วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณลาออกจากธนาคารกสิกรไทยตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สาเหตุที่ไม่เปิดเผยแต่รับรู้กันว่าเป็นเรื่องของคนเป็นไม่ได้ทำ
คนทำไม่เป็น เมื่อผู้บริหารของกสิกรไทยย้ายคนจากฝ่ายอื่นมานั่งในระดับเดียวกัน
เพื่อรอคิวขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโดยไม่สนใจว่าคนที่บุกเบิกปลุกปั้นฝ่ายคอมพิวเตอร์ของกสิกรขึ้นมากับมือเมื่อสิยปีที่แล้วอย่างเธอจะรู้สึกอย่างไร
เมื่อคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดชทาบทามให้ไปช่วยสร้างระบบคอมพิวเตอร์ของสยามกลการจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจ
เธอบอกว่างานแบงก์นั้นอยู่ตัวอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับงานใหม่ที่สยามกลการย่อมเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและท้าทายกว่ามาก
เธอกล่าวตามมารยาท
ภาระกิจของวิลาวรรณในฐานะผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศของสยามกลการคือ
การสร้างระบบข้อมูลเพื่อการบริหารโดยใช้คอมพิวเตอร์หรือ MIS (MANAGEMENT
INFORMATION SYSTEM) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เป็นงานที่ใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นเกือบจะเป็นศูนย์เพราะระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่เดิมของสยามกลการนั้นใช้เฉพาะการลงบัญชีเท่านั้น
จากงบลงทุนที่ประมาณกันไว้ 500 ล้านบาท MIS ของสยามกลการจะปฏิวัตรการทำงานให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดตั้งแต่ระบบข้อมูลภายในอย่างเช่น
ระบบบัญชี การบริหาร งานบุคคล และระบบการตลาด บริการเช่าซื้อ รวมทั้งระบบการผลิตในโรงงานประกอบรถด้วย
"เราจะทำเฉพาะธุรกิจรถยนต์ รถบรรทุกก่อน" วิลาวรรณพูดถึงเป้าหมายเฉพาะหน้าซึ่งไม่ได้รวมเอากิจการมอเตอร์ไซด์และเครื่องดนตรีด้วย
ด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเมนเฟรมรุ่น 3090 ของไอบีเอ็มซึ่งเป็นรุ่นที่ธนาคารใหญ่
ๆ ใช้ในการออนไลท์สาขาทั่วประเทศสยามกลการกำลัง สร้างเครือข่ายข้อมูลระหว่าง
สาขาศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายอะไหล่ทั่วประเทศให้เป็น COUN TRY NETWORK
COUN TRY NETWORK นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขายและบริการ ตั้งแต่เรื่องของการจองรถไปจนถึงการซ่อมแซม
ข้อมูลการจองรถของลูกค้าจะถูกส่งเข้าไปที่ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงงานเพื่อวางแผนในเรื่องการจัดซื้อวัสดุการผลิตทันที
โดยไม่ต้องผ่านระบบเอกสารที่ต้องใช้เวลามาก
ในด้านการขายหากสาขาใดไม่มีรถรุ่น ขนาดหรือสีที่ลูกค้าต้องการ ก็สามารถติดต่อผ่านคอมพิวเตอร์มาที่กรุงเทพให้เช็คผ่านเครือข่ายว่ามีสาขาอื่นที่ใกล้เคียงที่ไหนบ้างมีรถแบบที่ลูกค้าต้องการ
เพื่อส่งรถไปสาขาที่ต้องการ แทนที่จะส่งคำสั่งซื้อมาที่กรุงเทพเพื่อให้ส่งรถไปให้ซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สยามกลการมีสาขาทั่วประเทศรวมกันหนึ่งร้อยกว่าสาขาอยู่ในกรุงเทพ 22 แห่ง
ต่างจังหวัดอีกประมาณ 80 สาขา
แนวความคิดเดียวกันนี้จะนำไปใช้กับการสร้างเครือข่ายข้อมูล ระหว่างตัวแทนจำหน่ายอะไหล่ทั่วประเทศเพื่อประสิทธิภาพในการจัดส่ง
และสต็อคอะไหล่ จาก COUN TRY NETWORK นี้ข้อมูลของรถนิสสันทุกคันที่ขายออกไปให้ลูกค้า
จะถูกป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ศูนย์บริการของสยามกลการที่มีอยู่ประมาณ
40 แห่งทั่วประเทศสามารถเรียกข้อมูลประวัตรรถทุกคันที่เข้ามาใช้บริการได้ในทันที
