Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2532
ปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากมาตรการบีบคั้นธนาคารพาณิชย์             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

กระทรวงการคลัง
Banking and Finance
Interest Rate




การประกาศยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวเกิน 1 ปีขึ้นไป ของกระทรวงการคลังเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดสองฝ่ายหลังก็จำใจยอมรับมาตรการของคลัง แม้จะยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันเสียทั้งหมดก็ตาม ขณะเดียวกันการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่สูงมากแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีขึ้นทับเท่าทวีคูณ ต้นทุนเงินปล่อยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดิ้นไปหากำไรจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้ จากค่าธรรมเนียมการบริการต่างๆ ทั้งที่ตลาดส่วนนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

คำประกาศยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจแต่อย่างใดสำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย เพราะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างปรึกษาหารือถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่เสมอมา แต่สำหรับการประกาศเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข้อที่แตกต่างไปจากครั้งอื่นใด คือเป็นคำประกาศของกระทรวงการคลังอย่างฉับพลันทันใด ที่ทำให้แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ "งงและสับสน" เพราะมันไม่เหมือนกับที่สองฝ่ายหลังได้พูดคุยตกลงกันก่อนหน้านี้เลย

ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงเหตุผลในการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวเกิน 1 ปีขึ้นไปว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ส่งเสริมให้เกิดการออมในประเทศเพิ่มมากขึ้น "เรื่องดอกเบี้ยเงินฝากนั้นผมจะให้เปิดแข่งขันกันโดยเสรี" เป็นคำพูดที่แสดงเจตนารมณ์อันแจ่มชัดของรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งและมีภูมิหลังเป็นพ่อค้านักธุรกิจ

คำประกาศของประมวลได้รับการตอบสนองทันทีจากการกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลังจากประมวลประกาศแล้ว กำจรได้เข้าพบหารือเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมงเต็มและต่อมาได้กล่าวว่า "สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดไปก็สามารถพูดได้เพราะเป็นนักการเมือง แต่ตนในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องพูดอีกฐานะหนึ่งหวังว่าคงเข้าใจ"

ทางด้านธนาคารพาณิชย์นั้น ปกรณ์ ทวีสิน นายกสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยทุนกล่าวสนับสนุนนโยบายของประมวล แต่ท้วงติงว่าในระยะแรกจะส่งผลให้ธนาคารมีการแข่งขันกันสูงมาก เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนกับระบบเสรี นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลง เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพแสดงความข้องใจต่อคำประกาศของประมวล ยอมรับอย่างมีเงื่อนไขว่าหากมีการปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว คลังควรจะลดหรือยกเลิกระเบียบข้อบังคับบางประการที่สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติอยู่

การที่แต่ละฝ่ายออกความเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่องมาตรการยกเลิกเพดานดอกเบี้ยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นเหตุผลเบื้องลึกของแต่ละคนชัดเจน ความคิดที่จะให้มีการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากนั้นเกิดขึ้นในใจของนักการธนาคารมานาน ไม่ว่าทางฝ่ายแบงก์ชาติหรือธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีการพูดคุยปรึกษาเห็นชอบกันแล้ว จึงในที่สุดได้ทำข้อเสนอชุดหนึ่งให้คลังพิจารณาอนุมัติตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมา

ข้อเสนอดังกล่าวต้องการให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งสองด้าน โดยทางด้านของเงินกู้ให้เพิ่มเพดานขึ้น 1% เป็น 16% ส่วนเงินฝากนั้น ประเภทเงินฝากประจำระยะ 1 ปี เพิ่มขึ้น 1.5% จาก9.5% เป็น 11% และเพิ่มเติมเงินฝากประเภท 2 ปีโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย 11.5% ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 1% จาก 7.25% เป็น 8.25%

ในแง่ของธนาคารพาณิชย์นั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่สลับซับซ้อน การเพิ่มดอกเบี้ยทั้งสองด้านก็ไม่ต่างอะไรจากที่เป็นอยู่เดิมนักเมื่อมองในแง่ของต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่อาจช่วยสภาพคล่องในระบบมากขึ้นและลดปัญหาการแข่งขันเรื่องการจ่าย "ดอกเบี้ยใต้โต๊ะ" ลงได้บ้าง

