Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2532
ต่อต้านร.ร.แพทย์รังสิตยกระบบแพทย์พาณิชย์จะเฟื่องฟูเข้าอ้าง             
โดย สมชัย วงศาภาคย์ ดนุช ตันเทอดทิตย์
 


   
www resources

โฮมเพจ มหาวิทยาลัยรังสิต

   
search resources

มหาวิทยาลัยรังสิต
Education
Hospital




วิทยาลัยรังสิตเป็นเอกชนเจ้าแรกที่เปิดสอนคณะแพทย์จึงถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกรรมการบางท่านในแพทย์สภา กรอบเหตุผลของการต่อต้านอยู่ที่ ความหวั่นเกรงในระบบแพทย์พาณิชย์จะเฟื่องฟู เป็นอันตรายต่อประชาชน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ที่กำลังขาดแคลนของเอกชน จริง ๆ แล้วเรื่องนี้อยู่ที่ต่างกันในการคิดมากกว่าประเด็นด้านกฎหมาย

คนเราเวลาเจ็บป่วย สิ่งแรกสุดที่จะทำคือเดินเข้าไปในโรงพยาบาลหรือคลินิก รีบตาม หมอที่รู้จัก หรือถ้าไม่รู้จัก ก็จะให้โรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดหมอ ที่จะบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นให้ และถ้าหากหมอจะสั่งให้ปฏิบัติตัวอย่างไรก็ต้องยอมรับคำแนะนำนั้น โดยดุษฎีมองในแง่นี้ฐานะของหมอจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนเราอย่างมากด้วยเหตุผลหมอเป็นคนเดียวที่รู้สมุติฐานและการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย ขณะที่คนอื่นหรือแม้แต่ตัวเราเองรับรู้ถึงสิ่งนี้อย่างจำกัดมาก ๆ หรือ แทบจะไม่รู้เลยก็ได้

เหตุนี้อาชีพของหมดจึงหอมหวนนัก นำมาซึ่งความมั่งคั่งในฐานะของเศรษฐกิจ และการ

ยอมรับในความมีคุณค่าของวิชาชีพ ทางสังคมสูงสุดอาชีพหนึ่ง

การให้บริการทางการแพทย์ในรูปโรงพยาบาล ทุกวันนี้มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นอกเหนือไปจากรัฐ ตรงนี้เข้าใจกันชัดเจน ด้วยเหตุที่รัฐไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนได้เพียงพอด้วยต้นทุนการลงทุนสูงถึงเตียงละ 5 ล้านบาท

ข้อมูล ณ สิ้นธันวาคม ปี 2537 รัฐได้ลงทุนบริการทางการแพทย์ไปแล้วทั้งสิ้น 59,788 เตียง คิดเป็นจำนวนเงินลงทุน (ตามมูลค่าปัจจุบัน) ประมาณ 298,940 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน 7,501 เตียง มูลค่า 37,505 ล้านบาท จากระยะเวลาเดียวกัน และในปี 2529 เอกชนได้ขยายสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11,271 เตียง คิดเป็นเงิน 56,355 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่แสดงว่าเอกชนนับวันจะเข้ามามีบทบาทให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น

คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ เมื่อเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนให้บริการทางการแพทย์แล้วควรที่จะมีส่วนร่วมในการลงทุน ผลิตแพทย์ด้วยหรือไม่

แต่ไหนแต่ไรมา รัฐเป็นผู้ลงทุนผลิตบุคลาการทางการแพทย์มาโดยตลอดจนทุกวันนี้ มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทย์สภาแล้ว 16,000 คน แต่มีชีวิตอยู่จริง ๆ ประมาณ 15,000 คน ซึ่งจำนวนเกือบ 6,000 คน ไม่ได้ให้บริการตรวจรักษาประชาชน เนื่องจากชราภาพบ้าง เลิกอาชีพไปบ้างหรือไม่ก็อยู่ในระหว่างเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเติมแทพย์เฉพาะทาง

ดังนั้นว่ากันตามความจริงแล้ว กำลัง แรงงานของแพทย์ในขณะนี้มีอยู่จริง ๆ เพียง 8,000-9,000 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในเขต กทม.เกือบ 5,000 คน ทำให้อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชาการในเขต กทม.ตกประมาณ 1:1,300 คน ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่พูดถึงความพอเพียงของแพทย์ต่อจำนวนประชากรไว้ในอัตราส่วน 1:1,000

