|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
*เผยทำเลเสี่ยงจมบาดาล นำโดยพื้นที่ฝั่งตะวันออก เริ่มจากหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา รามคำแหง ลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ หลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ
*สนน.ลุยขุดลอกคูคลองทั่วกรุงฯ พร้อมทั้งเร่งก่อสร้างแก้มลิงรอบทิศทาง หวังแก้ปัญหาระยะยาว
*เปิดกลยุทธ์แก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำรอบกรุงฯกว่า 600 เครื่อง ใน 287 แห่ง
ปัญหาน้ำท่วมขังเป็นปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)หาแนวทางป้องกันน้ำท่วมมาตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้สักที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศเดินหน้าก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่รู้ว่า บริเวณที่ตั้งของสนามบินเป็นบริเวณที่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย และเมื่อมีการก่อสร้างสนามบิน จึงทำให้ไปขวางทางน้ำไหลออกสู่ทะเล จนที่เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่มากขึ้น และเป็นเวลานานมากขึ้นด้วย
โดยเฉพาะบริเวณโซนตะวันออกของกรุงเทพฯที่เกิดปัญหาเกือบทุกพื้นที่ เริ่มจากเขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา รามคำแหง ลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น หลังจากที่เริ่มก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หากเกิดน้ำท่วมน้ำจะลดลงในเวลาไม่นานเท่าทุกวันนี้
“น้ำท่วมขังไม่เพียงแค่ทำให้ปัญหาจราจรเป็นอัมพาต การเดินทางสัญจรไม่สะดวกเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวม บ้านเรือนได้รับความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ รวมถึงอาจจะเกิดปัญหาโรคระบาดตามมาหลังจากที่น้ำลดลง”
สัญญา ชีนิมิตร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกทม.(สนน.) เปิดเผยว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำระบบเปิดทางน้ำไหลในคูคลองรอบกทม. และขุดลอกคลองที่ตื้นเขินและมีเศษขยะอุดดันท่อระบายน้ำ รวมถึงได้เตรียมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่และแบบติดตั้งจำนวน 637 เครื่อง เพื่อติดตั้งรอบกทม. 50 เขต จำนวน 287 จุด เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ หากเกิดน้ำท่วมขังแบบฉับพลัน ซึ่งจะสามารถสูบน้ำได้ถึง 501.93 ลบ.ม.ต่อวินาที
ขณะเดียวกัน ได้เร่งก่อสร้างแก้มลิงเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำรวม 21 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เช่น แก้มลิงมักกะสัน แก้มลิงพล.ม.2 แก้มลิงสนามชัย-มหาชัย เป็นต้น เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะรองรับปริมาณน้ำฝนซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 50-100 ซม.และสามารถรองรับน้ำฝนได้ถึง 12 ลบ.ม. ทั้งนี้ หากแก้มลิงบริเวณบึงสะแกงามและแก้มลิงของเอกชนแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณได้มากกว่า 3 แสนลบ.ม.
