Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2532
มันสมองที่ 2 ของประมวล             
โดย สมชัย วงศาภาคย์ ปฏิญา เจตนเสน
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

กระทรวงการคลัง
ประมวล สภาวสุ




ประมวล สภาวสุ ได้ชื่อว่าเป็นรมต.คลังที่มีภูมความรู้ต่ำสุดในบรรดารมต.คลังที่มีมา เขาจึงต้องมีกลุ่มมันสมองที่ 2 ไว้เป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีทั้งข้าราชการประจำและคนภายนอกที่เขาไว้ใจ ผลงาน 10 เดือนของเขา ดูจากจุดยืนของประชาชนได้รับความนิยมไม่น้อย แต่ในคณะรัฐมนตรีแล้ว เขาดูเหมือนเป็นคนที่พูดน้อยที่สุด และมีบางสิ่งบางอย่างบอกเหตุผลว่า เขาอาจต้องลุกจากที่นั่งตำแหน่งนี้หลังจากการประชุมสภาสมัยสามัญนี้ได้ปิดฉากลง…

สิงหาคมปีที่แล้ว อุณหภูมิในกรุงเทพมหานครยังร้อนอบอ้าว ทั้งๆที่เป็นช่วงย่างเข้าฤดูฝนแล้ว ความร้อนรุ่มของอากาศดูจะไม่เป็นใจนักต่ออุณหภูมิภายในร่างกายของชายวัย 60 ปีคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าเกรียมเข้มบ่งบอกถึงความกร้านของชีวิติที่ผ่านความล้มเหลว และสำเร็จหลายอย่างมาแล้วอย่างทรหดทันทีที่รู้ว่าเขาต้องเข้าแบกรับภารกิจอันหนักหน่วงในฐานะรัฐมนตรี-คลัง ตำแหน่งงานที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนตามสามัญสำนึกที่รู้ตัวเองดีว่า ไม่มีคุณสมบัติข้อใดเลยที่เหมาะสมกับงานในตำแหน่งหน้าที่นี้

จากความรู้แค่เตรียมธรรมศาสตร์ไปเป็นเสมียนธนาคารตันเปงชุน (ธนาคารมหานคร-ปัจจุบัน) อยู่ไม่กี่เดือน แล้วผันชีวิตตัวเอง เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างด้วยการเป็นลูกจ้างบริษัทรัชตะก่อ-สร้าง ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่จะโผผินออกมาสู่รังของตัวเองในนามบริษัทประมวลก่อสร้าง หลังจากได้ประสบการณ์และช่องทางทำมาหากินในธุรกิจก่อสร้าง จวบจนกระทั่งโดดเข้าสู่วิถีการเมืองด้วยการเสนอแก่ประชาชนจังหวัดอยุธยา บ้านเกิดเลือกให้เป็นผู้แทน

นับว่าเป็นภูมิหลังของชีวิตที่เข้ากันไม่ไได้เลยซักนิดเดียวกับภารกิจที่ใช้เกียรติยศทางการเมืองของตนเองเข้าแลก ซึ่งรออยู่เบื้องหน้า ในถานะรัฐมนตรีคลัง

ใช่…"ผู้จัดการ" กำลังพูดถึงประมวลสภาสุ นักการเมืองจากอยุธยา ผู้ประสบความสำเร็จในการไต่เต้าตำแหน่งทางการเมืองในพรรคชาติไทยมาแล้วก่อนหน้าที่นี้ในตำแหน่งรมต.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลเปรม 5!

ก่อนหน้าที่ประมวลจะเข้ามารับตำแหน่งรมต.คลัง ดูเหมือนว่าเขาจะโชคดีกว่าคนอื่น ตรงที่ภาวการณ์เงินการคลังของรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นสดสวยเอาการ

เดือนมิถุนายนปีกลาย ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ารับตำแหน่ง 2 เดือน เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในจำนวน 6,113.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และฐานะเงินคงคลังอยู่ในระดับ 8,180 ล้านบาท ชึ่งเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งในฐานะการเงินการคลังของรัฐที่ย่อมเข้าใจกันได้

เขาไม่จำเป็นต้องมานั่งปวดหัวเป็นตาบอดคลำช้างเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้เหมือนรัฐมนตรีคลังคนก่อนๆ

เศรษฐกิจภายใต้นโยบายรัฐบาลชาติชายที่รับผลพวงมาจากนโยบายรัฐบาลเปรม ยังคงรุดหน้าต่อไปในอัตราเร่งการเติบโตที่สูงลิ่วถึง 9.5% /ปี ทำให้มีความต้องการใช้ทุน (CAPITAL) เพื่อสนับสนุนและรองรับการเจริญเติบโตทางเศรฐกิจนั้นอย่างมหาศาล

โครงการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ที่ต้องการลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตอีกนับ 100,000 ล้านบาท การบินไทยต้องลงทุนอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อซื้อเครื่องบินขยายกองบินให้เพียงพอกับตลาดที่เพิ่มขึ้น องค์การโทรศัพท์ต้องลงทุนอีก 6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายคู่สายเลขหมายอีกไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านเลขหมายให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้และธุรกิจต่างๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น

ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไดดด้คำนวณความต้องการใช้เงินทุนเพื่อการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ว่าจะอยู่สูงถึง 3.3 แสนล้านบาท ขณะที่ความสามารถในการออมภายในประเทศมีเพียง 2.5 แสนล้านบาท มันขาดอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