ขณะเดียวกันจำนวนแพทย์ที่กระจายกันอยู่ตามต่างจังหวัดจำนวน 4,000 คน ที่อยู่ประจำใน ร.พ.ชุมชน ประมาณ 1,500 คน และ ร.พ.ประจำจังหวัดประมาณ 3,500 คน เป้นข้อมูลที่แสดงถึงการกระจายแพทย์สู่ต่างจังหวัดที่ไม่มีผลต่อการลดจำนวนแพทย์ต่อประชากรมากนัก ในภาคเหนือและอีสานโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว มีแพทย์อยู่ในอัตราส่วน 1:13,000 และ 1:15,000 จึงต่ำกว่ามาตรฐานองค์กรอนามัยโลกถึง 10 เท่าตัว

แสดงว่าในต่างจังหวัดมีปัญหาการไม่เพียงพอของแพทย์ในการให้บริการแก่ประชาชน และจุดนี้เองที่ผู้นำบางคนในแพทย์สภาเช่น น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ย้ำกับ "ผู้จัดการ" ถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด ว่าเป็นผลมาจากการจัดสรร กระจาย แพทย์ไม่ดีเพียงพอ ไม่ใช่ผลมาจาก การผลิต แพทย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนผลิตแพทย์ในเขต กทม.เพิ่มขึ้นอีก แต่การผลิตแพทย์ควรกระจายไปผลิตที่ต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาการขาดแคลน

"ประเด็นข้อสรุปนี้ เป็นมติของที่ประชุมสัมมนาแพทยศึกษาครั้งที่ 5 เมื่อปี 2523 ซึ่งแพทยสภาใช้เป็นแนวทางการพิจารณาหลักสูตรเปิดคณะแพทย์แห่งใหม่" น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แม้จะเป็นมติของกลุ่มแพทยศึกษาและแพทยสภาในการเสนอแนะให้ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐได้รับทราบว่า การเปิดโรงเรียนแพทย์ในเขต กทม.และปริมณฑลไม่ควรมีอีกต่อไป

แต่ก็ดูจะไม่มีผลอะไรในภาคปฏิบัติเพราะปรากฎว่าหลังจากนั้นเพียง 1 ปี คือปลายปี 2524 มีการนำเรื่องการขอเปิดคณะแพทยศาสตร์ของ มศว.ประสานมิตรเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสมัย พลเอกเปรมอีก

คนที่นำเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรีคือดร.เกษม สุวรรณกูล รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยขณะนั้น และเป็นนายกสภา มศว.ด้วย ว่ากันว่า ดร.เกษมลงทุนถึงกับขอร้องไห้ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบโดยบอกว่า มศว.ประสานมิตรจะเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่จะมีคณะแพทย์

ตอนนั้นคนที่เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคือ อาทร ชนเห็นชอบ แล้ว ครม.ก็อนุมัติตามข้อเสนอของ ดร.เกษม

แพทย์สภาออกมาคัดค้านกันยกใหญ่แต่ไม่เป็นผล ทาง มศว.ประสานมิตรเองก็ไม่ทำอะไรเลยช่วงนั้น ยังคงเก็บรักษามติ ครม.ที่ให้ความเห็นชอบเปิดสอนคณะแพทย์ได้อย่างมิดชิด

จนปี 2525 ก็มีการนำเอาไปให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้รับทำแทน เพราะประสานมิตรไม่มีความพร้อมที่จะทำ เรื่องนี้ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี ซึ่งเป็นอธิการบดีขณะนั้นก็นำไปขอเสนอต่อปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคือ อาทร ชนเห็นชอบ แต่ถูกปฏิเสธเพราะปลัดอาทรเห็นว่าใบอนุญาตให้เปิดเป็นของมศว.ประสานมิตรไม่ใช่ธรรมศาสตร์

เรื่องนี้ก็จบลงตรงนั้น จนปี 2529 ทางผู้บริการ มศว.ประสานมิตรก็นำเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการต่อจนเปิดรับ นศ.ได้ในปี 2530 จำนวน 37 คน มีอาจารย์แพทย์ผู้สอน 17 คน

