Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2533
จรินทร์ ติรชัยมงคล "ซีลี่" แห่งไทยเกรียงฯ             
โดย บุญธรรม พิกุลศรี
 


   
search resources

ไทยเกรียงปั่นทอฟอกย้อม, บมจ.
จรินทร์ ติรชัยมงคล




ขยัน ประหยัด อดออม อาจเป็นปรัชญาในการสร้างตัวสู่ความสำเร็จเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่ถ้าเอามาใช้ในภาวะปัจจุบัน อาจล้าสมัยไปแล้วก็ได้ ถ้าไม่เพิ่มคำว่าเปิดกว้างให้เกิดความรอบรู้ รอบด้าน ฉับไวต่อข่าวสารข้อมูล เพื่อความเฉียบคมในการตัดสินใจ และการบริหารงานทั้งด้านการตลาดและเทคโนโลยีจืองิ้ม แซ่เตีย หรือ จรินทร์ ติรชัยมงคล ที่พ่อค้าในย่านสำเพ็ง-พาหุรัดเรียกขานเขาว่า "ซีลี่" อันหมายถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งไทยเกรียง แต่คนทั่วไปน้อยคนนักที่จะรู้จักเขา น่าจะเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ได้ดีที่สุด

จรินทร์ ติรชัยมงคล ไม่ใช่คนประเภทคนจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองไทย บ้านเดิมของเขาที่อยู่ซัวเถานั้นจรินทร์เคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังเสมอว่าเขาเคยเป็นพ่อค้าใหญ่มาก่อนที่นั่น เพียงอายุได้ 18 ปีเขาก็เริ่มมีกิจการเป็นของตัวเองแล้ว

ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาเมืองไทย เพราะจำต้องหนีภัยรัฐบาลสังคมนิยม คณะพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุงนั้น เขาเป็นหนุ่มใหญ่อายุได้ 40 ปีมีครอบครัวลูกเต้าใหญ่โตพอสมควรแล้ว

"ก่อนที่ "ซีลี่" จะหนีออกมาจากเมืองจีนเคยบอกว่าท่านมีร้านขายของขนาดใหญ่ 4 คูหา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะใหญ่มากในเมืองจีนสมัยนั้น กิจการก็เป็นพวกนำเข้า-ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคพวกโถส้วม" ยงยุทธ ติรชัยมงคล ลูกชายของเขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังอีกต่อหนึ่ง

"สินค้าที่นำเข้าประเทศจีนในยุคก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่นั้นส่วนใหญ่เป็นพวกสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะจีนยังไม่สามารถผลิตสินค้าพวกนี้ใช้เองได้และสินค้าที่มีการส่งออกมาขายนอกประเทศนั้นจะเป็นสินค้าจำพวกผ้าไหมและถ้วยโถโอชาม" นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง

จรินทร์ ติรชัยมงคล ไม่สนใจไยดีที่จะพูดคุยเรื่องราวของเขากับสื่อมวลชนได้แก่ แม้แต่ "ผู้จัดการ"

"ซีลี่เป็นคนที่เก็บตัวมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนแล้วท่านบอกว่าถ้าบอกปัดไปได้ก็ให้บอกปัดไปเลย" ยงยุทธเล่าถึงพ่อของเขาอย่างตรงไปตรงมา

จรินทร์หนีออกมาจากแผ่นดินใหญ่ได้ หลังจากถูกจับไปลงโทษตามวิธีการของพรรคปฏิวัติเกือบปีเขาหนีออกมาพร้อมกับภรรยาเพียง 2 คนซึ่งขณะนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว แผ่นดินแรกของเขาคือเกาะฮ่องกง

เขาได้อาศัยอยู่ในฮ่องกงได้ไม่ถึงปี ซึ่งขณะนั้นได้มีการติดต่อกับชาวจีนในเมืองไทยอยู่ด้วยเพื่อจะข้ามทะเลเข้ามาในเมืองไทยในที่สุด

