เหล่าเอตทัคคะประเมินความเสียหายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเสนอทางออก
ปัญหาใหญ่ในอนาคตคือการเมือง ไม่ใช่เศรษฐกิจ
Larry Lindsey : อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ และอดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจประธานาธิบดี George W. Bush
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเครื่องยนต์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ และไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ เองเท่านั้น แต่ยังเพื่อส่งเสริมการเติบโตและเสถียรภาพในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ อาจเป็นการใช้ "อำนาจแบบนุ่มนวล" ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับภาคผู้บริโภคที่เข้มแข็งซึ่งสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและเป็นสินเชื่อที่มีต้นทุนถูก จำนวนคนที่เป็นเจ้าของบ้าน จำนวนรถต่อ เจ้าของรถ และความเป็นเจ้าของสินค้าคงทนของคนอเมริกันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ขณะนี้ผู้บริโภคอเมริกันเริ่มแบกภาระหนักเกินไป ในขณะที่การเติบโตของสหรัฐฯ ก็เริ่มจำกัดลงชั่วคราว คาดว่า การประหยัดของผู้บริโภคอเมริกันจะดำเนินไปเกือบตลอดปี 2009 ซึ่งจะยิ่งทำให้การชะลอตัวของสหรัฐฯ ยืดยาวออกไป จนกระทั่งอาจจะถดถอยได้
ชาติกำลังพัฒนายังคงพึ่งพิงการเติบโตของสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะชะลอตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเติบโตสูงสุดที่ระดับ 5% หรือมากกว่านั้นมานาน 3 ปี ขณะนี้คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงเหลือเพียง 3% ก่อนที่จะกลับไปเติบโตอีกครั้งหลังจากนั้น
แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในอนาคตของสหรัฐฯ มาจากการเมือง ไม่ใช่เศรษฐกิจ นักการเมืองอเมริกันกำลังเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่างที่ช่วยทำให้โลกเจริญรุ่งเรืองมานาน 25 ปี โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ถอยหลังกลับจากการค้าเสรีเป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นพิเศษ รวมทั้งเสียงเรียกร้องให้หวนกลับไปใช้มาตรการกีดกันทางภาษี และให้เพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอยออกมาจากการรับประกันเสถียรภาพของโลก ไม่ว่าสหรัฐฯ จะประสบปัญหาใดอยู่ในปัจจุบัน แต่การเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายที่เคยสร้างชัยชนะในสงครามเย็น และทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพมานานเกือบ 2 ทศวรรษเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก
ไม่เป็นผลดีต่อรีพับลิกัน
แต่เป็นผลดีต่อเดโมแครต
Robert Reich : อดีตรัฐมนตรีแรงงานสมัย Bill Clinton และผู้ประพันธ์ Supercapitalism : The Transformation of Business, Democracy, and Everyday Life
Reich ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้ใน ครึ่งปีหลังของปีนี้ เพราะเขามองไม่เห็นว่าความต้องการ บริโภคจะเกิดมาจากที่ใด ที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ และการส่งออกก็ไม่อาจเติมเต็มช่องว่างนี้ ส่วนราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่พุ่งสูง รวมทั้งราคาบ้านที่ตกต่ำทำให้ผู้บริโภคอเมริกันเดือดร้อน รายได้เฉลี่ยที่แท้จริงของชาวอเมริกันในขณะนี้ต่ำกว่าในปี 2000 แต่หนี้ของผู้บริโภคกลับสูงขึ้น และยังไม่อาจจะใช้บ้านเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้อีกต่อไป
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกำลังลดลงหลังจากที่ออกอาการมาแล้วหลายปี นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น ชาวอเมริกันทำงานมากชั่วโมงกว่าชาวยุโรปหรือญี่ปุ่น และมีหนี้สินมาก Reich ไม่คิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรงหลังจากการถดถอยครั้งนี้
โลกไม่ได้พึ่งพิงผู้บริโภคอเมริกันเหมือนกับที่เคยเป็นมาเมื่อ 10-15 ปีก่อนอีกต่อไปแล้ว ขณะนี้ยุโรปตะวันออกและจีนมีความต้องการบริโภคภายในที่เพียงพอ อันที่จริงส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ได้กำลังถดถอย เนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซาอีกต่อไป
ราคาน้ำมันแพงยังคงเป็นตัวฉุดดึงเศรษฐกิจ แม้ว่าเราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติพลังงานครั้งล่าสุด สิ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในอนาคตอันใกล้จากวิกฤติน้ำมันแพงครั้งนี้คือการเมือง ชาวอเมริกันเกลียดการจ่ายเงินแพงๆ ในปั๊มน้ำมัน และจะโทษนักการเมือง นั่นคือข่าวร้ายสำหรับรีพับลิกันแต่เป็นข่าวดีของเดโมแครต
สภาพการณ์ต่างๆ ยังคงยากลำบาก
Robert Rubin : อดีตรัฐมนตรีคลังสมัย Clinton
และประธานคณะกรรมาธิการบริหาร Citi
เรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและซับซ้อน เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงมากว่า สภาพการณ์ต่างๆ จะยังคงยุ่งยากต่อไป ปัญหาใหญ่สุดจะเป็นเรื่องการบริโภค ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สร้างความกระทบกระเทือนผู้บริโภค และราคาบ้านยังตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยเงินออมเท่ากับศูนย์ และมีหนี้สูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดดอกเบี้ยลงอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ โดยอัตโนมัติ หลายคนเชื่อว่าตลาดสินเชื่อจะยังคงฝืดเคือง ดังนั้น กฎหมายใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งที่มีปัญหาในปัจจุบันและอาจเป็นปัญหาในอนาคต น่าจะมีส่วนช่วยได้มากกว่า Rubin คิดว่าควรให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสุขภาพในระยะยาวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น เขาเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไปได้ดีในระยะยาว หากสามารถปรับปรุงเรื่องสวัสดิการสุขภาพ พลังงาน การคลัง และการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้สหรัฐฯ สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่
ผลกระทบทางจิตวิทยามีแต่จะเลวร้ายลง
Wilbur Ross นักลงทุนมหาเศรษฐีพันล้าน
อดีตผู้อำนวยการสมาคม Turnaround Management Association และสถาบัน American Bankruptcy Institute
Ross ไม่เห็นด้วยกับ Henry Paulson รัฐมนตรีคลังที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง เพราะผู้บริโภคอเมริกันถูกสูบเงินออกไปหมดและยังหมดสิ้นกำลังใจ เขามองไม่เห็นเหตุผลว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วได้อย่างไร การตกต่ำของมูลค่าบ้านก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความมั่งคั่ง ทำให้คนรู้สึกยากจนลง ทำนองเดียวกับเมื่อราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นที่ทำให้คนรู้สึกร่ำรวยขึ้น Ross ยังมองไม่เห็นว่าตลาดบ้านจะพลิกฟื้นได้ เชื่อว่า ผลกระทบต่อจิตใจชาวอเมริกันมีแต่จะยิ่งเลวร้ายลง นักเศรษฐศาสตร์คิดว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาบ้านจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในราว 3.75-7% นั่นหมายถึงผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายลงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์
คนอเมริกันใช้บ้านเป็นเหมือนตู้ ATM ที่มีห้องนอน 5 ปีที่ผ่านมา หนี้ผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นจาก 9 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 13.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2006 เพียงปีเดียว ชาวอเมริกันกู้เงิน 350,000 ล้านดอลลาร์โดยใช้บ้านเป็นหลักประกันในการกู้แบบ home-equity loan หรือเรียกว่า second mortgage
คนอเมริกันยังออมเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับระดับรายได้ ปัญหาคือพวกเขาออมเงินน้อยเกินไปและกู้ยืมมากเกินไป มีผลการศึกษาหลายอันที่ชี้ว่า คนอเมริกันขณะนี้ซื้ออาหารโดยใช้บัตรเครดิต และใช้บัตรเครดิตแม้แต่ในร้านขายของชำหัวมุมถนน อย่างไรก็ตาม Ross ไม่คิดว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังตกต่ำครั้งใหญ่ แต่คิดว่าอยู่ในภาวะ stagflation หรือไม่เติบโตมาประมาณ 1 ปีแล้วหรือมากกว่านั้น
ก่อนจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายน จะเหลือเพียง 2 ปัญหาใหญ่ที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะสนใจ นั่นคือบ้านกับงาน ผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องจัดการกับคำถามที่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร วิธีหนึ่งที่จะทำได้คือปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ตกลง เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงในสหรัฐฯ ก็เป็นเพราะการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไป สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาลซึ่งทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะช่วยแก้ปัญหานี้ อัตราการเติบโตของการส่งออกดีกว่าการนำเข้า ส่วนการขาดดุลการค้าอยู่ที่ 7% ของเศรษฐกิจโดยรวม หากต้องการลดการขาดดุลลงครึ่งหนึ่ง สหรัฐฯ จะต้องระวังเรื่องการว่างงาน
โลกเชื่อมโยงเกี่ยวพันถึงกันมากขึ้น สหรัฐฯ จำเป็นต้องยอมให้ค่าเงินลดต่ำลงเพื่อทำให้การส่งออกแข็งแกร่ง แต่ไม่ควรจะพยายามขัดขวางการค้าเสรี เพราะจะก่อให้เกิดการถดถอยทั่วโลกอันเนื่องมาจากการที่โลกเชื่อมโยงเกี่ยวพันถึงกัน ถ้าเราเริ่มสงครามการค้า จะเกิดผลกระทบทันที จากการที่ประเทศคู่ค้าของเราอาจเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือครองอยู่หลายล้านล้านดอลลาร์ Ross เตือนว่า ถ้าใครเริ่มสงคราม คนอื่นๆ ก็จะใช้อาวุธทุกอย่างเท่าที่มีอยู่
อย่าถูกหลอกเพราะ dead-cat bounce
Mark Zandi : หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Moody's Economy.com
Zandi ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นแค่ dead-cat bounce หรือ "เด้ง" ขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้นเหมือนกับแมวที่ตายแล้ว โดยเกิดจากปัจจัยหลักคือเงินภาษีคืนที่ชาวอเมริกันจะได้รับในเดือนสองเดือนนี้ ซึ่งเป็นเงินมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าไม่มีเงินภาษีคืนดังกล่าว ชาวอเมริกันจะต้องลดการใช้จ่าย และคงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังถดถอยอยู่หรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมา 2 ใน 3 ของเงินภาษีที่คนอเมริกันได้รับคืน จะถูกใช้หมดไปภายในสิ้นปี ส่วนผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันว่า จะใช้เงินภาษีที่ได้รับคืนมาในปีนี้อย่างไร พบว่า ครั้งนี้พวกเขาจะเก็บออมมากขึ้นและจะเอาไปใช้จ่ายหนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน
แต่เงินคืนจากภาษีไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการตกต่ำของตลาดบ้าน Zandi ประเมินว่า ราคาบ้านที่ตกต่ำได้ลดความมั่งคั่งของครัวเรือนอเมริกันลง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อเจ้าของบ้าน และราคาบ้านยังคงลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ภายในต้นปีหน้าเงินที่ได้รับมาจากการคืนภาษีจะถูกใช้หมด และครัวเรือนอเมริกันจะกลับมายากจนยิ่งกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเปรียบเสมือนการขึ้นภาษี ต่างกันแต่ว่ากำไรที่ได้มาไม่ได้เข้ากระเป๋ารัฐบาลสหรัฐฯ หากแต่ไหลเข้าไปสู่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่และประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันในสหรัฐฯอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเมื่อต้นทศวรรษนี้ ครัวเรือนอเมริกันใช้จ่ายเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อซื้อน้ำมันสำหรับรถและเครื่องทำความร้อนและความเย็นภายในบ้าน แต่ขณะนี้พวกเขาต้องเสียค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของครัวเรือนในปีหน้ายังจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ ไม่ว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ที่ระดับเกือบ 4 ดอลลาร์ไปตลอดปีนี้หรือไม่ก็ตาม
การหมดเงินไปกับค่าน้ำมันและค่าอาหารมากขึ้นหมายความว่า มีเงินเหลือเพื่อจะใช้จ่ายอย่างอื่นน้อยลง ยอดขายรถจึงกำลังตกลง สายการบินต้องลดเที่ยวบินเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจต้องหันไปเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มากกว่าจะสนใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของพนักงาน ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพโดยรวมของคนอเมริกัน ราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้นทำให้ยากมากขึ้นที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงได้อีก เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ขณะนี้ธุรกิจยอมแบกภาระต้นทุนค่าพลังงานที่สูงขึ้นและยังไม่ผลักภาระไปให้ผู้บริโภคมากนัก แต่ความเสี่ยงที่ตามมาคือ อาจเป็นการบีบให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ย ไม่มีอะไรที่จะแย่ยิ่งไปกว่าการที่ราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้นและยังต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงอีกด้วย เศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทุกครั้งตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาล้วนมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงทั้งสองประการดังกล่าว
ทำไมน้ำมันแพงจึงทำให้เจ็บปวด
Bob Lutz : รองประธาน General Motors ฝ่ายพัฒนาสินค้าทั่วโลก
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อใดที่เกิดเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐฯ เมื่อนั้นจะเกิดการชะลอตัวทั่วโลก เพราะสหรัฐฯ ใช้ทรัพยากรโลกในสัดส่วนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์จากยางและอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ยอดขายวัตถุดิบเหล่านั้นก็จะลดลงตาม ผลก็คือจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านั้นลดลงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อสินค้าราคาถูกเหล่านั้นเข้าสู่สหรัฐฯ ก็จะเริ่มทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งจากฐานต้นทุนที่ต่ำ และตามปกติแล้วราคาน้ำมันเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดปฏิกิริยาเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวอย่างรุนแรง
ขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะในรัสเซียและชาติที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเกือบเท่าจีน นอกจากนี้ยังมีความต้องการซื้อสูงต่อสินค้าที่ผลิตในยุโรป แต่ความเจริญมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในยุโรป แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องถึงสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังมีจีนซึ่งขณะนี้กลายเป็นเครื่องยนต์แห่งการเติบโตขนาดใหญ่ของโลก เศรษฐกิจจีนซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและกำลังกลายเป็นชาติอุตสาหกรรม กำลังดูดซับพลังงานและทรัพยากรของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนที่ทรัพยากรเหล่านั้นมีแต่หลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯ ผลก็คือ โลกกำลังได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแต่กลับสร้างผลกระทบน้อยมากต่อส่วนอื่นๆ ของโลก
