Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2533
เกียรติภูมิของลูกผู้ชายชื่อ "ดามพ์ ทิวทอง"             
 


   
search resources

ดามพ์ ทิวทอง




พ่อของเขาเป็นครูสอนภูมิศาสตร์ เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในประเทศ เลยอยากปลุกปั้นให้ลูกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ที่มีประสบการณ์จริง ๆ "ไม่ใช่นักวิชาการที่นั่งในห้องซึ่งคุณพ่อเกลียดนักหนา" พ่อของดามพ์ ทิวทองเคยตั้งความหวังไว้อย่างนี้เพราะเห็นแววของความตรงไปตรงมา กล้าได้กล้าเสียตั้งแต่เด็ก

จนวันนี้ ดามพ์ ทิวทอง ในฐานะประธานสภาการเหมืองแร่ยังคงเป็นดามพ์ที่ "กล้าชน" กับความไม่ถูกต้อง เพื่อพิทักษ์ปกป้องประโยชน์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยอย่างเด็ดเดี่ยว กระทั่งพรรคพวกชาวเหมืองต่างโหวตเป็นเอกฉันท์เลือกให้เขาเป็น "ประธาน" สภาการเหมืองแร่สมัยแล้วสมัยเล่า

ขวบปีที่ผ่านมา เขาได้ยินหยัดขออนุญาตให้ชาวเหมืองทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อพลโทสนั่น ขจร.ประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ซึ่งได้ออกพระราชกำหนดให้ยกเลิกป่าสัมปทานไม้เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เหมืองต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป

การที่ดามพ์เสนอร้องเรียนต่อพลโทสนั่นเช่นนี้ ได้กลายเป็นข่าวฮือฮา เพราะใคร ๆ ก็พูดว่า "ดามพ์ชนรัฐมนตรีสนั่น" ซึ่งดามพ์บอกว่า "ไม่ใช่การชนเชินอะไร เราต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง"

เรื่องนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติเนื่องจากรัฐบาลได้สับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรี ให้บรรหาร ศิลปอาชา ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตรีประมาณ อดิเรกสาร คั่วตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

จึงเป็นหน้าที่ของดามพ์ที่จะต้องเริ่มต้นเรื่องนี้ใหม่

ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อพลโทสนั่นได้สั่งยกเลิกป่าสัมปทานทำไม้ ทำให้ผู้ประกอบการเหมืองประมาณ 90 ราย ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วมีทั้งที่อยู่ระหว่างการขอประทานบัตรทำเหมือง หรือต่ออายุประทานบัตรหรือขอโอนประทานบัตรที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ไม่ได้อยู่ในเขตหวงห้ามของกรมป่าไม้ เข้าไปทำเหมืองไม่ได้ ทั้งที่ได้ทำเรื่องผ่านขั้นตอนถึงกรมป่าไม้จนเห็นชอบและเสนอไปยังกระทรวงเกษตรฯแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2531-2532 รวมทั้งสิ้น 100 กว่าแปลง แต่กลับไม่ได้รับหนังสืออนุญาตจากกระทรวงเกษตรฯได้เข้าใช้ประโยชน์หรือทำเหมืองในพื้นที่ได้

ดามพ์ได้เข้าหารือกับบรรหารในสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บรรหารก็เห็นด้วย และได้ช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงเกษตรฯว่าคำสั่งที่ออกมากระเทือนต่อผู้ประกอบการเหมืองแร่

เนื่องจากผู้ประกอบการเหมืองที่ได้รับผลจากยกเลิกสัมปทานทำไม้นั้น กว่าครึ่งที่ได้ลงทุนสำรวจไปแล้ว และกำลังขอประทานบัตรทำเหมือง นอกจากนี้ ก็เป็นรายที่มีประทานบัตรอยู่เข้าไปทำเหมืองก่อนแล้วแต่พอประกาศเป็นเขตป่าสงวนก็ทำต่อไม่ได้ หรือรายที่ขอโอนประทานบัตรซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแล้ว หรือรายที่ประทานบัตรยังมีอายุอยู่ แต่ในอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หมดอายุ ยื่นขอแล้วก็ต่อไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท้องถิ่นแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีท้องที่สั่งหยุดทำเหมือง

แม้ว่าบรรหารได้ช่วยทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติเพราะอยู่ระหว่างการสำรวจและแบ่งพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ โดยจะแบ่งเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งห้ามทำประโยชน์ใด ๆ และป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นคนดำเนินการา