ขณะที่ในส่วนของแบงก์ชาติมีความต้องการที่จะลดหรือชะลออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ "มากเกินไป" โดยแบงก์ชาติได้ตรวจพบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2532 มีการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบสูงถึง 29% จากที่เมื่อปี 2531 มีการขยายตัวที่สูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะไม่ให้เกิน 25% แล้วและที่ผ่านมาการขายสินเชื่อแบบ "เกินตัว" เช่นนี้มักจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นเสมอ โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อเช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก สินเชื่อขยายตัวสูงถึง 40% หรือเมื่อปี 2526 ก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 32% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมากับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของฐานเงินสินเชื่อ ซึ่งอาจเป็นในอดีตการขยายตัวถึง 29% ในช่วงไตรมาสแรกจะต้องทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นแน่ แต่ปัจจุบันเนื่องจากฐานะการเงินการคลังของประเทศมีความมั่นคงมาก มียอดเงินสินเชื่อคงค้างอยู่ในระบบมากถึง 901,845 ล้านบาท ดังนั้นปัญหาทางด้านการขยายตัวของสินเชื่อที่มีอยู่ในเวลานี้จึงไม่รุนแรงเท่าที่ควร

กระนั้นก็ดี การขยายสินเชื่อแบบ"เกินตัว" ในปัจจุบันต้องก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การควบคุมคุณภาพสินเชื่อ หรือการเตรียมรับผลกระทบจากความผันผวนของปัจใจภายนอกเช่นการเพิ่มราคาน้ำมัน หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นต้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติวิตกกังวลอย่างยิ่ง และมาตรการชะลอการขยายตัวของสินเชื่อจึงถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นการตระเตรียมรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต

ขณะที่แบงก์ชาติพลิกตำราวิเคราะห์ปัญหาและร่างข้อเสนออย่างที่เคยปฏิบัติมา กระทรวงการคลังภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็วิเคราะห์ปัญหาเดียวกันในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างออกไป

นโยบายหลักที่คลังยึดถืออยู่คือส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการออมภายในประเทศมากขึ้น ในแง่นี้คลังจึงไม่รีรอที่จะอนุมัติให้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว ด้วยความหวังว่าจะมีการแข่งขันการระดมเงินฝากอันจะทำให้มีเงินออมระยะยาวในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้มีมูลเหตุที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดเงินออมภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพราะได้มีการประมาณการว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ไปจะมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท แต่เงินออมทั้งระบบจะมีเพียง 2.5 แสนล้านบาท ขาดไปประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

นอกจากขาดเงินออมแล้ว เงินออมที่มีอยู่ในระบบก็ยังเป็นเงินออมระยะสั้น (โปรดดูตารางโครงสร้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นปี 2531) โดยมีเงินฝากสะสมทรัพย์มากถึง 31.7% ขณะที่เงินฝากประจำนั้น แม้จะมีอยู่ 61.8% แต่ก็มีสัดส่วนของเงินฝากประจำ 2 ปีขึ้นไปเพียง 7,000 ล้านบาท หรือ 1% เท่านั้น

นโยบายปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวจึงมีเป้าหมายเพื่อปรับสัดส่วนของเงินฝากให้เหมาะสมกับความต้องการใช้เงินเพื่อการลงทุนด้วย โดยคลังคาดหมายว่าสัดส่วนเงินฝาก 2 ปีขึ้นไปต้องเพิ่มเป็น 14%

ประมวลกล่าวเป็นเชิงตัดสินข้อเสนอของแบงก์ชาติว่า "ผมเห็นด้วยว่าดอกเบี้ยเงินฝากต้องปรับขึ้น แต่ในเรื่องของสินเชื่อเรายังมีความหวังอยู่ในเมื่อระบบการเงินของเรายังมีสภาพคล่อง มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาเสริม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการชะลอสินเชื่อ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ผมว่าเรื่องนี้ยังฟังไม่ถนัดนัก แต่ก็เป็นเหตุผลที่น่าฟัง"