ตรงนี้ว่ากันว่ามีการดึงอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ที่สงขลานครินทร์ และขอนแก่น มาสอนไม่น้อย ซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะต่อทบวงฯของแพทยสภาที่พยายามชี้วิเคราะห์ให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้มีการดึงอาจารย์แพทย์ที่สอนอยู่โรงเรียนแพทย์ในต่างจังหวัดเข้ามาใน กทม. ทำให้ต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนแพทย์อยู่ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อการกระจายแพทย์สู่ต่างจังหวัด

ช่วงที่ มศว.ประสานมิตรเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนแพทย์เป็นระยะไล่เลี่ยกับทางผู้บริหารวิทยาลัยรังสิตกำลังขบคิดกันอย่างหนัก ในความพยายามที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์เอกชนเป็นแห่งแรกของไทยให้ได้

"กรรมการสภาวิทยาลัยบางท่าน เช่น ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต, ดร.อาณัติ อาภาภิรม อยากให้โรงเรียนการสอนแบบฮาร์วาร์ด" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตเล่าถึงความฝันในการลงทุนเปิดคณะแพทย์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นพ.ประสงค์ ตู้จินดา, นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรรมการแพทยสภา ที่ได้รับการนับถืออย่างสูงในวงการแพทย์ เป็นผู้ออกแบบร่างหลักสูตรคณะแพทย์ของวิทยาลัยรังสิตอย่างขะมักเขม้น โดยใช้ร่างหลักสูตรแพทย์ศาสตร์จุฬาเป็นแม่แบบ

ทุกอย่างเสร็จสิ้นลงในปี 2531 พร้อมที่จะเสนอขอความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ

การประชุมกรรมการพิจารณาหลักสูตรของทบวงก็เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 22 ก.พ. 2531 เวลาบ่าย 2 โมง

การย้อนรอยประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทวิช กลิ่นประทุม ร.ม.ต.ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐได้เซ็นอนุมัติให้วิทยาลัยรังสิตเปิดสอนคณะแพทย์ได้ หลังจากกรรมการพิจารณาหลักสูตรที่ทบวงแต่งตั้งได้ใช้เวลาการประชุมเรื่องนี้ 4 ครั้ง และมีความเห็นว่า หลักสูตรและความพร้อมของวิทยาลัยรังสิต เป็นที่ยอมรับได้

แต่กรรมการหลักสูตรที่ทบวงแต่งตั้งมีคนหนึ่งที่มาจากแพทยสภา คือ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ คัดค้านการพิจารณาหลักสูตรนี้จึงไม่ยอมเข้าที่ประชม และประท้วงด้วยการลาออกจากกรรมการแพทยสภาทันทีที่ทวิช กลิ่นประทุม เซ็นอนุมัติให้เปิด

นี่เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และทางผู้บริหารวิทยาลัยรังสิตได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการอนุมัติให้เปิดสอนได้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม

กระแสคัดค้านจากกรรมการบางท่านในแพทยสภาเริ่มหนาหูมากขึ้นโดยมุ่งประเด็นไปที่ หนึ่ง-ผู้บริหารวิทยาลัยรังสิต รีบด่วน เปิดรับนักศึกษาเกินไป น่าจะรอให้แพทยสภาอนุมัติและให้ความเห็นชอบหลักสูตรและรับรองสถาบันก่อน ตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปี 2525 มาตรา 8 (3) และ (4) สอง-การให้เอกชนอย่างวิทยาลัยรังสิตเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์จะทำให้การสถาปนาระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งมีผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการที่จะต้องแบกรับค่ารักษาสูงขึ้น เพราะต้นทุนแพทย์สูงขึ้น และการตรวจรักษาในสิ่งที่ไม่จำเป็นเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯขณะนี้จะมีมากขึ้น

การคัดค้านการเปิดคณะแพทย์วิทยาลัยรังสิตของผู้นำบางคนในแพทยสภาจึงมี 2 มิติคือในแง่กฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอน และในแง่แนวความคิดเกี่ยวกับระบบแพทย์พาณิชย์

