เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว "ผมรู้สึกว่าตัวเองเคยเป็นเด็กที่สุดเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่อย่างไทยเสรีห้องเย็น
ตอนนั้นธุรกิจห้องเย็นยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจกันมากนัก มาตอนนี้พอธุรกิจห้องเย็นขยายตัว
ตอนนี้ผมรู้สึกจะแก่ที่สุด" ยง อารี เจริญเลิศ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเจ้าพระยาห้องเย็นซึ่งคลุกมานานกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ยงเริ่มต้นเข้ามารับผิดชอบธุรกิจของบริษัท เจ้าพระยาห้องเย็น จำกัดตั้งแต่มีคนทำงานกันเพียง
3-4 คน คือตัวเขาเอง คนขับและเสมียนอีกหนึ่งคนร่วมกันดูแลโรงงานเจ้าพระยาห้องเย็น
สมัยนั้น ยงเล่าว่าชอบไว้ผมยาว ใส่รองเท้าแตะไปติดต่อแบงก์ มีปัญหาเรื่องเช็คเพราะยังไม่ค่อยคุ้นเคย
ผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่า "เอากลับไปให้พ่อเซ็นชื่อก็ใช้ได้แล้ว" พอยงหยิบปากกาเซ็นชื่อเอง
ทุกคนเลยงง "คงไม่มีใครอยากเชื่อว่าหน้าเด็ก ๆ แต่งตัวโทรม ๆ จะเซ็นเช็คได้"
จนขณะนี้เขาได้พัฒนาธุรกิจของครอบครัวขึ้นมาโดยมีบริษัท ปากพนังห้องเย็นเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม
ยงเริ่มต้นชีวิตบนถนนของธุรกิจห้องเย็นตั้งแต่ปี 2516 หลังจากที่ก่อตั้งบริษัท
เจ้าพระยาห้องเย็น จำกัดเป็นแห่งแรกในปี 2515 มีโรงงานตั้งอยู่ในกรุงเทพ
ต่อมาก็ตั้งบริษัทโอคินอสห้องเย็น จำกัด โรงงานอยู่ที่สมุทรปราการ ตามมาด้วย
บริษัททักษิณสมุทรห้องเย็น จำกัด อยู่ที่สงขลา กระทั่งปี 2527 ก็ได้ก่อตั้งบริษัท
ปากพนังห้องเย็น จำกัด
"ปากพนังห้องเย็น" เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมห้องเย็นเช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มอีก
3 แห่ง คือผลิตอาหารแช่แข็ง ได้แก่ กุ้ง ปู และปลาหมึก ซึ่งจะส่งออก 100
% โดยปากพนังห้องเย็นเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
ยง อดีตนายกสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงสาเหตุที่ตั้งบริษัทในลักษณะเดียวกันถึง
47 แห่ง เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบกระจายอยู่หลายแห่ง
"อย่างที่เริ่มต้นตั้งโรงงานที่สงขลาประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพราะอาหารทะเลจะส่งจากสงขลาโดยทางรถ
ใช้เวลาเดินทาง 17-18 ชั่วโมง ทำให้น้ำหนักหายไป จากหนึ่งกิโลจะเหลือ 9 ขีด
และทำให้อาหารไม่สด" ยงกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายการตั้งโรงงานไปตามแหล่งวัตถุดิบ
สมมุติเราซื้ออาหารทะเลมากิโลกรัมละ 40 บาท ค่าขนส่งสงขลา-กรุงเทพตกกิโลกรัมละ
2 บาท รวม 42 บาท พอแกะเปลือกลอกหนังแล้วจะเหลือน้ำหนักจริง ๆ ครึ่งกิโล
ถ้าจะให้ได้เนื้อหนึ่งกิโลก็ตก 84 บาท ขณะที่การเลี้ยงกุ้งขยายตัวมากโดยเฉพาะทางภาคใต้
ถ้าน้ำหนักกุ้งหายไป 10 % แล้วกุ้งกิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าหายไป 10 บาทลองคิดดูขายกันเป็นหมื่น
ๆ ตันจะหายไปขนาดไหน ยงยกตัวอย่าง
ยงสะท้อนถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าสัก 20 ปีก่อน คนให้ความสนใจธุรกิจด้านนี้น้อย
ผู้ค้าที่จะยิ่งใหญ่จะต้องค้าข้าว ค้าไม้ช่วงนั้นทำงานกันแค่ครึ่งวัน บ่ายคนงานก็ว่างกันแล้ว
ใครมีเครื่องคิดเลขสักเครื่องก็ถือว่าสมัยใหม่มาก ตอนที่เจ้าพระยาห้องเย็นลงทุนแค่
5 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเป็นตอนนี้จะลงทุนห้องเย็นจะต้องลงทุนอย่างต่ำ ๆ ก็ร้อยล้านขึ้นไป