"ลูกค้าจะนำรถไปซ่อมที่อู่นิสสันไหนก็ได้" วิลาวรรณพูดถึงประโยชน์จากเครือข่ายนี้ซึ่งนอกจากศูนย์บริการจะมีประวัตรรถทุกคันแล้ว
ยังใช้คำแนะนำในเชิงวิศวกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการซ่อมรถในกรณีพิเศษได้จากระบบนี้ด้วย
แนวความคิดในเรื่อง COUN TRY NETWORK นี้คือสิ่งที่เครือซีเมนต์ไทยกำลังทำอยู่ด้วยการสร้างเครือข่ายข้อมูลเชื่อมกับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศเพื่อประสิทธิภาพทางการตลาด
แต่ในอุตสาหกรรมรถยนต์แล้วสยามกลการเป็นรายแรกที่คิดในเรื่องนี้
จะพูดว่า COUN TRY NETWORK นี้เป็นอาวุธสำคัญของสยามกลการ ในการให้บริการเพื่อสู้กับคู่แข่งในตลาดรถยนต์ก็ไม่ผิด
ขณะนี้สยามกลการใช้ทีมงานฝ่ายคอมพิวเตอร์ของสยามกลการประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นวิศวกรเสียส่วนใหญ่รวมกับคนของไอบีเอ็มกำลังเร่งทดสอบพัฒนาระบบให้สมบูรณ์
เพื่อให้ใช้ได้ภายในปีหน้าพร้อมกับการทดสอบระบบการสื่อสาร DATANET อันเป็นระบบที่สามารถส่งทั้งเสียงและข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ที่ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษไว้ซึ่งทักษิณ
ชินวัตรได้สัมปทานนี้จากองค์การโทรศัพท์
วิลาวรรณบอกว่า ถ้าใช้งานได้ดีก็จะใช้ DATANET ในกรุงเทพ ส่วนในต่างจังหวัดนั้นกำลังเจรจากับการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพื่อขอใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม
"อีกส่วนหนึ่งที่เป็นงานใหญ่ของเราคือระบบโรงงาน" เธอพูดถึงองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ
MIS
การประกอบรถยนต์หนึ่งคันนั้นต้องใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถึง 4,000 กว่าชิ้นการวางแผนการจัดซื้อและสำรองวัสดุจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อสายการผลิตที่ทำการผลิต
อย่างต่อเนื่อง
"ทำอย่างไรถึงจะมีชิ้นส่วนพอใช้ เพราะถ้าขาดไปชิ้นหนึ่ง LINE OF PRODUCTION
ต้องหยุดไปทันทีและทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องสต็อคชิ้นส่วนมากเกินไป" ตรงนี้เป็นบทบาทสำคัญที่คอมพิวเตอร์จะเข้ามาช่วยโดยใช้ข้อมูลในเรื่องการจองรถจาก
COUN TRY NETWORK ในการวางแผน
สยามกลการซื้อซอร์ฟแวร์สำหรับควบคุมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมชื่อ MITROL
(MIT MANUFACTURING CONTROL SYSTEM) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มอาจารย์ของ MIT
แล้วขายลิขสิทธิ์ให้บริษัท TEAM-GO จากออสเตรเลีย
นอกจากควบคุมการผลิตแล้วยังสามารถออกแบบ เพื่อดัดแปลงชิ้นส่วนรถยนต์บางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
แล้วทำการทดสอบคุณภาพก่อนที่จะพิมพ์ออกมาเป็นพิมพ์เขียวเพื่อนำไปออกแบบจริง
บนชั้นสี่ของอาคารสำนักงานใหญ่สยามกลการ ซึ่งเป็นที่ทำงานของฝ่ายคอมพิวเตอร์ในขณะนี้จึงเป็นเสมือนห้องทดลองในการพัฒนา
และทดสอบระบบต่าง ๆ ที่จะประกอบเป็น MIS และอีกไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ก็จะเป็นศูนย์ปฏิบัติการใหญ่ในเรื่องการสื่อสารข้อมูล
ระหว่างส่วนงานต่าง ๆ ของสยามกลการ
"เราเชื่อว่าคู่แข่งของเราคงต้องตื่นตกใจกับระบบของเราแน่" วิลาวรรณพูดด้วยความมั่นใจว่ายังไม่มีใครในอุตสาหกรรมนี้ที่กล้าลงทุนอย่างสยามกลการทำและจะเป็นข้อได้เปรียบอันหนึ่งในการแข่งขัน
แต่คอมพิวเตอร์นั้นอย่างไรก็เป็นเครื่องจักรจะมีประสิทธิภาพดีเลิศแค่ไหนก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้สะดวกขึ้น
สุดท้ายแล้วมันสมองและความสามารถของมนุษย์ผู้ใช้คอมพิวเตอร์นั่นแหละที่ชี้ขาดความสำเร็จในผลงาน