ส่วนเรื่องราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งหมด เพราะแทบทุกอย่างต้องใช้น้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก ยาง ผ้า การขนส่ง และอาหาร หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าอาหารกับน้ำมันเชื่อมโยงกัน แต่น้ำมันใช้ผลิตปุ๋ยและใช้ในเครื่องจักรการเกษตรทั้งการปลูกและการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและแปรรูป นอกจากนี้ยังใช้ในการขนส่งพืชผลไปยังตลาด และขั้นตอนสุดท้ายของการขาย คือการขนส่งจากห้องเย็นไปยังร้านค้า ไปยังห้องเย็นและไปยังบ้าน นอกจากนี้ราคาอาหารยังส่งผลกระทบกับทุกคนทั่วโลก
ทั้ง General Motors และเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยทั่วไปต่างได้รับผลกระทบจากการเติบโตที่ชะงักงันในระยะสั้นเนื่องจากราคาน้ำมันแพง โชคดีสำหรับ General Motors ที่เป็นบริษัทระดับโลก และยืนอยู่ในตำแหน่งที่ดีในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วอย่างจีน รัสเซีย อินเดียและละตินอเมริกา และในขณะที่ GM เติบโตดีในตลาดเหล่านั้นและรอเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัว GM ก็กำลังจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มทางเลือกในการแก้ปัญหาเชื้อเพลิงและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อทำให้ทุกคนลดหรือเลิกพึ่งพิงน้ำมันได้ในที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม GM จึงสนับสนุนการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลสและไม่ใช่จากพืชที่เป็นอาหารมนุษย์ และหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมมากกว่านี้ จะช่วยให้โลกลดการพึ่งพิงปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็ว
อินเทอร์เน็ตจะช่วยเรา
จากความเดือดร้อนนี้ได้หรือไม่
Marissa Mayer : กรรมการรองผู้จัดการผลิตภัณฑ์
ค้นข้อมูลและประสบการณ์ผู้ใช้ของ Google
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีหลายร้อยล้านคน มีการค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตหลายพันล้านครั้ง มีหน้าเว็บหลายหมื่นล้านหน้า เป็นตัวเลขที่มหาศาลทว่าจับต้องไม่ได้ ทำให้ยากที่จะมองเห็นขนาดที่แท้จริงของอินเทอร์เน็ตและความสามารถในการเชื่อมต่อที่ทั้งสูงและรวดเร็ว ครั้งหนึ่ง เมื่อ Mayer แวะที่ร้าน cybercafe ในสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1999 สิ่งที่เธอสังเกตเห็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของลูกค้าในร้านกาแฟที่นั่งข้างๆ คือเว็บไซต์เล็กๆ ที่เธอและเพื่อนๆ ช่วยกันสร้างขึ้นมา นั่นคือกูเกิ้ล แม้จะไม่เคยทำการตลาด แต่กูเกิ้ลก็สามารถขยายตัวไปทั่วโลก ขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้นหาใช้กูเกิ้ลในการค้นหา และมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ของกูเกิ้ลมาจากนอกสหรัฐฯ หากขณะนี้หลายส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกำลังอ่อนแอ แต่ธุรกิจของกูเกิ้ลยังคงฟื้นตัวได้ เนื่องจากการที่ที่อื่นๆ ในโลกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และยังใช้กูเกิ้ลเป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาข้อมูล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจึงหมายถึงลูกค้าที่มากขึ้นจากตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งทำให้เราได้ประโยชน์จากความหลากหลายของประเทศต่างๆ ในโลกและการที่เศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ขยายตัว มีการใช้กูเกิ้ลค้นข้อมูลในทุกๆ ที่ไม่เว้นแม้แต่ใน Antartica การเข้าถึงและการเติบโตของอินเทอร์เน็ตสนับสนุนแนวคิดที่ว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มไม่ผูกติดกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังจะแยกห่างออกจากกันมากขึ้น ตรงกันข้าม อินเทอร์เน็ตได้สร้างการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดมากขึ้นผ่านการเข้าถึงข้อมูล เครื่องมือสื่อสารที่ดีกว่า และความเข้าใจที่เกิดจากการแบ่งปันทางปัญญา
ความเจ็บปวดในวันนี้อาจนำไปสู่
การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
Steve Case : ผู้ร่วมก่อตั้ง AOL และ
ประธาน Revolution LLC
Case มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวร้ายที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผู้บริโภคไม่เพียงรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เติมน้ำมันที่ปั๊มเท่านั้น แต่ราคาน้ำมันแพงยังโจมตีผู้บริโภคอย่างหนักหน่วงในเกือบทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างอาหารและเสื้อผ้า ไปจนถึงการเดินทางโดยเครื่องบินและการเดินทางท่องเที่ยว และเป็นที่ชัดเจนว่า ราคาน้ำมันจะยังคงส่งผลกระทบกับคนมากขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้ แต่ข่าวดีคือ ประสบการณ์ที่เจ็บปวดจะทำให้เราได้รับประโยชน์ในระยะยาวในที่สุด และเราเริ่มเห็นประโยชน์นั้นบ้างแล้ว เห็นได้จากข่าวที่เกิดขึ้นทุกวัน เช่น ราคาน้ำมันแพงทำให้ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อครอบครัวต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะใช้ของทิ้งๆ ขว้างๆ น้อยลง คนอเมริกันยังกำลังอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น โดยเลือกการเดินทางที่ประหยัดน้ำมัน เช่น ขี่จักรยาน คาร์พูล และเมื่ออยู่ในบ้านก็ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น แทนที่จะซื้ออาหารที่ขนส่งมาจากที่ที่ห่างไกลออกไปหลายพันไมล์ ผู้คนก็พากันไปซื้อของที่ตลาดเกษตรกรใกล้บ้านและซื้ออาหารที่เราปลูกเองในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้เร่งลงทุนในพลังงานทางเลือก หลายคนอ้างว่าเรามาถึงจุดที่การผลิตน้ำมันถึงระดับสูงสุดแล้ว และบางคนเชื่อว่าเราใช้น้ำมันหมดไป 90% ของน้ำมันที่มีอยู่ในโลก จึงชัดเจนว่า พลังงานทางเลือกไม่ได้เป็นแค่แนวคิดชายขอบอีกต่อไป แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตเรา
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ
คือวิธีแก้ปัญหาที่แย่มาก
BillGeorge : ผู้ประพันธ์ True North และศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย Harvard Business School และอดีตประธานและ CEO Medtronic
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็น และจะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีตลาดที่เปิดมากที่สุด แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งมักจะมีฐานอยู่ในสหรัฐฯ จะยิ่งรุกขยายธุรกิจส่งออกและสร้างเครือข่ายนอกสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ในขณะที่เศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนากลับเติบโตอย่างรวดเร็ว สื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า outsourcing และมองไปในแง่ลบ อันที่จริงแล้ว การแข็งแกร่งขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างมหาศาล เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ เอง ความสำเร็จของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น General Electric, IBM, Wal-Mart, Exxon, Boeing และ Avon Products สร้างความมั่งคั่งที่ทำให้พวกเขาสามารถลงทุนได้ทั้งในและนอกสหรัฐฯ
บริษัทเหล่านี้ยังสร้างงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง คืองานที่ต้องใช้ความรู้ด้านวิศวกรรม การตลาดและไฮเทค ส่วนที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังคือคนงานในการผลิตแบบโลว์เทค ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพ และงานของพวกเขากำลังถูกเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยน แปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากพยายามจะจำกัดหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงนี้ จะเท่ากับลดความสามารถของบริษัทสหรัฐฯ ในการแข่งขันในระดับโลก และมีแต่จะยิ่งเร่งการสูญเสียงานไปให้แก่มหาอำนาจใหม่ๆ อย่างจีนและอินเดียเร็วขึ้น สหรัฐฯ จำเป็นต้องลงทุนอย่างมาก ในการให้การศึกษาแก่แรงงานที่ใช้ความรู้ และฝึกอบรมลูกจ้างใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลกได้
ถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับนี้หรือสูงกว่านี้ จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ อำนาจของประเทศผู้ผลิตพลังงานจะเพิ่มขึ้นคือ รัสเซีย ไนจีเรีย เวเนซุเอลา และประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง แต่ประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิ คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรป กลับกำลังสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งจากน้ำมันจะผลักให้หลายชาติออกห่างจากประชาธิปไตยและเข้าใกล้การเป็นเผด็จการจากศูนย์กลางมากขึ้น รวมทั้งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น เมื่อรัฐบาลต่างๆ เลือกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แทนที่จะถือเงินดอลลาร์ที่กำลังตกต่ำไว้ พวกเขากำลังมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปอีก ในเวลาเดียวกัน ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าแต่ไม่มีแหล่งพลังงานของตนเอง จะรีบเร่งหาหลักประกันด้านพลังงาน และเปลี่ยนเงินดอลลาร์ไปเป็นน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มากขึ้นอีก ผลก็คือจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นไปอีก สหรัฐฯ ควรจะรับมืออย่างไร วิธีที่แย่ที่สุดคือพยายามจะสกัดกั้นการนำเข้าโดยเพิ่มความเข้มงวดกับการค้าเสรี หรือพยายามจะควบคุมราคาพลังงานโลก ซึ่งเป็นวิธีที่จะไร้ผล ไม่ต่างไปจากการพยายามจะควบคุมค่าเงินดอลลาร์ ส่วนวิธีที่แย่ที่สุดอีกวิธีคือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันเป็น แทนที่จะทำดังนั้น สหรัฐฯ จำเป็นต้องเริ่มรุกเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ในอเมริกาเหนือเพื่อหาน้ำมันและก๊าซ ขณะเดียว กันก็จะต้องพัฒนาแหล่งพลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ต้องลดความต้องการใช้พลังงานลง ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มการส่งออกด้วยการปลดปล่อยพลังแห่งนวัตกรรมของสหรัฐฯ ออกมา
ปัญหาทุกอย่างในขณะนี้
จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกหรือไม่
Bart van Ark : หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์
The Conference Board และศาสตราจาย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย University of Groningen in the Netherlands
