การเปิดคณะแพทย์ศาสตร์ของวิทยาลัยรังสิตครั้งนี้ ได้รับการสนใจจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอื่น
ๆ ทั้งในฐานะที่เป็นสถาบันร่วมสมาคมเดียวกันที่รู้จักมักคุ้นกันดีมีการพบปะกันเป็นประจำ
และในฐานะที่เป็นกรณีตัวอย่างที่หลายสถาบันให้ความสนใจเพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาถ้าถึงทีที่จะมีโอกาเปิดเองบ้าง
สถาบันอุดมศึกษาเอกชนในปัจจุบันมี 25 แห่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสถาบันที่มีพื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจ
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นคณะที่สามารถเปิดดำเนินการสอนโดยที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือมากมายนัก
การลงทุนที่ไม่สูงมากประกอบกับความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ของตลาดยังมีอยู่มาก
ตัวเลขแสดงจำนวนประมาณการของนักศึกษาทางสายสังคมศาสตร์ของทางด้านสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในปี
2532 มีประมาณ 30,795 คนคิดเป็นประมาณ 89.98% ของนักศึกษาในทุกคณะที่เหลืออีก
10.02% เป็นนักศึกษาจากทางสายวิทยาศาสตร์
ทางด้านนักศึกษาทางสายวิทยาศาสตร์ก็แบ่งออกเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก
1.93% ส่วนทีเหลือคือประมาณ 8.09% เป็นนักศึกษาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าการผลิตบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ได้รับการสนใจมากกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์มากมาย
เนื่องด้วยปัจจัยหลักคือการลงทุนทางสายวิทยาศาสตร์จะสูงกว่าทางด้านสังคมศาสตร์มาก
ประกอบกับว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ
ถึงแม้ว่าตัวเลขจำนวนนักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์จะมีจำนวนน้อยกว่าทางด้านสังคมศาสตร์อยู่มาก
แต่สถาบันต่าง ๆ ก็ได้ให้ความสนใจทางด้านนี้มากว่า 6 ปีแล้ว เพียงแต่มีจำนวนสถาบันที่สามารถเปิดสอนทางด้านวิทยาศาสตร์มีเพียง
13 แห่งจาก 25 แห่งเท่านั้น
สาเหตุที่เอกชนได้เริ่มสนใจหันมาสนใจผลิตบุคลาการทางด้านนี้ ก็อาจเป็นเพราะนโยบายของรัฐในการก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น
มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมกันมากขึ้น ความต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์จึงมีเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดมีความต้อกงารตอบรับททางด้านการผลิตจากทางฝ่ายเอกชนก็มีเพิ่มมากขึ้น
เริ่มต้นด้วยสถาบันที่มีนักเรียนในระดับ ปวส.ซึ่งมีเครื่องมือและอาจจะรวมถึงบุคลากรในการสอนด้วยเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นที่ไม่มากนัก
และนักเรียนที่มีอยู่แล้วก็มีความต้องการที่จะเรียนต่อให้ถึงในระดับปริญญาอยู่ด้วย
ไม่เพียงแต่สถาบันเหล่านี้เท่านั้นสถาบันที่ไม่มีพื้นทางด้านวิทยาศาสตร์เลยก็ยอมที่จะลงทุนเปิดคณะใหม่ทางด้านนี้ด้วยเหมือนกัน
ในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เปิดทางด้านวิทยาศาสตร์จะมีการพัฒนาออกไปใน
2 ทาง คือทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่เมื่อพจิารณาจากจำนวนนักศึกษาแล้วจะเห็นว่าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะมีมากกว่าถึงประมาณ
