|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้บริหารกระทรวงการคลังจำนน ปล่อยแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยตามต้องการ ขอสั่งเฉพาะแบงก์รัฐ-แบงก์เฉพาะกิจที่ยังแข็งแกร่งช่วยลดส่วนต่างดอกเบี้ยให้แคบลงก็พอ “หมอเลี้ยบ” ยันนโยบายการคลังเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อมากกว่านโยบายการเงิน เพราะสามารถตัดสินใจได้เองโดยทันที ระบุไม่เร่งการเติบโตของเศรษฐกิจมากนักหวั่นเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง เนื่องจากจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้ แต่กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการดำเนินนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแลได้ ดังนั้นทางออกหนึ่งคือการที่จะเข้าไปหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เพื่อดูแลส่วนต่าง (สเปรด) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ให้แคบลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูง
"ในการหารือของกลุ่มผู้บริหารกระทรวงการคลังเห็นตรงกัน ที่ผ่านมามีการเข้าหารือแล้วกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB ดูแลผลกระทบประชาชนได้ในขณะนี้ เพราะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) BT และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) SCIB ฐานะทางการเงินก็ไม่แข็งแกร่งหรือบางแห่งมีหนี้เสียจำนวนมาก จึงไม่อาจเข้ามารองรับหรือดูแลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกู้และฝากแคบลงมาได้"
ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าจำกัดและไม่ครอบคลุมทั่วประเทศไม่สะท้อนถึงตลาดภาพรวม อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกรุงไทยค่อนข้างมีเงื่อนไขมากในการดำเนินนโยบายนี้เนื่องจากผู้บริหารเป็นมืออาชีพทำงานเป็นอิสระ นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์การจะดำเนินการใดๆ จะต้องไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้นและไม่ขัดกับหลักเกณฑ์บริษัทจดทะเบียนด้วย
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า แต่ละประเทศมีแนวทางในการดูแลปัญหาเงินเฟ้อที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งใช้นโยบายการคลัง บางแห่งใช้อัตราแลกเปลี่ยน หรือนโยบายดอกเบี้ย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นคิดว่าการแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้นควรใช้นโยบายการคลังจะดีกว่า เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสามารถตัดสินใจได้ทันที ในขณะที่นโยบายการเงินนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ตัดสินใจ ต้องให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายการเงินทำ เพราะมีข้อมูลอย่างเต็มที่ แต่ในการทำงานนั้นทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังต่างทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาพูดในที่สาธารณะ
“ในภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงจากราคาน้ำมันนั้น กระทรวงการคลังจะไม่เน้นกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตมากจนเกินไป เพราะไม่ต้องการไปเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีก แต่เป้าหมายการเติบโตที่ 6% ในสิ้นปีนี้นั้น เห็นว่าเป็นการเติบโตในระดับที่สามารถรับมือกับเงินเฟ้อได้ แต่ทั้งนี้ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมันและเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังด้วย เชื่อว่าราคาน้ำมันแม้จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ความผันผวนคงมีน้อยลง” นพ.สุรพงษ์กล่าว
|
|
|
|
|