ถ้าเตียง จิราธิวัฒน์ เป็นตำนานการก่อกำเนิดของเซ็นทรัลกรุ๊ป สัมฤทธิ์
จิราธิวัฒน์ ก็ต้องถือเป็น ผู้ปลุกปล้ำเลี้ยงดู ให้เซ็นทรัลกรุ๊ปเติบใหญ่จนสามารถสยายปีกออกไปได้กว้างขวางด้วยรากฐาน
ที่แน่นหนา
สัมฤทธิ์เป็นลูกชายคนแรกของเตียง ที่เกิดกับหวาน และเป็นคนเดียวในจำนวนพี่น้อง
26 คนที่เกิดบนเกาะไหหลำ ประเทศจีน
แรกเกิด เขามีชื่อภาษาจีนว่า เจ็งฮกเส่ง โดยที่ คำว่า "ฮก" แปลว่า
ลาภ ส่วน "เส่ง" แปลว่าสำเร็จ เมื่อเขาอายุได้เพียง 2 ขวบ เตียงได้อพยพครอบครัวเขามาตั้งหลักปักฐานในประเทศไทย
เจ็งฮกเส่งจึงได้ชื่อ เป็นไทยว่า "สัมฤทธิ์"
การเป็นลูกชายคนแรก ในขณะที่บิดากำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัว ทำให้สัมฤทธิ์ต้องทำงานอย่างหนัก
เขาเรียนรู้เรื่องการค้าขายตั้งแต่อายุได้เพียง 8 ขวบ โดยการติดตามเตียงไปติดต่อซื้อของ
และติดต่อธุรกิจ
เมื่ออายุโตพอเข้าโรงเรียน ขณะนั้น เตียงเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ด และกาแฟอยู่ย่านบางขุนเทียน
เขาต้องคอยช่วยงานอยู่ในร้านหลังเลิกเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องๆ
และบางครั้งก็ต้องพายเรือนำสินค้าไปขายตามลำคลองแถวฝั่งธนบุรี
ในจำนวนพี่น้อง 26 คน สัมฤทธิ์เป็นคนเดียว ที่เรียนไม่จบระดับมหาวิทยาลัย
โดยหลังจากจบมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ด้วยความ ที่เตียงต้องการให้เขามีความรู้ด้านค้าขาย และภาษาอังกฤษ
จึงขอให้เขากลับไปเรียนมัธยม 6 ซ้ำอีกครั้ง ที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ที่เปิดสอนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ
ยกเว้นวิชาภาษาไทย
ทั้งๆ ที่ในใจขณะนั้น เขาต้องการเรียนต่อแพทย์
หลังจบมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ สัมฤทธิ์ได้เข้าเรียน ที่วิทยาลัยอัสสัมชัญคอมเมิร์ซ
แต่เรียนได้เพียงปีเศษ ก็เกิดสงครามโลกครั้ง ที่ 2 วิทยาลัยจึงต้องปิดชั่วคราว
และให้นักเรียนจบการศึกษาก่อนกำหนด
ช่วงนี้เอง ที่ทำให้สัมฤทธิ์ได้เข้ามาสัมผัสกับชีวิตค้าขายด้วยตัวเอง โดยเขาได้ร่วมกับ เพื่อนซื้อของจากกรุงเทพฯ
เดินทางลงไปขายทางภาคใต้ และซื้อของจากภาคใต้ ขึ้นมาขายกรุงเทพฯ แต่ละเที่ยวได้กำไรบ้าง
และบางเที่ยวก็ขาดทุน
หลังสงครามโลกสงบ สัมฤทธิ์ได้งานทำ ที่บริษัทพาราเมาท์ พิคเจอร์ ทำหน้าที่ติดต่อศุลกากร
นำฟิล์มภาพยนตร์จากต่างประเทศมาฉาย
เขาทำงาน ที่พาราเมาท์ พิคเจอร์ได้เพียง 1 ปี ก็ถูกบีบให้ลาออก เพราะไปรู้ทันการทุจริตของผู้จัดการ
ซึ่งเป็นชาวอินเดีย เขาจึงไปสมัครเป็นครูสอนภาษาไทย อยู่ในโรงเรียนจีน บนถนนสุรวงศ์
ชื่อ "ยกหมิ่น"
เขาสอนหนังสือได้ประมาณ 6 เดือน ก็มี เพื่อนมาชวนไปช่วยขายหนังสือภาษาอังกฤษ
ซึ่งสั่งมาจากต่างประเทศ โดยทำหน้าที่นำหนังสือไปส่งตามร้านขายหนังสือใหญ่ๆในกรุงเทพฯ
โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย
ภายหลัง เพื่อนของเขามีความจำเป็นเลิกกิจการ แต่ สัมฤทธิ์เห็นว่าธุรกิจนี้ยังสามารถทำกำไรได้
จึงไปปรึกษากับเตียง แต่เตียงไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง
เขาจึงขอยืมเงินจากเตียงจำนวน 2,000 บาท และ นำเงินเก็บกับทรัพย์สินอีกจำนวนหนึ่งออกมาร่วมหุ้นกับ เพื่อนดำเนินกิจการเอง
หนังสือที่สัมฤทธิ์นำเข้ามา เป็นนิตยสารที่เหลือขายจากสหรัฐอเมริกา โดยเขาซื้อด้วยวิธีการชั่งน้ำหนัก แต่นำมาแยกขายเป็นรายเล่ม ทำให้ได้ต้นทุนต่ำ ประกอบกับการนำเข้าหนังสือในสมัยนั้น
จะได้รับสิทธิพิเศษโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และรัฐบาลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพียง
10 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ขณะที่หากเป็นสินค้าอื่นจะคิดดอลลาร์ละ 20 บาท ทำให้สัมฤทธิ์ได้กำไรจากกิจการนี้เป็นจำนวนมาก
เมื่อเตียงเห็นว่ากิจการนี้สามารถทำกำไรได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนกับสัมฤทธิ์
โดยได้เลิกกิจการร้านขายของเบ็ดเตล็ดจากฝั่งธน ย้ายมาเซ้งห้องแถวบนถนนเจริญกรุง
ปากตรอกกัปตันบุช ย่านสี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ และสินค้าอื่นจากสำเพ็ง
ใช้ชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
และขยายตัวมาเป็นเซ็นทรัลกรุ๊ปในปัจจุบัน
ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโต และช่วยบิดามารดาเลี้ยงดูน้องๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก
สัมฤทธิ์จึงได้รับการเคารพนับถือจากน้องๆ ทุกคน
เมื่อเตียง จิราธิวัฒน์ จากโลกนี้ไป ทิ้งภาระไว้กับลูกทั้ง 26 คน เพราะเป็นการจากไปโดยไม่ได้มี
การเขียนพินัยกรรม น้องทั้ง 25 คน ได้พร้อมใจมอบให้สัมฤทธิ์เป็นผู้นำตระกูล
ทำหน้าที่ผู้จัดการกองมรดก และทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นผู้นำในธุรกิจ ที่ เขากับบิดาร่วมกันก่อตั้งมา
คือ "ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเม้นท์สโตร์"
น้อง ที่โตพอจะช่วยงานสัมฤทธิ์ได้ในช่วงนั้น มีอยู่ 2 คน คือ วันชัย กับสุทธิพร
หลังจากนั้น ไม่นานสุทธิชัย, สุทธิเกียรติ, สุจิตรา, มุกดา และรัตนา เรียนจบจากต่างประเทศ
ก็เข้ามาช่วยงานทีหลัง
เตียงลาโลกไปเมื่อห้างเซ็นทรัล สาขาสีลมเพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 1 ปี
และยังประสบกับภาวะขาดทุน
ก่อนเตียงเสียชีวิต ห้างเซ็นทรัลเปิดมาแล้วทั้งสิ้น 4 สาขา คือ ที่วังบูรพา,
ราชประสงค์, เยาวราช และล่าสุดคือ สาขาสีลม
ทุกสาขาใช้เงินกู้จากธนาคารมาก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่
การกู้เงินของเตียงมีลักษณะพิเศษ คือ ธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อให้มีความมั่นใจในตัวของเตียง
จึงไม่มีการเรียกหลักประกัน ดังนั้น เมื่อเตียงเสียชีวิต ปัญหาสำคัญ ที่สัมฤทธิ์จะต้องแก้ให้ตกคือ