คนใกล้ชิดกับจรินทร์เองบอกว่า ชิน โสณพนิช เจ้าของธนาคารกรุงเทพได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือให้เขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้สำเร็จ ซึ่งขณะนั้นนายห้างชินหนีภัยการเมืองยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปอาศัยและไป ๆ มา ๆ ระหว่างฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย รอบ ๆ กรุงเทพฯ เพียงแต่เข้ามาในเมืองไทยไม่ได้ และชินก็เป็นที่กว้างขวางในหมู่คนจีนแถบนั้น เขาได้เคยให้ความช่วยเหลือให้คนจีนหลายคนเข้ามาในเมืองไทย

จรินทร์เป็นชาวจีนแคระ แต่ก็อยู่เมืองซัวเถาเมืองเดียวกันกับชินซึ่งเป็นแต้จิ๋ว

อย่างไรก็ตาม ยงยุทธ ติรชัยมงคล ลูกชายของเขาที่มาเกิดในเมืองไทยบอกว่าซีลี่ได้มารู้จักกับนายห้างชินหลังจากได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯแล้ว เพราะความที่เป็นคนจีนที่มาจากซัวเถาด้วยกัน

จุดนี้เป็นรอยต่อที่สำคัญต่อการเกิดขึ้นมาในวงจรธุรกิจในเมืองไทยของจองิ้ม แซ่เตีย หรือจรินทร์ ติรชัยมงคล และเมื่อประสบปัญหาก็สามารถเอาตัวรอดพ้นมาจากการเกือบจะกลายเป็นคนล้มละลายมาได้จนถึงปัจจุบัน

ชิน โสภณพนิช ช่วยให้เขาได้เกิดขึ้นมาเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้า นับตั้งแต่เริ่มกิจการก็เป็นลูกค้าธนาคารกรุงเทพมาตั้งแต่บัดนั้น เมื่อถูกบรรดาเจ้าหนี้กว่า 20 รายจะรุมกินโต๊ะก็ได้ชินกระโดดเข้าช่วยอุ้มชูทั้งด้วยบารมีและเงินทุนจากธนาคารช่วยเหลือ

คนที่รู้จักจรินทร์ดีมากกว่า 10 ปีบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ามีอยู่ 3 กรณีเท่านั้นที่เขาเห็นซีลี่ของเขาถึงกับหลั่งน้ำตาร้องไห้คือ หนึ่ง เมื่อเกิดไฟไหม้โรงงานของเขา สอง พนักงานในโรงงานเดินขบวน และสาม เมื่อนานห้างชินป่วยหนักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตไปในที่สุดเมื่อต้นปี 2531 ที่ผ่านมา

"อีเป็นเพื่อนกันกับอั๊วมานาน เราโตมาพร้อม ๆ กัน อีช่วยเหลืออั๊วมาตลอด แต่อีกต้องมาตายไปก่อนเสียแล้ว" ซีลี่แห่งไทยเกรียงพูดถึงการตายของชินด้วยน้ำตานองหน้ากับคนใกล้ชิด

ยงยุทธ ติรชัยมงคล ลูกชายของเขาบอกว่า จรินทร์มาอยู่เมืองไทยแรก ๆ ก็รับจ้างเป็นเสมียนร้านขายของให้คนอื่นก่อน แต่ทำได้ไม่ถึงปีก็รวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งกิจการโรงงานทอผ้าขึ้นมาที่พระประแดง ซึ่งตามปีปฏิทินที่จะทะเบียนบริษัทไทยเกรียงการทอขึ้นมานั้นคือปี 2503

