ในอดีต กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ กัปตันใหญ่ของนาวาที่ชื่อว่า "สุ่นหั่วเซ้ง"
หรือ "เกษตรรุ่งเรือง" นั้นได้สวมวิญญาณของนักบุกเบิก ทุ่มเททุกลมหายใจของชีวิต
เพื่อถีบตัวขึ้นมาเป็นหนึ่งในยุทธจักรของการค้าคอมมอดิตี้ จนผงาดเป็นยักษ์ส่งออกพืชไร่
ตั้งแต่ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง แต่บนถนนของการพัฒนาที่ถูกโหมกระหน่ำด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ
ฐานเดิมที่มีอยู่ดูจะไม่มั่นคงเสียแล้ว วันนี้ กิตติจึงต้องเร่งสร้างฐานใหม่ด้วยเป้าหมายสวนป่ายูคาลิปตัส
400,000 ไร่ และโรงเยื่อกระดาษค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อสร้างฝันใหม่สู่
"ยักษ์อินเตอร์" ให้เป็นจริงในทศวรรษนี้ ด้วยตัวเลขอายุที่เวียนมาถึง
60 ในปีนี้ กิตติพร้อมแค่ไหนที่จะทำฝันนี้ให้เป็นจริง หรือจะเป็นแค่บุรุษตกสวรรค์
"สุ่นหัวเซ้งคิดการใหญ่ ระดมทุนในตลาดหุ้นหนุนโครงการหมื่นล้าน"
"เกษตรรุ่งเรืองทุ่มพันล้าน ขึ้น 6 โครงการ รวดรับปี 33"
"สุ่นหั่วเซ้งดึง 2 ยักษ์ญี่ปุ่น นิชโชอิวายซูมิโตโม่ ร่วมปลูกป่ายูคาลิปตัสกับธนาคารกรุงเทพทหารไทย"
ข่าวคราวระยะหลังของเจ้ายุทธจักรส่งออกพืชไร่ กลุ่มสุ่นหั่วเซ้งหรือกลุ่มเกษตรรุ่งเรือที่ไม่เกี่ยวกับข้าว
ข้าวโพด และมันสำปะหลัง อันเป็นธุรกิจหลัก ได้ปรากฏออกมาเป็นระยะมิได้หยุดหย่อน
จนกลายะเป็นบ่อเกิดของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กิตติ ดำเนินชาญวินชย์ เถ้าแก่พืชไร่ที่ไต่พุ่งขึ้นมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวด้วยเวลาสั้น
ๆ เพียง 10 ปีคนนี้ กำลังคิดการใหญ่สยายอาณาจักรแผ่ออกเป็นใยแมงมุมหรืออย่างไร
ด้วยอัตราเร่งแห่งความถี่ของการพัฒนาประเทศไปสู่โลกใมห่ของอุตสาหกรรมนั้น
กิตติคนร่างท้วมผู้ตรากตรำกับชีวิตมาแล้วเป้ฯปีที่ 60 แต่ยังดูแข็งแรงทะมัดทะแมง
โต้โผใหญ่ของกลุ่มสุ่นหั่วเซ้งยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงการต่าง
ๆ ที่ทำในตอนนี้เป็นการเตรียมรับสถานการณ์ใหม่ สำหรับช่วงทศวรรษต่อแต่นี้ไป
เมื่อทิศทางของประเทศมุ่งตรงไปยังความพยายามที่จะเป็น "นิกส์"
ขณะที่การค้าหยุดไม่ได้ "เราต้องปรับตัวตาม แต่บางอย่างเราก็ทำไม่ได้
เช่น สิ่งทอ ปิโตรเคมี" กิตติพูดถึงอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่งแห่งยุคสมัย
และกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า "ต้องยอมรับว่า งานพวกนี้ เราไม่มีความชำนาญเลย"
แต่ถ้าจะให้มุ่งจมอยู่กับธุรกิจค้าพืชไร่ที่มีอยู่เพียงโดด ๆ ซึ่งได้มาถึงจุดอิ่มตัว
ไม่ว่าจะเป็นการค้าข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของกลุ่ม
ดูจะไม่มั่นคงพอที่จะให้เป็นเสาหลักต่อไปอีกแล้ว
แน่นอนว่าจะต้องมีธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมสร้างหลักประกันของวงจรการค้าแทนธุรกิจเดิม
ขณะที่แนวโน้มความต้องการของเยื่อและกระดาษมีอัตราไม่น้อยกว่า 10% ต่อปีตามภาวะเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
และที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าเยื่อและกระดาษตัวเลขที่เฉียดหมื่นล้านบาทต่อปี
ทั้งที่ระยะหลังโรงงานได้ใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
กิตติเล่าถึงแรงจูงใจที่ตัดสินใจลงลุย "โครงการผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว"
ว่า "การที่เราต้องนำเข้ากระดาษ ทำให้ต้นทุนสูง และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครริเริ่มด้านนี้อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะเราไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงานในพื้นที่ขนาดใหญ่ ถ้าใช้ชานอ้อยก็ถูก
จำกัดโดยวัตถุดิบทั้งด้านปริมาณและราคา ถ้าเป็นไม่ไผ่ก็มีแนวโน้มว่าจะน้อยลง
ถ้าทำให้สำเร็จ ผมคิดว่าจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล แต่ยังไม่มีใครทำให้ลุล่วงไปได้"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันท้าทายต่อวิญญาณนักต่อสู้และนักบุกเบิกอย่างคนชื่อกิตติ
ที่เคยทำให้บรรดาพ่อค้าพืชไร่พลอยเซอร์ไพร์สไปแล้วหลายต่อหลายเรื่อง จนแซงคู่แข่งเดิมและมายืนอยู่ในแนวหน้าของวงการพืชไร่
ดังที่ "ผู้จัดการ" เคยเสนอไปแล้วอย่างละเอียดตั้งแต่ฉบับประจำเดือยกันยายน
2529
ชีวิตของกิตติมีอันต้องผกผันมาขลุกกับโครงการสวนป่ายูคาลิปตัส เพราะความคิดริเริ่ม่ของสุรางค์
ภรรยาคู่ชีวิตของเขาแท้ ๆ สุรางค์เป็นคนรู้ใจ ให้กำลังใจ และช่วยริเริ่มทำงานฝ่าฟันจนผ่านพ้นอุปสรรคไปด้วยดีที่กิตติยอมรับอย่างชื่นชมว่าเป็นคนสำคัญที่ทำให้งานตาง
ๆ สำเร็จลงได้
พูดได้ว่า สุรางค์เป็นคนจุดชนวนความคิดโครงการส่วนป่ายูคาลิปตัสขึ้นมา
เธอเริ่มเข้าไปซื้อที่ได้ราว 7,000 ไร่อย่างเงียบ ๆ เมื่อปี 2526 ตั้งใจว่าจะผลิตเป็นชิ้นไม้สับขายต่างประเทศ
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่บางคนเล่าให้ฟังว่าแรกทีเดียวมีชาวบ้านมาเสนอขายที่เพื่อผ่อนชำระหนี้สินบ้างอะไรบ้าง
สุรางค์เธอก็รับซื้อไว้ซึ่งต่อมาก็คงทำให้มีความคิดขึ้นมาว่าพื้นที่แห้งแล้งเสื่อมโทรม