การเจรจากับบรรดานายธนาคาร ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับห้างเซ็นทรัล
"ผมไปหานายแบงก์ 3 ท่าน คือ คุณอุเทน (เตชะไพบูลย์)
คุณชิน (โสภณพนิช) และคุณบุญชู (โรจน-เสถียร) ไปเล่ารายละเอียดให้ท่านฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร
แล้วถามทางแบงก์ว่าจะให้ผมใช้หนี้ ที่ทำโอดีไว้ หรือจะให้โอดีต่อ พวกท่านก็ให้ความร่วมมือดี
บอกว่า ไม่เป็นไร ยังไม่เอาคืน แถมให้เพิ่มอีกด้วย และผมก็มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ทุกรายว่า
ถ้าใครต้องการเก็บเงิน ที่ผม ก็ให้มาเก็บได้เลย แต่ไม่มีใครมา"
สัมฤทธิ์เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้หลายปีก่อนเสียชีวิต
ความที่สัมฤทธิ์ได้ทำงานใกล้ชิดกับเตียงมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ทำให้ได้รับบุคลิกในส่วนที่ดีของเตียง
เช่น ความขยัน อดทน ประหยัด และมีเครดิต ทำให้นายธนาคารหลายคนมีความเชื่อมั่น
ที่จะสนับสนุนเงินกู้ให้กับห้างเซ็นทรัล
หลังเตียงเสียชีวิตไปแล้ว 1 ปี สาขาสีลมก็ยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องได้เงินกู้เพิ่ม
เขาไปหาสุขุม นวพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทย ในขณะนั้น เพื่อขอสินเชื่อ
เขาถามสุขุมว่าต้องการการค้ำประกันอย่างไร
สุขุมตอบกับสัมฤทธิ์ว่า "ตัวคุณสัมฤทธิ์นั่นแหละ
คือ การประกันเงินกู้"
ปรากฏว่าเงินกู้ก้อนนี้ สามารถต่อลมหายใจของห้างเซ็นทรัล สาขาสีลม จนสามารถกลับมาพลิกฟื้นมีกำไรได้ในภายหลัง
ความที่สัมฤทธิ์เป็นคนทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานในเซ็นทรัลกรุ๊ปอย่างเต็มที่
กล่าวกันว่า วันหนึ่งๆ สัมฤทธิ์ใช้เวลาในการทำงานถึง 14-15 ชั่วโมง และพักผ่อนเพียง
3-4 ชั่วโมง
ประกอบกับเขาเป็นคนที่ได้รับการศึกษาน้อยที่สุดในจำนวนพี่น้องทั้ง 26 คน
ทำให้สัมฤทธิ์มีบุคลิกใฝ่หาการเรียนรู้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ เขายังเป็นคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะในต่างประเทศ
และทุกแห่งที่เขาได้เดินทางไปถึง เขาจะสังเกตหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้กับธุรกิจ
จากบุคลิกทั้งหมด ทำให้ตลอดเวลากว่า 20 ปี ที่สัมฤทธิ์เป็นหัวเรือใหญ่
เซ็นทรัลกรุ๊ปสามารถเติบใหญ่ และขยายแขนขาออกไปได้อย่างกว้างขวาง
สัมฤทธิ์เสียชีวิตลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กลางดึกวันที่ 10
กรกฎาคม 2535 ด้วยโรคมะเร็งที่ปอด
การจากไปของสัมฤทธิ์ไม่ได้ทิ้งภาระไว้ให้กับน้องๆ และหลานๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเซ็นทรัลกรุ๊ปแต่อย่างใด
เพราะงานทุกอย่างได้มีการแบ่งแยกความรับผิดชอบกันไว้อย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่เขายังมีชีวิตอยู่