ผลกระทบที่เกิดกับโลกจากวิกฤติในตลาดการเงินสหรัฐฯ สร้างความวิตกว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ว่าความฝันผวนในตลาดการเงินของสหรัฐฯ ดูเหมือนบรรเทาลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลก ช่วงห่างของดอกเบี้ยลูกค้าดีกับลูกค้าเสี่ยงยังคงถ่างกว้างในสหรัฐฯ และยุโรป และหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังอ่อนแอ ถ้าดูจากสภาพคล่องในโลกที่มีอยู่อย่างมหาศาลแล้ว เพียงแค่รักษาความมั่งคั่งที่มีอยู่เอาไว้ให้ได้ยังคงเป็นวิธีคิดหลักของนักลงทุน
ความเสี่ยงอีกประการคือเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมัน โลหะและอาหารที่แพงขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการนำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามาซื้อขายกันใหม่ในกองทุนประเภท exchange-traded funds (ETF) ซึ่งทำการซื้อขายได้ทันทีคล้ายกองทุนรวม อันเป็นการสร้างสภาพคล่องใหม่ แต่ฟองสบู่เหล่านี้จะแตกหรืออย่างน้อยก็ยุบตัวลงในที่สุด และเริ่มเกิดขึ้นให้เห็นบ้างแล้ว เมื่อตอนที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปลายเดือนพฤษภาคมนั้น นักลงทุนต่างถอยออกไปและราคาก็เริ่มลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจจะยังคงสูงอยู่ โดยอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้สหรัฐฯ ต้องเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหาแหล่งพลังงานทางเลือก ซึ่งจะเป็น 2 แหล่งใหม่ของการเติบโต
ข่าวดีคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ
ไม่ได้อ่อนแอที่โครงสร้าง
John Rowe : CEO บริษัท Exelon
ซึ่งเป็น holding company ด้านสาธารณูปโภค
หากการสร้างงานในสหรัฐฯ ยังไม่เกิดขึ้น สหรัฐฯ ก็อาจเข้าสู่การถดถอยได้ แม้สหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการจัดการวิกฤติสินเชื่อ แต่วิกฤตินี้สร้างความตึงเครียดให้แก่สถาบันการเงินอเมริกัน รัฐบาลได้ใช้มาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่เครื่องมือที่เคยใช้ได้ดีในอดีตอาจไม่ได้ผลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของวัฏจักร และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้อ่อนแอที่โครงสร้าง สหรัฐฯ เคยประสบปัญหาราคาพลังงานสูงมาก่อน และการรับมือกับปัญหาดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้ายังคงสูงต่อไป ราคาถ่านหินที่ผลิตได้ในภาคตะวันออกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่านับแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการนอกสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2006 จีนเพียงประเทศเดียวผลิตไฟฟ้ามากกว่า 90 กิ๊กกะวัตต์จากถ่านหิน หรือเกือบจะเท่ากับไฟฟ้าทั้งหมดที่สหรัฐฯ ผลิตได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ความต้องการไฟฟ้านอกสหรัฐฯ นี้ผลักดันให้ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ บรรเทาลง
Jim O'Neill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Goldman Sachs
ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้ไปแล้วควรจะเริ่มเห็นผล แต่ถ้าหากยังไม่เห็นผลแสดงว่ากำลังมีปัญหา และแน่นอนว่า เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแรงลง ผู้บริโภคก็จะเริ่มอ่อนแออีกครั้ง มี 2 สิ่งที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันแพงกำลังเริ่มทำให้คนใช้น้ำมันน้อยลง ถ้าราคาน้ำมันยังแพงขึ้นต่อไป ผู้บริโภคอเมริกันจะยิ่งเจอมรสุมหนักขึ้น แต่ถ้าราคาน้ำมันลดลง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็จะช่วยผ่อนคลายได้มาก สิ่งสำคัญอีกประการ ซึ่งยังไม่มีใครเอาใจใส่ คือดุลการค้าสหรัฐฯ ดีขึ้น และเป็นไปได้ว่าจะดีขึ้นต่อไปอีก และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่หลายๆ คนตระหนัก ยิ่งกว่านั้น ยังคงมีสัญญาณดีๆ หลายอย่างสำหรับการส่งออก ตัวเลขในเดือนพฤษภาคมชี้ว่าการส่งออกของสหรัฐฯ มีอนาคตที่ดีในรอบ 3 ปี
ดูเหมือนจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าโลกจะไม่เป็นไข้หวัดใหญ่เมื่อสหรัฐฯ เป็นหวัดอีกต่อไป ซึ่งเป็นเพราะการเกิดขึ้นของ BRIC นั่นคือบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน ทั้ง 4 ประเทศรวมกันมีสัดส่วนมากกว่า 15% ของ GDP โลก เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ ส่วนสหรัฐฯ มีสัดส่วน 30% ของ GDP โลก ในทศวรรษนี้ 4 ประเทศดังกล่าวมีความต้อง การบริโภคสินค้า 1 ใน 3 ของความต้องการบริโภคทั่วโลกในทศวรรษ 1990 ทั้ง 4 ประเทศยังไม่มีความสำคัญมากนัก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขยอดขายปลีกในขณะนั้น และยังมีสัดส่วนเพียง 1% ของ GDP โลกเท่านั้น แต่ในเดือนเมษายน จีนรายงานว่า ยอดขายปลีกโตขึ้น 22% จากปีก่อน แต่หากปรับเงินเฟ้อออกแล้ว น่าจะเหลือเพียง 13.6% อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการเติบโตของยอดขายที่มากกว่าในสหรัฐฯ และน่าจะเป็นโอกาสอันดีของผู้ผลิตในสหรัฐฯ เพราะชาวจีนกำลังซื้อและซื้อ รวมทั้งอาจเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับการที่สหรัฐฯ จะสามารถลดการขาดดุลการค้ากับจีนที่มีมายาวนานได้ ผู้ส่งออกของสหรัฐฯ จึงไม่ควรพลาดโอกาสนี้