ที่เห็นกันตำตานั้นน่าจะทำประโยชน์อะไรสักอย่างดีกว่า
ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เพียงสุรางค์เริ่มโครงการไปได้แค่
2 ปี ก็กลับมาล้มป่วยเป็นอัมพาต
กิตติจึงต้องเข้าแบกรับหน้าที่เดินหน้าโครงการสวนป่าแทนคนที่ตนรักยิ่ง
ส่วนป่ายูคาลิปตัส หรือที่ชาวบ้านร้านถิ่นมักจะเรียกกันว่า "ป่ายูคา"
หรือ "ป่ายูคาลิป" นี้ไม่เพียงแต่เป็นงานของสุรางค์ เพื่อนชีวิตที่เขาจะต้องสานต่อเท่านั้น
แต่กิตติยังหมายมั่นที่จะลงฐานโรงานเยื่อกระดาษอย่างครบวงจร ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าแค่ผลิตเป็นชิ้นไม้สับ
และจะเนรมิตสวนป่ายูคาให้เขียนเป็นแถบกว้างใหญ่ด้วยเป้าหมาย 400,000 ไร่
รวมมูลค่าเบ็ดเสร็จแล้วจะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท
นี่เป็นโครงการยักษ์ที่กิตติต้องทุ่มสุดชีวิตเพราะหวังให้เป็นโครงการชิ้นโบแดงของชีวิตและเป็นโครงการของมหาชน
กิตติไม่เคยเหนื่อยในการที่จะฝัน และต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนที่มีความพยายามและอดทนอย่างเป็นเลิศที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นความจริง
กิตติหวังว่า เมื่อโรงงานเยื่อกระดาษสร้างเสร็จในราวปลายปี 2535 หรือต้นปี
2536 ซึ่งจะเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดในเสร็จในปี 2537 แล้ว อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษจะเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มในอนาคต
จากการวิเคราะห์ลู่ทางธุรกิจใหม่พบว่าอุตสหกรรมเยื่อและกระดาษเป็น SUNLIGHT
INDUSTRY เรียกว่ามีอนาคตสดใสทีเดียว
ถ้าดูการขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษจะมีอัตราสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังโตอย่างไทย
ความต้องการใช้กระดาษก็ยิ่งเพิ่มมาก ในอัตราสูงกว่าอัตราการเพิ่มของ GDP
ประมาณ 5% เช่น ถ้าเศรษฐกิจโต 9% การเพิ่มของดีมานด์ของเยื่อกระดาษจะอยู่ระดับ
14%
เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคกระดาษของไทยจะเฉลี่ยอยู่ในอัตราต่ำมาก คือ 14
กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่สหรัฐฯเฉลี่ย 300 กก.ต่อคนต่อปี ญี่ปุ่นเฉลี่ยร่วม
200 กก. ต่อคนต่อปี ตลาดอขงเยื่อและกระดาษของไทยจึงมีพื้นที่ว่างอีกมหาศาล
สภาพตลดาเยื่อและกระดาษของไทยส่วนใหญ่ต้องพึ่งต่างประเทศมาตลอด เพิ่งเริ่มผลิตเยื่อกระดาษในประเทศได้เองเมื่อปี
2525
ผู้ผลิตที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันมีเพียง 2 ราย คือ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม
จำกัด ค่ายปูนใหญ่จะผลิตเยื่อกระดาษ 43,000 ตันต่อปี ใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบ
และบริษัท ฟินิคซ พัลลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด ผลิตเยื่อกระดาษจากปอแก้ว ไม้ไผ่
และยุคาลิปตัส ซึ่งตอนนี้ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ในขนาด 100,00 ตันต่อปีก็ยังไม่พอกับความต้องการในปี
2532 ที่สูงถึงประมาณ 800,000 ตันต่อปี และเชื่อว่าความต้องการในปี 2535
จะเพิ่มเป็น 1,000,000 ตัน
การผลิตเยื่อกระดาษในประเทศจะเป็นเยื่อใยสั้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระดาษชนิดตาง
ๆ แต่ไม่พอกับดีมานด์ ขณะเดียวกัน เรายังจะต้องใช้เยื่อใยยาวมาผสมเพื่อให้กระดาษมีความเหนียวโดยจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด
เพราะไทยขาดแคลนไม้เนื้ออ่อนที่ใช้ทำเยื่อใยยาว
ทั้งนี้ เยื่อกระดาษฟอกจะใช้ผลิตกระดาษพิมพ์เขียน หรือนิวสปรินซ์และกระดาษอนามัย
ส่วนเยื่อที่ใช้ผลิตกระดาษคราฟท์ กระดาษกล่อง จะเป็นเยื่อไม่ฟอก
นอกจากการผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทเยื่อกระดาษสยามและฟินิคซ พัลพฯแล้วอีก
70% จะผลิตเยื่อจากเศษกระดาษ และนำเข้าอีกประมาณ 10%
การนำเข้าเยื่อกระดาษส่วนใหญ่เป็นเยื่อใยยาวประมาณ 40-50% ของการนำเข้า
ส่วนเยื่อใยสั้นประมาณ 20-25%
การขยายตัวของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายขอขยายกำลังการผลิตรวมถึงโครงการตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษรายใหม่ด้วย
เช่น บริษัท เยื่อกระดาษสยามจะขยายอีก 50,000 ตันต่อปี บริษัท ฟินิคซ พัลพฯ
จะขยายเพิ่มอีก 100,000 ตันต่อปี โครงการผลิตเยื่อของวีระ ศรีวลีสัมพันธ์
ขนาด 8,400 ตันต่อปี หรือโครงการผลิตเยื่อกระดาษของปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้
ขนาด 90,000 ตันต่อปี เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 2535 ทำให้สนองความต้องการใช้เยื่อกระดาษได้อย่างสมดุลขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่มการผลิตเยื่อกระดาษแต่ก็เป็นเยื่อใยสั้งทั้งสิ้น
ส่วนเยื่อใยยาวยังคงต้องนำเข้าเหมือนเดิม
สำหรับโครงการเยื่อกระดาษของกลุ่มสุ่นหั่วเซ้งเมื่อเริ่มผลิตได้ ในปีแรก
ๆ จะเน้นส่งออกในสัดส่วนที่อาจจะสูงถึง 70-90% ของกำลังการผลิต 330,000 ตันต่อปี
เพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งตลาดในประเทศ
การที่กิตติต้องเร่งโครงการให้เสร็จเร็วขึ้นโดยจะเริ่มผลิตในปลายปี 2535
