อคิน รุจิขจรเดช ใช้เวลาถึง 876 วันเพียงจะพูดคำนี้เพียงคำเดียว แต่มันมีความหมายต่อเขาเท่าชีวิต
"ธนาคารกสิกรไทยไล่พนักงานระดับบริหารรองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการเขต
7 ชื่อ อคิน รุจิขจรเดช ออกจากงาน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2530 ในข้อหาฉกรรจ์ว่าทุจริตต่อหน้าที่
แสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ให้การช่วยเหลือลูกค้า ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย"
ประกาฝศไล่อคินออกจากงานเพียงสั้นๆนนี้ถูกส่งไปยังสาขาต่างทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
หนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ไม่เว้นที่จะเขียนถึงข่าวนี้กันอย่างครึกโครม
อคินหายตัวเงียบจากข่าวสาร บางกระแสบอกว่าเขาหอบเงินท่ได้จากการโกงหนีไปอยู่ต่างประเทศซึ่งมันเป็นสูตรสำเร็จของการโกงในสังคมธุรกกิจปัจุบัน
"อคินเหรอ คนขี้โกงก็ไม่สมควรอยู่ในธนาคารกสิกรไทย?" พนักงานในเทลเลอร์ในสาขาทางจังหวัดชายแดนคนหนึ่งกล่าวสำทับกับ
"ผู้จัดการ"เมื่อได้รับทราบสารนี้
"มันเป็นความขมขื่น น่าอับอายแค่ไหน ผมไม่มีทางไปชี้แจงกับใครได้เลย
20 ปีที่ผมทำงานมา ผมรักเกียรติ ผมรักชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ผมรักบ้านเกิด
ผมเกิดที่คลองสวน อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เพื่อนของพ่อแม่
ทุกคนรู้ดีว่าผมเป็นคนอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร เมื่อผมต้องออกจากธนาคารด้วยคำสั่งแบบนี้
เขาจะเข้าใจผมว่าอย่างไร ลูกๆผมจะตอบคำถามเพื่อนๆของเขาในโรงเรียนว่าอย่างไรที่พ่อแม่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี้โกง"
ในขณะเดินขึ้นศาลแรงงานกลางกรุงเทพฯเมื่อสองปีก่อน
อคินร่วมทำงานมากับธนาคารกสิกรไทยมาเป็นเวลา 18 ปี จนถึงวันที่เขาถูกไล่ออกเมื่อวันที่
26 มกราคม 2530 และจำต้องยื่นฟ้องธนาคารที่เขารักในเดือนต่อมา
อคินกล่าวในคำฟ้องว่าเขาถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เขาไม่ได้ทุจริต ทุกข้อกล่าวหาของธนาคารไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแยกโฉนดช่วยลูกค้าให้ได้วงเงินกู้อยู่ในอำนาจที่เขาสามารถอนุมัติได้
เขาให้ลูกค้ามาซ่อมแฟลตและรถยนต์โดยไม่จ่ายเงิน ล้วนเป็นเรื่องที่เขาถูกกลั่นแกล้งจากพนักงานระดับบริหารด้วยกัน
ซึ่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนและทำการสอบสวนโดยวิธีรวบรัด ไม่ให้โอกาสเขาชี้แจง
แล้วสรุปการสอบสวนแล้ว ส่งให้ประธานกรรมการบริหารลงนามไล่เขาออกโดยไม่รับฟังคำอุทธรณ์จากเขา
อคินเริ่มงานกับธนาคารกสิกรไทยด้วยตำแหน่งพนักงานธรรมดาๆหลังจากเขาเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พร้อมๆกับที่บัญชาล่ำซำ ประธานกรรมการผู้จัดการผู้จัดการ สำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนเสือป่า
เขาได้รับเลื่อนตำแหน่งโดยเร็วในเวลาต่อมา เขาเป็นผู้จัดการหลายสาขาก่อนที่จะขึ้นเป็นผู้จัดการเขต
พร้อมกับการได้รับติดยศให้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายเพียงปีเดียวเขาก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวน
ตามเอกสารหลักฐานที่เขานำเข้าสืบต่อศาลปรากฏว่าเขาเป็นพนักงานที่มีผลงานดีเด่นมาโดยตลอด
เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสาขา ผลงานของเขาอยู่ในอันดับที่หนึ่งและไม่เคยต่ำกว่าที่สอง
บ้านเขาจึงเต็มไปด้วยโล่ ใบประกาศเชิดชูเกียรติและหนังสือขอบคุณมากมายจากธนาคารในฐานะพนักงานดีเด่น
"ผมเก็บมันไว้ด้วยความรักและความภูมิใจ แม้บางชิ้นผมจะได้รับมันมานานเกือบ
20 ปีแล้วก็ตาม ไม่เคยนึกฝันว่ามันจะมีประโยชน์ใช้เป็นพยานในการยื่นฟ้องธนาคารแบบนี้"
อคิน กล่าว
คนในธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่าอคินเป็นคนสนิทมากๆของบัญชา ล่ำซำ ผู้เซ็นคำสั่งให้เขาออกงาน
