไปร่วมแสนคนเช่นเดียวกัน
บันทึกประวัติศาสตร์ "เมืองไทยมิได้ปลอดภัยนัก"
หลายคนในประเทศไทยเชื่อมั่นว่า เมืองไทยจะรอดพ้นจากภัยพิบัติได้ในทุกกรณี และจะกลับมาสู่ความสงบสุขร่มเย็นเสมอ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป และเมื่อย้อนกลับไปดูบันทึกในประวัติศาสตร์ (ซึ่งบันทึกไว้โดยคนต่างชาติ) ก็ได้พบข้อมูลเล็กๆ ที่กล่าวถึงพายุไซโคลนพัดขึ้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยอยุธยา
คณะผู้แทนการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่เข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาและปัตตานี เมื่อ พ.ศ.2155 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้บันทึกเรื่องราวการประสบพายุไซโคลนที่ดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ ความว่า
"ก่อนที่จะออกเดินทางจากประเทศสยามไม่นานนัก ดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏว่าถูกพายุไซโคลน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1612 (พ.ศ.2155) "ได้เกิดพายุไซโคลนขึ้นอย่างที่ชาวบ้านผู้เฒ่า ผู้แก่ไม่เคยเห็นปรากฏมาก่อนเลย พัดจนต้นไม้ถอนรากถอนโคน และพัดเอาอนุสาวรีย์ กษัตริย์ตกลงมา อนุสาวรีย์ดังกล่าวนี้พระเจ้า แผ่นดินทรงสร้างถวายพระราชบิดาของพระองค์ ด้วยสติปัญญาความสามารถของนายเรือ เรือจึงเกือบหนีรอดพ้นได้ ถึงกระนั้น สมอเรือ 2 ตัวถูกพัดไปเสีย... พายุนี้สิ้นสุดลงใน 4 หรือ 5 ชั่วโมง และต่อจากนั้นทะเลก็ราบเรียบ ประหนึ่งว่าไม่ได้เกิดพายุขึ้นเลย"(จากเอกสารเรื่อง ตามรอยบันทึกชาวต่างชาติ จากอ่าวสยามสู่ลำน้ำเจ้าพระยา พิมพ์เผยแพร่ โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรม ศิลปากร พ.ศ.2551) ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ปากอ่าวไทยที่มีกรุงเทพฯ ตั้งอยู่นี้ก็มีความเสี่ยงต่อพายุร้ายแรง อยู่เหมือนกัน พายุไซโคลนที่กล่าวถึงในบันทึก นั้น น่าจะเกิดจากพายุหมุนในอ่าวไทยนี้เอง เช่นเดียวกับพายุเกย์ที่ชุมพร เมื่อสิบปีที่แล้ว และพายุแหลมตะลุมพุกที่นครศรีธรรมราชเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และเป็นลมพายุที่เกิด ขึ้นต่างช่วงเวลากับในทะเลอันดามัน ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน พายุหมุนใน อ่าวไทยมีโอกาสที่จะกลายเป็นพายุรุนแรงขึ้นได้ เพราะแม้ว่าอ่าวไทยจะไม่ได้เป็นอ่าวใหญ่โตนัก แต่อาจมีอุณหภูมิเหนือท้องทะเลสะสมอยู่ได้สูง ควรมีการศึกษาดู อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในบันทึกนับว่ามีนัยสำคัญที่จะเตือนให้เราเตรียมการป้องกันไว้บ้าง ยิ่งผนวก กับภาวะปรวนแปรของภูมิอากาศโลกจาก global warming ในปัจจุบัน อะไรๆ ก็อาจจะผันแปรเป็นความรุนแรงขึ้นได้เสมอ
ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยก็วางใจนักไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงทั้งภัยสึนามิ และ storm surge จากพายุหมุนในทะเลอันดามัน
ภัยพิบัติที่เกิดกับพม่าครั้งนี้ มีนัยที่เป็น สัญญาณเตือนให้เมืองไทยระวังตัวไว้บ้าง มิใช่ เพียงแต่ปลงว่าเป็นเคราะห์กรรมของประเทศ เพื่อนบ้าน และเย็นใจว่าเราจะรอดพ้นเสมอไป ข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่แสดงแนวโน้มว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่มิใช่น้อย เรามีศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้ดีขึ้น ก็จะปกป้องชีวิตคนไทยไว้ได้เป็นจำนวนมาก และป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกโข เราจะไม่เอาเหตุการณ์ในบ้านใกล้เรือน เคียงมาเป็นบทเรียนบ้างเชียวหรือ
เกร็ดความรู้
พายุหมุนที่เกิดขึ้นในท้องทะเลเขตร้อนในที่ต่างๆ เป็นพายุหมุนประเภทเดียวกัน และสามารถทำความเสียหายได้มากเช่นเดียวกัน แต่มีชื่อต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่า พายุหมุนนั้นเกิดขึ้นในทะเลแห่งใด
- เมื่อเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น (typhoon)
- เมื่อเกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อน เรียกว่า พายุเฮอริเคน (hurricane)
- เมื่อเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า พายุไซโคลน (cyclone)
- พายุไซโคลน ยังเป็นคำที่กล่าวถึงพายุหมุนโดยทั่วๆ ไป ที่ไม่ระบุสถานที่เกิด
|
|
|
|
|