หรือต้นปี 2536 นั้น เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไที่บีโอไอได้ให้ส่งเสริม ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์จนถึงปี
2537 ขณะที่ตลาดเยื่อกระดาษของโลกมีดีมานด์สูงโดยเฉพาะญี่ปุ่นในตอนนี้เริ่มมีการติดต่อซื้อต้นยูคาทำชิ้นไม้สับใช้ผลิตเยื่อกระดาษแล้ว
จึงเป็นโอกาสทองที่เขาควรจะเริ่มบุกเบิกตลาดเยื่อต่างประเทศ
ส่วนแผนการตลาดส่งออก สุ่นหั่วเซ้งจะมุ่งตลาดญี่ปุ่นและจีน กล่าวสำหรับญี่ปุ่นมีดีมานด์มากเป็นครึ่งหนึ่งของแถบเอเชีย
โดยปกติจะต้องนำเข้าชิ้นไม้สับเพื่อผลิตเยื่อกระดาษประมาณ 50-60% ของดีมานด์
"เฉพาะญี่ปุ่นและกลุ่มอาเซียน ก็ขายหมดแล้วขณะที่จีนก็เป็นตลาดใหญ่มาก
การใช้กระดาษเพิ่มอย่างรวดเร็ว มหาศาลทีเดียว และเขามีปัญหาเช่น เดียวกับไทยคือขาดโรงงานผลิตวัตถุดิบ"
กิตติกล่าวถึงลู่ทางตลาดส่งออกอันสดใส
การที่กิตติมั่นใจในตลาดมาก ไม่ใช่เพราะมียักษ์ใหญ่อย่างซุมิโตโม่ทีเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนตั้งแต่ธุรกิจพืชไร่
ร่วมลงหอลงโรงดังที่ใคร ๆ มักจะคิดว่า สุ่นหั่วเซ้งจะให้ซูมิโตโม่เป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาดโดยเฉพาะ
"เพราะถึงเวลาส่งออกจริง ๆ จะปล่อยเอเยนต์ทั่วไป ไม่ผูกมัดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง"
แต่จะต้องบริหารการตลาดให้ยืดหยุ่นและทรงประสิทธิภาพสูงสุดด้วยตัวเองมากที่สุดดังที่เขาเคยทำมาแล้วในการส่งออกพืชไร่
บนพื้นฐานคติที่กิตติยึดถือเสมอมาว่า "เราต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด"
เนื่องจากบริษัท สวนกิตติ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการโรงงานเยื่อกระดาษนั้น
นอกจากจะมีซูมิโตโม่ร่วมทุนด้วยแล้วยังมีนิชโชอิวาย หรืออาจจะมีรายอื่นอีกด้วยก็ได้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
และต่างก็มีตลาดที่จะรองรับเยื่อกระดาษที่บริษัทผลิตได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม กิตติย้ำหนักแน่นว่า จะให้ต่างประเทศถือหุ้นเป็นส่วนน้อยเท่านั้น
ถ้าพูดถึงการแข่งขันในตลาดส่งออก "ที่สำคัญการที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าจากออสเตรเลีย
สหรัฐอเมริกาต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่เราจะได้เปรียบเฉพาะค่าขนส่งประมาณ
100 เหรียญต่อตัน และมีต้นทุนต่ำที่สุดในเอเชีย" ยังไม่รวมถึงความสะดวกและหลักประกันด้านซัพพลายและอื่น
ๆ อีก
บวกลบคูณหารแล้ว ถ้าระดับราคาเยื่ออยู่ระหว่าง 800-900 เหรียญต่อตัน ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะไต่สูงขึ้นไปอีก
กิตติบอกว่า "แค่ 3-4 ปีก็คุ้มทุนต่อการลุงทนแล้ว"
ส่วนโครงการต่อเนื่อง ต้องมีอยู่แล้ว เป็นการทำให้ครบวงจรในสายธุรกิจที่ทำเช่น
โครงการผลิตกระสอบพลาสติก มูลค่า 100 ล้านบาทก็ใช้กับพืชผลที่ค้าอยู่ หรือโครงการผลิตแป้งมัน
มูลค่า 100 ล้านบาทก็เป็นการเพิ่มมูลค่าในกลุ่มมันสำปะหลังที่ทำอยู่แล้ว
โครงการผลิตไฟเบอร์บอร์ด เป็นการใช้ประโยชน์จากเศษไม้ที่เหลือจากการใช้ในโงงานชิ้นไม้สับ
มูลค่าประมาณ 300-350 ล้านบาท โรงงานผลิตชิ้นไม้สับป้อนโรงงานผลิตเยื่อ โครงการผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้ค่า
350 ล้านบาทก็ป้อนให้กับโรงงานในกลุ่มที่บางปะกง หรือที่มีโรงซ่อมรถเอง ก็เพื่อสะดวกในการทำงานทั้งนั้น
กิตติแจงเหตุผลถึงที่มาของโครงการต่าง ๆ อย่างหมดเปลือกโดยย้ำว่า "ตอนนี้ทำเฉพาะหน้าไม่คิดไกล
ต้องค่อยทำค่อยไป"
กิตติย้ำว่านี่เป็นโครงการเป้าหมายทีจะต้องเดินไปให้ถึง แต่เมื่อสุรางค์ล้มป่วยกะทันหัน
ขณะที่ตัวเองอายุมากขึ้นทุกที ธุรกิจส่งออกพืชไร่ก็กำลังขยายตัวอย่างมาก
การจะโถมกับงานแต่เพียงลำพังคงไม่ทันการณ์เสียแล้ว
โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ลูกชายคนโตของกิตติเป็นบัณฑิตวิศวะ สาขาอุตสาหกรรมจากจุฬาฯบินไปเรียนภาษาฝรั่งเศษ
แต่ต้องง่วนอยู่กับการช่วยสร้างสำนักงานสาขาที่กรุงปารีสเสียมากกว่า อยู่ได้
2 ปีและตั้งใจจะเรียนเอ็มบีเอต่อก้มีอันต้องยกเลิก เพราะถูกกิตติเรียกตัวกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวด่วน
ที่จริง กิตติเป็นคนที่เห็นความสำคัญของการศึกษา แต่ก็จำเป็นต้องเรียกโยธินกลับเมืองไทยเมหือนที่กิตติสารภาพว่า
"ไม่ไหวแล้ว ไม่มีคนช่วย"
โยธินต้องเร่งเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างหนักในงานทุกส่วน จนกระทั่งขึ้นมาเป็นกรรมการรองผู้จัดการ
โดยจะดูแลงานด้านส่งออกทั้งหมด คุ่ไปกับศิริวรรณ ดำเนินชาญวนิชย์ พี่สาวคนโตที่ฝึกปรือช่วยธุรกิจของครอบครัวมาแต่ต้น
โดยเป็นคนรับผิดชอบด้านการเงินและบริหารทั่วไป
กิตติได้ก้าวถอยออกมาคลุกเคล้ารายละเอียดของโครงการในฝันด้วยตวเองตามคติชีวิตที่ยึดถืออยู่คือ
จับงานใดก็ต้องให้รู้จริงเป็นธรรมดาว่างานใหญ่อย่างโครงการป่ายูคา 400,000
ไร่ จะต้องอดทนต่อการแผ้วทางมากเป็นพิเศษ
กิตติยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "อุปสรรคมากดูแล้วเกิดยากไม่น้อยเลย"
เนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการมีขนาดใหญ่ "เราต้องซื้อจากชาวบ้าน เป็นที่ที่เขาปลูกพืชไม่ได้