แต่ช่างเถอะ! มันเป็นเรื่องอนาคต ที่เขาไม่จำเป็นต้องคิดไกลมากขนาดนั้น เพราะตำแหน่ง รมต.คลังที่มาจากการเมือง มันอาจไม่ยืนยาวไปถึงจุดนั้นก็เป็นได้

ตอนแรกๆ ที่ประมวลเข้ารับตำแหน่ง รมต.คลังใหม่ๆ เขาถูกมองจากคนภายนอกในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า การที่เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคชาติไทย และไม่มีความรู้ทางการเงินการคลังมาก่อน อาจเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกและตนเอง แต่เขาก็ตอบโต้ข้อสังเกตนี้ว่า เป็นความคิดแบบเด็กๆ นักการเมืองอย่างเขาก็มีอุดมการณ์เหมือนกัน และทุกวันนี้เขามีเงินทองมากมายเพียงพอแล้ว

มันเป็นคำตอบที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้สถานภาพดูสะอาด อย่างน้อยที่สุดก็อาจช่วยทดแทนภาพพจน์ในส่วนที่ขาดหายไป จากคุณสมบัติที่เป็นคนรู้เรื่องการบริหารการเงินการคลังของประเทศอย่างจำกัดจำเขี่ยที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐมนตรีคลังของสยามประเทศนี้ (ดูตาราง รมต.คลังฯ) จนหลายครั้งที่เขาต้องตอบคำถามการเงินการคลังแก่ผู้สื่อข่าว เขาต้องระมัดระวังคำพูดของตัวเองเสมอด้วยเกรงว่าความไม่รู้จะทำให้เขาเสียหน้า

แน่นอนภายใต้ภาวะแบบนี้ทำให้ดูอึดอัดจนมีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาระแวงคำถามของผู้สื่อข่าวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อถูกถามถึงว่าเขาจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยบ้างไหม? ซึ่งเขาก็ตอบอย่างระแวงออกไปว่า "พวกคุณกำลังลองภูมิความรู้ผม แต่ผมไม่จนงายๆ หรอก"

โธ่! นักการเมืองอย่างประมวลไม่เคยจนใครง่ายๆหรอก ตำแหน่งรัฐมนตรีเขาเคยเป็นมาแล้วที่กระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลเปรม 5 โดยมี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ลูกชายคนโตเป็นเลขาฯอยู่หน้าห้อง เมื่อเขามาอยู่ที่กระทรวงคลัง กอร์ปศักดิ์ก็มานั่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรี และเป็นคนสำคัญในการให้คำปรึกษาและประสานงานสร้างทีมงานที่ปรึกษาแก่พ่อของเขา มันจึงเป็นประสบการณ์ที่ไม่แปลกอะไรนัก

กอร์ปศักดิ์เคยบอกกับ ผู้จัดการ" ว่า รมต.ประมวลจะใช้ข้าราชการประจำในกระทรวงคลังเป็นที่ปรึกษามากกว่าคนภายนอก มันเป็นเหตุผลที่ง่ายมาก จากประสบการณ์การเป็นนักการเมือง เป้าหมายในนโบายจะบรรลุได้แค่ไหน มันอยู่ที่กลไกการทำงานของข้าราชการประจำในกระทรวงจะให้ความร่วมมือกับรัฐมนตรีมากแค่ไหน ยิ่งในเงื่อนไขที่ รมต.มีความรู้ในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายการเงินการคลังอย่างจำกัดมากๆ เช่นนี้ ความจำเป็นในการใช้บทบาทของข้าราชการในกระทรวงให้มากที่สุด ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าอย่างอื่น

กอร์ปศักดิ์เป็นลูกชายคนโตของประมวลในพี่น้องทั้งหมด 5 คน เขาจบวิศวเครื่องกลจาก UCLA ผ่านงานเป็นวิศวกรที่ปรึกษาที่บริษัทแอมแพ็คก่อนหน้าที่จะหันออกมาทำธุระกิจวิศวกรที่ปรึกษาดังในบริษัทส่วนตัวของครอบครัว บริษัทสแปน จำกัด ในปี 2518 โดยมี ประมวล ผู้พ่อเป็นประธานบริษัท

เขามีวิญญาณการเป็นนักการเมืองเหมือนพ่อไม่มีผิดเพี้ยน การเลือกตั้งสมัยรัฐบาลเปรม 5 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมพ่อที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนจังหวัดอยุธยา ในนามพรรคชาติไทย

แต่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาต้องผิดหวังเมื่อเป็นผู้สอบตก!