3 ปีก่อน Goldman Sachs เคยสรุปว่า การเติบโตของกลุ่ม BRIC จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงมากระหว่างปี 2005 จนถึงปี 2017-2018 และเมื่อรวมกับการขาดแคลนการลงทุนในการผลิตน้ำมัน จึงคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานใหม่ๆ ที่บ่งชี้ว่า ความต้องการใช้น้ำมันในโลกชะลอตัวลงอย่างมาก ไม่เฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นั่นก็คือผลดีประการหนึ่งที่เกิดจากราคาน้ำมันแพง O'Neill ไม่แน่ใจว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น ถึง 200 ดอลลาร์หรือไม่ เพราะเพียงแค่ 135 ดอลลาร์ เท่านั้น บรรดารัฐบาลก็นั่งไม่ติดแล้ว และทำให้ผู้กำหนดนโยบายเริ่มคิดจะจัดการกับการเก็งกำไร ความพยายามจะทำให้น้ำมันราคาลดลงนี้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มพูดถึงการทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ถ้าหากความพยายามของฝ่ายการเมืองดังกล่าวล้มเหลว และเกิดการติดขัดทางฝั่ง supply ในการป้อนน้ำมันเข้าสู่ตลาด จนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งถึง 200 ดอลลาร์จริงๆ สหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบอย่างมากในระยะใกล้ แต่ในระยะยาว ราคาน้ำมันที่สูงจะทำให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผูกพันกับโลกอย่างใกล้ชิด
Edward Gresser : นักเศรษฐศาสตร์จาก
Public Policy Institute
มีการพูดกันมากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลัง "decouple" จากเศรษฐกิจโลก อันที่จริง สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังจะ "หย่าขาด" หรือแม้กระทั่ง "แยกกันอยู่" กับส่วนอื่นๆ ของโลก เพียงแต่เรากำลังเปลี่ยน "เงื่อนไขชีวิตสมรส"ในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงช่วงปีแรกๆ ของทศวรรษนี้ อุตสาหกรรมสหรัฐฯ และชาวอเมริกันเป็นพลังของโลก การเติบโตที่รวดเร็ว ค่าเงินดอลล์ที่แข็งแกร่ง เงินออมต่ำและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดของโลก ถ้าไม่นับน้ำมัน ชาวอเมริกันซื้อสินค้าและบริการถึง 835,000 ล้านดอลลาร์จากส่วนอื่นๆ ของโลกในปี 1995 และ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2005 แต่ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเริ่มเป็นไข้หวัดใหญ่ และฤดูกาลชอปปิ้งจบลงแล้ว
การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ หากไม่นับน้ำมัน ในขณะนี้ไม่มีการเติบโตเลย และอาจจะลดลงก่อนสิ้นปีนี้ ในขณะที่คนอื่นๆ อาจคัดจมูกเมื่อเราจาม แต่พวกเขาจะไม่ติดหวัดจากสหรัฐฯ อีกต่อไป เพราะมีคนอื่นๆ มาช่วยชดเชยความซบเซาในสหรัฐฯ การนำเข้าสินค้าของจีนประเทศเดียวกระโดดขึ้นไป 296,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2005 ในขณะที่การนำเข้าของสหรัฐฯ โตขึ้น 283,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าของสหภาพยุโรปจากส่วนอื่นๆ ของโลกยังเติบโตเร็วยิ่งไปกว่า การนำเข้าของจีนและยุโรปทำให้อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นและเกาหลีมีตลาดอื่นๆ ที่จะพึ่งพิงได้ แทนที่จะต้องพึ่งแต่การเติบโตของสหรัฐฯ อย่างเดียว ดังนั้น โลกจึงพึ่งพิงสหรัฐฯ น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมาในปี 1998 หรือ 2003
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กลับพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น ในปีนี้เกษตรกร ผู้ผลิตและธุรกิจบริการของสหรัฐฯ จะส่งออกได้สูงเป็นประวัติการณ์พร้อมๆ กันคือ สินค้าเกษตรจะส่งออกได้ 100,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าจากโรงงานจะส่งออก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนธุรกิจบริการจะส่งออกได้ 500,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกเครื่องบิน ชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ไปยังอินเดีย ถั่วเหลืองและรถยนต์ไปยังจีน เครื่องมือแพทย์ไปยังบราซิล และผลิตภัณฑ์ด้านการบริการไปยังยุโรปล้วนแต่กำลังรุ่งเรือง ในขณะที่ภาคการเงิน ที่ดิน ก่อสร้างและค้าปลีกของสหรัฐฯ เองกำลังหดตัวลง แต่การส่งออกได้กลายเป็นแหล่งเดียวที่สร้างการเติบโตให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ตั้งแต่กลางปี 2000 เป็นต้นมา และเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยให้สหรัฐฯ ยังคงไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้ ในปี 2008 นี้ การส่งออกจะมีสัดส่วน 12.5% ของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และคาดว่าจะสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1796 เป็นต้นมา
โลกเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันมากกว่าที่เคยเป็นมา
Scott Evans : กรรมการบริหาร TIAA-CREF บริษัทให้บริการทางการเงินที่ไม่หวังกำไร