ในแง่ข้อกฎหมาย ขั้นตอนการขอเปิดสอนคณะแพทย์ของวิทยาลัยรังสิต ใช้กฎหมายสถาบันฯการศึกษาเอกชน ปี 2522 เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในมาตรา 15 ระบุว่าเมื่อหลักสูตรและความพร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอนได้รับการอนุมัติจาก ร.ม.ต.ทบวงให้เปิดดำเนินการได้จึงจะเปิดได้

ข้อความนี้เข้าใจได้ชัดเจนว่า วิทยาลัยรังสิตสามารถเปิดดำเนินการคณะแพทย์ได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งมองจากกรอบของกฎหมายนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่แพทย์สภาก็ออกมาคัดค้านโดยอาศัยกฎหมายผู้ประกอบวิชาพเวชกรรมปี 2525 มาตรา 8 (4) ที่ระบุว่า "แพทย์สภามีอำนาจหน้าที่รัองรองหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์ และ (5) ระบุว่า "แพทยสภามีอำนาจหน้าที่รับรองวิทยะฐานะ ของสถาบันทางการแพทย์"

แสดงว่าบนพื้นฐานกฎหมายฯแพทย์สภามีอำนาจหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาหลักสูตรและสถาบันที่ขอเปิดสอนคณะแพทย์ด้วย

เรื่องมันยุ่งตรงนี้ ที่กฎหมายฯเปิดช่องให้แพทยสภาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งแต่เดิมกฎหมายเมื่อปี 2511 ไม่ได้เปิดช่องให้ยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา การเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนแพทย์จะกระทำหลังจากแพทยสภาได้รับรองหลักสูตร และสถาบันแล้วทั้งนั้น ประสานมิตรก็ใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าแพทยสภาจะรับรอง

มศว.ประสานมิตรได้รับใบอนุญาตจากทบวงให้เปิดสอนคณะแพทย์ได้ตั้งแต่ปี 2524 และมาเปิดเอาปี 30 กินเวลานานถึง 5 ปี

เอกชนอย่างวิทยาลัยรังสิตรอนานขนาดนั้นไม่ได้ เพราะเป้าหมายการลงทุนและระบบการบริหารแตกต่างจากของรัฐ "ความจริงตอนที่เราเสนอแผนขอเปิดคณะแพทย์ต่อทบงง เราบอกว่ามีเป้าหมายเวลาจะเปิดในปีนี้ (2532) ให้ได้ และในปี 2538 ก็จะมีแพทยศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันเรารุ่นแรกออกมาประมาณ 50 คน" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตเล่าให้ฟังถึงเหตุผลต้องเปิดรับ น.ศ.ทันทีที่ได้รับอนุมัติ

การเปิดรับ น.ศ. ของรังสิต ขณะที่ยังไม่ผ่านการรับรองหลักสูตรและสถาบันจากแพทยสภา ทางผู้นำบางคนในแพทยสภาจึงมีความรู้สึกว่าบทบาทส่วนนี้ของตนถูกมองข้ามไปอย่างไร้ศักดิ์ศรี คล้าย ๆ กับมัดมือชกให้แพทยสภารับรองในภายหลัง

ความซ้ำซ้อนของกฎหมายที่ทบวงใช้กับของแพทย์สภาในด้านการรับรองหลักสูตรและสถาบัน มีข้อสังเกตอยู่ประเด็นที่ว่าแพทยสภาควรมีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการอนุมัติ หรือรับรองหลักสูตร และสถาบันที่เปิดสอนคณะแพทย์ที่ทบวงทำหน้าที่นี้แล้วหรือไม่

อาจารย์แพทย์ จากมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐซึ่งเป็นกรรมการแพทย์สภาด้วยท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า แพทย์สภาควรมีบทบาทหน้าที่เหมือนสมาคมวิชาชีพอื่น ๆ คือควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และให้คำปรึกษาแก่รัฐในปัญหาสาธารณสุขของชาติเท่านั้น บทบาทนอกเหนือจากนี้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของทบวงฯ

พูดอย่างรูปธรรมก็คือ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2525 มาตรา 8 ใหม่ โดยให้ตัดทิ้งไปเลย