12 ธันวาคม ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกของประมวลที่แถลงนโยบายการเงินการคลังต่อประชาชน หลังจากศึกษางานที่กระทรวงร่วมกับอธิบดีทุกกรมในกระทรวงอย่างหนักตลอด 3 เดือน

นโยบายของประมวลมีจุดเด่น 2 ประการคือ หนึ่ง-เขาเน้นการระดมเงินออมในระบบมาก และ สอง-เข้าเน้นการรักษาความมีวินัยทางการเงิน-การคลังอย่างเข้มงวด

รูปธรรมของนโยบายเงินออมก็คือเป้าหมายเพื่อลดช่องว่าง SAVING/INVESTMENT GAP โดยไม่มีผลต่อการดึงอัตราเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ลดน้อยถอยลง "การระดมเงินออมจากกลไกสถาบันการเงินจะใช้วิธีหนุนให้สถาบันการเงินกระจายตัวออกไปสู่ชนบทให้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทการพึ่งพาของประชาชนต่อเงินนอกระบบ รวมทั้งจะหนุนให้มีการพัฒนาตราสารการเงินเพื่อการระดมเงินออมระยะยาวมากขึ้น นอกจากนี้จะหนุนให้มีการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวจากต่างประเทศเพื่อจูงใจให้ธุรกิจเอกชนนำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดโอกาศให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาพัฒนาตลาดทุนในประเทศ เพื่อนำเงินมาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะหนุนให้รัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานดี นำหุ้นเข้ามาจำหน่ายในตลาดหุ้นเพื่อเป็นการขยายตลาดทุนให้เติบใหญ่และส่งเสริมการออมของประชาชนโดยผ่านกลไกตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการระดมเงินออมจากกลไกภาครัฐนั้น จะใช้วิธีหนุนด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และทรัพย์สินต่างๆ ของรัฐที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะนำมาปรับปรุงให้มีรายได้และผลต่อการนำมาใช้ประโยชน์ต่อการลงทุนของรัฐ" ประมวลกล่าวนโยบายรูปธรรมการระดมเงินออมแก่ผู้สื่อข่าว

ส่วนรูปธรรมของนโยบายการรักษาความมีวินัยทางการเงิน การคลัง นั้นประมวลกล่าวว่า "จะเข้มงวดเรื่องงบประมาณรายจ่ายโดยเฉพาะการก่อหนี้ การใช้กลไกทางการเงินไปยังสาขาที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อการเพิ่มผลผลิต และการบริโดภคที่ฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ที่มีราคานำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท จนเป็นรายการนำเข้าใหญ่ที่มีผลยอดการขาดดุลการค้า ที่ในระยะยาวแล้วมีผลกระทบต่อยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศและเสถียรภาพค่าเงินบาท…"

นโยบายของประมวลที่แถลงออกมารนี้สวยหรูมาก ไม่มีตรงไหนเลยที่ส่งผลร้ายต่อผลประโยชน์ของประชาชน และธุระกิจเอกชน ที่น่าสังเกตคือ เป็นนโยบายที่ออกมาจากรัฐมนตรีที่หลายคนปรามาสไว้อย่างน่าชิงชัง ตอนที่เขาขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า "ไม่มีน้ำยา" แต่นโยบายของประมวลนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก ที่จะต้องกระทำให้บรรลุเป้าหมายโดยรีบด่วนเพราะฐานะการเป็นรัฐมนตรีในระบบรัฐบาลผสมไม่มีอะไรยืดยาว

แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งได้วิเคราะห์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สิ่งจูงใจในการดำเนินนโยบายของ รมต.ประมวล อยู่ที่การมองผลระยะสั้น เพื่อความนิยมของประชาชนในทางการเมือง โดยที่มาตรการทางนโยบายหลายสิ่งหลายอย่างทีทำลงไปอาจส่งผลเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวได้

ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ประมวลได้สั่งให้แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งรับตั๋วสัญญาใช้เงินของการบินไทยจำนวณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใช้ทดแทนพันธบัตรของรัฐบาลได้ โดยมีอายุของตั๋วยาว 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 9%/ปี ทุกปีจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้

ความจริงเพียงแค่นี้ไม่เสียหายอะไรแก่ฐานะของแบงก์ แต่มีผลเสียหายต่อตลาดการเงินอย่างมาก ด้วย เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดการเงินเริ่มเงินตึงตัว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มสูงขึ้น การที่แบงก์พาณิชย์ต้องกันเงินไว้ 1,700 ล้านบาท เพื่อชื้อพันธบัตรการบินไทยทำให้สภาพคล่องยิ่งเข้าสู่วงการตึงตัวขึ้น "ที่น่าเป็นกังวลคือ รมต.ประมวล สั่งให้แบงก์ชาติทำเรื่องนี้โดยที่แบงเกอร์ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยสักคน"

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า แนวความคิดนโยบายการเงินการคลังของประมวลได้รับอิทธิพลมาจากบุญชู โรจนเสถียร อดีตรัฐมนตรีคลังคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 14 ปีก่อนและเป็นเพื่อนร่วมพรรคการเมืองกิจสังคมด้วยกันในสมัยแรกเริ่ม ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของบุญชูที่กล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่า "เป็นความจริง รมต.ประมวลเป็นผู้บอกเขาเองว่าได้ศึกษาความคิดของตนอย่างละเอียด" รนมาตรการบางอย่างของประมวลที่ทำไปก็ได้ปรึกษาหารือกับบุญชูอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การนำเงินคงคลังมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อเพิ่มเงินเดือนและค่าครองชีพให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ เมื่อเดือนกันยายนปี'31 เพียง 1 เดือนให้หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง โดยมาตรการนี้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม ปี'32 เป็นต้นไป

บุญชูเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า มาตรการนี้ก็คือนโยบายการบริหารการคลังเพื่อกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชน เพราะเงินคงคลังช่วงขณะนั้นมียอดสูงถึง 10,000 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องกักเงินคงคลังก่อนนี้ไว้เฉยๆเหมือน "ยายแก่เฝ้าทรัพย์"