นั่นหมายความว่า จืองิ้ม แซ่เตีย หรือจรินทร์ ติรชัยมงคลนั้น ได้เข้ามาอยู่เมืองไทยในต้น ๆ ปี 2502 ซึ่งขัดกับปีเกิดของยงยุทธที่เขาบอกว่าเกิดที่เมืองไทยเมื่อปี 2497 หรือจรินทร์อาจเข้ามาเมืองไทยก่อนนั้นแล้วก็ได้ ถ้าข้อมูลตรงนี้ของยงยุทธ์ไม่ผิด

ยงยุทธบอกว่าตัวเขาและน้องชายของเขาที่ชื่อยงเกียรติ ติรชัยมงคล ได้มาเกิดที่เมืองไทย ส่วนพี่ชายที่ชื่อ ยงสิน กับยงสิทธิ ติรชัยมงคล เกิดที่เมืองจีนแต่ได้ตามพ่อเข้าอยู่ที่เมืองทีหลัง หรือประมาณปี 2510 ส่วนพี่ ๆ อีก 3 คนของเขาที่ออกมาเมืองจีนได้นั้น ได้อาศัยอยู่ที่ฮ่องกงจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นผู้หญิงด้วยคนหนึ่ง ส่วนอีก 2 คนหญิงชายยังอยู่ที่เมืองจีนจนทุกวันนี้

"ครอบครัวของเรามี 9 คน" ยงยุทธกล่าว

ยงยุทธบอกว่าพ่อของเขาเป็นคนอดทน ขยัน ประหยัด และซื่อสัตย์สุจริต จึงทำให้ได้รับความเชื่อถืออย่างมากจากเจ้าของธนาคารทั้งหลายในเวลานั้น โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพในยุคนั้นพูดได้ว่าให้เครดิตแก่พ่อของเขาอย่างไม่อั้นทีเดียว

พูดถึงความขยันอดทนของจรินทร์เป็นที่ขึ้นชื่อว่า เป็นคนที่ทำงานหนักมาก และเป็นคนที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัดในเวลาทำงาน ตรงต่อเวลา แม้แต่ยามจะกินข้าวก็จะต้องให้ตรงชนิดที่ขาดเกินแม้แต่หนึ่งนาทีก็ผิดปกติไปแล้ว

ที่ห้องกินข้าวในโรงงานที่เขาจัดไว้เลี้ยงสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของเขาจะมีป้ายแขวนไว้ว่า "แม่ครัวกำลังเตรียมกับข้าว" ในเวลาเที่ยงตรงพอดีและจะไม่มีใครย่างก้าวเข้าไปเด็ดขาดในเวลานั้นและเที่ยวห้านาทีจะมีป้ายใหม่ยกขึ้นแขวนแทนเพื่อบอกว่า "อาหารพร้อมแล้ว" ทุกคนก็จะมาพร้อมกันที่หน้าประตู

ความประหยัด และเอางานของเขาส่งผลมาถึงลูกน้องในระดับบริหารที่ใกล้ชิดเขาเกือบจะทุกคน เจ้าหน้าที่บริหารโร'งานตั้งแต่หัวหน้าขึ้นไปถึงผู้จัดการโรงงานมักจะใช้โรงงานเป็นที่นอน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการทำงาน และเป็นการประหยัดไปอีกรูปแบบหนึ่ง

หลายคนบอกว่าจรินทร์เป็นคนที่อดทนและมีความสุภาพบุรุษสูง คนใกล้ชิดของเขาที่รู้เรื่องดีในระหว่างที่บรรดาเจ้าหนี้จะเข้ามายึดโรงงาน จรินทร์ไม่ยอมโต้เถียงอะไรเลยแม้แต่คำเดียว ตลอดเวลาเขาต้องใช้ความอดทนมาตลอด 10 กว่าปี แม้บางครั้งบรรดาคณะกรรมการบริษัทที่เป็นของเจ้าหนี้ออกนโยบายที่ขัดกับความรู้สึกของเขาอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องการขยายการผลิต