เป็นที่เสื่อมโทรมไม่เอื้อต่อพืชล้มลุก เขาจึงเอามาขายและพื้นที่แปลงเล็กมักอยู่ติดกับแปลงล้มลุกของชาวบ้าน
มีปัญหาไฟป่า ทั้งจากป่ามันสำปะหลัง และป่าหญ้า" นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องหญ้าที่เกิดรอบแปลง
ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษา
ขณะเดียวกัน ต้องศึกษาและวิจัยกันอย่างหนักเพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดีที่สุด
ซึ่งกิตติได้ให้กำลังใจกับตัวเองว่า "วิเคราะห์จริงมา 3 ปีกว่าแล้ว
และคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง อย่าง อะราครูซ เจ้าของสวนป่ายูคาของบราซิลซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก
เขาทำสำเร้จทให้เป็นตัวอย่างแก่ผม และมีกำลังใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ตัน
เพียงแต่ต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปีจึงจะตัดได้"
ช่วงเวลาที่นานขนาดนี้ แม้กิตติจะบอกว่าดีกว่าการปลูกพืชล้มลุกก็ตาม แต่ว่าไปแล้ว
"ไม่ใช่อาชีพสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะต้องมีสายป่านยาวมาก"
ความคิดที่อยากให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นคนปลูกเองตอนแรกเริ่มโครงการ จึงต้องล้มเลิกไปเพราะติดปัญหาสายป่านสั้น
และเรื่องความรู้ในการปลูกที่ได้มาตรฐาน
ตอนนี้ปลูกป่ายูคาไปได้แล้วเกือบ 200,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะซื้อจากชาวบ้านที่เสนอขายและมี
น.ส. 3 อีกส่วนหนึ่งจะเช่าป่าเสื่อมโทรม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 6 จังหวัด
คือ ระยอง นครราชสีมา จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา พื้นที่ป่าจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน
200 กิโลเมตรจากโรงงานซึ่งจะตั้งที่บางประกง จะผลิตได้วันละ 1,000 ตัน โดยจะต้องป้อนวัตถุดิบประมาณวันละ
5,000 ตัน ตามสัดส่วนวัตถุดิบ 5 ส่วนต่อการผลิตเยื่อ 1 ส่วน และต้องการแรงงาน
10,000 คนเมื่อโครงการเสร็จ
โครงการขนาดนี้ เฉพาะการปลูกป่า ลงทุนไปแล้วหลายพันล้าน ถ้าไม่ไดรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
กิตติบอกว่า "อาจล้มละลายได้"
เมื่อได้บีโอไอแล้ว ก็ต้องโหมเต็มที่ "อันนี้ต้องขอบคุณองคมนตรี พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ อดีตนายกเป็นกรณีพิเศษ ที่มองการณ์ไกล และผมจะเไม่ทำให้ผิดหวัง"
กิตติกล่าวถึงพลังขับดันอีกด้านหนึ่งที่หนุนให้ตนทุ่มกับโครงการนี้สุดตัว
เพราะช่วงนั้นองคมนตรีพลเอกเปรมเป็นประธานบอร์ดใหญ่ของบีโอไอซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติส่งเสริมให้
ถ้าเมื่อเสร็จตามโครงการที่ตนเร่งให้เร็วขึ้นอีกหนึ่งปี เพื่อสนองตลาดเยื่อกระดาษซึ่งพอเหมาะในโอกาสทองที่คอยท่าอยู่แล้ว
กิตติตั้งใจจะให้ประชาชนในท้องถิ่นรองรับเทคโนโลยีการปลูกป่ายูคา จะให้ความรู้แก่ชาวบ้าน
จุนเจือทุนรอน ซึ่งจะต้องสร้างความมั่นใจให้เขาเห้นว่าถึงตอนเก็บเกี่ยวแล้วจะได้ประโยชน์ยังไง
จะต้องดูถึงการให้ปุ๋ย การบำรุงรักษาให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดกำไรสูงสุดหรือดีกว่าพืชอื่นอย่างไร
"นี่เป็นความหวังและความฝันของผม" ทุกเสาร์-อาทิตย์ กิตติจึงไปลุยงานภาคสนามด้วยตัวเองและดูเขาจะมีความสุขและรู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่ในสวนป่ามากกว่าอยู่บนตึกสูงในกรุงเทพฯ
ดังที่เขามักจะเชื่อเชิญใครต่อใครไปชมสวนป่าอย่างกระตือรือร้นและยินดียิ่ง
จากประสบการณ์ที่กิตติเกี่ยวกับเวทีชีวิตตั้งแต่เป็นเด็กพายเรือขายของ
เรียนหนังสือจีนและไทยในเวลากลางคืน เลี้ยงชีวิตตัวเองตั้งแต่อายุ 15 ปีด้วยการขายของเก่า
กระทั่งตั้งบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผลหรือสุ่นหั่วเซ้งส่งข้าวออกขายต่างประเทศตามมาด้วยข้าวโพดและมันสำปะหลัง
ทำให้กิตติสรุปปรัชญาชีวิตแก่ตนเองว่า "ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้
ถ้าตั้งใจจริง ขยัยอย่างต่อเนื่อง มั่นใจ งานนั้นก็สำเร็จได้"
กิตติกล่าวว่า เขายอมลงทุนโดยไม่คิดถึงต้นทุนเพื่อสร้างป่ายูคาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเมืองไทย
และเมื่อนั้น ไทยก็จะกลายเป็นสวนป่าที่ใหญ่รองจากยักษ์ "อะราครูซ"
แห่งบราซิลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาบริษัททำสวนป่ายูคาและเยื่อกระดาษของโลก
"อะราครูซ" เป็นเจ้าของพื้นที่สวนป่ายูคา 2 แปลงใหญ่ แปลงแรก
206,000 ไร่ อยู่ที่เมืองวิกตอเรียรัฐเอสปิริโต ซานโตส เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาด
482,00 ตันต่อปี และกำลังจะขยายเป็น 1,000,000 ตันในปี 2534 ส่วนอีกแปลงหนึ่งอยู่ห่างจากแปลงแรก
200 ไมล์มีขนาด 243,700 ไร่ ซึ่งเริ่มกิจการเมื่อปี 2510 โดยมีจุดประสงค์ต้องการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
ซึ่งเป็นที่มาของโครงการสวนป่ายูคาเช่นเดียวกับของไทย
แต่สวนป่ายูคาของ "อะราครูซ" มีประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ก็คือ
