The Four DARK DAYS ของตลาดหุ้นไทยคือวันที่ 9-12 มกราคม 2533 เมื่อราคาตลาดหุ้นไทยมีอาการแกว่งอย่างสวิงสุดเหวี่ยง
เปิดฉากการไต่ราคาที่สูงสุดเหยียดตอนเปิดตลาดแล้วตกติดพื้น ตอนปิดตลาดเป็นการไล่ซื้อแล้วทุบราคาของกลุ่มนักปั่นราคา
เพื่อเก้งกำไรหุ้นในตลาดที่ว่ากันว่าตลอดช่วงปีใหม่เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมาก
การไต่ราคาของดัชนี ตลาดหุ้น (SET INDEX) ที่ทะลุ 900 จุดอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดหมายเป็นประจักษ์พยานถึงความหมายนี้ชัดเจน
ขณะที่นักปั่นราคาหุ้นในตลาดกำลังทำงานกันอย่างสนุกมือนั้นการ "ช็อก"
ในตลาดก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ชาวไทยซับโบรกเกอร์ของกลุ่มพี่น้อง
"บูลกุล" ถูกทางการและตลาดหลักทรัพย์ฯเล่นงาน สั่งห้ามซื้อขายหุ้นอย่างไม่มีกำหนดพร้อมเข้าดำเนินการสอบสวนผู้บิรหารและฐานะรวมถึงลูกค้าของบริษัทในข้อหามีพฤติกรรม
"ปั่นหุ้น" เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่เพิ่งพ้นมานี้
บริษัทหลักทรัพย์ชาวไทย ผู้ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มพี่น้อง "บูลกุล"
ซึ่งมาชานลี น้องชายต่างมารดาของศิริชัย บูลกุล ถือหุ้นอยู่ 20% ในนามบริษัท
เอ็ม.ซี.แอล และศุภชัย, ร.ท.วันชัยฯ บุญครอง โชคชัย, ศิริชัย แห่งสกุล "บลูกุล"
ถือรวมกันประมาณ 32%
บริษัทแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาพร้อมกับการเฟื้องฟูของกลุ่มธุรกิจ
"มาบุญครอง" ของตระกูล "บูลกุล" ที่มีศิริชัย เป็นหัวหอก
เมื่อสมัยก่อนตลาดหุ้นไทยจะ CRASH ในกรณีราชาเงินทุนเมื่อปี 2522 เล็กน้อย
เมื่อเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่สั่งซื้อขายหุ้นมาบุญครองฯ ในตลาด จนราคาพุ่งสูงระดับ
400 บาทในวันแรกที่เข้าตลาด จนถึง 1,648 บาท ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
ยังไม่มีใครสามารถบอกตัวเลขหนี้สินที่เกิดจากการถูกสั่งห้ามการซื้อขายหุ้นของบริษัทชาวไทยในขณะนี้
ได้ถูกต้องมีเท่าไรกันแน่เพียงแต่คาดหมายเชิงประมาณการว่าน่าจะอยู่ในราว
ๆ 800-1,000 ล้านบาท
วิโรจน์ นวลแข นายกสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า
บริษัทชาวไทยมีเจ้าหน้าที่เป็นโบรกเกอร์อยู่ 8 ราย และซับโบรกเกอร์อยู่ 2
ราย ในจำนวนเจ้าหน้าเหล่านี้ประกอบด้วย บงล.ภัทรธนกิจ นวธนกิจ จีเอฟ นครหลวง
นครหลวงเครดิต สหธนกิจไทย มิตรไทยยูโรพาร์ทเนอร์ และไทยฟูจิ
"การเคลียร์หนี้สิน คงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้แต่ละรายกับทางบริษัทชาวไทยคงต้องจัดการกันเอง
เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละรายแตกต่างกัน" วิโรจน์กล่าว อย่างไรก็ตามคงไม่ยืดเยื้อในปัญหานี้เนื่องจากเจ้าหนี้ทุกรายมีใบหุ้นของบริษัทหุ้นต่าง
ๆ ที่บริษัทชาวไทยสั่งซื้อและขายถือเป็นหลักประกันอยู่
ยังไม่มีผู้ใดสามารถกล่าวออกมาในเชิงมั่นใจต่ออนาคตราคาหุ้นในตลาด ว่าจะทะยานถีบตัวสูงขึ้นไปอีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้
"ช่วงนี้สถานการณ์ราคาในตลาดหุ้น เป็นระยะการปรับตัวทางเทคนิค (TECHNICAL
CORRECTION) ยังบอกไม่ได้ว่าราคาจะลงลึกหรือตื้นแค่ไหน ถ้าดัชนีขึ้นไปถึง
905 จุด น่าจะเป็นระยะทดสอบ ถ้าผ่านไปได้ก็คงจะไปได้ดี แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็น่าจะลงลึก"
นักลงทุนรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ขณะเขียนต้นฉบับดัชนีราคาหุ้นอยู่ที่
897 จุด
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากบริษัท HOAR GOVETTS ได้กล่าวว่า มองในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังคงไปได้ดี
ดัชนีราคาตลาดปีนี้น่าจะไปได้ไกลถึง 1,200 จุดแน่นอน
ปัญหาหนี้สินของบริษัทชาวไทยที่มีต่อเจ้าหนี้ก็คงจะไม่ยืดเยื้อถ้าดัชนีราคายังไปได้สวย
แต่ถ้าผลเป็นตรงข้าม บรรดาเจ้าหน้าที่ยึดไปหุ้นที่บริษัทชาวไทยสั่งซื้อขายผ่านก็คงต้องตัดบัญชีหนี้สูญในส่วนขาดทุนแน่นอน