ว่ากันว่าหุ้นที่ทางเจ้าหนี้ยึดไปตอนเข้ามาใหม่ ๆ เมื่อเขาไถ่ถอนหนี้คืนหมดแล้วและให้ผู้ถือหุ้นซื้อคืนนั้น เขาใช้เงินบริษัทซื้อคืนทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่ให้เดือดร้อนหุ้นส่วนของเขาเลย และก็คืนให้แต่ละคนตามสัดส่วนที่ทุกคนมีอยู่ เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างเท่าเทียมกัน

"ท่านบอกว่าท่านคงนอนตายตาไม่หลับแน่ ๆ ถ้าหากว่าการคืนหุ้นบางคนอยากจะให้แต่ละคนซื้อคืนเองตามกำลังของแต่ละคน ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีกำลังพอที่จะเข้าสู่เพื่อรักษาสัดส่วนของตัวเอง" อดีตคนใกล้ชิดคนหนึ่งของจรินทร์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในขณะที่คนใกล้ชิดกับจรินทร์อีกคนหนึ่งบอกว่าจรินทร์เก่งมากทางด้านการค้าและการแสวงหากำไร แต่ออกจะเหนียวมากไปหน่อยสำหรับลูกน้อง

แหล่งข่าวคนเดียวกันบอกว่าจรินทร์เป็นคนที่คิดเลขพวกนี้ แต่เขาบอกว่าจรินทร์นั้นคิดเร็วกว่า "ต้นทุนเท่าไหร่ ซื้อจำนวนเท่าไหร่จึงจะลดราคาให้ได้เท่าไหร่แล้วจะเหลือกำไรเท่าไหร่ซีลี่ใช้เวลาคิดไม่ถึงนาทีก็เรียบร้อย" เขากล่าว

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นพ่อค้าที่เก่งอย่างหาตัวจับยากของจรินทร์ โดยเฉพาะความเป็นพ่อค้าในระดับตลาดสำเพ็งและพาหุรัด ยงยุทธบอกว่าถ้าเป็นการค้าระหว่างประเทศแล้วพ่อเข้าไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเรื่องภาษามีเรื่องจำกัดมากไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ครั้นจะหาคนมาช่วยก็เป็นเรื่องที่ไว้ใจกันลำบาก

"เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตลาดต่างประเทศของเราสัดส่วนยังค่อนข้างต่ำ" ยงยุทธกล่า

หรืออาจจะเป็นเพราะว่าจรินทร์ไม่มีความเป็นนักอุตสาหกรรม นอกเหนือไปจากความเป็นพ่อค้าธรรมดา ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง

จรินทร์ให้ความสนใจในการลงทุนเพื่อพัฒนาคน การสร้างคนขึ้นมาทดแทนงานหรือขยายงานการพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงานเพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน กระทั่งเรื่องระบบการบริหารงานภายในก่อนที่ธนาคารจะเข้ามาค่อนข้างน้อยมาก ๆ

"เรื่องพรรค์อย่างนี้ซีลี่เขาใช้เวลาคิดนาน บางทีบอกไปแล้วก็ลืมไปเสียเฉย ๆ " แหล่งข่าวในโรงงานบอก

จรินทร์เพิ่งจะมารู้ตัวและเตรียมการในเรื่องนี้เมื่อบรรดาเจ้าหนี้ถอยออกไปและมองดูคนอื่น ๆ ที่เกิดมาพร้อม ๆ กับเขาทิ้งห่างตัวเองไปมากแล้วสันติ เรื่องวิริยะ อดีตผู้จัดการโรงทอของเขาที่ไปอยู่กับสหยูเนี่ยนนานถึง 12 ปีในระหว่างเจ้าหนี้เข้ามาดำเนินการได้นำคำบอกเล่าถึงความสำเร็จใสนการบริหารและการจัดการของกลุ่มสหยูเนี่ยนว่าเขาทำอย่างไร