รัฐมนตรีคลังที่มาจากการเลือกตั้งการดำเนินนโยบายการคลังย่อมไม่เหมือนรัฐมนตรีคลังที่มาจากการแต่งตั้งอย่างสุธี สิงห์เสน่ห์ หรือสมหมาย ฮุนตระกูล

แบงเกอร์ท่านหนึ่งกล่าวกับ"ผู้จัดการ"ว่า รัฐมนตรีคลังคนก่อน (สุธีและสมหมาย) เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง การตัดสินใจใช้มาตรการอะไรลงไปจะมองผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งประมวลไม่เป็นเช่นนั้น ฐานะเงินคงคลังที่มั่งคั่งทุกวันนี้มันมาจากการเป็น 'ยายแก่เฝ้าทรัพย์' ของอดีตรัฐมนตรีสุธี ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาประชาชนย่อมสู้ประมวลไม่ได้

ข้อสังเกตตรงนี้ตัวอย่างหนึ่งที่นำมาเปรียบเทียบพิจารณากันได้ คือ การก่อหนี้ต่างประเทศ ในสมัยรัฐมนตรีสุธี นโยบายก่อหนี้ต่างประเทศถูกรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดที่เพดาน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ทั้งนี้เนื่องจากความหวั่นเกรงในภาระหนี้ต่อมูลค่าการส่งออก (DEBT/SERVICE RATIO) จะมีส่วนสูงเกิน 19% จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

นโยบายรัดเข็มขัดก่อหนี้แบบนี้คราวแรกประมวลก็ใช้ แต่พอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายก่อหนี้ต่างประเทศ นโยบายอันนี้ก็เปลี่ยนเป็นเพดานไม่เกิน 1,200 ล้านเหรียญ เหตุที่เป็นเช่นนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า รมต.ประมวลไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเอาชนะแนวคิดนี้กับคณะรัฐมนตรีท่านอื่นๆในคณะรัฐมนตรีได้ อาจเป็นเพราะท่านมีความรู้จำกัดในเชิงเทคนิคก็เป็นได้ จึงไม่สามารถชี้ผลเสียให้ ครม.เห็น "พอ ครม.ดันมาแรง เพราะมีการปรับแผนพัฒนาฉบับที่ 6 ใหม่ เศรษฐกิจมันโตมากๆ รัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อขยายบริการสาธารณูปโภครองรับการลงทุน และเศรษฐกิจที่ขยายตัวรวดเร็วมากๆ ยกตัวอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ของบลงทุน 5 ปีข้างหน้าตั้งแสนร้านบาท โทรศัพท์ขอมาเกือบ 60,000 ล้านบาท เป็นต้น

ว่ากันว่า ประมวลถึงกับปวดหัวเพราะ เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์เวลานั้นก็เล่นตามกระแสดันของ ครม. ด้วย จึงเอาเรื่องนี้ไปถามกรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดูเพื่อเช็กว่าฐานะการคลังของประเทศจะรองรับภาระหนี้จากเพดานก่อหนี้ 1,200 ล้านเหรียญต่อปีได้หรือไม่? ในที่สุดก็ตกลงตามแรงดันของ ครม.

ตรงนี้มีจุดสังเกตคือ รมต.ประมวลไม่ใช่คนจนตรอกง่ายๆ แม้จะรู้ผลเสียหายจากนโยบายก่อหนี้สูงทางด้านเทคนิคน้อยก็ตาม แต่เขาเป็นนักการเมือง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปขัดขวางกระแสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนทั่วไปต่างชื่นชม แม้ผลระยะยาวจะเป็นภาระแก่ฐานะการเงินการคลังของประเทศก็ตาม คือถ้าหากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่วัฏจักรการตกต่ำ ขณะที่การสร้างการผลิตใหญ่ของไทยอยู่ที่ภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอ ความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำแบบนั้นจะลดน้อยถอยลงไป เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศกลุ่มละตินอเมริกาเมื่อต้นทศวรรษที่'80… ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นไม่ใช่ภาระหน้าที่ของเขาแล้วดังที่ประมวลเคยกล่าวว่า "เวลานี้ผมคิดอยู่อย่างเดียว จะหาเงินที่ไหนมาให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ขอมาใช้ มันไม่น้อยนะ จำนวนหลายหมื่นล้านบาท ผมปวดหัวที่สุดปัญหานี้"

การสร้างคะแนนนิยมกับประชาชนของ รมต.ประมวลเป็นความชำนาญพิเศษที่ดีอยู่ มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่แสดงถึงบทบาทอันนี้ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม เขาให้สำภาษณ์หนังสือพิมพ์โจมตีแบงเกอร์อย่างก้าวร้าวว่า พวกนี้ไม่เคยทำประโยชน์อะไรเพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม คิดแต่จะหากำไรลูกเดียว 1% จากส่วนต่างสุทธิของดอกเบี้ยมันมากพอแล้ว

เหตุที่เขาลุกขึ้นมาโจมตีแบงเกอร์อย่างรุนแรงเช่นนี้ทำให้วงการถึงกับช้อก เพราะไม่คิดว่าเพียงคำพูดของแบงเกอร์ใหญ่อย่าง ชาตรี โสภณพนิช จากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเจ้าหนี้หลายรายที่เคยเร่งรัดหนี้สินจากบริษัทประมวลก่อสร้างของเขาเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เรียกร้องให้ประมวลควรปรึกษาธนาคารพานิชย์ก่อนหน้าจะขยับยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 1 ปี จะได้รับการตอบโต้จากประมวลอย่างแข็งกร้าว จนนายชาตรี ต้องไปขอโทษขอโพย รมต.ประมวลถึงที่บ้านที่ซอยนวศรี ถนนรามคำแหง ในวันรุ่งขึ้นทันที