อีกทั้งกล่าวสำทับให้เห็นท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ของคลังด้วยว่า "ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยยอมตามธนาคารพาณิชย์มาตลอด และกระทรวงการคลังก็ยอมตามธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มาตอนนี้กระทรวงการคลังไม่ยอมตามใจใครง่ายๆ"

พูดจาภาษานักเลงเก่าอยุธยาก็คือต่อไปนี้แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ต้องทำตามนโยบายของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด แม้แต่นโยบายด้านการเงินซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบหลักของแบงก์ชาติ และโดยส่วนมากจะได้รับอิสระในการดำเนินงานนั้น ก็จะต้องมาอยู่ภายใต้คลังและเป็นไปตามระบบการบริหารของราชการ ซึ่งภายหลังจากที่คลังประกาศอย่างแข็งกร้าวว่ามาตรการเรื่องดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามที่คลังตัดสินแล้วนั้น ทุกฝ่ายก็เหมือนจะยอมรับโดยดุษณี

เรื่องการปีนเกลียวกันระหว่างแบงก์ชาติกับคลังนั้น นงเยาว์ ชัยเสรีหนึ่งในที่ปรึกษาสำคัญด้านการเงินของประมวลและเป้นหนึ่งในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ความจริงเรื่องของท่านกับแบงก์ชาตินี่ก็ไม่ใช่ว่ามีเรื่องอะไรกันรุนแรง ความจริงเป็นการบ่นเรื่องงานกันมากกว่า จริงๆไม่มีอะไร แต่สไตล์การพูดของท่านนี่ไม่เหมือนรัฐมนตรีคลังคนอื่นๆ ซึ่งทางท่านผู้ว่าฯหรือเจ้าหน้าที่แบงก์ชาตินี่อาจะไม่เคยชินกับสำนวนหรือการพูดแบบนี้ ก็เลยอาจเข้าใจผิดบ้างหรือน้อยใจบ้าง แต่ว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรกับแบงก์ชาติส่วนแบงก์ชาตินั้นเขาก็มีน้อยใจบ้าง อย่างนี้แหละ"

ปกรณ์กล่าวในจุดเดียวกันแต่ต่างออกไปว่า "แบงก์ชาติกับคลังนี่จริงๆ แล้วมันมีความขัดแย้งกัน คือมีความเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่ตรงกัน แต่ที่ผ่านมาเป็นการเล่นในระดับแบงก์ชาติกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยเป็นการถกเถียงกันภายใน ตอนหลังอาจเป็นเพราะท่านรมต.สนใจมาก ท่านก็กระโดดลงมาคลุกเองด้วยปัญหาเริ่มขึ้นเป็นอีกระดับหนึ่ง"

อย่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยนี่ก็เป็นรูปธรรมที่สะท้อนได้แจ่มชัด การที่ประมวลยับยั้งเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเพราะไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ขัดกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมองว่าธนาคารพาณิชย์ได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (SPREAD) สูงมากคือ 5.5% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับธนาารพาณิชย์ในต่างประเทศแล้วส่วนต่างนี้จะมีเพียง 1% เท่านั้น ส่วนต่างนี้เป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป

อย่างไรก็ตามหนึ่งในที่ปรึกษาซึ่งถูกขอยืมตัวมาจากสศค.กล่าวเปิดเผยเรื่องนี้กับ"ผู้จัดการ" ว่า "ตัวเลข 5.5% นั้นท่านดูอัตราเฉลี่ยของเงินฝากกับเงินกู้ เวลาท่านแถลงท่านก็เอาตัวเลขง่ายๆ ที่ชาวบ้านคิดด้วยไวๆ ทางสศค.คำนวณออกมาแล้วตกประมาณ 2-3%"

