Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2533
ซีพีขุนนักกฎหมายเตรียมรับอีซี 1992             
 


   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์




กฎหมายและวัฒนธรรมเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาวะการสู้รบในสงครามธุรกิจทศวรรษที่ 90 ต่อไปนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แอบขุนนักกฎหมายไว้ให้พร้อม โดยให้ทุนเด็กจบกฎหมายในเมืองไทยส่งไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ในหลักสูตรที่ว่าด้วยกฎหมายประชาคมยุโรปโดยเฉพาะเพื่อเตรียมรุกที่จะเข้าไปในตลาดร่วมยุโรป (อีซี) ซึ่งจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้ง 12 ประเทศในปี 1992 นี้

ญี่ปุ่นแพ้สงครามอย่างย่อยยับเมื่อมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาสั่งทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเกาะฮิโรชิมาและนางาซากิสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้สงบลง สงครามในยุคต่อมาได้กลายเป็นสงคนามทางเศรษฐกิจแทนการล่าเมืองขึ้นด้วยเรือรบขนาดใหญ่

ญี่ปุ่นใช้เวลาในการสร้างตัวหลังสงคราม เพื่อที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กฎหมายและกติกาทางการค้ากลายเป็นอาวุธที่สำคัญ หาใช่ทางกำลังทหารเรือพลังอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพไม่

ญี่ปุ่นใช้กฎหมายเป็นอาวุธที่แหลมคมนี้คอยจ้วงแทงทะลุทะลวงคู่ต่อสู้อย่างได้ผลมาแล้ว เขาได้ส่งคนของเขาเข้าไปเรียนรู้กฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ และของโลกให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์รุกคืบเข้ายึดกุมกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ และของโลกในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การที่ทุนและเครื่องจักรของญี่ปุ่นได้ไหลบ่าเข้ามาเมืองไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อดูดซับทรัพยากรและเป็นฐานกำลังการผลิตสินค้าส่งออกไปตีตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นได้บอกให้ทราบว่าญี่ปุ่นเรียนรู้และวิเคราะห์กฎหมายไทยและโลกได้อย่างลึกซึ้ง

สินค้าจากเมืองไทยที่ได้รับสิทธิทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหรัฐอเมริกาจำนวนมากเจ้าของสินค้าที่แท้จริงคือคนญี่ปุ่น

ในจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของไทยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นของคนญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้อาวุธสมัยใหม่นี้อย่างก้าวร้าว โดยออกก.ม.การค้าว่าด้วยมาตรการป้องกันและกีดกันเพื่อแก้เผ็ดทางการค้าต่อประเทศทั้งหลายในโลก

ยุโรป 12 ประเทศจะประกาศใช้กฎหมายรวมเป็นตลาดเดียวกันในปี 1992 เพื่อใช้เป็นอาวุธที่สำคัญในการสร้างกำลังต่อรองและป้องกันการรุกรานทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

มันได้กลายเป็นกรณีที่น่าสะพรึงกลัวของโลกทีเดียว

เครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติของไทยและใหญ่ติดอันดับในภูมิภาคนี้จะต้องได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน รวมทั้งกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของคนไทยที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่ธุรกิจข้ามชาติในอนาคตด้วย

คณะรัฐมนตรีของประเทศไทยเพิ่งจะมีมติออกมาว่าจะออก "สมุดปกขาว" ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นหนังสือที่จะบรรจุกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดทั้งข้อมูลทางการค้าอื่น ๆ เพื่อแจกจ่ายให้พ่อค้านักธุรกิจของไทยอันเปรียบเสมือนทหารหาญที่จะออกสงครามในทศวรรษหน้านี้ใช้เป็นกรอบ หรือแนวทางในการทำการค้ากับตลาดร่วมยุโรป

แต่จนกระทั่งวันนี้ก็ยังทำกันไม่เสร็จ เพราะหาข้อมูลยังไม่ได้เพียงพอ

บริษัทยูนิคอร์ด ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องของไทยได้พยายามเอาชนะการกีดกันทางการค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของยูนิคอร์ดด้วยการจางสำนักงานกฎหมายที่สหรัฐฯศึกษากฎหมายที่สหรัฐฯศึกษากฎหมายและหาลู่ทางซื้อกิจการบัมเบิ้ล บีซีฟูดซ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องของสหรัฐอเมริกา

นั่นเป็นการลดแรงเสียดทางจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาโดยอาศัยเงื่อนไขทางกฎหมายสหรัฐฯของนักอุตสาหกรรมไทย แต่ก็ว่ากันว่าจ่ายเงินค่ากฎหมายแพงลิบลิ่วทีเดียว

แต่เจริญโภคภัณฑ์โดยธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งจ้องตลาดยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของเขาใช้แผนล้ำลึกกว่า ซีพีแอบรุกเข้าไปอย่างเงียบ ๆ และหวังผลระยะยาว โดยออกคัดเลือกนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อส่งไปเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวิชาที่ว่าด้วยกฎหมายประชาคมยุโรปโดยเฉพาะ ณ กรุงบรัสเซลส์อันเป็นศูนย์กลางทางกฎหมายและวัฒนธรรมประเพณีทางการค้าของยุโรป

"ในการให้ทุนคราวนี้ไม่ได้ประกาศเป็นทางการ และจะเรียกว่าให้ทุนการศึกษาก็ไม่เชิงนัก เพราะจริง ๆ แล้วก็เหมือนกับการคัดเลือกคนเข้าทำงานปกติ แต่เราเน้นที่คณะนิติศาสตร์ เพราะเมื่อเป็นพนักงานของเราแล้วก็จะส่งไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านกฎหมาย ในระหว่างที่เรียนก็ทำงานที่สำนักงานทางการค้าของเราที่ปรัสเซลส์ไปด้วยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาอยู่" แหล่งข่าวในเครือญาติโภคภัณฑ์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานเอกชนของไทยได้ให้ความสนใจที่จะให้ทุนส่งคนไปเรียนต่อในระดับปริญญาสาขานิติศาสตร์นี้ เพราะก่อนหน้านี้มักจะส่งไปศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์บริหารธุรกิจและสาขาวิชาชีพด้านอื่น ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าวในเครือเจริญโภคภัณฑ์แจ้งว่ารุ่นแรกที่จะส่งไป 2 คนนั้นจะประจำอยู่ที่สำนักงานตัวแทนของบริษัทที่กรุงบรัสเซลส์ทั้งก่อนและหลังเรียนจบ เพื่อให้เรียนรู้กฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณีตลอดทั้งระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง และติดตามกระแสความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

ธนินนท์เป็นคนที่มองการณ์ไกลและลึกซึ้งถึงกลไกของตลาดในอนาคตว่ากฎหมาย และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศนั้นย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเรียนรู้

เขาจึงสั่งให้ซีพีเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาก่อนใครอื่น

ข้อมูลทางด้านกฎหมายและความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถูกส่งถึงสำนักงานใหญ่ที่เมืองไทยอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดเป้าหมาย และวางกลยุทธ์ทางการค้าของบริษัทที่จะรุกคืบเข้าไปสู่เป้าหมายในตลาดยุโรป ซึ่งว่ากันว่าเปรียบเสมือนสนามรบที่ใหญ่ที่สุดของโลกในทศวรรษหน้านี้ทีเดียว

สิ่งนี้คือการลงทุนด้าน HIDDEN VALUE ของซีพีสำหรับกิจการในยุโรปตะวันตก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us