รัฐบาลได้กำหนดให้ 20% ของพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติ ไว้เป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงของสัตว์
เพื่อรักษาดุลทางธรรมชาติป้องกันการทำายระบบนิเวศวิทยา "อะราครูซ"
จึงปลูกไม้ผลคละกับสวนป่ายูคาให้เป็นอาหารสัตว์ นอกเหนือจากที่ต้องทำตามกฎหมายของบราซิล
ในประเด็นนี้ นักวิชาการเกษตรให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า
เป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะกำหนดให้เจ้าของสวนป่ายูคาทุกราย ปลูกไม้ผลหรือรักษาไม้ธรรมชาติไว้ส่วนหนึ่งอย่างบราซิล
กิตติยังเล่าถึงความพยายามในการศึกษาสายพันธุ์และเทคโนโลยีของประเทศต่าง
ๆ นับเป็นสิบ ๆ ประเทศเมื่อเข้ามาจับงานนี้ มี "อะราครูซ" ที่ทำได้ผลมาก
ซึ่งเขาใช้พันะ "แกรนดิส" ของเขามีการส่งเสริมโดยให้หักภาษีจากค่าใช้จ่ายต่าง
ๆ ได้ แต่กว่าจะได้ไปดูงานของอะราครุซ "ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีโดยผ่านทาง
"ไซมอน" บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ของแคนาดา"
บริษัทไซมอน และ บริษัท จ๊ากโค พอยรี่ แห่งประเทศฟินแลนด์ ซึ่งต่างก็เป้นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ของโลก
กำลังแข่งขันเสนองานที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมในการสร้างโรงงาเยื่อกระดาษของกิตติ
กิตติเปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า ในปีนี้จะสรุปได้ว่าจะเลือกใครเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม
ว่าไปแล้ว เทคโนโลยีใกล้เคียงกันมาก แต่ต้องดูที่เอื้อกับเรามากที่สุด ที่สำคัญ
"เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ยักษ์ใหญ่ที่มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะของโลกให้ความสนใจ
แสดงว่า เขายอมรับและเห็นว่า โครงการของเราไปได้ และทำจริง"
ต่อไป "เราจะเป็นยักษือะราครูซที่ 2 ของโลกและจะเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์"
ยังมีอีก เขาฝันไปไกลกว่านี้ "เราจะค้นคว้าวิจัยที่ดินทุกแปลง เพื่อให้ตอบสนองต้นไม้ได้ดีที่สุดดูว่าสภาพเป็นอย่างไร
ขาดธาตุอะไร และตอนนี้เราเริ่มปลูกต้นสักแล้วที่ เขาน้ำหยด ยังมีกระถิน เทพาสะเดา
ซึ่งเป็นต้นไม้ที่น่าค้นคว้า จะดูไปถึงเรื่องการปลูกไม้ผลและพืชไร่ วิจัยการใช้ปุ๋ยเฉพาะตัว
เช่น ที่ไม่ควรใส่โพแทสเซียมก็ไม่ต้องใส่ จะทำให้ชาวนาประหยัดไปได้เยอะ หลายร้อยบาทต่อไร่
โดยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ได้ และผมยังฝันที่อยากจะตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ"
กิตติเล่าถึงความคิดในก้นบึ้งหัวใจกับ "ผู้จัดการ"
กิตติมิใช่คนเพ้อฝัน แต่เมื่อเขาคิดและฝัน ศึกษาข้อมูลอย่างที่คิดว่าพร้อมที่สุดแล้ว
จึงเริ่มจัดตั้งองค์กรขึ้นมารองรับสำหรับโครงการยักษ์ของเขาโดยเฉพาะบริษัทแรก
คือ บริษัท สวนกิตติจำกัด (SUANKITTI REPORESTATION COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อเดือนธันวาคม
2527 เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท ต่อมาอีก 2 ปีเพิ่มทุนเป็น 20
ล้านบาท ช่วงปี 2529 นี้เองที่กิตติได้ให้อากิม แซ่เตีย หรือ จาง อาจิน หนุ่มใหญ่วัย
40 เศษน้องชายของเขาจากหมู่บ้านแต้จิ๋ว อำเภอโผวเล้ง มณฑลกวางตุ้งแห่งจีนแผ่นดินใหญ่มาช่วยงาน
โดยเข้าถือหุ้นและเป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง
อากิมหรือที่ลูก ๆ ของกิตติและพนักงานเรียกกันติดปากว่า "เจ็กกิม"
นั้น ต่อมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการดูแลงานด้านวางแผน และเขารู้รายละเอียดของป่ายูคาดีมาก
เจ็กกิม เริ่มต้นจากความที่ไม่รู้ภาษาไทยเลยช่วงที่เริ่มงานใหม่ ๆ กิตติเป็นคนหาล่ามให้กับน้องชาย
สี่ปีสำหรับชีวิตส่วนป่ายูคาของเจ็กกิมในเมืองไทย ถึงวันนี้ เจ็มกิมใช้ภาษาไทยได้ดี
เจ็กกิมเป็นคนช่างสังเกต จดจำเส้นทางได้แม่นยำ พื้นที่บางแปลง เส้นทางป่าบางเส้น
เจ็กกิมจะเข้าถึงรายละเอียดได้มากกว่ากิตติด้วยซ้ำไป และพูดได้ว่าเจ็กกิมก็เหมือนตัวแทนของกิตติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการป่าภาคสนาม
พอปี 2531 บริษัทสวนกิตติได้เพิ่มกรรมการใหม่อีก 2 คน คือ "พลตำรวจเอกณรงค์
มหานนท์" อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ "ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์"
ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผลและในเครือ ผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลือ
แนะนำในเรื่องการส่งออกข้าว คอยให้คำแนะนำในนโยบายต่าง ๆ รวมไปถึงการผูกความสัมพันธ์กับแบงก์กรุงเทพในการเปิดแอลซีมาแต่แรก
บุคคล 2 คนนี้เป็นกรรมการที่ลงชื่อผู้พันบริษัทได้ ซึ่งต่อมาพล.ตงอ.ณรงค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานบริษัท
ถัดมาอีกราว 5 เดือน บริษัท สวนกิตติได้เพิ่มกรรมการใหม่อีก 2 คน คือ "พูลสมบัติ"
รุ่นน้องโยธินเพียงปีเดียว และ "ไตรรัตน์" น้องชายสุดท้องของโยธินเข้ามาร่วมด้วย
โดยเฉพาะสำหรับ "พูลสมบัติ" นั้นเรียกว่าเป็นการเข้ามาเพื่อเตรียมรองรับงานสวนป่าโดยเฉพาะ