ส่วนนงเยาว์ให้ความเห็นว่า "เรื่องนี้มันอยู่ที่ว่าใครจะคิดแบบไหน เวลาแบงก์พาณิชย์คิดนั้นเขาก็เอาการให้เครดิตกับพวกเกษตรกรรมเข้ามาคิดด้วย นี่ยกตัวอย่างนะ คือกำไรส่วนที่เขาลดลงเขาก็เอามาคิดเป็นต้นทุนด้วย มันก็เหลือน้อยนะซิ ทีนี้ทางกระทรวงฯไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดที่เป็นค่าใช้จ่ายจริงๆ ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าวิธีคิดนี่คิดอย่างไร แต่ถึงอย่างไรขึ้นดอกเบี้ยแล้วแบงก์ก็อยู่ได้"

ปกรณ์ให้การยืนยันเช่นกันว่า "ใหม่ๆไม่เป็นไร แต่ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหา ตอนนี้ไพร์มเรทเขยิบขึ้นมา 0.5% แล้ว ต้นทุนของแบงก์มันขึ้นมาอย่างน่ากลัว ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อกลางปีที่แล้วดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 7.25% แล้วขึ้นมาเป็น 8.5% มาชน 9.5% และลอยตัวเป็น 10.5% ในเวลานี้ จริงๆต้นทุนของแบงก์ 12% แล้ว แต่ว่าในช่วงต้นปียังมีเงินฝากเก่าอยู่ แล้วเผอิญมีสภาพคล่องหรืออะไรก็แล้วแต่ แบงก์ก็อั้นไว้เพราะการแข่งขันก็ยังสูง แต่ว่าช่วงต่อไปนี้จะอั้นเท่าไหร่ก็ไม่อยู่เพราะต้นทุนสูงขึ้นมาเร็วเหลือเกิน"

ทางด้านดร.อัศวิน จินตกานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครธนซึ่งเป็นธนาคารที่มีอัตราส่วนการเติบโตทางสินทรัพย์,เงินฝากและเงินกู้เป็นอันดับต้นๆ (โปรดดูตารางวัดผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นธันวาคม 2531) ให้ความเห็นยืนยันเพิ่มขึ้นว่า "ต้นทุนจริงๆ ของธนาคารนั้นอยู่ระหว่าง 11.6-12% สมมุติว่าให้กู้ไปประมาณ 13% มาร์จิ้นจะประมาณ 1-1.3% แต่ว่าในนี้ก็ต้องมาคิดอีกว่าสินเชื่อหลายอันที่เราปล่อยไปนี่อาจจะเป็นหนี้เสียได้ ดังนั้น SPREAD จะลดลง"

การคิดต้นทุนของแบงก์หรือต้นทุนเงินฝาก (COST OF FUNDS) ในที่นี้ ธนาคารพาณิชย์ได้คิดรวมภาระผูกพันที่จะต้องถือสำรองเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลรวมเข้าไว้ด้วย คือดำรงเงินสดสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ของยอดเงินฝากในประเทศ สำรองพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการเปิดสาขาใหม่ร้อยละ 16 ของยอดเงินฝาก ให้สินเชื่อเพื่อการเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของยอดเงินฝากและสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินไม่เกินร้อยละ 0.1 ของยอดเงินฝาก (โปรดดูตารางต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์)

ภาระผูกพันเหล่านี้เองที่ทำให้เจ้าสัวชาตรีตั้งเป็นเงื่อนไขว่าควรจะลดลงหรือยกเลิกไปเลยบางกรณี เช่น การสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์โดยไม่จำเป็น

ฐานการคิดต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวทำให้ SPREAD ที่ออกมามีเพียง 1% กว่าๆเท่านั้น โดยเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น แม้จะอยู่ที่ 15% แต่ก็ยังไม่มีธนาคารใดปล่อยติดเพดาน และไพร์มเรทก็อยู่ที่ 12% เพิ่งขึ้นมาเป็น 12.5% หลังการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ในทางปฏิบัติมีบางธนาคารขึ้นมาเป็น 12.5% นานแล้วก็ตาม

การสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประเด็นที่มีผู้เห็นด้วยกับฝ่ายธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมากรวมทั้งบุญชู โรจนเสถียร ประธานคณะกรรมาธการเศรษฐกิจการคลัง สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นว่ามาตรการผูกพันเหล่านี้ควรยกเลิกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี บุญชูซึ่งมีความเห็นสนับสนุนการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวในฐานะที่เป็น "ก้าวแรกในการระบบการควบคุมอัตราดอกเบี้ยโดยกลไกตลาด มิใช่ด้วยกฎหมาย" ก็มองว่าเมื่อยกเลิกเพดานดอกเบี้ยด้านนี้แล้วปล่อยให้มีการแข่งขันโดยเสรีนั้น จุดแพ้/ชนะของธนาคารจะอยู่ที่ความสามารถในการดำเนินงานทางด้านการใช้ทรัพยากรในธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวอีกในหนึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องแข่งขันกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอย่างมากแม้จะเสียเปรียบเรื่องต้นทุนเงินฝากก็ตาม

นอกจากนี้ยังจะต้องมุ่งไปแสวงหารายได้จากค่าธรรมเนียมและการบริการต่างๆ (FEE-BASE) ซึ่งปกรณ์และนักการธนาคารอีกเป็นจำนวนมากก็มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าตลาดส่วนนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก ปกรณ์เปรียบเทียบการคิดค่าบริการระกว่างธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศว่า "ในต่างประเทศนั้น หากคุณมีบัญชีกระแสรายวันหรืออะไรก็แล้วแต่โดยคุณมียอดเงินต่ำ ทว่ามีเงินหมุนเวียนสูงคุณต้องจ่ายค่าบริการแล้ว เท่าไหร่ก็คิดกันไปแต่ในเมืองไทยนั้นไม่ต้องเพราะถือเป็นลูกค้าชั้นดี ซึ่งถ้าลงไปดูลึกๆ แล้วแบงก์ขาดทุนย่อยยับ ผมคิดว่าประมาณ 30% ของยอดเงินในธนาคารต้องมาใช้จ่ายเกี่ยวข้องในเรื่องการลงบัญชี ถอนบัญชี ลงเงินสดฝากเงินสดฯลฯ หรืออย่างการเก็บเช็ค 2 บาทคนก็ยังโวยวายว่าแบงก์รวยจะตายแล้วทำไมต้องคิดด้วยที่จริงนั้นค่ากระดาษ ค่าอะไรต่อมิอะไรก็ยังไม่คุ้ม ดังนั้น FEE-BASE จึงยากมากๆเพราะคนไทยยังไม่ยอมรับ"

อย่างไรก็ตาม มาตรการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวของกระทรวงการคลังก็ดูเหมือนจะต้องการให้เกิดผลกระทบในด้านนี้ค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องมุ่งไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่มากกว่าการทำ RETAIL BANKING ซึ่งเน้นไปทางด้านการรับฝากเงินแล้วนำปล่อยกู้

สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นคือตลาดทางด้าน FEEBASE อันได้แก่การทำ TRADE FINANCE, FOREING EXCHANGE, ทำแอลซี, การันตีและอาวัล รวมทั้งเรื่อง FORFETING ซึ่งบริการประเภทนี้ก็เพิ่งมีธนาคารไม่กี่แห่งที่เปิดบริการให้ลูกค้า เช่น ธนาคารนครธนธนาคารต่างประเทศชั้นนำที่มีสาขาในไทยเป็นต้น

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังจะต้องให้ความสำคัญต่อเนื่องการบริหารเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักปริวรรตเงินตราและสำนักบริหารเงิน อัศวินกล่าวว่า "ธนาคารไหนสามารถทำตรงนี้ได้ดีที่สุด ธนาคารนั้นมีกำไรมากที่สุด เพียงแค่ MATCHING FUND ให้เหมาะ เพิ่ม PRODUCITVITY 1% BUSINESS VOLUME 900 ล้านบาท กำไรแล้ว 9 ล้านมันเห็นชัด"