"สำหรับสหยูเนี่ยนการพัฒนาคนถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนางาน คุณดำหริเคยพูดเสมอว่าคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กรไม่ว่าเขาจะอยู่ระดับไหนก็ตาม" สันติ เรืองวิริยะ ซึ่งกลับเข้ามารับใช้นายเก่าอีกครั้งหนึ่งในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานคนใหม่พูดสะท้อนถึงสิ่งที่เขาได้มาจากสหยูเนี่ยนในเวลา 12 ปีที่เขาอยู่ที่นั่น

ปีนี้จรินทร์ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 2 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนแผนการพัฒนาคนของไทยเกรียงตามที่สันติดเสนอโดยไม่โต้แย้งแต่คำเดียว

ฉะนั้นถ้ามองกันในระยะยาวแล้ว จรินทร์ยังเสียเปรียบอยู่มากในภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งในประเทศและนอกประเทศอย่างเช่นปัจจุบัน

ซึ่งต่างกับ สุกรี โพธิรัตนังกูร แห่งกลุ่มทีบีไอ ซึ่งเกิดขึ้นในวงการสิ่งทอในเวลาไล่ ๆ กัน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นนักอุตสากรรมสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือ ดำหริ ดารกานนท์ แห่งกลุ่มสหยูเนี่ยนซึ่งต่างก็ทุ่มเงินลงไปเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาด โดยเฉพาะในด้านการตลาดนั้น ทั้งสองต่างก็ทุ่มลงไปกับการขยายตลาดต่างประเทศอยางมากทั้งประเทศที่มีโควตาและไม่มีโควตาเพื่อให้ได้เครือขายและสิทธิทางการค้าให้มากที่สุด แม้ว่าในระยะเริ่มต้นจะขาดทุน

ส่วนจรินทร์ ติรชัยมงคล ก็ยังเหมือนพ่อค้าคนจีนทั่ว ๆ ไปที่มองตลาดอยู่เพียงสำเพ็ง-พาหุรัด หรือย่านชายแดนพม่า ลาว และเขมร ต่างกับสุกรี และดำหริ ที่ขายไปทั่วโลก

ที่ผ่านมาจรินทร์ยังติดอยู่กับรูปแบบเข้าเก่าเต่าเลี้ยงมากกว่าที่จะหาคนเก่ง ๆ เข้ามาช่วยงาน คนที่ช่วยงานเขาคือคนเก่าคนแก่ที่อยู่กับเขามาเป็นเวลานานนับ 10 ปี แ ละก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่างเทคนิคนั้นทุกวันนี้ แม้จะตั้งโรงงานมาแล้วถึง 30 ปีก็ยังใช้บริหารจ้างช่างจากไต้หวันมาช่วยดุแลอยู่

บางคนบอกว่ามันเป็นทฤษฎีการค้าของคนจีนสมัยเก่าที่เชื่อว่าใช้คนเก่าดีกว่าคนใหม่ ซึ่งไม่ต้องเป็นคนเก่งมา แต่ขอให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดี โดยมีความเชื่อกันว่าเป็นการอุดรอยรั่วได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการตัดคู่แข่งไม่ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยที่สำคัญคือสามารถประหยัดต้นทุนไปได้อีกทางหนึ่ง

ซึ่งแตกต่างกับทฤษฎีการบริหารงานสมัยใหม่ชนิดหน้ามือกับหลังมือ แต่จรินทร์ก็มีความเชื่อถือศรัทธาในทฤษฎีนี้อย่างเหนียวแน่น และมันก็ได้กลายเป็นจุดอ่อนของเขาอย่างมากในเวลาต่อมาซึ่งส่งผลถึงทายาททางธุรกิจของเขาด้วย

ในความเป็นพ่อค้าของเขานั้น เป็นที่เล่าขานกันมากกว่า จรินทร์เป็นคนที่มองตลาดได้เร็ว โดยเฉพาะราคาฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสิ่งทอนั้นก็เคยทำกำไรให้เขาอย่างมากเหมือนกัน ช่วงไหนที่ราคาฝ้ายในตลาดลดลงมาก ๆ จรินทร์จะกว้านซื้อไว้ในโกดังจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนมันต่ำเมื่อเวลาฝ้ายมันขึ้นราคา