"การโจมตีแบงก์ในจุดที่ว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นจุดที่รัฐมนตรีการเมืองมักใช้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะมันสะใจประชาชนดี ผมว่ามันเป็น 'แทกติก' ของท่านที่ต้องการเตือนให้พวกเราร้อนตัวมากกว่าซึ่งก็ได้ผลนะ เราคงต้องวางท่าทีในลักษณะต้องปรับตัวให้กับแทกติกของท่าน" แบงเกอร์รายหนึ่งวิเคราะห์ประมวลให้ฟัง

ประสบการณ์ในธุรกิจที่ล้มคว่ำล้มหงายมาแล้ว จนถูกแบงก์ไล่จี้เร่งรัดหนี้ เป็นภูมิหลังที่ลืมไม่ได้ของประมวลนำมาต่อภาพในการมองบทบาทของแบงก์พาณิชย์ในยุคสมัยนี้ มีอยู่คราวหนึ่งตอนที่เขาเป็น รมต.คลังใหม่ๆ พวกสมาคมธนาคารพาณิชย์ได้เข้าเยี่ยมคำนับ เพื่อแสดงความยินดีที่กระทรวง คำพูดประโยคแรกที่เขาพูดออกไป คือ "พวกคุณจะมาขออะไรจากผม" มันเป็นส่วนที่สะท้อนออกมาจากส่วนลึกอย่างแท้จริงของประมวลมองแบงเกอร์อย่างไม่มีความไว้วางใจ และยังฝังใจจากเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับเขา

เป็นเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่ประมวลเข้ารับผิดชอบงานการเงินการคลังของประเทศ มันเป็นเวลาไม่ยาวนานนักต่อการแสดงความสามารถในการบริหารในเชิงประจักษ์ให้ประชาชน คณะรัฐมนตรี และรัฐสภายอมรับในฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอย่างเขาซึ่งมีความรู้เชิงเทคนิคในการเงินการคลังของแผ่นดินอย่างจำก

แต่ก็ออกจะเหลือเชื่อ เมื่อสิ่งที่เขาทำออกมาในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาต่อความรู้สึกของประชาชน มันมีทางบวกอยู่มาก

มาตรการเพิ่มค่าครองชีพและปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ เมื่อกันยายนปีที่แล้ว ติดตามด้วยการปรับโครงสร้างหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลางในเดือนมกราคมปีนี้ และล่าสุดยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากประจำส่วนที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ 15% / ปี เมื่อกลางเดือนมิถุนายน…ล้วนแต่เป็นมาตรการที่เขาทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น (ดูตารางผลงานประมวล)

คำถามคือ มาตรการเหล่านี้ออกมาจากแนวความคิดของเขาเองหรือไม่ ?

คำตอบคือ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมาตรการหักลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั่วไป มาจากคำแนะนำและรับเอาอิทธิพลทางความคิดมาจากบุญชู โรจนเสถียร รมต.คลังที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก สำหรับมาตรการยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากประจำเกิน 1 ปีขึ้นไป มาจาก ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี ที่ปรึกษา ซึ่งประมวลขอยืมตัวมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ปี เป็นคนหนึ่งที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้

เรื่องยกเลิกอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำฯ มาจากรากฐานการศึกษาเดิมของแบงก์ชาติที่เสนอให้ประมวลขยับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ข้างละ 1% เพื่อลด OVER HEAT ECONOME เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาเกิน 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายทางนโยบายที่แบงก์ชาติพยายามดูแลอยู่

เหตุผลของแบงก์ชาติในการเสนอมาตรการทางด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวฉุดภาวะเศรษฐกิจไม่ให้โตเร็วเกินไป จนมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ทางแบงก์ชาติประเมินผลดีผลเสียในทางเทคนิควิชาการแล้วว่า เห็นควรกระทำโดยรีบด่วน

เรื่องนี้ประมวลเสนอให้แบงก์ชาติตั้งแต่เดือนเมษายน! แต่ประมวลกลับนำเรื่องนี้ไปให้กองงานที่ปรึกษาพิจารณาด้วยกรอบเหตุผลทางการเมือง เพราะว่านโยบายใหญ่ของคณะรัฐมนตรีที่ประมวลรับทราบมาตลอดทุกระยะนั้น ไม่ต้องการให้มีมาตรการอะไรทั้งสิ้นมาเป็นเครื่องกีดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผลจึงออกมาในรูปยกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากฯ แต่คงเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่เดิม ดังที่ทราบกัน

ก็อีกนั่นแหละ กว่าที่มาตรการทางนโยบายเรื่องยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากนี้จะผ่านวาระเพื่อรับทราบจากคณะรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เพราะประมวลเป็นคนบรรยายเรื่องนี้ให้ครม.ฟังเอง

เขาต้องเรียก ดร.ศิริ การเจริญดี เทคโนแครตมือเยี่ยมของแบงก์ชาติมาบรรยายถึงผลดีให้ ครม.ฟัง ซึ่งว่ากันว่าการบรรยายของดร.ศิริในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้ประมวลเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุที่ทำให้ดร.ศิริ กลายเป็นหนึ่งในสต๊าฟที่ปรึกษาของประมวลไปโดยปริยาย