"ผมเคยติดตามท่านไปหัวเห็ดเจ็ดย่านน้ำ ผมได้รับการสนับสนุนจากท่านทั้งด้านการงานและกำลังใจ
แต่ปัจจุบันธนาคารเราใหญ่ขึ้นมาก มีผู้บริหารเยอะ ผมเชื่อว่าท่านไม่ทราบความจริงโดยละเอียด
ที่เขาพิมพ์หนังสือเสนอให้ท่านเซ็นคำสั่งไล่ผมออก ผู้บริหารบางคนต้องกลั่นแกล้งผม
ที่ผมโตเร็วเกินไป" อคินพูดถึงนายเก่าด้วยความรักอย่างจริงใจ
ปัจจุบัน อคิน รุจิขจรเดช อายุเพียง 40 ปีเศษ เขามีเวลาทำงานให้กับธนาคารกสิกรไทยได้อีก
20 ปี ในฐานะนักการธนาคารอาชีพของเขาก็ต้องการได้รับความสำเร็จสูงสุด อย่างน้อยในฐานะลูกจ้างก็คงหนีไม่พ้นตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
เพียงไม่กี่วันที่ธนาคารกสิกรไทยได้รับสำเนาคำฟ้องของอคินจากศาลแรงงานกลาวงกรุงเทพฯ
อคินก็ถูกแจ้งจับที่กองปราบปราม โดยธนาคารกสิกรไทยกล่าวหาเขาว่าเป็นผู้จัดการทุจริต
ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
ในคดีหลังนี้เขากลายเป็นจำเลย ต้องวิ่งหาเงินประกันตัวเพื่อสู้คดี
ในศาลแรงงานจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบประมาณ 20 ปาก ด้านอคินขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารต่างๆจากธนาคารเข้าสืบรวมกันแล้วกว่า
3,000 แผ่น พร้อมกับพยานบุคคลสองคนคือตัวเขากับลูกค้าธนาคารที่ยินดีที่จะช่วยเขาด้วยอีกคนหนนึ่ง
ก่อนที่ศาลแรงงานกลางกรุงเทพฯมีคำพิพากษา พนักงานอัยการที่รับเรื่องการสอบสวนจากตำรวจมีคำสั่งไม่ยื่นฟ้องอคินตามข้อกล่าวหาของธนาคารกสิกรไทย
เพราะเห็นว่าเป็นคดีไม่มีมูลเพียงพอ
ศาลแรงงานกลางใช้เวลาในการสืบพยานทั้งสองฝ่ายเกือบหนึ่งปีเต็มก่อนมีคำสั่งใก้อคินชนะคดี
ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา (คดีแรงงานกฎหมายกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและให้ถือคำสั่งของศาลฎีกาเป็นที่สุด)
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานพิจารณาคดีใหม่
ผลการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งใช้เวลาเกือบปีเช่นเดียวกันปรากฎว่าศาลยังมีคำสั่งเช่นเดิม
คือให้อคินชนะคดี ธนาคารกสิกรใช้สิทธิ์อีกครั้งหนึ่งต่อศาลฎีกา
ในระหว่างที่รอคำสั่งของฎีกาครั้งล่าสุด เมื่อต้นปี 2532 นี้ธนาคารกสิกรไทยได้ยื่นฟ้อง
อคินเป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญากรุงเทพฯ โดยใช้สิทธิ์ฟ้องเองในกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว
ขณะนี้คดีกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาล
แต่ด้านศาลแรงงานศาลฎีกามีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2532 ว่าให้ยกคำร้องอุทธรณ์ของธนาคารกสิกรไทยนั้น
เนื่องจากเป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าอคิน ทุจริต ซึ่งศาลแรงงานได้สั่งไปแล้วว่าไม่ทุจริตถือเป็นการปิดฉากคดีซึ่งต่อสู้กันมายาวนานถึง
2 ปีครึ่ง
"เพียงแค่นี้ผมก็พอใจแล้ว ไม่ใช่จำนวนเงินที่ธนาคารจ่ายให้ผม 800,000
กว่าบาท แต่พอใจที่ศาลได้ระบุในคำพิพากษาทุกกระบวนความที่ผมถูกกล่าวหาว่าผมเป็นคนบริสุทธิ์
เป็นสิ่งที่ระบุว่าผมไม่ได้โกง และผมได้รับการกลั่นแกล้ง ท่านระบุว่าคณะกรรมการสอบสวนที่ทำการสอบสวนผมไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการสอบสวนผู้กรกะทำความผิดของธนาคาร
ผมไม่ได้กระทำการทุจริตหรือกระทำความผิดอาญา การอนุมัติการกู้ยืมเงินของผมถูกต้องตามระเบียบ
ขั้นตอนทุกประการ การกล่าวหาว่าผมใช้ตำแหน่งหน้าที่ในบัตรสนเทห์นั้น เป็นเรื่องเลื่อนลอยการสอบสวนของคณะกรรมการเห็นได้ชัดว่าเป็นไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด
และมีการสรุปบางเรื่องโดยไม่ได้สอบสวนก่อน" อคินระบายด้วยความโล่งอกหลังจากทราบคำสั่งศาลฎีกา
"ผมจะเย็บสำนวนคดีทั้งหมดเอาไว้เป็นเล่มไว้ให้ลูกๆหลานๆได้อ่านอีกร้อยปีพันปีข้างหน้าว่าบรรพบุรุษของเขาไม่ใช่คนขี้โกง"
เขากล่าวทิ้งท้ายเป็นการขมวดความเจ็บปวดทั้งหมดเก็บไว้ในอดีต
เพียงแค่นี้ที่ลูกผู้ชายอย่างเขาต้องการ !