ในฐานะที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ เราเห็นว่าโลกมีการเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น การค้าระหว่างประเทศในขณะนี้มีขนาดใหญ่พอๆ กับ GDP ของโลก ประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกาและตะวันออกกลางกำลังมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น และพึ่งพากันและกันมากขึ้นกับโลกพัฒนาแล้วมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ในขณะที่สหรัฐฯ พึ่งพาประเทศเหล่านั้นในด้านสินค้าพื้นฐานและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประเทศเหล่านั้นก็พึ่งพาสหรัฐฯ ในด้านบริการธุรกิจที่ทันสมัยและความบันเทิง สหรัฐฯ กับส่วนอื่นๆ ของโลกจึงพึ่งพากันและกันมากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้เป็นความท้าทายที่สำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นโอกาสทางการลงทุนครั้งมโหฬาร ที่ TIAA-CREF เราเริ่มนำทรัพย์สินที่เป็นเงินบำนาญของลูกค้า 3.4 ล้านคนของเรา ไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าที่เคยทำเมื่อ 30 ปีก่อน ในขณะที่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเข้มข้นขึ้นนี้ เราจะยังคงมองหาโอกาสให้แก่ลูกค้าของเรา ในการกระจายพอร์ตการลงทุนไปทั่วโลก การที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับเศรษฐกิจโลกนี้ นักลงทุนของเราจะได้รับประโยชน์จากแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยง จากการที่เคยต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว
คนอเมริกันกำลังถูกกดดันให้ลดการบริโภค
Peter Perkins : นักยุทธศาสตร์ BCA Research
เป็นสิ่งสำคัญที่ระลึกไว้ว่า โลกกำลังชะลอตัวเกือบทุกหนแห่ง แม้กระทั่งในยุโรปและจีน แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกว่ายุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจเยอรมนียังเดินหน้าไปได้ เพราะเยอรมนีผลิตเครื่องจักรคุณภาพสูงที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน อินเดียและตะวันออกกลาง แต่อิตาลีกำลังอยู่ในภาวะถดถอยเพราะแข่งขันกับผู้ผลิตในเอเชีย และค่าเงินยูโรที่แข็งค่าส่งผลกระทบกับอิตาลี ส่วนสเปนชะลอตัวเพราะการก่อสร้างบ้านที่เคยรุ่งเรืองเปลี่ยนเป็นตกต่ำ ในขณะที่จีนเติบโตผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการกันสำรอง หวังลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจาก 11.5% เหลือ 10% เงินเฟ้อในจีนเลย 8% และรัฐบาลจีนยังคิดว่า ยังมีความร้อนแรงเกินไปในอุตสาหกรรมบางภาคจีนวิตกว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศจะอยู่ในสภาพที่มีสินค้าล้นเกินความต้องการ การชะลอตัวทั่วโลกดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ผลกระทบใดๆ ที่สหรัฐฯ อาจได้รับจากการชะลอตัวของประเทศอื่นๆ อย่างเช่นจีน ยังไม่เท่ากับวิกฤติในตลาดบ้านของสหรัฐฯ และปฏิกิริยาของผู้บริโภคอเมริกันเอง ยังไม่เห็นหลักฐานว่า สหรัฐฯ จะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีนี้ เพราะการเติบโตของรายได้ยังเชื่องช้า การจ้างงานหดตัว ราคาอาหารและพลังงานที่แพงก็กำลังกัดกินรายได้ของผู้บริโภคอเมริกัน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่มีเงินออม และความมั่งคั่งของครัวเรือนก็กำลังลดลง จนถึงขณะนี้ ผู้บริโภคอเมริกันยังไม่ได้ลดการบริโภคลงอย่างแท้จริง แต่กำลังถูกกดดันให้ต้องทำอย่างนั้น พวกเขาเคยคิดว่าไม่เป็นไรที่จะไม่ออมเงิน เมื่อตอนที่ความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากราคาบ้านที่สูงขึ้น แต่ขณะนี้คนอเมริกันกำลังคิดว่า การที่ไม่ได้ออมเงินกำลังทำให้ความมั่งคั่งของตนลดลง ในตอนแรกพวกเขาจะรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเหลือ แต่ในที่สุดพวกเขาจะปรับตัวได้และจะเริ่มออมอีกครั้ง
เงินภาษีคืนจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ได้มากนัก
Nariman Behravesh : หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์
Global Insight
การฟื้นตัวใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยเป็นผลจากเงินภาษีที่ชาวอเมริกันได้รับคืนจากรัฐบาล อาจต้องหมดไปกับการจ่ายค่าน้ำมันที่แพงขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง เงินที่รัฐบาลสหรัฐฯ คืนให้แก่ผู้บริโภคจะไปจบลงในหีบใส่เงินของรัฐบาลอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และเวเนซุเอลามากกว่าจะอยู่ในมือของธุรกิจสหรัฐฯ และทันทีที่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินภาษีคืนเดินไปจนถึงสุดทาง การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจอยู่ใกล้ระดับศูนย์หรือแม้กระทั่งติดลบเล็กน้อย ขณะนี้บริษัทที่ส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไม่ยี่หระกับสภาวะที่ใกล้ถดถอยของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้น กำลังดำเนินธุรกิจไปได้ดี เครื่องบิน สินค้าไฮเทค เคมีภัณฑ์และสินค้าวัตถุดิบอื่นๆ ของสหรัฐฯ กำลังได้รับประโยชน์จากการเติบโตที่แข็งแกร่งนอกสหรัฐฯ หากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปเป็น 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย แต่จะปรับตัวได้ ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจจะประหยัดพลังงาน และจะมีแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ๆ ทั้งแบบดั้งเดิมและพลังงานทางเลือกเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานลดลง และตลาดจะไปได้ดี อย่างไรก็ตาม ในตลาดโภคภัณฑ์ การปรับตัวอาจต้องใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากตลาดนี้ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 16 มิถุนายน 2551
|