ทางสภาการเหมืองแร่จึงได้เสนอให้ทางกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมมีตัวแทนเข้าไปร่วมกำหนดการแบ่งพื้นที่ป่าเศรษฐกิจด้วย

"เพราะมิฉะนั้นก็จะมีปัญหาอีก เป็นเรื่องที่ถูกที่ทางกระทรวงเกษตรฯต้องรักษาป่าไม้ไว้ แต่เขาก็ดูแต่ทางด้านป่าซึ่งเห็นได้ด้วยตา ขณะที่แร่ต่าง ๆ เป็นทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินมองอย่างนี้ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่าจะไปโทษเขาก็ไม่ได้" ดามพ์พูดถึงความจำเป็นที่ขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับ "ผู้จัดการ"

ดามพ์อยากให้ประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรธรณีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเร็วที่สุด เพื่อจะให้เสนอปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไป

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดามพ์ในฐานะประธานสภาฯก็ต้องหาจังหวะเข้าคารวะในโอกาสที่ประมาณมารับตำแหน่งใหม่ ก่อนที่จะได้คุยถึงปัญหานี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ดามพ์เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการจัดระบบของการพัฒนาแร่ที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศ

เขาจึงเห็นว่า แร่ที่มีอยู่ 8 กลุ่ม รวม 30-40 ชนิด ควรจะได้จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาว่าอะไรควรมาก่อนมาหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศและให้ได้มูลค่าสูงที่สุด ขณะที่ก่อนนี้เรามักจะเน้นการส่งออกเป็นหลัก เช่น ดีบุก ไม่ได้ถูกถึงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าแร่

อีกตัวอย่างหนึ่งอุตสาหกรรมเซรามิกขยายตัวมาก มีวัตถุดิาบสำคัญหลายชนิด เช่น เฟลสปาร์ ดินขาว ทรายแก้ว ดินเหนียว แต่รัฐยังไม่ได้ส่งเสริมจริงจัง ขณะที่โรงงานผลิตภัณฑ์เซรามิกขยายเป็น 2 เท่า

ตอนนี้ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้เป็นแกนนำในการทำแผนจัดการทรัพยการแร่ร่วมกับทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสภาฯ โดยให้ทีดีอาร์ไอเป็นคนศึกษา ซึ่งจะสรุปได้ในอีกไม่กี่เดือนนี้ เพื่อเสนอบรรจุเข้าในแผนพัฒนาฉบับที่ 7 พร้อมแผนปฏิบัติด้วย

แม้ดามพ์จะบอกว่า "เครดิตเรื่องนี้ต้องยกให้กรมทรัพย์ฯ"

แต่ "ผู้จัดการ" ทราบมาว่าเรื่องนี้เป็นการริเริ่มของดามพ์ แต่เขาต้องการให้เกียรติกับกรมทรัพย์ฯ และคนในกรมทรัพย์ฯต่างก็รู้จักเขาดีว่า "เขาเป็นแบบนี้แหละ"

ในวงการเหมืองจะพูดกันว่า ดามพ์เป็นคนเหมือนที่มีชีวิตเรียบง่ายที่สุด และทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานเหมืองแร่ของไทยอย่างไม่เคยรู้จักเหน็ดเหนื่อย

สี่สิบปีที่ดามพ์เคี่ยวกรำอยู่ในวงการเหมืองหลายชนิดชีวิตที่คร่ำหวอดอยู่กับหินดินทรายทั่วประเทศไทย ทำให้ดามพ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ที่คนเหมืองยอมรับนับถือ

เมื่อเขาจบวิศวะเหมืองแร่จากรั้วจามจุรี วิชา เศรษฐบุตรผู้อำนวยการกองธรณี กรมทรัพย์ฯในขณะนั้นชวนไปทำงาน แต่เขาไม่ไป ดังที่เขาบอกว่า "ผมเป็นคนยอมยากในเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นข้าราชการคงต้องลาออก อยู่ไม่ได้แน่ หรือไม่ก็โดนแป๊ก เลยไม่เอาดีกว่า"

เขาจึงไปเริ่มต้นเป็นวิศวกรเหมืองแร่ทีเดียวพร้อมกัน 2 บริษัท คือ บริษัทเหมืองแร่ละมายและบริษัทเหมืองแร่แม่ฮ่องสอน

เขาใช้ชีวิตในเหมืองมาตั้งแต่ยังไม่รู้จักใช้รถแทรกเตอร์เรียนรู้ หาประสบการณ์ และเก็บเงินเก็บทอง จากนั้นก็ผ่านไปทำเหมืองเอง