เหตุผลเพราะทบวงเป็นกลไกทางการเมืองของรัฐบาล ร.ม.ต. ทบวงมาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นนักการเมือง แนวความคิดในการบริหารนโยบายทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและบริการก็ดี ในบางสถานการณ์อาจตัดสินใจไปบนกรอบของเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลทางเทคนิคด้านสาธารณสุขขณะที่แพทย์สภาเป็นกลไกของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนปัจจุบัน ผู้นำตลอดจนกรรมการทุกท่านในแพทย์สภาซึ่งมีจำนวน 30 คน โดย 15 คนมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกให้มาทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ล้วนแต่เป็นนักวิชาการที่ใช้ความรู้ทางวิชาการ และเทคนิคทางการแพทย์ ดังนั้นถ้ามองจากจุดนี้ แพทย์สภาจึงเป็นกลไกที่ทำงานตามเหตุผลทางเทคนิคด้านสาธารณสุข ไม่ใช่เหตุผลทางการเมือง ที่ต้องมองให้กว้างไกลออกไป

ด้วยเหตุนี้ ฐานะของแพทยสภาจึงมีข้อจำกัดในการมองปัญหาสาธารณสุขของชาติขณะที่ทบวงสามารถมองได้กว้างไกลกว่าจึงเป็นไปไม่ได้ที่สถาบัน 2 แห่งนี้จะร่วมกันมีบทบาทในการพิจารณานโยบายการผลิตและการให้บริการทางการแพทย์

จริงอยู่ แพทยสภามีสมาชิกที่เป็นแพทย์อยู่ทั่วประเทศ ย่อมมีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงในปัญหาสาธารณสุขของชาติระดับหนึ่ง ผู้นำแพทย์สภาอย่าง น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์เลขาธิการแพทยสภา น.พ.วิชัย โชควิวัตร น.พ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ซึ่งเป็นหมอรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี มีประสบการณ์ทำงานแพทย์ในต่างจังหวัดและชนบทมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี มีผลงานเป็นหมอดีเด่นของชาติ ก็ล้วนแต่มีความรับรู้ทางสังคมสูง

ว่ากันตามจิตสำนึกแล้ว กลุ่มหมอรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีบทบาทในแพทย์สภาสูงมากและรับรู้ถึงปัญหาสาธารณสุของชาติในเรื่องการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นอย่างดี

ถ้าจะประทับตราว่ากลุ่มหมอเหล่านี้เป็นผลพวงจากกรณีความเคลื่อนไวด้านประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่ผิดนัก

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทย์สภาได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ตอนสมัยที่จบแพทย์ใหม่ ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้มาก็เพราะคนไข้อนาถาทั้งนั้น การฝึกอบรมผ่าศพ ส่วนใหญ่ก็เป็นศพที่ไม่ญาติ "เราได้เรียนรู้จากคนที่มีฐานะเศรษฐกิจด้อย เพราะฉะนั้นมันจึงมีความชอบธรรมที่เมื่อเรียนจบแพทย์ ควรที่จะออกไปรับใช้ประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทเพื่อทดแทนคุณอย่างน้อย 3 ปี"

สิ่งนี้สะท้อนอุดิมคติต่อการมองปัญหาการเปิดโรงเรียนแพทย์ของวิทยาลัยรังสิตที่กลุ่มหมอเหล่านี้คัดค้านได้ชัดเจนมาก ว่าที่จริงแล้ว มาจากเหตุผลด้านแนวคามคิดในการประเมินค่าของระบบแพทย์พาณิชย์ที่อออกมาในเชิงลบนั่นเอง

มีความเชื่อว่าระบบแพทย์พาณิชย์ทำให้ประชาชนต้องเสียค่ารักษาสูงเกินความจำเป็น มีตัวอย่างในสหรัฐฯ ที่แพทย์สั่งให้คนไข้ตัดทอลซิลทิ้งด้วยสาเหตุที่ไม่จำเป็นถึง 90% ตัดมดลูกโดยไม่มีข้อบ่งชี้อีก 70% แพทย์ในสหรัฐฯจึงต้องทำประกันกันทุกคนเพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกคนไข้ฟ้องร้องค่าเสียหาจากกรณีการละเมิดจริยธรรมการบำบัดรักษา

ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน แม้ไม่มีตัวเลขพิสูจน์ได้ชัดเจนเหมือนตัวอย่างในสหรัฐฯแต่ก็เป็นที่รู้กันว่า โดยเฉลี่ยคนไข้ 10 ราย จะมีสัดส่วน 7-8 รายที่ไม่จำเป็นต้องฉายรังสี X-RAY C.T.SCAN ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000-6,000 บาท ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านคอมมิชชั่น 10% ที่หมอจะได้รับจากการส่งคนไข้ไป X-RAY แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบ่งชี้ว่าแนวโน้มการกระทำผิดจรรยาบรรณของแพทย์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2513-25 มีประมาณ 180 คดี ขณะที่ช่วงปี' 26-31 ซึ่งระยะเวลาสั้นกว่า จำนวนความผิดของแพทย์ก็สูงถึง 150 คดี

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่มีการเก็บข้อมูลตัวเลขการผิดจริยธรรมทางการแพทย์มีหลักฐานว่าแพทย์ที่กระทำผิดจริยธรรมสูงถึง 330 คดี ในจำนวนนี้มีแพทย์ที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนที่ฟิลิปปิ้นส์กระทำความผิดสูงกว่าแพทย์ที่จบจากสถาบันในประเทศถึง 6 เท่าตัว

ความเชื่อจากข้อมุลเหล่านี้ถูกนำไปโยงเข้ากับกระบวนการผลิตแพทย์ของเอกชนด้วย อาจมีผลที่น่าเชื่อถือกันได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดจริยธรรมได้ง่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชน ต้องใช้เงินลงทุนศึกษาเล่าเรียนสูงถึง 990,000 บาท ตลอดหลักสูตร 6 ปี ขณะที่ภาวะสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเน้นแบบแผนการบริโภคและวิถีชีวิตแบบตะวันตกมากขึ้น เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมแบบนี้อาจกระตุ้นให้การทำผิดของแพทย์เพิ่มมากขึ้น

การมองอนาคตของนักเรียนแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชนในแนวนี้อาจไม่ยุติธรรมนักต่อวิทยาลัยรังสิต เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึกในจริยธรรมของแต่ละคนจุดสำคัญที่จะปกป้องรักษาจริยธรรมในวิชาชีพให้แก่นักเรียนแพทย์คงไม่ได้อยู่ที่อยู่ในเบ้าหลอมเอกชนหรือรัฐ

แต่อยู่ที่ว่า กระบวนการคัดเลือกและผลิตเป็นอย่างไรมากกว่า

วิทยาลัยรังสิตลงทุนเปิดคณะแพทย์ตลอดหลักสูตร 6 ปี เพื่อผลิตแพทย์ GENERAL PRACTISE ด้วยเงินสูงถึงเกือบ 100 ล้านบาท โดยที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมด้านภาษีอากรและศุลกากรจากรัฐในส่วนเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เลยแม้แต่น้อย

จะมีเพียงแต่กล้องจุลทรรศ์เท่านั้นที่ได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ข้อตกลงกับทางยูเนสโก้ (UNESCO) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่

"ด้านขอส่งเสริมจากบีโอไอเราเคยยื่นไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาส่งเสริม เนื่องจากบีโอไอยังไม่มีนโยบายด้านนี้" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงที่มาจากการไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ

แต่ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อชื่อเสียงอย่างน้อยคณะพยาบาลศาสตร์กายภาพบำบัดและเภสัชศาสตร์ ซึ่งเปิดการเรียนการสอนไปแล้วก็สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกันได้

พูดอีกนัยหนึ่ง ๆ ถึงคณะแพทย์ไม่ได้รับส่งเสริมลงทุน แต่ก็พอถู ๆ ไถ ๆ ไปได้บ้างเพราะมีสาขาวิชาอื่น ๆ มาร่วมเฉลี่ยต้นทุนไปได้บ้างในส่วนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ

กระนั้นก็ตาม มันก็สะท้อนให้เห็นทิศทางการลงทุนเพื่อการศึกษาของวิทยาลัยรังสิตอย่างเด่นชัดที่จะผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ออกมาสู่ตลาดในสัดส่วน 50:50 ของสายวิชาชีพทางสังคมศาสตร์ โดยเน้นที่ความพร้อมในการผลิตอย่างมีคุณภาพ

อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิต เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงปรัชญาการลงทุนด้านการศึกษาว่า เป็นการลงทุนที่สูงมากถึง 500 ล้าบาท โดยเน้นหนักไปที่สถานที่เครื่องมืออุปกรณ์และค่าจ้างอาจารย์เพราะค่าใช้จ่ายลงทุน 3 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการผลิตนักศึกษาออกมาสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ

"การลงทุนทางการศึกษาในบ้านเราส่วนใหญ่จะทำถูก ๆ เข้าไว้ ส้วมก็ต้องเหม็น ๆ อุปกรณ์การเรียนการสอนก็เก่า ๆ เด็กที่จบมาต้องผ่านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่าเด็กที่ผ่านขั้นอุดมศึกษามาได้เขาต้องเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีหูตากว้างไกล มีความมั่นใจตนเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นได้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งผมเห็นว่ามีโรงเรียนไม่กี่แห่งที่ทุ่มเทจริง ๆ "

ปรัชญาการศึกษาเช่นนี้สะท้อนออกมาในเชิงรูปธรรมจากรณีตัวอย่างคณะแพทย์ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงในคุณภาพตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกไปจนถึงการเรียนการสอน เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบการเลือกสรรของเอกชนไม่ด้อยกว่าของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเลย

"มีระบบการคัดเลือกที่เข้มข้น เริ่มจากการสอบข้อเขียนที่วิทยาลัยจัดสอบเอง โดยมาตรฐานเดียวกับของทบวงซึ่งผ่านข้อเขียนมาได้ 100 คน จากผู้สมัครเกือบ 400 คน จุดที่แตกต่างจากระบบคัดเลือกของทบวงคือการสัมภาษณ์ที่เน้นหนักทดสอบความถนัดทางการแพทย์ เพื่อตรวจสอบจิตสำนึก และจริยธรรมในวิชาชีพ ขณะที่การทดสอบแบบนี้ รัฐไม่กล้าทำ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวถูกร้องเรียนว่าไม่ให้ความยุติธรรมแก่เด็กในการสอบสัมภาษณ์" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์กล่าว

เมื่อเบ้าหลอมการคัดเลือกแตกต่างกันด้วยเหตุนี้เองที่อาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทย์มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทางแพทย์สภาควรให้นักเรียนแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสอบใบประกอบโรคศิลป์เหมือนโรงเรียนแพทย์เอกชนทั่วไปด้วย เพราะโรงเรียนแพทย์ของรัฐที่เปิดใหม่ ๆ ก็มีปัญหาด้านความแตกต่างในคุณภาพการเรียนการสอนเมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์ของรัฐที่เก่าแก่ ยกตัวอย่างประสานมิตร มีนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 จำนวน 37 คน มีอาจารย์แพทย์ระดับ PH.D 1 คน อีก 16 คน เป็นระดับปริญญาโท (แพทย์เฉพาะทาง) เทียบกับศิริราช ซึ่งเก่าแก่ที่สุด มีอาจารย์แพทย์ถึง 543 คน

ขณะที่วิทยาลัยรังสิตมีนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 จำนวน 48 คน แต่มีอาจารย์แพทย์จำนวนถึง 31 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งจากสถาบันแพทย์ในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ หนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2532 ที่ลงนามโดย สุจินต์ ผลากรกุล อธิบดีกรมการแพทย์ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการฝึกภาคปฏิบัติ (การเรียนการสอนระดับคลินิก) ของนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพของวิทยาลัยรังสิต ที่โรงพยาบาลราชวิถี และเด็ก ที่ประกอบไปด้วยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 7 ท่าน นำโดยนายแพทย์วิทูร แสงสิงแก้ว ก็เป็นสิ่งยืนยันการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ระดับคลิกนิกของวิทยาลัยรังสิต มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้

