สยามยูนิซิสเกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างยูนิซิสคอร์ป ยิบอินซอยมิตรซุย
และเภาสารสินโดยยูนิซิสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 51 % กล่าวคือถือผ่านยูนิซิสโอเวอร์ซี
49 % ยูนิซิสไทย (โฮลดิ้ง) 6 % ซึ่งยูนิซิสไทยโฮลดิ้งนี้ยูนิซิสโอเวอร์ซีถือหุ้น
49 % ร่วมกับยิบอินซอยซึ่งถือ 51 %
มองจากสัดส่วนนี้ก็เท่ากับว่ายูนิซิสคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของสยามยูนิซิสนั่นเอง
หลักฐานตรงนี้ยืนยันได้จากกรรมการบอร์ดที่มีคนของยูนิซิส 3 คนใน 6 คน โดยมีมัลคอล์ม
เลาน์เออร์ซึ่งทำงานอยู่กับยูนิซิสมา 13 ปีแล้วเป็นทั้งประธานและกรรมการผู้จัดการ
สยามยูนิซิสมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านชำระแล้ว 25 ล้านบาท นับเป็นยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์สหรัฐรายที่สี่ที่เข้ามาทำธุรกิจจริงจังในไทยต่อจากฮิวเล็ตแพคการ์ด
ดิจิตอล อีควิปเม้นคอร์ปและไอบีเอ็มที่เข้ามาก่อนหน้า
การเกิดของสยามยูนิซิสมีที่มาของคนสองคนคือเทียนชัย ลายลาศ แห่งยิบอินซอยซึ่งขณะนั้นเป็นตัวแทนคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเบอร์โรและมร.
เรโต บราวน์ (RETOBRAUN) ประธานบริหารยูนิซิส คอร์ปซึ่งเพิ่งผนวกกิจการบริษัทสเปอรี่
(SPERRY) เข้ากับเบอร์โรแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นยูนิซิสเมื่อปี 1986
เทียนชัย กับบราวน์พบกันที่กรุงเทพเมื่อปี 1988 ทั้งสองได้ตกลงในหลักการที่จะร่วมทุนเปิดธุรกิจคอมพิวเตอร์ในไทย
เนื่องจากเห็นว่าตลาดไทยกำลังเติบโต
ก่อนหน้านี้ยูนิซิสก็ได้ร่วมทุนกับนิฮอนคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นยริษัทในเครือมิตซุยและเป็นเอเย่นต์เบอร์โรที่ทำรายได้สูงถึง
1 ใน 4 (ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์) ของรายได้รวมของยูนิซิสในปี 1986
นอกจากนี้ในปี 1987 ยูนิซิสได้ร่วมทุนกับตาต้าคอมพิวเตอร์ (บริษัทในเครือตาต้ากรุป)
ซึ่งเป็นเอเย่นต์เบอร์โรที่มีฐานลูกค้ากว้างขวางในตลาดอินเดีย
ดังนั้นการที่ยูนิซิสร่วมทุนกับยิบอินซอนจึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขายเครือข่ายทุนและเทคโนโลยีเข้ามาในตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งยูนิซิสเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่ดีที่สุด
"เราเป็นแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่ยูนิซิสเข้ามาลงทุนร่วมหลังจากเราเป็นเอเย่นต์มานานร่วม
34 ปีก็ถือว่าสิ่งนี้เป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการขยายตลาดและชื่อเสียงยูนิซิสในไทยมากขึ้น"
เทียนชัยกล่าวถึงผลดี
ยูนิซิสเป็น 1 ใน 4 ของผู้ผลิตที่บุกเบิกเครื่อง ACCOUNTING MACHINE ซึ่งประกอบด้วยไอบีเอ็ม
ฮิวเล็ต-แพ็คการ์ดและยูนิแว็ค ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่จุดที่ยูนิซิสเสียเปรียบคู่แข่ง
เช่นไอบีเอ็มคือยูนิซิสเข้าสู่ธุรกิจ DATA PROCESSING หรือคอมพิวเตอร์ช้าเกินไปเริ่มเมื่อปี
1974 เท่านั้นเอง
ตรงนี้ก็หมายถึงข้อเสียเปรียบที่เชื่อมดยงมาสู่ตลาดในเมืองไทยด้วย ขณะที่เวลานั้นไอบีเอ็มได้ลงหลักปักฐานธุรกิจคอมพิวเตอร์ในตลาดเมืองไทยเรียบร้อยนานแล้ว
และไอบีเอ้มก็สามารถควบคุมตลาดเอกชนโดยเฉพาะสถาบันการเงินได้เป้นส่วนใหญ่สิ่งนี้ยังไม่นับเอ็นอีซี
จากญี่ปุ่นดิจิตอลอิควิปเม้นต์หรือเด็คซิ่งเพิ่งยึดตลาดค้าหุ้นไป
แล้วยูนิซิสจะมีวิธีการเจาะตลาดอย่างไร ?
เทียนชัยเล่าให้ฟังว่าสยามยูนิซิสจะมุ่งตลาดเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจการเงิน
และสายการบินขณะที่ยิบอินซอยซึ่งยังคงเป็นเอเย่นต์ยูนิวิส (ขายเครื่องเบอร์โร)
อยู่ตามเดิมก็จะมุ่งขยายฐานตลาดรัฐบาลต่อไป
มัลคอร์ม เลาเออร์กล่าวว่าการเจาะตลาดของยูนิซิสจะตั้งซัมมิทคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเอเย่นต์สเปอรี่มาก่อนและซีเอ้มแอลเป็นเดลเลอร์หรือวาร์
(VARS) บุกเจาะตลาดขายขณะที่ยิบอินซอยก็ยังคงขายในตลาดราชการ
ส่วนตัวยูนิซิสจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการสนับสนุนการขายโดยมุ่งพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
เช่น การพัฒนาซอพแวร์ภาษาไทยออกแบบระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการตลาด
ว่าไปแล้วสิ่งนี้ก็ไม่ต่างจากไอบีเอ็มที่ทำอยู่ในขณะนี้กล่าวคือ ไอบีเอ็มขายผ่านดีลเลอร์คือโปรลายน์
เอสซีทีคอมพิวเตอร์ ไมโครซิสเต็มขณะที่ตัวไอบีเอ็มเองจะเป็นกลไกพัฒนาระบบและวางระบบให้
มองในแง่นี้จึงไม่ง่ายเลยที่สยามยูนิซิสจะเจาะตลาดได้โดยง่ายถ้าไม่มีข่ายงานสายสัมพันธ์ที่ดี
จุดนี้เป็นเหตุผลที่ทำไมโครงสร้างผู้ถือหุ้นจึงต้องประกอบไปด้วยมิตซุย (10
%) และเภา สารสิน (10 %) ด้วยนอกเหนือยูนิซิสและยิบอินซอย
เทียนชัยกล่าว ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า มิตซุยมีบริษัทในเครือที่ลงทุนในเมืองไทยไม่น้อยกว่า
70 บริษัทขณะที่ "สารสิน" ก็มีบริษัทในเครือข่ายมากมาย ฐานบิษัทเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเจาะตลาดของสยามยูนิซิส
มองในแง่นี้ก็หมายถึงว่าการเกิดและโอกาสเติบโตต่อไปของสยามยูนิซิสคงหนีไม่พ้นบทบาทของคน
3 คนคือ มัลคอร์ม , เค. ยามากิชิ (คนของมิตซุย) และเภา