จรินทร์เคยพูดกับใครต่อใครถึงความเก่งของเขาเสมอว่าสต็อกฝ้ายของเขานั้นไม่เคยขาด แม้ในยามที่ฝ้ายจะขาดตลาดอย่างแสนสาหัส แต่โรงงานของเขาก็ยังมีฝ้ายผลิตได้ตลอดทั้งปี และหลายครั้งก็เคยทำกำไรอย่างมหาศาลเมื่อเขาเทออกขายในช่วงที่ราคามันขึ้นสุดขีด ซึ่งบางครั้งก็ได้กำไรถึง 80-90 ล้านบาท

การที่เขาตุนฝ้ายไว้ในโกดังอันจำกัดหลายครั้งก็ทำให้เกิดไฟไฟม้โกดังของเขาบ่อย ๆ จนกลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันมาในปัจจุบัน บางคนรู้จักไทยเกรียงก็เพราะเกิดเหตุไฟไหม้บ่อย ๆ นี้นี่เอง บริษัทประกันภัยถึงกับไม่กล้าที่จะรับประกันภัยโกดังของเขาอีกต่อไป

"หรือถ้าจะให้รับประกันก็ต้องขอขึ้นเบี้ยประกันจากเกณฑ์ปกติ 30% หรือขอรับเสี่ยงความเสียหายเพียง 70% ของทุนประกัน" ข้อเสนอของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งที่ส่งถึงบริษัทไทยเกรียงฯระบุไว้เช่นนี้

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นจรินทร์ในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกในการทำธุรกิจการค้าในยุคปัจจุบัน

มุมมองธุรกิจของ จรินทร์ ติรชัยมงคล ยังไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักในช่วงที่ทางเจ้าหนี้เขาเข้ามาควบคุมกิจการ หรือเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารงานแม้ว่าระบบโดยส่วนใหญ่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาจรินทร์ก็ยังคงเป็นจรินทร์อยู่เช่นเคย แต่ลูกน้องของเขาอีกคนหนึ่งบอกว่าจริง ๆ แล้วจรินทร์พยายามอย่างยิ่งที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้มันเติบโตขึ้นมา แต่เจ้าหนี้ไม่เอาด้วย เพราะเจ้าหนี้มีนโยบายเพียงขอให้ได้หนี้คืนจนหมด ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ไทยเกรียงมันเจริญเติบโต

แล้ววันนี้ วันที่ไม่มีพี่เลี้ยงเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างเคย จรินทร์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรโดยเฉพาะการสืบทอดโครงสร้างอำนาจบริหารทางธุรกิจ

วันนี้ จรินทร์ ติรชัยมงคล ได้ล่วงเลยวัน 70 ไปแล้วหลายเดือน สุขภาพของเขาไม่ค่อยจะสู้ดีนักเขาบอกกับคนใกล้ชิดเสมอว่าตาของเขาข้างหนึ่งนั้นใช้การไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่มรสุมรุมกระหน่ำธุรกิจของเขานั้น ตัวเขาเองก็ถูกโรคร้ายเกาะกินอย่างแสนสาหัส เขาป่วยเป็นโรคเบาหวานต้องเข้านอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่าเดือนจึงได้ออกมาได้

แม้วันนี้ฝันร้ายทางธุรกิจของเขาจะผ่านพ้นไปด้วยดีเมื่อเวลา 10 กว่าปีได้ผ่านล่วงเลยไป หนี้ทุกบาททุกสตางค์ได้ไถ่ถอนกลับคืนมาหมด ดูสุขภาพของเขามะมัดทะแมงมากขึ้น แต่เจ้าตัวก็พูดกับคนใกล้ชิดอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้ไว้ใจเจ้าโรคร้ายนั่นเท่าไหร่หรอก ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงทำงานหนัก ดูแลเรือ่งการค้าการขายด้วยตัวของเขาเองเกือบจะทุกอย่าง เว้นแต่ด้านโรงงานที่เขาไม่ค่อยยุ่งนัก ปล่อยให้สันติดเป็นคนดูแลทั้งหมด