อนึ่งมีข้อสังเกตว่ารายได้ทางด้าน FEE-BASE ของธนาคารพาณิชย์นั้นจะมาจากลูกค้าที่ทำธุรกิจทางด้านนำเข้าส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นธนาคารใดที่มีลูกค้าประเภทนี้เป็นจำนวนมากย่อมได้เปรียบกว่า ซึ่งในข้อนี้ปรากฎว่าธนาคารนครธนเป็นธนาคารขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่มีสัดส่วนของลูกค้าประเภทนี้สูง อัศวินกล่าวว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการมีประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่สัดส่วนการเติบดตของผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารนครธน (RETURN ON EQUITY) จึงสูงถึง 11.53% เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2531 และอัตราการเติบโตในด้านอื่น ๆ ก็เป็นที่น่าพอใจด้วย

กระนั้นก็ดี ธุรกิจด้านนำเข้าส่งออกใช่ว่าจะรุ่งเรืองเสียทุกปีก็หาไม่ หากปีใดปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลง รายได้ของแบงก์ก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ปกรณ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ยุคทองของแบงก์ผ่านไปแล้ว เมื่อปีที่แล้วซิเป็นยุคทองจริง ๆ มาร์จิ้นของแบงก์ดีที่สุด"

คำพูดของปกรณ์สะท้อนให้เห็นหัวใจการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญในบ้านเราอย่างหนึ่งคือการครองส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝาก นายธนาคารผู้ช่ำชองคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ธนาคารในประเทศไทยนี่ยึดถือศักดิ์ศรีในเรื่องส่วนแบ่งการตลาดเป็นใหญ่แม้ว่าตัวเองไม่ต้องการเงินก็ไปแข่งขันกับเขา ดึงเงินเข้ามาแล้ว มีเงินแล้วไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหนก็ยังอุตส่าห์ดึงเงินเข้ามาอีก หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบที่ว่ารัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการจะต้องฝากเงินในธนาคารแห่งหนึ่งที่กำหนดไว้เพียงแห่งเดียว ซึ่งธนาคารนั้นก็ไม่ต้องการเงิน แต่ว่าต้องรับ เสร็จแล้วเขาไม่รู้จะทำอย่างไรเป็นต้น"

ธนาคารกรุงไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดในฐานะเป็นแบงก์รัฐวิสาหกิจเป็นมือเป็นเท้าให้กระทรวงการคลัง พูดให้ชัดเวลานี้ก็คือเป็นมือเท้าให้ รมต.ประมวล ทุกวันนี้แบงก์กรุงไทยรับเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจเพียบโดยให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.6% เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน

สิ่งที่กรุงไทยประสบอยู่เวลานี้คือสภาพคล่องสูงเกินไป ไม่รู้จะเอาเงินที่มี COSTING ต่ำ จำนวนนี้ไปทำประโยชน์ในรูปให้สินเชื่ออย่างไรดี เนื่องจากต้องมนั่งพะวงกับการแก้ปัญหา BAD DEBT จำนวนมหึมาเกือบ 20,000 ล้านบาท อย่างน้อย 2 ปีข้างหน้าจึงจะเสร็จสิ้น

ธรรมเนียมการปฏิบัติและกฎระเบียบเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ขัดต่อการปล่อยให้กลไกของตลาดเป็นตัวตัดสินอย่างเรื่องการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งหากจะพิเคราะห์กันลึก ๆ แล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ก็เป็นมรดกตกทอดมาจากนโยาบายการเงินการคลังของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทั้งสิ้น

ดังนั้นหากจะใช้นโยบายเสรีกันจริง ๆ แล้ว คงต้องทำการอธิบายให้เป็นขั้นตอนกระจะจ่างกันไป และคงต้องมีการคิดเตรียมแผนการรองรับปัญหาต่าง ๆ อันจะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายเสรี

ถ้าคลังไม่มีแผนการรองรับตรงนี้แล้วก็เท่ากับว่ามาตรการที่ออกมานั้นเป็นเพียงความต้องการชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อบีบให้ธนาคารพาณิชย์ทำตามนโยบายของตนเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us