8 เท่า แต่ก็ได้มีการเปิดคณะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ในปัจจุบันมีคณะพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 7 แห่งเท่ากับจำนวนของคณะวิศวกรรมศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีคณะทางด้านเทคนิคการแพทย์ เภสัช ที่มีการเปิดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อแนวโน้มการเปิดคณะทางด้านสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมีมากขึ้น และมีหลายสถาบันที่มีพื้นฐานทางสายวิทยาศาสตร์พร้อมมากขึ้น
โดยเฉพาะทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ดังนั้นการเปิดคณะใหม่
ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่เรื่องลำบากในด้านการลงทุน จะมีกรณีที่พิเศษก็คือ
คณะแพทย์ศาสตร์ ที่มีการลงทุนมากกว่าคณะอื่น ๆ
คณะแพทย์ศาสตร์เป็นคณะที่หลายสถาบันสนใจ และเริ่มจะมีแผนการที่จะตั้ง เพียงแต่เป็นแผนระยะยาวที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก
ประกอบกับการที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายออกมาชัดเจนในเรื่องของการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรในส่วนนี้ด้วยหรือไม่
วิทยาลัยรังสิตเป็นตัวอย่างของการที่เอกชนเริ่มที่จะต้องการมีบทบาทในส่วนนี้
โดยส่วนของวิทยาลัยรังสิตเองแล้วได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทิศทางของวิทยาศาสตร์สุขภาพมาโดยตลอด
คณะที่เปิดล้วนสัมพันธืทั้งในด้านการศึกษาและในด้านการลงทุนไม่วาจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัช ทุกคณะที่เปิดดำเนินการผ่านการพิจารณาจากทบวงและสมาคมวิชาชีพได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรมากนัก
ดังนั้นถ้าจะพูดถึงทางด้านประสบการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทางด้านการขอเปิดคณะใหม่ของสถาบันแล้วเรียกได้ว่าไม่มีปัญหา
"ขั้นตอนการขอเปิดคณะต่าง ๆ ในส่วนของเรา เรารู้ขั้นตอนต่าง ๆ ดี
เราผ่านกันมามาก เรารู้ว่าเราควรที่จะทำอย่างไร" ศาสตราจารย์ปัจจัย
บุนนาค นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
ขั้นตอนการเปิดดำเนินการในคณะต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในความดูแลของกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทบวงมหาวิทยาลัย
ในการขอเปิดคณะใหม่ สถาบันฯจะต้องทำโครงการความเป็นไปได้เป็นแผน 5 ปี เสนอต่อกรรมการรับรองมาตรฐานเมื่อผ่านจึงเสนอต่อกรรมการสถาบันอุดมศึกษา
และเสนอต่อ ก.พ.เพื่อรับรองอีกครั้งเพื่อที่ว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่แล้วจะสามารถรับราชการได้เช่นเดียวกับสถาบันอื่น
ๆ ในส่วนของสมาคมวิชาชีพของคณะที่ขอเปิดนั้น ได้มีส่วนในการรับรองมาตรฐานในขั้นตอนของกรรมการรับรองมาตรฐานอยู่แล้ว
โดยทั่วไปเมื่อกรรมการรับรองมาตรฐาน และ ก.พ.รับรอง สมาคมวิชาชีพก็มักจะอิงตามคำรับรองนั้น
แต่ดูเหมือนจะไม่ง่ายอย่างที่คิดในกรณีของการเปิดคณะแพทย์ศาสตร์ของวิทยาลัยรังสิต
"การเปิดคณะอะไรเป็นแห่งแรกมักจะมีปัญหาเสมอ ไม่ใช่เป็นปัญหาหนักอะไร
เมื่อผ่านทางทบวงมาได้แล้วก็เหลือทางสมาคมวิชาชีพก็คุยกันตกลงกันว่ายังขาดอะไรจะให้เพิ่มอะไร
ไม่ใช่เรื่องยากอะไรไม่น่าที่จะมีปัญหา" ดร.ธนู กุลชล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเพท
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับกรณีปัญหาที่วิทยาลัยรังสิตกำลังประสบอยู่
"กรณีของรังสิตเป็นเคสตัวอย่าง ทางแพทย์สภาน่าที่จะมีไกด์ไลน์ออกมาเพื่อที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะได้ใช้เป็นแนวทาง"
ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเซนต์จอห์นกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงข้อเสนอต่อแพทยสภาเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหากับสถาบันฯอื่นที่เปิดคณะแพทย์ศาสตร์
ความเห็นที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้องของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีต่อรัฐบาล
ทั้งในส่วนของทบวงมหาวิทยาลัย และทางแพทย์สภาในการที่น่าจะมีนโยบายออกมาให้ชัดเจน
เพื่อที่เอกชนจะได้สามารถวางบทบาทของตนได้ถูกต้อง อย่างน้อยก็น่าที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลสนับสนุนในการที่จะให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์หรือไม่
และจะต้องมีการเตรียมการหรือขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าประสบการณ์ในการขอเปิดคณะต่าง
ๆ ของเอกชนที่เคยใช้ได้กับคณะต่างๆ ที่เปิดได้มาแล้วจะไม่พอเพียงเสียแล้วในการเปิดคณะแพทย์ศาสตร์
ทางด้านศาสตราจารย์ปัจจัย บุนนาค นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ให้ทรรศนะต่อความพร้อมของวิทยาลัยรังสิตว่าจะต้องมองความพร้อมในด้านศักยภาพที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า
เมื่อมีศักยภาพพอที่จุดเริ่มต้นแล้ว วิทยาลัยรังสิตก็จะค่อย ๆ ดำเนินการต่อไปให้ครบตามแผนที่เสนอต่อทบวงการที่จะให้วิทยาลัยรังสิตลงทุนให้พร้อมทั้งหมดในระยะเริ่มแรกคงเป็นไปไม่ได้
และไม่มีสาขาไหนทำได้ในช่วงตั้งคณะใหม่ ๆ ไม่เฉพาะการเปิดคณะแพทย์ศาสตร์
และจากการรวบรวมความเห็นของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยกันต่อความเป็นไปได้ในการบริหารการศึกษา
ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าวิทยาลัยรังสิตจะต้องมีการบริหารงานที่ดีในการผลิตนักศึกษาแพทย์ให้มีคุณภาพ
ไม่เช่นนั้นแล้วการลงทุนหลายสิบล้านพร้อมกับชื่อเสียงของวิทยาลัยรังสิตก็จะสูญเสียไป
"เชื่อว่าวิทยาลัยรังสิตคงทำได้ การรับรองจากทบวงน่าจะเป็นมาตรฐานที่วัดได้ว่าเขาพร้อมที่จะทำ
เขาลงทุนมาก เขาต้องทำให้ดี" CYRIL SEBASTIAN VILANGIYIL รองอธิการบดีฝ่ายวิชการวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
นั้นเป็นเสียงสะท้อนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีต่อวิทยาลัยรังสิต ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
และโดดเด่นจนเป็นกรณีตัวอย่างของการเปิดคณะแพทยศาสตร์ และเป็นกรณีศึกษาที่เพื่อนร่วมสมาคมได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
และหากรังสิตสามารถผ่านช่วงปัญหานี้ไปได้ก็เป็นไปได้ อย่างมากที่เพื่อนร่วมสมาคมจะเดินตามรอยความสำเร็จอันนี้
ซึ่งหลายสถาบันก็ได้เตรียมขยับขยายพื้นที่เพื่อรองรับการเติบโตของสถาบัน
ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่มีที่รังสิต หรือวิทยาลัยอัสสัมชัญธุรกิจที่ซื้อที่ไว้แล้วที่บริเวณใกล้กับ
อ.ส.ม.ท. หลายสถาบันมีโครงการที่ต้องการมีคณะแพทย์เพียงแต่เป็นระยะยาว และต้องรอโอกาสเพื่อที่จะมีความพร้อมทางด้านกำลังทุนเท่านั้น