ตลาดห้องเย็นเริ่มเปลี่ยนแปลงเห็นชัดเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นให้ความสนใจพวกอาหารแช่แข็ง
รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญในการถนอมสุขภาพมากขึ้น
ไม่ต้องการใส่ของปนปลอมในอาหารแช่แข็งขยายตัวได้อีกมหาศาล
โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นชาติที่พิถีพิถันอาหารที่เขารับประทานจะละเอียด ดูสวยงามแต่ต้องไม่มีสิ่งปลอมปน
ตลาดญี่ปุ่นจะเป็นตลาดที่น่าสนใจมากที่สุด ญี่ปุ่นซื้ออาหารทะเลจากเมืองไทยเกือบ
50 % แต่โดยภาพทั่วไปแล้วคนจะรู้สึกว่าญี่ปุ่นเอาเปรียบคนอื่น แต่ใครที่ญี่ปุ่นยอมค้าด้วยแล้ว
ซึ่งแสดงว่าสินค้าของคนนั้นจะต้องมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ จะได้รับความสะดวกที่สุดและเขาไม่โกงเรา
ญี่ปุ่นต้องการสินค้าคุณภาพดี แม้จะมีราคาสูง เขาก็พร้อมที่จะจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาตลาดอาหารแช่แข็งให้กับเราได้ทำให้เราสามารถพัฒนาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น
ยง ซึ่งเคยเป็นคนหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(สอท.) เป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของผู้ประกอบการเลี้ยงกุลาดำ
อาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาสูงและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาชาวประมงได้เปรียบเทียบความต่างของตลาดญี่ปุ่น
สหรัฐและยุโรปว่า
ถ้าเรียงลำดับความสนใจของตลาดเหล่านี้ญี่ปุ่นจะมาอันดับหนึ่ง สหรัฐมาที่สองส่วนยุโรปจะมาสุดท้าย
ทั้งด้านคุณภาพและราคา
"ญี่ปุ่นจะจู้จี้ในเรื่องคุณภาพ แต่พร้อมที่จะสู้ราคาและถือได้ว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดอาหารแช่แข็งที่ใหญ่
อาหารที่ญี่ปุ่นซื้อเขาต้องการสีสัน เขาจะเข้มงวดมากกว่าสินค้าทุกลอตทุกชิ้นสีจะต้องเหมือนกัน
ขณะที่สหรัฐเข้มงวดเรื่องคุณภาพเหมือนกัน แต่จะไม่เน้นมากเหมือนญี่ปุ่นว่าสีจะต้องเหมือนกันเป๊ะ"
สำหรับตลาดยุโรปเป็นตลาดที่ไม่ต้องการคุณภาพดีนัก ราคาก็ต่ำเนื่องจากวัฒนธรรมในการบริโภคต่างกับญี่ปุ่น
"อีกสาเหตุหนึ่งก็คือมักจะมีนายหน้าของประเทศในยุโรปไปเสนอภาพให้เห็นว่าเรามี
OVER SUPPLY ทำให้ราคาตก เราขายกันอยู่ตันละพันกว่าเหรียญ เขาก็ไปขาย 950-970
เหรียญ เป็นต้น ด้วยการทำให้น้ำหนักขาดหายไป"
"ผมคิดว่า ผู้ซื้ออย่างนี้ ไม่เป็นการช่วยพัฒนาผลผลิตและตลาด"
ยงสะท้อนถึงปัญหาตลาดยุโรปที่ยังไม่น่าสนใจมากเท่าที่ควรในขณะนี้แต่สำหรับอนาคตอีก
10-20 ปีข้างหน้า คงจะมีหารพัฒนามากขึ้น
ด้วยความคิดที่เห็นถึงปัญหานี้ ในการเจาะตลาดต่างประเทศของกลุ่มปากพนังห้องเย็นจึงไม่มีนายหน้า
แต่จะติดต่อด้วยตัวเองทั้งในสหรัฐและญี่ปุ่น "ส่วนยุโรปนั้นมีอยู่บ้าง"
เพราะยังเป็นตลาดเล็กการที่จะค้าด้วยระบบ TRADING HOUSE ค้าอย่างเดียวก็ไม่คุ้มกับการลงทุน
ดังที่ยงกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า เมื่อก่อนค้าแค่ 3-4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
แต่เดี๋ยวนี้ต้องทำงานกันถึงกลางคืน เพราะช่วงติดต่อค้าขายกับสหรัฐ ก็ต้องราว
2 ทุ่มตามเวลาในบ้านเรา ซึ่งก็หมายความว่าบริษัทสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น
การที่กลุ่มปากพนังห้องเย็นได้กระจายแหล่งวัตถุดิบถึง 4 แห่ง ไม่เพียงแต่สามารถลดต้นทุนการผลิต
แต่ช่วยทำให้อาหารทะเลสดได้คุณภาพดีกว่าหลายเท่า และยังช่วยให้การบริหารคล่องตัวด้วย
ยงกล่าวว่าแม้จะมีแหล่งวัตถุดิบอยู่ 4 แห่ง แต่ทั่งหมดจะมีศูนย์กลางการบริหารที่กรุงเทพ