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างแก้มลิงนั้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อสร้างเสร็จเกือบทั้งหมด เหลือเพียงแก้มลิงที่มาหาชัย-สนามชัยและแก้มลิงสะแกงาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ส่วนแก้มลิงหลายแห่ง อาทิ แก้มลิงมักกะสัน แก้มลิงพระราม9 แก้มลิงหนองนอน แก้มลิงทรงกระเทียม แก้มลิงบึงกุ่ม แก้มลิงสนามกอล์ฟรถไฟฟ้า แก้มลิงตาเกตุ แก้มลิงกองพลสนามม้าที่2. แก้มลิงกองพัน 1 ร.อ. แก้มลิงเรือนจำคลองเปรม แก้มลิงข้างร.พ.บูรฉัตรไชยากรณ์ แก้มลิงเสือดำ แก้มลิงปูนซิเมนต์ไทย แก้มลิงเอกมัย แก้มลิงสวนสยาม แก้มลิงสีกัน ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว
“พื้นที่เสี่ยงหรือจุดอ่อนที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนั้น มีทั้งหมด 270 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีบางจุดที่กทม.เข้าไปดำเนินการปรับปรุงแล้ว และทำให้มีปริมาณน้ำท่วมขังลดลง ส่วนพื้นที่เสี่ยงในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับการขยายเมืองในแต่ละพื้นที่ เช่น การก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรของภาคเอกชนในช่วงที่มีการถมที่ อาจไปขวางทางน้ำ และอาจเกิดปัญหาพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังได้ ซึ่งทางกทม.จะเฝ้าระหว่างพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว”สัญญากล่าว
สำหรับแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากบางเขนถึงบางนา ระยะทาง86 กม.ทางสนน.ได้ดำเนินการกั้นแนวป้องกันน้ำท่วมอย่างถาวรประมาณ 77 กม. โดยปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเป็นระยะทาง 62 กม. ส่วนที่เหลือประมาณ 15 กม.นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2553 ซึ่งในเบื้องต้นได้จัดวางกระสอบทรายกั้นแนวดังกล่าวในระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง
เปิดทำเลเสี่ยงน้ำท่วม
จุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีประมาณ 7 แห่ง ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก ประกอบด้วย บริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 62 ถึงสุดเขตกทม. ถนนพัฒนาการ บริเวณสี่แยกศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ ช่วงหน้าศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ถนนลาดพร้าวตั้งแต่คลองจั่นถึงสี่แยกบางกะปิ ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่หน้าศาลอาญาถึงห้างโบบินสันรัชดาภิเษก ถนนพหลโยธิน บริเวณสนามเป้า ตลาดอตก.และถนนพระราม6 ช่วงโรงเรียนสามเสน โดยเบื้องต้นทางสนน.ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกในช่วงที่มีน้ำขังรวมถึงการขุดลอกคลองในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้รองรับน้ำได้มากขึ้น
“ทั้งกทม.และสนน.ได้เร่งดำเนินการป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคคลากร อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เช่น กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ส่วนพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่นอกเหนือการดูแลของกทม. และเป็นหน้าที่ของจังหวัดสมุทรปราการที่จะต้องดูแลบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม” สัญญากล่าว
ในปีที่ผ่านมากทม.มีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำกว่า 30 แห่ง เช่น เขตวังทองหลาง แจ้งวัฒนะ รามคำแหง พื้นที่ฝั่งตะวันออก รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่หลายชุมชนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในปีที่ผ่านมา กทม.ได้ขุดลอกคูคลองกว่า 56 คลองทั่วกทม. เพื่อระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ในปีนี้จะมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังลดลง แต่เพื่อไม่ประมาทกทม.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการรับมือกับปริมาณฝนได้อย่างเพียงพอ
ส่วนแผนการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ กทม.แบ่งพื้นที่ดูแลออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ฝั่งพระนคร 2.พื้นที่เขตชั้นใน บริเวณเขตบางกะปิ วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร ดินแดง ห้วยขวาง และ3.พื้นที่เขตฝั่งตะวันออก เขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา โดยกทม.ได้เตรียมกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำไว้ทุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้กทม.ได้เตรียมซักซ้อมแผนรับมือกับฝนที่คาดว่าจะตกหนักในปีนี้ โดยทางสำนักระบบน้ำได้เตรียมความพร้อมได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนพายุฝนให้ทุกฝ่ายทราบ พร้อมติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังมีระบบระบายน้ำ ในพื้นที่ให้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว พร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน BEST แก้ไขและบรรเทาปัญหาอันเนื่องจากน้ำท่วม สำหรับในระดับเขตนั้นจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ หน่วยงานก่อสร้างถนน ให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของท่อระบายน้ำ และติดตาม การก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ย้ำภารกิจเจ้าหน้าที่ประจำจุดก่อนฝนมาเพื่อแจ้งเตือนประชาชนรับมือฝนหนัก
ด้าน นพดล สังข์ศิรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร กรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของกรมชลประทานนั้น ได้ดำเนินการขุดคลองแล้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.คลองด่าน 2. คลองท้ายสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ 3.คลองท้ายสถานีสูบน้ำคลองด่าน 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมของแต่ละคลองนั้นจะสามารถระบายน้ำลงทะเล ให้ผ่านไปจนสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่เกิดภาวะน้ำท่วมได้
|
|
 |
|
|