วิถีชีวิตของพลูสมบัตินั้นไม่ต่างไปกับโยธินเขาจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม
ตั้งใจและเลือกคณะวิศวะเหมือนพี่ชาย ตามด้วยคณะบัญชี ดังที่อาจารย์ในยุคนั้นที่แนะนำว่า
สุดยอดของการเลือกก็คือวิศวะกับบัญชีดีที่สุด
พูลสมบัติพลาดจากคณะวิศวะมาได้บัญชีแล้วเขาเลือกเอกบริหาร จบแล้วบินไปต่อปริญญาโทด้านบริหาร
สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ แต่เรียนไม่ทันจบ กิตติได้เรียกตัวให้กลับมารับช่วงธุรกิจในราวปลายปี
2530 และตั้งใจว่าจะเรียนเอ็มบีเอในเมืองไทยต่อ จนบัดนี้ก็ยังปลีกเวลาไปไม่ได้
กลับถึงบ้านเกิดพูลสมบัติหรือที่พนักงานในออฟฟิคมักจะเรียกว่า "คุณเล้ก"
ก็ต้องเรียนรู้งานที่ออฟฟิคกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็วก่อนที่จะมาดูแลงานที่บริษัทสวนกิตติ
เป็นรองกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบด้านการเงินทั้งหมด
สำหรับโยธินนั้นคือตัวแทนของกิตติในธุรกิจพืชไร่ ด้วยวัย 29 ในปีนี้ เขาจึงต้องทำงานหนักกว่าวัยหลายเท่าตัว
ส่วนพูลสมบัตินั้นคือตัวแทนที่จะรับงานด้านสวนป่ายูคา ธุรกิจสายใหม่ของกลุ่มเขายิ่งต้องขับเคี่ยวตัวเองหนักกว่าพี่ชายเป็นเท่าทวี
ด้านไตรรัตน์นั้นได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนสำนักงานกรรการผู้จัดการใหญ่ในกรุงเทพฯ
พร้อมกับเรียนทีเอแบคไปด้วย
เมื่อโครงการปลูกป่าก้าวหน้าขึ้นในปี 2529 กิตติได้ตั้งบริษัท สวนสยามกิตติ
จำกัด ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทในปัจจุบันมีประสิทธิ์และพลตำรวจเอกณรงค์ร่วมเป็นกรรมการด้วยเช่นเดียวกับบริษัทสวนกิตติ
เพื่อรองรับงานปลูกป่าที่ขยายพื้นที่ออกไป เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างของบริษัทเล็กจะบริหารได้คล่องตัวกว่า
และการจะขอบีโอไอก็สะดวกกว่า เพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่จะเน้นส่งเสริมการลงทุนขนาดกลางและขยาดย่อมมากขึ้น
อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ "สุรศักดิ์ บุญนิธิพัฒน์"
ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท สวนกิตติ ซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของพูลสมบัติ
สุรศักดิ์เป็นเพื่อนกับโยธินตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม จบวิศวะ
สาขาเหมืองแร่ หลังจากที่ไปเป็นวิศวกรที่ปูนนครหลวงพักใหญ่ โยธินก็ชวนสุรศักดิ์มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัว
แต่เมื่องานที่สวนป่ายูคาเพิ่มมากขึ้น ทั้งปริมาณการซื้อขายที่และเกี่ยวข้องกับเงินก้อนโต
ขณะที่โยธินบอกวา "สุรศักดิ์ เป็นคนสไตล์ลูกทุ่ง ลุยงาน" เป็นเพื่อนที่สนิทและเชื่อใจ
จึงให้ไปช่วยรับผิดชอบงานส่วนป่ายูคา
สุรศักดิ์ไม่เพียงแต่เป็นคนที่โยธินให้ความไว้ใจมากเท่านั้น แต่ยังผูกพันไปถึงคนในครอบครัว
"ดำเนินาชาญวนิชย์" คนอื่น ๆ ด้วย สุรศักดิ์และโยธินใกล้ชิดกันมาก
เพราะสุรศักดิ์เป็นเพื่อนที่มาอยู่บ้านเดียวกับโยธินในกรุงเทพฯตั้งแต่เป็นนักเรียน
เมื่อกิตติจัดตั้งบริษัทที่ดูแลสวนป่าเสร็จไปแล้ว 2 บริษัท มาถึงเดือนมกราคาปีที่แล้วกิตติได้ตั้งบริษัทสวนกิตติ
พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัดเพื่อรับโครงการโรงงานเยื่อกระดาษทุนจดทะเบียน
20 ล้านบาทแตกเป็น 2,000,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท
บริษัท สวนกิตติ พัลพ์ฯ มีโครงการจะเพิ่มทุนเป็น 5,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนโครงการสร้างโรงงานเยื่อมูลค่าไม่ต่ำกว่า
15,000 ล้านบาท
ในบรรดาผู้ถือหุ้นนอกเหนือจากตระกูล "ดำเนินชาญวนิชย์" ที่ถือหุ้นทั้งในนามส่วนบุคคลและบริษัทแล้ว
ยังมีผู้ใหญ่ร่วมถือหุ้นกันเพียบ คือประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พลตำรวจเอกณรงค์
มหานนท์ ชาญชัย ลี้ถาวร ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย เครือแบงก์กรุงเทพ
ณรงค์ ศรีสอ้าน กรรมการรองผู้จัดการอาวุโสแบงก์กสิกรไทยและ อนุตร์ อัศวานนท์
กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทยร่วมถือหุ้นด้วยรายละ 5,000 หุ้น
สำหรับธุรกิจพืชไร่และโครงการเยื่อกระดาษครบวงจรแล้ว ในสายตาของกิตติไม่เพียงแต่เป็นการ
DIVERSIFY ของลักษณะธุรกิจเท่านั้นแต่โดยนัยส่วนตัวแล้ว ยังมีความต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์
ธุรกิจส่งออกพืชไร่ที่กิตติได้ไต่ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้ว กิตติว่า "พูดไปมันเป็นธุรกิจครอบครัวแต่สำหรับโครงการเยื่อแล้ว
ผมต้องการให้เป็นโครงการของมหาชน" หรือให้มีความเป็นสากลและถ้าจะเรียกว่ายักษ์อินเตอร์มหาชนก็คงไม่ผิด
นั่นหมายความว่าจะต้องมีการบริหารทุนและการจัดการสมัยใหม่ที่เป็นสากลอย่างสมบูรณ์
มิใช่การรวมศูนย์ไว้ที่เถ้าแก่กิตติอย่างในอดีต
กิตติให้ ดร.นิกร วัฒนพนม อาจารย์คณะบริหารจากนิด้ามาเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายด้านการลงทุนที่เห็นว่าเป็น
NEW BUSINESS DEVELOPMENT และร่วมเจรจาต่างประเทศ นับถึงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้