จรินทร์ ติรชัยมงคล มีลูกชายอยู่ 4 คนที่อยู่ในเมืองไทย แต่ว่าแต่ละคนก็เพิ่งจะเข้ามาเรียนรู้การบริหารงานภายในโรงงาน และบริษัทเมื่อบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเตรียมตัวจะถอนตัวกลับออกไปเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง

เมื่อเจ้าหนี้ออกไปหมดแล้วอย่างเช่นวันนี้ ลูกชายของเขาบางคนก็ยังทำงานไม่ได้ดังใจเขาดีนักเพราะจรินทร์เป็นคนใจร้อน ทำอะไรจะต้องรวดเร็วในขณะที่ลูก ๆ เรียนรู้งานยังไม่คล่องพอจึงรับลูกไม่ค่อยจะทัน แล้วในที่สุดก็โดยต่อว่าเหมือนเด็ก ๆ เป็นประจำ

ยงสิน ติรชัยมงคล ลูกชายซึ่งอายุมากที่สุด (44 ปี) ของเขาก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้าเป็นกรรมการบริษัทเมื่อไม่นานมานี้

แม้ยงสินจะเคยทำงานกับพ่อเขามาเป็นเวลานาน แต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา ๆ กำลังจะเรียนรู้และรับช่วงช่วยเหลือด้านการบริหาร บรรดาเจ้าหนี้ก็กรูกันเข้ามาเสียก่อน แต่ในเรื่องการค้าหรือสายสัมพนธ์กับลูกค้าในประเทศยงสินค่อนข้างจะได้เปรียบลูกคนอื่น ๆ ที่เขาได้เรียนรู้จากพ่อค่อนข้างมาก

จุดอ่อนของยกสินก็เห็นจะเป็นเรื่องความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหาร โดยเฉพาะในโรงงานซึ่งมีคนงานกว่า 4,000 คน และก็เป็นคนงานระดับผู้ใช้แรงงาน ที่มีทักษะต่ำ มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนในการต่อเรื่องผลประโยชน์ที่ค่อนข้างแข็งนั้นยงสินไม่ค่อยได้เข้าไปสัมผัสเลยก็ว่าได้

ยิงสิทธิ ติรชัยมงคล น้องชายของยงสินก็มีเส้นทางการเติบโตขึ้นมาไม่แตกต่างอะไรมากมายนักกับยงสิน ซึ่งคาดกันว่าเขาจะได้รับแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นให้เข้าเป็นกรรมการของบริษัทในเร็ว ๆ นี้ แต่ตำแหน่งบริหารในบริษัทยังไม่มีเครื่องบ่งชี้เลยว่าจะให้เขาลงที่จุดไหน

ยงยุทธ ติรชัยมงคล ซึ่งเชื่อกันว่าจรินทร์จะให้เขาขึ้นนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการแทน ปีนี้ยงยุทธอายุเพียง 33 ปี แต่ก็เป็นคนที่มีความรู้ระดับปริญญาตรีจากต่างประเทศ (UNIVERSITY OF TORONTO) เขาเข้ามาทำงานในบริษัทช่วยพ่อและเรียนรู้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่ปี 2525 ในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของบรรดาเจ้าหนี้ จรินทร์พยายามอย่างมากที่จะให้ยงยุทธเรียนรู้งานการบริหารภายในบริษัทและโรงงานแต่ด้วยข้อจำกัดในการตัดสินใจตาง ๆ ที่ถูกควบคุมโดยธนาคารและพ่อของเขาเองทำให้ยงยุทธเรียนรู้งานได้ค่อนข้างช้ามาก

