|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2551
|
|
มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งบอกว่ากำลังจะเกิดภาวะ demand destruction ขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดในโลก
เหมือนกับที่ปรากฏการณ์เอลนิโญมักจะถูกอ้างถึงเสมอ เวลาที่มีใครอยากจะอธิบายถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกวันนี้ก็มักจะอธิบายแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยอ้างถึงแต่ปัจจัย "Chindia" (China+India) แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความเชื่อมักจะเกินความจริงเสมอ และไม่มีเรื่องไหนที่จะเห็นได้ชัดเจนมากไปกว่าเรื่องน้ำมัน
จริงอยู่ที่จีนมักเป็นผู้นำเสมอเมื่อเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยความ ต้องการบริโภคของจีนมักมีสัดส่วน 25-30% ของความต้องการบริโภคโลหะ พื้นฐานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับน้ำมันแล้ว ความจริงที่คุณอาจยังไม่รู้ก็คือ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก สหรัฐฯ ใช้น้ำมันเกือบ 25% ของผลผลิตน้ำมันทั้งหมดในโลก ในขณะที่จีน ใช้น้ำมันเพียง 9% เท่านั้น ส่วนอินเดียยิ่งห่างไกลจากการเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในตลาดโภคภัณฑ์ เพราะอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ ใดๆ ก็ตามเพียงแค่ไม่เกิน 5% ของความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเท่านั้น และเพียงแค่ 3% ของความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลก ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีสาเหตุมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความต้องการที่เคยสูงในสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่างกลับลดลง ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ลดความร้อนแรงลงแม้กระทั่งใน Chindia และเมื่อนำไปพิจารณารวมกับการที่ความต้องการใช้น้ำมันลดต่ำลงในชาติที่พัฒนาแล้ว ก็หมายความว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในปีนี้ล้วนแต่เป็นการวิ่งอยู่บนความว่างเปล่า
มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกำลังนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า demand destruction ในชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดนั่นคือ สหรัฐฯ รายงานต่างๆ ตั้งแต่การที่คนอเมริกันลดการใช้รถลงมากที่สุด และยอดขายรถ SUV ที่ตกลงฮวบฮาบ ไปจนถึงการที่สายการบิน ต่างๆ พากันลดเที่ยวบินลง ล้วนเป็นสัญญาณว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังตกอยู่ในความเครียดอย่างหนัก ขณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้จ่ายด้านน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งเป็นระดับที่เคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี 1979 และสิ่งที่เกิดหลังจากนั้นน่าสนใจมาก คือตั้งแต่ปี 1980-1983 การใช้น้ำมันได้ลดลง 10% และต้องใช้เวลาอีก 7 ปีถัดไป ปริมาณการใช้น้ำมันจึงได้กลับมาเพิ่มสูงเท่ากับระดับสูงสุดในปี 1979 อีกครั้ง ช่วงห่างของระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่แน่นอนและไม่จำเป็นต้องเป็น 7 ปี แต่สุดท้ายแล้ว นี่ย่อมแสดงว่า น้ำมันก็เป็นธุรกิจที่มีวัฏจักรขึ้นลงไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ
เมื่อนำราคาน้ำมันในปัจจุบันไปปรับกับค่าเงินเฟ้อปัจจุบันแล้วพบว่า ราคาน้ำมันได้กลับมาเพิ่มสูงในระดับเดียวกับปี 1979 เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง โดยราคาน้ำมันกลับมาพุ่งสูงถึง 900% อีกครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่อยู่ในสภาพที่ไม่อาจทนทานต่อราคาน้ำมันที่พุ่งสูงลิบลิ่วได้อีกต่อไปแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ตั้งแต่อินโดนีเซียจนถึงอินเดีย ไม่สามารถจะแบกรับภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันที่แพงลิ่วได้อีกต่อไป และไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากจะต้องผลักภาระราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไปสู่ผู้บริโภคในที่สุด ก่อนถึงปลายปี 2007 ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไม่ได้สร้างปัญหาให้แก่เศรษฐกิจโลกเลย เนื่องจากราคาที่แพงขึ้นนั้น สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในชาติกำลังพัฒนาซึ่งเศรษฐกิจกำลังเจริญรุ่งเรือง และสะท้อนถึงสถานการณ์ที่มั่นคงในสหรัฐฯ แต่ในช่วง 6 เดือนล่าสุดนี้ ราคาน้ำมันกลับทะยานขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง
เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงในแต่ละครั้งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า ล้วนเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้าน ความต้องการใช้น้ำมัน (demand) และไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณน้ำมันที่ป้อนตลาด (supply) แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ยังคงจงใจจะมองข้ามหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการเกิดภาวะ demand destruction และพยายามจะอ้างว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับการผลิตน้ำมันป้อนตลาดด้วยการอ้างถึงทฤษฎีที่เรียกว่า "peak oil" ที่ถูกอ้างกันจนเป็นแฟชั่น ทฤษฎีดังกล่าวระบุว่า โลกจะใช้น้ำมันจนเกือบหมดโลกภายช่วงระยะเวลา 300 ปี แต่ความจริงแล้ว ยังไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งชี้ว่า การผลิตน้ำมันในโลกทุกวันนี้ได้มาถึงระดับสูงสุดแล้ว และตลาดน้ำมันดิบในขณะนี้ ก็ยังคงมีน้ำมันป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซ้ำยังคาดว่าการผลิตน้ำมันจะเติบโต 1.5-2% ในปีนี้ด้วย
ถ้าเช่นนั้น เหตุใดราคาน้ำมันจึงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงนี้คำตอบ ก็คือ นี่คืออาการที่เกิดขึ้นในตลาด เมื่อตลาดกำลังจะมาถึงช่วงท้ายๆ ของ การพุ่งสูงสุดของราคาและการพุ่งขึ้นของราคาในช่วงท้ายนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานเลย การที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเป็นเพราะทุกคนต่างก็ต้องการจะมีส่วนร่วม เงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนโภคภัณฑ์ที่นำโดยน้ำมันเพียงแค่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็มากกว่าเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน ดังกล่าวตลอดทั้งปีที่แล้ว ราคาน้ำมันเพิ่งจะพุ่งพรวดขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปีที่แล้วในปีนี้เอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สม่ำเสมอมาโดยตลอดคือ 35% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้น NASDAQ ก็เคยอยู่ในสภาพที่คล้ายกับตลาดน้ำมันในเวลานี้ คือราคาพุ่ง ขึ้นอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้าที่ราคาจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในเดือนมีนาคม 2000 นอกจากนี้สัญญาณอีกอย่างคือ ขณะนี้ 6 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดเมื่อวัดจากมูลค่าตลาด คือบริษัทพลังงาน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2000 หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีก็เคยยึดครองตำแหน่งบริษัท ที่ใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาก่อน ช่วงเวลานี้ โลกดูเหมือนจะแบ่งแยกออกเป็นประเทศน้ำมันและประเทศไม่มีน้ำมัน โดยที่เศรษฐกิจของประเทศน้ำมันทุกแห่งเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อน้ำมันกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะ stagflation จากน้ำมันแพง ซึ่งหมายถึงการเกิดภาวะที่การเติบโตชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับกำลังเพิ่มขึ้น ตลอด 3 ปีที่แล้ว ประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิได้ถ่ายเท ความมั่งคั่งมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่วนราคาน้ำมันในระดับปัจจุบัน การถ่ายเทความมั่งคั่งจากประเทศผู้ซื้อน้ำมันไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การถ่ายเทความมั่งคั่งดังกล่าวมีขีดจำกัด เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า อาจเกิดภาวะ demand destruction ในชาติผู้ซื้อน้ำมันหลายชาติ ซึ่งจะทำให้การใช้น้ำมันลดลงในเวลาต่อไป และคงอีกไม่นานที่ความหมายของคำว่า "peak oil" จะเปลี่ยนไป โดยหมายถึงการที่ทั้งราคาน้ำมันและความต้องการใช้น้ำมันจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด ก่อนที่จะตกลงมาตามวัฏจักรปกติของธุรกิจ และจะไม่ได้หมายถึง ความกลัวว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลกอีกต่อไป
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 9 มิถุนายน 2551
|
|
|
|
|