คณะกลุ่มที่ปรึกษาของประมวล (ดูตารางที่ปรึกษาฯ) ซึ่งเปรียบดุจมันสมองของเขาในการกระบวนตัดสินใจทางงนโยบายมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสายงานกระทรวงการคลัง ประกอบด้วยปลัดพนัส สิมะเสถียร ซึ่งประมวลไว้ใจมากเนื่องจากปลัดพนัสเป็นลูกหม้อเก่าแก่ที่สู้งานกระทรวงดีที่สุดและมีความผูกพันในฐานะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องธรรมศาสตร์ด้วยกัน บุคคลทั้ง 2 สนิทสนมกันมาก สมัยที่ธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการสร้างโรงพยาบาลที่รังสิตซึ่งขณะนั้นปลัดพนัสเป็นคณะกรรมการจัดหาทุนสร้าง รพ.ให้ธรรมศาสตร์ถึง 2 ครั้ง และหมั่นไปตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างโรงพยาบาลอยู่เสมอ

อีกคนหนึ่งคือภุชงค์ เพ่งศรี ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการที่กรมบัญชีกลางเมื่อตุลาคมปีนี้เอง ก็เป็นเพื่อนรักเก่าของประมวล รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่ทั้ง 2 คนเรียนอยู่วัดบวรนิเวศ

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนภายนอกที่ประมวลรู้จักและไว้วางใจคือ กมล พุธนาฎนนท์ เป็นวิศวกรจบจากจุฬาฯเคยอยู่กองโยธา กรุงเทพมหานคร รู้จักประมวลตั้งแต่สมัยประมวลทำธุรกิจก่อสร้างส่วนตัว ที่บริษัทประมวลก่อสร้าง และถูกประมวลดึงเข้ามาทำงานที่บริษัทด้วย จนปัจจุบัน เป็นอีกคนหนึ่งที่ประมวลไว้ใจมากที่สุดรองจากกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ลูกชายทุกวันนี้ กมลมีบทบาทอยู่ในกองงานที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่รวบรวมและสรุปงานทั้งหมดให้ประมวลรับทราบเสมือนหนึ่งเลขานุการ

กมลเป็นที่ปรึกษาประมวลที่เก็บตัวเงียบที่สุด เขาจะไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชน เป็นคนหนึ่งที่รู้จักประมวลดีที่สุดและใกล้ชิดที่สุดทั้งในชีวิตส่วนตัวและการงาน

อีกคนหนึ่งคือ ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบบัญชีจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาประมวล เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วก่อนหน้านี้ (ปี 2529) รู้จักประมวลเมื่อตอนเป้นกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงบาลธรรมศาสตร์ที่รังสิต

"ตอนที่ท่านเป็น รมต.คลัง ดิฉันก็โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับท่าน และบอกกับท่านว่า เป็น รมต.คลังแล้วคงช่วยโรงบาลธรรมศาสตร์และคณะแพทย์ของธรรมศาสตร์ได้เยอะทีเดียว ท่านก็เลยบอกดิฉันว่า เออ งั้นอาจารย์ก็มาเป็นที่ปรึกษาผมก็แล้วกัน มันก็เลยกลับกัน ตอนท่านเป็น รมต.อุตสาหกรรม ดิฉันกำลังหาทุนสร้าง รพ.ท่านเป็นที่ปรึกษาดิฉัน ตอนนี้ดิฉันมาเป็นที่ปรึกษาท่าน" ศ.นงเยาว์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงที่มาของการเป็นที่ปรึกษา

ว่ากันว่า ในตอนแรกๆประมวลวางบทบาทที่ปรึกษาให้ ศ.นงเยาว์ เน้นหนักในงานด้านกิจการสังคม เช่น กรรมการโครงการหลวงฯ ต่อมาก็ส่งเข้าไปเป็นกรรมการแบงก์ชาติ จนปัจจุบันนโยบายการเงินหลายเรื่อง เธอเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทให้คำแนะนำแก่ประมวลไม่น้อย

ทุกวันพุธ เธอจะนั่งทำงานอยู่ที่กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีที่กระทรวงการคลัง มีผู้ใหญ่ในแบงก์ชาติท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ถึงบทบาทของเธอว่า สถานภาพของเธอตอนนี้อยู่ในจุดที่ดีต่ออนาคตงานราชการไม่น้อย อายุราชการที่เหลืออยู่ 6 ปีจะเกษียณ ผ่านงานเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำมาแล้ว มีผลงานวิชาการระดับเป็นศาสตราจารย์ มีฐานะทางสังคมระดับคุณหญิง ได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรี เป็นกรรมการแบงก์ชาติ ถ้าหากจะเข้ามากินตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติในปีหน้าแทนคุณ ชวลิต ธนะชานันท์ ซึ่งจะเกษียณไป ก็มีความเป็นไปได้สูง และโอกาสเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยก็มีไม่น้อย

ความเป็นไปได้ในข้อสังเกตนี้อาจอยู่ที่ตัว ศ.นงเยาว์เองว่าจะยอมรับหรือไม่ถ้ามีข้อเสนอมา นั่นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประมวลเองว่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้นานแค่ไหน?