ทำตั้งแต่เหมืองแร่วุลแฟรมดีบุก แต่ก็เจอภาวะราคาที่ตกต่ำและดูเหมือนว่าเขาจะเป็นคนแรกที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ซึ่งเริ่มส่งออกไปยังญี่ปุ่น

จากนั้น ขยับขยายมาทำเหมืองแมงกานีส ที่จังหวัดลำพูน ส่งเป็นวัตถุดิบขายให้โรงงานผลิตถ่านไฟฉายที่มีการขยายตัวมาก เช่น เนชั่นแนล เรโอแวค ฯลฯ เป็นการทดแทนการนำเข้า รวมถึงการส่งออกไปยังบริษัทแม่ด้วย

กระทั่งประธานกรรมการบริษัทมัทซุชิต้าที่ญี่ปุ่นเจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนชั่นแนล" ได้เชิญเขาเป็นแขกของประเทศไทยไปในงานครบรอบ 50 ปีของบริษัท ได้มอบเหรียญทองคำให้ พร้อมทั้งชื่นชมและขอให้เขารักษาคุณภาพของแร่ที่ส่งไป

การทำเหมืองแมงกานีสครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ทำให้เขามีทุนรอนในเวลาต่อมา แต่เขายอมรับว่า เพราะความที่ใจกว้างไป ใครชวนไปที่ไหนก็ไปทำทั้งนั้น แม้แต่ที่อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เจอปัญหาอิทธิพลท้องถิ่นมาก เลยไปไม่รอด ประกอบกับราคาแร่ตก จึงหยุดกิจการ

เขาทำเหมืองครั้งสุดท้ายในเหมืองแร่วุลแฟรม แต่ราคาแร่ก็ตกพรวด จนพูดได้ว่า สิ่งที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาในอดีตต้องหมดไปในปี 2529

สำหรับเขา มันมิใช่สิ่งที่ต้องเสียใจอะไร เพราะเขาบอกว่า "เราเริ่มต้นจากไม่มีสมบัติอะไร ที่ผ่านมาก็คุ้มค่ากับชีวิตได้ประสบการณ์หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ"

ขณะที่พรรคพวกวงการเหมืองแร่ลุ้นให้เป็นประธานสภาฯ อยู่หลายสมัย เนื่องจากเขาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในวงการนี้มาตลอด เขาเคยเป็นนายกสมาคมเหมืองแร่ไทย และได้เป็นหลักในการผลักดัน พ.ร.บ. สภาการเหมืองแร่จนสำเร็จแต่เขาบอกว่า "ยังไม่บรรลุในเรื่องนโยบายการใช้ทรัพยากรแร่ของประเทศ"

ชีวิตมีเกิดมีดับ ได้มาแล้วก็เสียไป เมื่อเขาไม่มีภาระความจำเป็นใดที่จะต้องแสวงหาทรัพย์สินเงินทองอีก ในภาวะที่เพื่อนฝูงเรียกร้องและได้โหวตเป็นเอกฉันท์ให้เขาขึ้นเป็น "ประธานสภาฯ" ทั้งที่ขอผัดผ่อนมาหลายครั้งด้วยเหตุผลว่า ยังมีภาระธุรกิจส่วนตัว แต่วันนี้เขาไม่มีข้ออ้างอีกแล้ว

ขณะที่เขาเองก็ไม่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจเหมืองใหม่ ชีวิตของเขาตอนนี้ จึงทุ่มเทให้กับชาวเหมือง ด้วยความหวังที่จะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยสร้างอนาคตาของเหมืองแร่ไทยให้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เขาจึงเป็นประธานสภาฯที่ดูจะยากจนกว่าคนอื่น แต่เขาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นปมด้อยในเรื่องฐานะ "เพราะสิ่งที่ทำเป็นกลางจริง ๆ เป็นสิ่งถูกต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ใครจะว่านายดามพ์ยากจนแล้วมาเป็นประธาน น่าอาย ผมไม่เคยคิด เพราะไม่เคยรับของของใคร จะว่าขับรถเก่าขึ้นรถเมล์มาประชุม ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผม"

เขาพอใจสำหรับชีวิตวันนี้มีความสุขกับการได้ทำประโยชน์ต่อวงการเหมืองแร่ เพราะนี่คือเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีที่พ่ออยากให้เขาเป็น ดังที่เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า.... "ถ้าคุณพ่อยังอยู่และได้เห็นคงจะดีใจ"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us