|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2551
|
|
ในซอยรามคำแหง 43/1 หรือซอยบดินทรเดชา-รามคำแหง อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปนับจากนี้ หลังจากที่เคยเป็นเพียงซอยทางลัดสำหรับผู้คนที่ต้องการเดินทางจากถนนรามคำแหงเพื่อมุ่งหน้าไปยังถนนลาดพร้าว ฝั่งตรงกันข้าม หรือในทางกลับกัน
เมื่อที่ดินรกร้างติดกับเชิงสะพานข้ามคลองแสนแสบในซอยรามคำแหง 43/1 กว่า 32 ไร่ ได้เปลี่ยนผ่านจากมือเจ้าของเดิมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการเปลี่ยนสภาพมาเป็น ลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง เริ่มมีผู้คนทยอยเข้าพักอาศัยจำนวนหนึ่ง และครบทั้งหมด ก่อนสิ้นปีนี้ ลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง ถือเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่มากที่สุดของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นโครงการที่ผู้บริหารยอมรับว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดระยะเวลา 19 ปีเต็มและย่างเข้าปีที่ 20 ของบริษัท
อาคารสูง 8 ชั้นสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละตึกบนพื้นที่แห่งนี้มีมากถึง 14 อาคาร มีความยาวตั้งแต่ตึกแรกจนถึงตึกสุดท้าย 1 กิโลเมตร จำนวนยูนิตหรือห้องพักที่แบ่งไล่ระดับ 25 ตารางเมตร 28 ตารางเมตร และห้องหัวมุมทุกตึกจะมีขนาด 35 ตารางเมตร รวมกันแล้ว 3,445 ห้อง
หากคำนวณคร่าวๆ ว่าจะมีผู้พักอาศัยในห้องที่ขายไปแล้วเกิน 80% อย่างน้อยห้องละ 2 คน ในพื้นที่ของเมืองคอนโดแห่งนี้จะมีผู้พักอาศัยมากถึง 7,000 คน
แนวความคิดของการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบคอนโดทาวน์ของแอล.พี.เอ็น.เน้นให้มีลักษณะของการเป็นเมืองขนาดย่อม ภายในมีที่พักอาศัยจำนวนมาก มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน และจับกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานแรกเริ่ม ผู้ที่เคยอยู่หอพัก อพาร์ตเมนต์ และอยากเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกที่มีราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนบาทจนถึง 1 ล้านต้นๆ
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ด้านหน้าของโครงการยังมีรถซูบารุสีแดง หรือที่เรียกกันว่า รถกระป๊อ ที่เคยปักหลักอยู่ที่ตรงนั้น ยังคงรอคอยเปิดให้บริการสำหรับผู้พักอาศัย เช่นเดียวกับมีการจัดรถรับส่งสำหรับลูกบ้าน ทั้งแบบรถตู้โดยสาร และรถสามล้อถีบ เพราะจากการสำรวจของเจ้าของโครงการพบว่า ลูกบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง ด้านข้างของรั้วมีประตูขนาดใหญ่ เปิดสู่สะพานข้ามคลองแสนแสบที่กรุงเทพมหานครสร้างไว้ เพื่อให้ลูกบ้านเดินข้ามไปยังท่าเรือคลองแสนแสบได้อย่างต้องการ
ระหว่างดำเนินการผู้บริหารตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านละแวกใกล้เคียง หรือแม้แต่กับผู้บริหารโรงเรียนบดินทรเดชา เพื่อทำการทาสีรั้ว ตัวอาคาร เพื่อให้ทัศนียภาพของลูกบ้านนั้นไม่หม่นหมอง ดังนั้น หากใครผ่านไปในซอยนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นรั้วสีขาวของบ้านใกล้ๆ กับโครงการยังใหม่ และดูสะอาด แตกต่างกับรั้วของบ้านที่ตั้งเลยไปอีกไม่กี่เมตร
นอกจากนี้ภายในโครงการมีร้านค้าในเครือข่ายของแอล.พี.เอ็น.ซึ่งเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้าในโครงการคอนโดมิเนียม อื่นๆ ตามมาเปิดอยู่ใต้ตึกทั้งสิ้น 48 ร้าน แบ่งเป็นทั้งร้านค้าสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมง ร้านซักรีด หรือแม้แต่ร้านอาหาร ปัจจุบันโครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 3 อาคารสุดท้าย จะทำ การส่งมอบถึงมืออยู่ผู้อาศัยภายในกลางเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
เมื่อไม่นานมานี้ แอล.พี.เอ็น.ยังริเริ่มแนวคิด "อยู่ก่อนโอน" เป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากคอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง หลังจากพบว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่นั้นบอกเลิกห้องเช่ารายเดือนของตนไปแล้ว ทำให้ แอล.พี.เอ็น.ตัดสินใจให้ผู้เข้าพักอาศัยใน 4 ตึกแรกที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว สามารถเข้าพักในตึกได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในระหว่างการผ่อนดาวน์ หรือยังไม่ครบกำหนดของการผ่อนดาวน์ ซึ่งแทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการคอนโดมิเนียมไทย
จากแนวความคิดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีคนเข้าพักในตึกกลุ่มนี้แล้ว 217 ห้อง และอยู่ในระหว่างการทยอยเข้าพักแทบทุกสัปดาห์ ขณะที่ตึกกลุ่มที่สอง เพิ่งจะเปิดให้ลูกบ้านเข้ารับโอนกรรมสิทธิ์และตรวจสภาพห้องที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
ในเร็ววันนี้จะมีลุมพินี คอนโดทาวน์เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ปัจจุบัน แอล.พี.เอ็น.อยู่ในระหว่างการก่อสร้างลุมพินี คอนโดทาวน์ รามอินทรา-หลักสี่ ริมถนนรามอินทรา ด้านข้างติดกับรามอินทราซอย 3 ประกอบไปด้วยอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 7 อาคาร รวมแล้ว 1,568 ยูนิต
นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย นอกเหนือการสร้างตึกที่อยู่อาศัย หรืออาคารชุดที่อยู่อาศัยเกิน 10 อาคาร ซึ่งคุ้นเคยในนามของการเคหะแห่งชาติ หรือที่อยู่อาศัยแบบแฟลตในยุคแรกของไทย ทั้งแฟลตปลาทอง แฟลตดินแดง หรือแม้แต่เมืองทองธานีคอนโดทาวน์แบบแอล.พี.เอ็น.เหมือนจะเป็นกลุ่มเมืองคอนโดมิเนียมยุคใหม่ที่คนยินดีจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของแบบเต็มใจ และเลือกเองมากที่สุด ที่สำคัญกำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียมของไทยได้มากที่สุดเช่นกัน
|
|
|
|
|