จะสังเกตได้ที่ประมวลเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีที่ฉลาด เขาให้ความสำคัญกับข้าราชการประจำ ขณะเดียวกัน ก็มีที่ปรึกษาจากภายนอกที่เขาไว้ใจ มาครองงานอีกขั้นหนึ่งมันเป็นวิธีบริหารงานนโยบายที่ไม่เหมือนรัฐมนตรีสุธี และสมหมาย ที่เข้ามาโดยการแต่งตั้ง และมีสไตล์บริหารที่ตรงไปตรงมาวางน้ำหนักอยู่ที่กลไกข้าราชการประจำ "อย่างรัฐมนตรีสุธี จะใช้แบงก์ชาติมากเพราะท่านเป็นเทคโนแครต เหมือนพวกแบงก์ชาติ" แหล่งข่าวในระดับสูงในกระทรวงการคลังเล่าให้ฟัง

แต่ประมวลจะใช้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาก งานนโยบายหลายอย่างที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คนที่ป้อนข้อมูลให้เขาจะอยู่ที่หน่วยงานแห่งนี้

ดร.เชิดชัย ขัณธ์นะภา เศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในหน้าที่นี้มากที่สุดคนหนึ่ง เขามาอยู่ที่กองงานสำนักเลขานุการรัฐมนตรีเพราะถูกภุขชงค์ เพ่งศรี ที่ปรึกษาประมวลดึงตัวมาจากกองนโยบายการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยคำสั่งของประมวล

บทบาทของเขามีหน้าที่รวบรวมข้อมูล และตรวจเช็กวิเคราะห์ข้อมูลที่หน่วยราชการในกระทรวงทำขึ้นมาให้รัฐมนตรีตามคำสั่ง เพื่อส่งต่อให้คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประมวลวิเคราะห์ทำความเห็นเสนอแนะนำรัฐนมตรี มองรูปแบบนี้แล้วเป็นการประสานงานกันระหว่าง กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่มีใช้กันอยู่ในกลุ่มรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีญี่ปุน ที่เรียกว่า "คณะเลขานุการรัฐมนตรี" นั่นเอง

แม้โครงสร้างระบบบริหารนโยบายของประมวล จะดูดี แต่ก็มีหลายเรื่องที่เขาไม่สามารถโน้มน้าวให้คณะรัฐมนตรียอมรับในมาตรการนโยบายที่เขาเสนอได้ เรื่องการบินไทยเข้าตลาดหุ้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เขาผิดพลาดอย่างมาก ทั้งๆที่เมื่อ 12 ธันวาคม วันที่เขาแถลงนโยบายได้พูดชัดเจนว่า เขาจะนำหุ้นการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้

เรื่องนี้เริ่มมาจากกระทรวงคมนาคมคือ มนตรี พงษ์พานิช ต้องการจัดซื้อเครื่องบิน 16 ลำ

ให้การบินไทยจำนวนเงิน 23,000 ล้านบาท และได้นำเสนอโครงการนี้มาให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเป็นไปได้ ประมวลนำเรื่องนี้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาศึกษาอย่างละเอียด ซึ่งเห็นชอบในหลักการด้วย แต่มีเงื่อนไขให้นำหุ้นการบินไทยเข้าจดทะเบียนใจตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนจากตลาดส่วนหนึ่ง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาเสร็จก็เสนอให้กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีพิจารณาอย่างรอบคอบ และส่งต่อให้ประมวล

จนกระทั่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 เมษายน มนตรีได้เสนอโครงการนี้เข้าที่ประชุม จนรับในหลักการ แต่ให้ซื้อเพิ่มเพียง 13 ลำ และได้มีการเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอทางการเงินของกระทรวงการคลังด้วย

แต่ประมวลพลาดจนได้ ตรงที่ไม่ได้สั่งการให้บันทึกข้อความมติของครม.ที่เห็นชอบในหลักการข้อเสนอนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะแผนดารระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องบินที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เสนอชัดเจนให้นำหุ้นการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่องที่บันทึกตามมติครม.กลายเป็นว่าครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงคมนาคมจัดซื้อเครื่องบินให้การบินไทย 13 ลำ และให้คมนาคมคลังและการบินไทยร่วมกันศึกษาแผนการระดมทุน!

ประมวลพยายามจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกในคราวหน้า แต่ก็สายเสียแล้วเมื่อ มนตรีไม่ยอมแผนการนี้ เขาคัดค้านในที่ประขุมครม.เมื่อ 18 เมษายน กับประมวลอย่างแข็งกร้าว

ว่ากันว่า งานนี้มนตรีกับประมวลต่างมองหน้ากันไม่ติด ทั้งๆที่เวลาประชุมครม.ทั้ง 2 คนนั่งตรงข้ามกันพอดี

"ถ้าจะกินอย่างมากก็ตามน้ำ แต่บางคนเล่นกินกันแบบขายชาติมันไม่ไหว" เสียงเปรยขึ้นมาในที่ประชุม ครม.ดังขึ้นจนได้ยินไปถึงหูรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งจนไม่รู้ว่าเสียงพูดนั้นเป็นของท่านใด?