ปัจจุบันยงยุทธได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการผู้จัดการเป็นตำแหน่งบริหารประจำ ซึ่งก็ไม่ได้มีงานอะไรให้ทำมากมายนักในแต่ละวัน

ยงยุทธยังมีความเป็นคนจีนอยู่สูง ระบบคิดเกี่ยวกับด้านการบริหารการจัดการยังค่อนข้างสบสนและมีความเกรงกลัวผู้เป็นพ่อค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมจีนที่ยังผังแน่นอยู่กับครอบครัวนี้

ยงเกียรติ ติรชัยมงคล ปีนี้เขาอายุ 30 ปีพอดีเป็นลูกชายเคนเดียวที่มีความรู้และประสบการณืค่อนข้างดีกว่าคนอื่น ๆ เป็นคนนิ่มและมีความคิดเป็นระบบเช่นนักบัญชีทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุทางการบริหารเสียก่อน เขาน่าจะเป็นทายาทที่น่าจับตามองของไทยเกรียงทีเดียว

ยงเกียรติจบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 2 ปริญญาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (AMERICAN UNIVERSITY USA และ B.S. IN COMPUTER SCIENCE UNIVERSITY OF OTTAWA) เขาเคยทำงานอยู่กับ AMERICAN COUNCIL ON EDUCATION USA เป็นเวลาครึ่งปี ก่อนที่จะเข้ามาเมืองไทยและทำงานกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย (THAI SHELL EXFLORATION & PRODUCTION) เป็นเวลา 3 ปี และย้ายเข้ามาทำงานกับกิจการของครอบครัวเมื่อปลายปี 2531 หลังจากที่ธนาคารเจ้าหนี้เตรียมตัวจะออกไปแล้ว

ปัจจุบันเกรียรติได้รับความไว้วางใจให้เข้าเป็นกรรมการบริษัทด้วยคนหนึ่ง และมีตำแหน่งบริหารเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน กับผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ควบ 2 ตำแหน่ง

สิ่งที่ยงเกียรติยังขาดอยู่อย่างมากนั้นคือ ประสบการณ์ในด้านการค้าและการบริหารงานโรงงานซึ่งมีพนักงานกว่า 4,000 คน อย่างไรก็ตาม ยงเกียรติได้ถูกกำหนดจากผู้เป็นพ่อว่าให้เริ่มเข้าฝึกงานกับสันติในโรงงานบ้างแล้วในขณะนี้ แต่ยงเกียรติไม่มีเวลาเอาเสียจริง ๆ เพราะกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมข้อมูลเสนอตลาดหลักทรัพย์ฯให้ทันกำหนดที่ตั้งไว้ในกลางปีนี้

ยงยุทธพูดถึงน้องชายคนนี้ของเขาว่าถ้าหากว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายจะมอบหมายให้ยงเกียรติขึ้นคุมการบริหารแทนผู้เป็นพ่อ พี่ชายอย่างเขาก็ยินดีที่จะหลีกทางให้

เพราะมองในระยะยาวแล้วยงเกียรติน่าจะเป็นคนที่มีภาษีดีกว่าเพื่อนในบรรดาพี่อน้องด้วยกัน

แต่จนถึงวันนี้ จรินทร์ ติรชัยมงคล ก็ยังไม่ได้ถ่ายทอดอำนาจของเขาให้ใคร ดูเหมือนเขาเองก็คงจะรู้ดีกว่าทายาทของเขาแต่ละคนนั้นมีศักยภาพจำกัดอยู่แค่ไหนเพียงใด และหนทางที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นบริษัทมหาชนแล้วหามืออาชีพมาบริหารกันจริง ๆ จัง ๆ นั้นก็เป็นหนทางหนึ่งของเขาที่จะต้องทำให้กิจการนี้อยู่รอดไปได้ในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us