ก็คือสำนักงานของเจ้าพระยาห้องเย็นตรงถนนจันทร์เหมือนเดิม แต่ดำเนินการในชื่อของปากพนังห้องเย็น
เมื่อบริษัทได้ขยายตัวมาถึงจุดหนึ่ง ขณะที่ยังมีโครงการขยายงานของบริษัทอีกหลายโครงการ
จึงจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้าง โดยใช้ปากพนังห้องเย็นเป็นเรือธงในการส่งออก
เพื่อยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ ซึ่งได้รับอนุมัติไปแล้วเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว
โดยในปีที่แล้ว ปากพนังห้องเย็นได้เข้าซื้อกิจการในเครือทั้งหมด ด้วยการซื้อหุ้นของกิจการ
99 % เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของกลุ่มทั้งหมดได้แก่
ปลาหมึกคิดเป็น 50 % ที่ส่งออก กุ้ง 30 % หอย 10 % ส่วนที่เหลือก็เป็นปลา
นอกจากการส่งออกในรูปของแช่แข็งแล้ว บริษัทยังจะขยายไปในรูปของอาหารทะเลกึ่งสำเร็จรูปพร้อมกันไป
การที่เขาใช้สูตรรวม 4ให้เป็น 1 เพื่อให้ปากพนังห้องเย็นเป็นศูนย์ส่งออกอาหารทะเลของกลุ่ม
ทั้งที่เจ้าพระยาห้องเย็นก่อตั้งก่อนและเป็นที่รู้จักมากกว่า และยงเองในสมัยที่เป็นนายกสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำก็เป็นในนามของเจ้าพระยาห้องเย็นนั้นมีที่มาหลายสาเหตุ
เริ่มตั้งแต่ชื่อเจ้าพระยาห้องเย็น ยงกล่าวว่า เนื่องจากมีบริษัทอื่นที่ใช้ชื่อว่า
"ห้องเย็นเจ้าพระยา" เขารับฝากสินค้า ออฟฟิศก็อยู่ใกล้ ๆ กันก็เกรงว่าคนจะสับสนคิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน
ที่สำคัญ ปากพนังห้องเย็นเป็นบริษัทที่โดดเด่นกว่าบริษัทอื่นในกลุ่ม เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของบริษัท
อยู่ที่ อ.ปากพนัง ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์หลักของธุรกิจ และในระยะหลัง 3-4
ปีที่ผ่านมาการส่งออก จะส่งออกในชื่อของปากพนังห้องเย็นมาตลอด
ขณะเดียวกันการส่งออกไปบางประเทศ เช่น สหรัฐ อาหารทะเลแช่แข็งที่ไปจากกลุ่มปากพนังผ่านการตรวจสอบของ
F.D.A. เป็นการยอมรับคุณภาพสินค้าแล้ว เมื่อไหร่ที่เป็นสินค้าของปากพนังห้องเย็นจึงไม่ต้องแกะกล่องตรวจทุกลอตทำให้สะดวกในการขนส่งและประหยัดเวลามากขึ้น
นอกจากนี้ ปากพนังห้องเย็นเป็นบริษัทที่มีผลกำไรดีกว่าบริษัทอื่น ๆ จากยอดขายประมาณ
1,200 ล้านบาทในปี 2530 กำไรเพียงไม่กี่สิบล้านได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,600
ล้านบาทในปี 2532 และมีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 230 ล้านบาท
หลังจากที่ได้ปรับโครงสร้างโดยรวมเป็น 4 เป็นหนึ่ง เพื่อส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไปยังต่างประเทศแล้ว
ปากพนังห้องเย็นยังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือในการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย
ยงกล่าวถึงแผนงานว่า จะตั้ง OPARETION ที่นั่น เนื่องจากเขามีกุ้งเยอะมากกุ้งกุลาดำมี
2 ประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบใหญ่ คือไทยกับอินโดนีเซีย "แต่อินโดนีเซียช้ากว่าเราหน่อย"
ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นหลักประกันในการผลิตให้กับเราด้านแรงงานก็ถูกกว่าค่าขนส่งก็พอ
ๆ กับไทยถ้าจะส่งไปยังตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป นอกจากนี้ปากพนังห้องเย็นยังมีแผนที่จะขยายงานไปในธุรกิจต่อเนื่อง
ซึ่งยงเชื่อว่าการปรับโครงสร้างใหม่ดังกล่าวจะทำให้ปากพนังเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการแข่งขันกับตลาดนอก