ก็ครบ 5 ปีพอดี
นิกรเข้ามาร่วมงานกับกิตติในช่วงไล่ ๆ กับที่กิตติต้องเริ่มมาลุยโครงการสวนป่ายูคา
กิตติชื่นชมในโครงการนิด้า - ไอเมทที่นิกรเป็นโต้โผ เป็นโครงการอบรมความรู้การจัดการสมัยใหม่สำหรับเถ้าแก่
กิตติเห็นประโยชน์ก็ให้การสนับสนุนโครงการประมาณปีละ 200,000 บาทมาตลอด
เล่ากันว่า การที่นิกรมาเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มสุ่นหั่วเซ้งนั้น ไม่ได้มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขอะไรเลย
เพียงแต่กิตติให้การสนับสนุนโครงการนิด้าไอเมท นิกรเองก็สามารถเสนอแนจะความคิดที่ไมได้ทำให้ตนเองต้องเปลืองตัว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา นิกรจะพูดคุยกับกิตติโดยตรงเพียงคนเดียว ไม่ได้ผ่านทายาทคนใดของกิตติเลย
นิกรเห็นว่า โครงการเยื่อครบวงจรนี้เป็นโครงการที่คนไม่อยากเข้ามาทำกัน
แต่ถ้าเข้ามาแล้วคนอื่นตามยาก หรือที่เรียกว่า CAPITAL INTENSIVE HIGH RISK
เพราะกว่าคนอื่นจะมีวัตถุดิบคือไม้ยูคาป้อนโรงงาน ก็ต้องใช้เวลาปลูก 5 ปี
การเริ่มต้นของกิตติจึงได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น
โดยกิตติบอกว่า โครงการนี้จะให้เป็นโครงการของประชาชน ต่อไปจะนำเข้าตลอาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อระดมทุน และให้คนไทยเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงถ้าจะมีต่างชาติถือหุ้นบ้างก็นิด
ๆ หน่อย ๆ เพื่อผูกมิตร สร้างข่ายธุรกิจสัมพันธ์ และอาศัยเป็นช่องทางเรียนรู้เทคโนโลยี
เพราะการผลิตเยื่อก็ต้องให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในการผลิตกระดาษที่เปลี่ยนไปด้วย
สำหรับสินทรัพย์ของกลุ่มสุ่นหั่วเซ้งมีมูลค่าตาม BOOK VALUE ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท
ณ สิ้นปี 2532 ถ้าตีค่าาราคาตลาดก็ราวหนึ่งแสนล้านบาท สิ่งนี้คือความยิ่งใหญ่และความพร้อมที่จะเสี่ยงของกิตติ
การที่กิตติจะนำบริษัทเข้าตลาดฯจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ได้ประโยชน์จาก
CAPITAL GAINS และพรีเมียม โอกาสที่จะระดมทุนก็มีมากขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าตลาดฯ
คงจะต้องใช้เวลานานมาก
ส่วนการปรับโครงสร้างนั้น พยายามให้ DECENTRALIZE มากขึ้น เดิมการตัดสินใจต่าง
ๆ ที่เคยรวมศูนย์ ก็ได้ค่อย ๆ ปรับ ด้วยการแยกบอร์ดของแต่ละธุรกิจออกไปให้แต่ละบริษัทบริหารตัวเองและแยกการตัดสินใจได้แล้ว
โดยผู้จัดการจะเสนอต่อบอร์ดย่อยของตนซึ่งเริ่มมาแล้วประมาณ 2 ปี
"ยกเว้นบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินมาก ๆ เช่น 100 ล้านบาทขึ้นไปหรือการจัดสรรเงินที่จะต้องนำเข้าบอร์ดใหญ่"
โยธิน พูดถึงการปรับโครงสร้างใหม่
โดยกลุ่มสุ่นหั่วเซ้งมีบริษัทในเครือ 30-40 บริษัท หลายบริษัททำงานซ้ำซ้อนกันมา
ตอนนี้จึงอยู่ระหว่าง RESTRUCTURE บริษัททั้งหมด โดยจะเน้นโครงสร้างการบริหารทุนในลักษณะของธุรกิจที่ทำ
เช่น ส่วนป่ายูคา คงจะแบ่งบริหาร ตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งต่อไปก็ตั้งบริษัทใหม่เพิ่มเติมมาดูแลส่วนป่ายูคาให้เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นและช่วยให้คล่องตัวในการทำงานมากกว่า
ขณะเดียวกัน จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั่วทุกบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ
คือที่รอตเตอร์ดัม ฝรั่งเศสในปีนี้ พร้อมทั้งเน้นการประสานงานข้อมูล งานอาร์แอนด์ดี
การพัฒนาบุคลากรรวมไปถึงการเริ่มตั้งทีมประชาสัมพันธ์ด้วย
การปรับเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของบริษัทในเครือถือว่าจะปรับให้ได้มาตรฐานกว่าเก่าและเตรียมเข้าตลาดฯ
ซึ่งโยธินกล่าวว่า "คงภายในปีนี้ ที่จะเข้าเป็นกลุ่มเยื่อ ส่วนบริษัททางด้านค้าพืชไร่คงเข้ายากและทั่วโลกเขาไม่ทำกัน"
สรุปได้ว่า ขณะนี้เป็นเวลาประจวบเหมาะที่ทุกอย่างลงตัวสำหรับกิตติ นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงผลักดันในเรื่องโครงการสวนป่ายูคาและโรงงานเยื่อกระดาษแล้ว
ยังมีปัจจัยภายในสำคัญที่ส่งผลให้เกิดมิติใหม่ของการบริหาร
นั่นก็คือ กิตติได้กรำชีวิตมาถึงจุดสูงสุดของเถ้าแก่พืชไร่ และโดยหั่วใจของคนเป็นพ่อ
แน่นอนว่าอยกาเห็นลูกก้าวหน้า เป็นอภิชาตบุตร เขาได้เพียรสร้างและปลุกปั้นให้ลูก
ๆ แต่ละคนได้มาถึงจุดของความพร้อมระดับหนึ่งทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิในการรับช่วงพัฒนาธุรกิจต่อไป
เท่าที่กิตติคิดว่าทำได้มากที่สุดแล้วในขณะนี้
กล่าวได้ว่า กลุ่มสุ่นหั่วเซ้งกำลังวิ่งมาถึงทางแยกของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย
กิตติจะขึ้นสวรรค์เสพสุขกับความฝันที่เป็นจริงหรือตกสวรรค์ ก็จะรู้กันคราวนี้
กิตติมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ ขยะแขยงการพนันทุกชนิด
โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนยิ้มง่าย มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน ถ่อมตน ไม่เคยอวดตัวดังที่เขาให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการ" ว่า เมื่อยังไม่แขวนนวม จะบอกว่าตัวเองประสบความสำเร็จได้อย่างไร