ว่ากันว่า ในหลายครั้งประมวลมักเป็นรถด่วนนำเรื่องเข้าครม.ในวาระจรอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่คณะรัฐมนตรีว่า เป็นคนเดียวที่นำเรื่องวาระจรเข้าสู่ที่ประชุมครม.บ่อยคร้งที่สุด

การนำเรื่องเข้าครม.ในวาระจร เป็นเรื่องที่ไม่บรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี ที่ อนันต์ อนันตกูล ควบคุมแลอยู่

เมื่อไม่อยู่ในระเบียบวาระ บรรดารัฐมนตรีก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นก่อนเข้าที่ประชุม

เพราะตัว รมต.เลนนำเรื่องนั้นมาบอกในที่ประชุม ครม.ในวันนั้นเลย!

"เรื่องที่ท่าน รมต.ประมวลนำเข้าวาระบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกู้หนี้และขอ REFINANCE หนี้เก่า เวลาท่านพูดเรื่องนี้ก็หอบเอาเอกสารปึกใหญ่มาให้บรรดารัฐมนตรีได้อ่านดูด้วย" รัฐมนตรีท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึง TACTIC อันแพรวพราวของประมวล

ก็เห็นจะจริง เอกสารปึกใหญ่ใครหรือเทวดาที่ไหนก็ไม่มีปัญญาอ่านและซักถาม รมต.ประมวลได้!

รมต.ประมวลก็เลยรอดตัวไป ไม่ต้องมานั่งตอบเรื่องราวที่ยากๆ สำหรับตัวเองเพราะโดยปกติเวลาประชุม ครม.ว่ากันว่า รมต.ประมวลเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เวลาจะพูดมากก็ตอนต้องปะทะคารมกับรมต.มนตรีเท่านั้น

รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างประมวล เขาฉลาดพอที่จะไม่สร้างปมเงื่อนไขอะไรให้ฝ่ายค้านเล่นงานได้ในรัฐสภา เขาเคยพูดกับคนใกล้ชิดว่า มีอยู่ 2 เรื่องที่เป็นขยะที่รัฐมนตรีคนก่อนๆทิ้งไว้ให้เขาแก้ มีเรื่องทรัสต์ 4 เมษาและบริษัทเงินทุนฯ (IFCT)

เรื่อง 2 เรื่องนี้ มีปมของปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่เขาจะเป็น รมต.คลังทั้งสิ้น ถ้าเขาไปแตะโอกาสพลาดจะมีสูง หรือถ้าไม่พลาด ผลดีอย่างมากก็แค่เสมอตัว

ยกตัวอย่าง กรณี IFCT เขาฉลาดพอที่จะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องนี้เอง โดยวิธีโยนไปให้คณะกรรมาธิการงบประมาณ รัฐสภา เป็นผู้ตัดสินทางออกให้ ทั้งๆที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความและชี้ขาดในแง่ข้อกฎหมายแล้วว่า ค่าเสมอภาคของเงินบาทกับค่าเงินบาทที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปแบกรับภาระผลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัทดังที่เคยกระทำมา

"ผู้จัดการ" เคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้วอย่างละเอียดในเล่มที่ 65 เดือนกุมภาพันธ์ 2532 นี้ และสรุปตรงที่ว่า คณะกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภาได้มีมติให้ประมวล ชดเชยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัทได้ก่อนหน้ามีนาคม 2521 จำนวน 240 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 523 ล้านบาท ให้บรรษัทแบกรับภาระเอง

เรื่องกรณีนี้ก็ผ่านไปแล้ว โดยประมวลไม่เสียหายอะไรเลย แต่ทีน่ากังขาในความรู้สึกของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีชาติชายฯ คือประมวลทำไมถึงไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในบรรษัท ทั้งๆที่สมหมาย ฮุนตระกูลประธานกรรมการบรรษัทก็ท้าทายอยู่ตลอดเวลา "ให้ประมวลปลดเขาได้ถ้าต้องการ"

เหตุไรประมวลจึงไม่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาบรรษัท ทั้งๆที่เขามีอำนาจที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงได้ในสถานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่!

หลังการปิดประชุมสภาสมัยสามัญเดือนกรกฎาคมนี้ มีการพูดกันมากถึงความเป็นไปได้ที่คณะรัฐบาลอาจมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีบางกระทรวงใหม่ ซึ่งประมวลอาจเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมนตรีที่จะถูกสับเปลี่ยนโยกย้ายกระทรวง

แม้ 10 เดือนที่ผ่านมา ผลงานของประมวลดูจะเป็นที่พออกพอใจพอสมควรในบรรดาประชาชนโดยทั่วไป แต่ CACIBER ของเขาในหมู่คณะรัฐมนตรี ในกรณีล้มเหลวเรื่องดันการบินและเป้าใหญ่เรื่องทรัสต์ไทยเข้าตลาดหุ้น 4 เมษา ที่เขามอบหมายให้ ไพศาล กุมาลย์พิศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลแก้ปัญหา เป็นแนวโน้มที่ฝ่ายค้านในรัฐสภาเตรียมเล่นงานอยู่ ก็เป็นองค์ประกอบของสาเหตุที่เขาอาจต้องถูกสับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง

ประมวลและกลุ่มมันสมองของเขาอาจประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสนิยมแก่ประชาชน แต่เขาอาจล้มเหลวในการสร้างความยอมรับในฝีมือนายกรัฐมนตรีชาติชายก็เป็นได้

ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ นายกฯชาติชายอาจต้องชั่งน้ำหนักการตัดสินใจยากพอดี!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us