ดังนั้นถ้าหากมาจับคู่เปรียบเทียบกันระหว่างประสานมิตรซึ่งเป็นของรัฐกับรังสิตซึ่งเป็นของเอกชน โดยที่ทั้ง 2 สถาบันต่างเพิ่งเปิดคณะแพทย์กันใหม่ถอดด้าม จะสังเกตเห็นว่า การที่แพทย์สภาให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ของรัฐไม่ต้องสอบรับใบประกอบโรคศิลป์ เพราะเชื่อในระบบการหล่อหลอมของรัฐว่ามีคุณภาพเข้มข้นดีแล้ว อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดอย่างน้อยที่สุด พิจารณาไปที่ปัจจัยด้านปริมาณและคุณภาพของอาจารย์ที่สอนก็จะพบว่ามีความรู้ความชำนาญแตกต่างกันชัดเจน

มองในแง่นี้ แพทย์สภาอาจต้องหันมาทบทวนบทบาทหน้าที่พื้นฐานในการออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักเสียใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการผลิตของสถาบันเอกชนให้มากขึ้น

คงไม่ได้หมายความแต่เพียงจะต้องเข้มงวดมากขึ้นในการสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ เอาแต่เฉพาะนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศเท่านั้น หากควรจะต้องเข้มงวดในการพิจารณาเพื่อทดสอบคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการความรู้ทางการแพทย์ของนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนแพทยืของรัฐด้วย เพื่อความเท่าเทียมกันในสิทธิที่จะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากแพทย์สภา

การลงทุนด้านการศึกษาของวิทยาลัยรังสิต เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งให้แพทย์สภาได้รับรู้ถึงความจริงในปรัชญาการลงทุนการจัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นคุณภาพเป็นจุดหนัก ความพร้อมที่จะลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประกอบการศึกษาของเอกชนไปสัมผัสด้วยตา บางทีความเชื่อในการมองภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและให้บริการทางการแพทย์ว่าจะทำให้เกิดระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟู และเป็นอันตรายกับประชาชนนั้น อาจต้องมาทบทวนกันใหม่ก็ได้ เพราะ หนึ่ง-สูตรสมการระบบแพทย์พาณิชย์จากเอกชนอาจไม่เป็นจริงเสมอไปก็ได้ว่าจะต้องหมิ่นเหม่เหม่ต่อจริยธรรมทางการแพทย์ได้ง่ายกว่าแพทย์ที่ผ่านจากโรงเรียนของรัฐ และ สอง-การเฟื่องฟูของระบบแพทย์พาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องมาจากการผลิตแพทย์ของโรงเรียนแพทยืเอกชนอย่างวิทยารังสิต โรงเรียนแพทย์ของรัฐก็มีโอกาสทำให้ระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟูได้เหมือนกันเมื่อมองจากเบ้าหลอมระบบการคัดเลือกและคุณภาพการลงทุนในการเรียนการสอน

ความแตกต่างในแนวความคิดของการเกิดระบบแพทย์พาณิชย์โดยดูจากกรร๊ตัวอย่างการเปิดสอนคณะแพทย์ศาสตร์ของวิทยาลัยรังสิต คงไม่จบลงง่าย ๆ เพราะหนึ่งที่ประชมคณะกรรมการแพทย์สภาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อีดข้อเสียเนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และไม่มีนโยบายที่ระบุไว้ชัดเจนจากรัฐเลยว่าจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ด้วยหรือไม่

ซึ่งก็หมายความว่า หลักสูตรและสถาบันที่วิทยาลัยรังสิตได้ยื่นขอรับรองอนุมัติจากแพทยสภาแล้วนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะรู้ผล

บางทีอาจจะแท้งตั้งแต่ขั้นอนุกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียของแพทยืสภาเลยก็อาจเป็นได้ และประการสุดท้าย-เรื่องนี้ได้ถูกนำเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการศึกษาและสังคมของรัฐสภาด้วย

โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน กรรมาธิการศึกษาและสังคมของรัฐสภาได้ให้ตัวแทนของแพทย์สภาคือ น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ กับดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตไปให้ข้อมูลและความเห็น

นั่นหมานความว่า อาจเป็นไปได้ที่กฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่แพทย์สภายึดถืออยู่ และกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติงานนโยบาย อาจต้องมีกาแรก้ไขปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจสังคมที่ผันแปรไป

ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะลบล้างความเชื่อในแนวความคิดที่แตกต่างกันในการมองเอกชนว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างระบบแพทย์พาณิชย์ให้เฟื่องฟูของผู้นำบางคนในกลุ่มแพทย์สภาไปได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us