และบุคลิกเหล่านี้ได้ถ่ายทอดมาถึงลูก ๆ แต่ละคนด้วย
ที่จริง กิตติเป็นคนใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ โดยเฉพาะในสายของธุรกิจ
แต่กิตติก็คือพ่อค้าพืชไร่ที่ซื้อมาขายไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเถ้าแก่ที่ยังคงติดยึดอยู่กับ
"วัฒนธรรมจีนบางอย่าง" ที่สืบทอดกันมาชั่วนาตาปี
นั่นก็คือ วัฒนธรรมที่ว่า เจ้าของทุนเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ดี หรือเป็นลักษณะที่เรียกว่า
TRANSITION ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่มั่นใจใน
"ความซื่อสัตย์ของคนอื่น"
จากการตรวจค้นเอกสารแต่ละบริษัทในกลุ่มสุ่นหั่วเซ้งที่กรมทะเบียนการค้า
"ผู้จัดการ" พบว่าส่วนใหญ่มีรายการขอเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการบริษัทถี่มากกว่าที่เคยเห็นมา
เพื่อให้คนของ "ดำเนิน ชาญวนิชย์" เข้าไปร่วมสังฆกรรมแทน โดยเฉพาะ
"โยธิน" กับ "ศิริวรรณ"
ขณะที่กิตติเคยพูดว่า "เสียดายที่ตนมีลูกน้อยไป ทำให้ไม่มีคนมากพอที่จะรองรับธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว"
ยิ่งเป็นจุดบ่งชี้ถึงผลึกทางความคิดของวัฒนธรรมจีนที่ว่า "ธุรกิจต้องอยู่ในมือของลูกหลานเท่านั้น"
อันเป็นจุดบอดของการพัฒนาประเทศของจีน นักสังเกตการณ์ที่ติดตามโครงสร้างของธุรกิจไทยวิเคราะห์ถึงจุดด้อยของพ่อค้าจีนที่ว่าแม้พยายามจะปรับองค์กรอย่างไรคงยาก
หากยังสลัดกรอบความคิดเก่าทิ้งไม่ได้
ความเป็นสากลขององค์กรธุรกิจนั้น ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า มีการติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศเท่านั้น
แต่หมายถึงโครงสร้างขององค์กรจะต้องกระจายอำนาจการบริหารและการเงินอันเป็นหลักบริหารสมัยใหม่
บางครั้งมือบริหารอาจจะเก่งกว่าลูกหลายของเจ้าของ แล้วเขาจะเอาลูกหลายเขาไปไว้ที่ไหน
ก็จะกลายเป็นการผสมทางสายพันธุ์ทางสมองที่แคระแกร็นมือบริหารเก่ง ๆ แม้จะได้เงินเดือนสูง
ๆ ถึงจุดหนึ่งมือบริหารเก่ง ๆ แม้จะได้เงินเดือนสูง ๆ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่มีใครอยากอยู่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดก็ตาม
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าพ่อค้าพืชไรมักจะค่อนข้างปิดตัว ส่วนหนึ่งมาจากรากเหง้าวัฒนธรรมจีนดังกล่าว
เพราะมีความคิดว่าควรจะติดต่อเกี่ยวข้องเฉพาะที่มีการตอบรับตอบแทนเท่านั้นและมักจะมองว่าคนนอกลุ่มของการซื้อขายสินค้ากันแล้ว
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปข้องแวะด้วย
การปรับตัวของนักธุรกิจพืชไร่กับนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมจึงต่างกัน ส่วนใหญ่นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมจึงต่างกัน
ส่วนใหญ่นักธุรกิจที่โตมาจากฐานอุตสาหกรรมจะปรับตัวได้ดีกว่า จุดอ่อนของเถ้าแก่พืชไร่ประการหนึ่ง
ก็คืออ่อนตัวระบบมวลชนสัมพันธ์ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็น เถ้าแก่พืชไร่บางราย
แม้จะโยกเข้ามาอยู่ในอุตสหากรรมปิโตรเคมีแล้ว และตั้งส่วนงานประชาสัมพันธ์ขึ้นมา
แต่ก็ล้มเหลว ภาพพจน์ที่ติดลบอยู่อย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้น เรพาะเบ้าหลอมแห่งความคิดที่ไม่กระจายอำนาจตัดสินใจยังคงติดแน่นนั่นเอง
อีกประการหนึ่งก็คือเถ้าแก่พืชไร่มักจะคิดวาเมื่อผูกติดกับกลุ่มอำนาจใดได้
และการมีเงินแล้วก็ซื้ออะไรได้ทุกอย่าง ทางทำมาหากินก็คงสดใสปลอดโปร่ง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนในระบบมวลชนสัมพันธ์หรือการสร้าง SOCIETAL
MARKETING อันเป็นการลงทุนด้านการตลาดเพื่อสังคม เป็นหัวใจสำคัญของการบริหาร
ทว่า การลงทุนด้านนี้ มิใช่ผลตอบแทนที่จะกลับคืนมาเป็นตัวเงิน หากเป็น "ภาพพจน์"
ที่ดี อันจะเป็นการสร้าง GOOD-WILL ที่สูงค่าให้แก่องค์กรด้วย
เมื่อวันที่ 13-14 เดือนที่แล้ว เป็นช่วงที่ "ผู้จัดการ" ไปเก็บข้อมูลที่สวนป่า
จากการสัมผัสส่วนต่าง ๆ ที่สำนักงานสวนกิตติและในสวนป่าทำให้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า
เขากำลังทำงานใหญ่แต่ขาดหัวใจสำคัญ คือ ระบบประชาสัมพันธ์ เพราะที่นั่นไม่ใช่จะมีแต่ชาวบ้านที่เข้ามาใช้แรงงานอย่างจริงใจ
หากเต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและการเมือง และมีท่าว่าจะมีปัญหายุ่งยากได้
แล้วความคิดที่กิตติเคยมั่นใจว่า ที่นี่จะไม่มีปัญหา เพราะซื้อที่ด้วยความเต็มใจของชาวบ้านก็มีอันต้องสูญสลายไปเมื่อกิตติถูกข้อหาบุกรุกป่าสงวน
ความปรารถนาดีของกิตติที่อยากจะสร้างฐานใหม่ให้เป็นยักษ์อินเตอร์ของประชาชน
แม้จะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหนุนอย่างพร้อมพรัก เดี๋ยวนี้ ได้กลับกลายเป็นลิ่มตอกสร้างแผลเหวอะหวะในหัวใจของกิตติอย่างฉกาจฉกรรจ์จนต้องจดจำไปตลอดชีวิต
ยักษ์อินเตอร์บนฐานป่ายูคาที่กิตติใฝ่ฝัน โดยหวังว่าจะมีลูก ๆ ช่วยกันอย่างแข็งขันถึงวันนี้
ยิ่งจะยากกว่าที่กิตติเคยพูดในช่วงที่ยังไม่มีปัญหาว่าเกิดยากไม่น้อย อีกหลายสิบเท่านัก
กลายเป็นงานอินเตอร์ที่อันตรายพอ ๆ กับการไต่ไปบนเส้นด้านที่ไม่รู้จะขาดผึงลงเมื่อไหร่