เศรษฐกิจเวียดนามที่เคยเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียกำลังเจอมรสุมรอบด้าน นักวิเคราะห์กล่าวว่าหากจัดการไม่ดีพอก็อาจจะพัฒนากลายเป็นวิกฤตตัวใหม่และอาจจะแพร่ลามออกไปอย่างกว้างขวาง คล้ายๆ กับ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 11 ปีก่อน จนเป็นที่รู้นักกันดีทั่วโลกในนามของ "โรคต้มยำกุ้ง"
สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยอย่างรุนแรง ก็ยิ่งทำให้วิตกกันว่าปัญหาอาจจะลุกลามไปไกล ทำให้เกิดวิกฤตรอบใหม่ขึ้นทั่วโลก ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง
นักวิเคราะห์สำนักต่างๆ กำลังเฝ้าดูการก่อตัวของ "โรคแหนมเนือง" ในเวียดนาม ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (International Monetary Fund) ก็กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟได้กล่าวในที่ประชุมทางเศรษฐกิจนัดหนึ่งในสัปดาห์ต้นเดือนนี้ แนะนำให้เวียดนามต้องดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังอย่างรัดกุม ลดรายจ่ายของภาครัฐลงโดยด่วนและเอาใจใส่กับภาคการธนาคารของประเทศให้มากยิ่งขึ้น
แม้จะเป็นการออกเตือนตามหน้าที่ แต่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของไอเอ็มเอฟได้ทำให้เหตุการณ์เก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2538-2540 แล้วกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง
เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัวถึง 8% ได้รับการแซ่ซ้องจากฝ่ายต่างๆ ให้เป็น "เสือตัวใหม่" แห่งเอเชีย ตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ที่เพิ่งเกิดใหม่ แม้ขนาดจะยังเล็กมากแต่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนอย่างดีเยี่ยม จนได้รับขนานนามเป็นตลาดหุ้นที่ดีที่สุดในโลก
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการของสำนักงานใหญ่สถิติ (General Statistics Office) เงินเฟ้อปีต่อปีในเดือน พ.ค.ผ่านมาพุ่งขึ้นสูง 25.3% โดยราคาอาหารกับเชื้อเพลิงพุ่งนำหน้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกหลายมาตรการสกัดภัยเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีมานี้แต่ยังไม่เป็นผล
ในตลาดทุนของประเทศ ดัชนีเวียดนาม (Vn-Index) ที่เคยพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 1,170 จุดในเดือน มี.ค.2550 ตกอยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ หลังจากนั้น และค่อยๆ ดิ่งหัวลงในช่วงต้นปีมานี้
อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงและธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม หรือ SBV (State Bank of Vietnam) ออกพันธบัตรสภาพคล่องที่ล้นในระบบ และปรับดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นเป็น 12% สกัดการปล่อยกู้
มาตรการสู้เงินเฟ้อยังไม่เกิดผลแต่ได้ทำให้เงินด่งซึ่งนักลงทุนจะต้องใช้ในการซื้อขายหุ้นจะเริ่มเหือดไปจากตลาดตั้งต้นปี เป็นทำให้วอลุ่มการซื้อขายลดลงและดัชนีตกต่ำลงเรื่อยๆ
ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาไม่มีวันทำการใดที่ "หุ้นไม่ตก" จนกระทั่งดัชนีดิ่งลงต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยาสำคัญระดับ 400 ในวันพุธ 4 มิ.ย. และ VN-Index ที่เคยเป็นดัชนีร้อนแรงเมื่อปีที่แล้วปิดลงที่ 384.24 จุดเมื่อตลาดปิดการซื้อขายประจำสัปดาห์ในวันศุกร์ เป็นอันว่าเวลา 14-15 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์หายไปแล้วเกือบ 2 ใน 3
การที่เงินแห้งหายไปจากตลาดอันเป็นมาตรการสกัดเงินเฟ้อนั้น ยังส่งผลสะเทือนไปยังธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเป็นลูกโซ่และอย่างเกินความคาดหมาย
นักลงทุนที่ตื่นตระหนกจากตลาดหุ้น ได้กว้านซื้อทองคำเข้าเก็บ และทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีการลดค่าเงินด่ง ซึ่งได้ทำให้เกิดความวิตกไปสู่วงการต่างๆ เป็นทอดๆ
การตื่นทองและตื่นเงินได้ทำให้ ทั้งนักลงทุนร้านค้าร้านขายและประชาชนคนเดินดินทั่วไปพากันออกกว้านซื้อเงินดอลลาร์ แม้ว่าในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเงินด่งได้แข็งค่าอย่างสูงมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลสหรัฐฯ อันเป็นผลจากมาตรการดูดซับของรัฐ
ในสัปดาห์ต้นเดือน มิ.ย.นี้ อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดวูบลงเป็น 17,500 ด่งต่อดอลลาร์ ขณะที่ SBV ยังคงอัตราทางการเอาไว้ที่ 16,060 ด่งอย่างไม่เปลี่ยนแปลง หลังใช้อัตรานี้มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1
ค่าเงินที่อ่อนตัวลงอาจจะเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าอย่างรุนแรง
ตลอดเดือน พ.ค. ท่าเรือไซ่ง่อนนครโฮจิมินห์คับคั่งไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์สินค้าจากต่างแดน เนื่องจากผู้นำเข้าไม่ยอมนำไปผ่านกระบวนการศุลกากร เพราะว่าค่าเงินที่อ่อนลงได้ทำให้สินค้าแพงขึ้นและมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์กล่าวว่า เงินด่งกำลังถูกดดันอย่างหนัก ปัญหานี้จะยังไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าตัวเลขขาดดุลการค้าจะลดลง
ปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนามกำลังเป็นปัญหางูไล่งับหางตัวเอง และเริ่มขาดไปทีละท่อนๆ
ปัญหาหนึ่งที่รุมเร้าหนักพอๆ กันก็คือ หนี้ที่ไม่ก่อรายได้ในระบบที่กำลังพอกตัวขึ้นอันเนื่องมาจากผลกระทบของเงินเฟ้อ ซึ่งได้ทำให้ธุรกิจบ้านที่อยู่อาศัยและที่ดินซบเซาลงอย่างทันตาในชั่วเวลาเพียงข้ามปีเท่านั้น
ปีที่แล้วนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์ มาเลเซียและฮ่องกง ต่างมุ่งหน้าเข้าเวียดนามก่อสร้างโครงการต่างๆ เกาะกระแสเศรษฐกิจที่เติบในอัตราสูง การลงทุนในธุรกิจนี้มีมูลค่านับ 10,000 ล้านบาท
โครงการบ้านจัดสรรระดับหรูจึงผุดขึ้นแห่งแล้วแห่งเล่า ในโฮจิมินห์ กรุงฮานอย ในเมืองใหญ่อื่นๆ รวมทั้งปลายท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
แต่ชั่วเวลาเพียงข้ามปีสถาบันการเงินแห่งต่างๆ ต้องไล่ยึดบ้านและห้องพักต่างๆ คืนจากลูกค้า
ตลาดหุ้นที่ตกต่ำได้ทำให้บรรดา “มนุษย์ทองคำ” ในบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำต่างๆ ที่เคยได้รับค่าจ้างเงินเดือนคิดเป็นเงินไทยหลายหมื่นหรือนับแสนบาทต้องออกจากงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่ที่รายได้ต่ำลง
ในช่วงหนึ่งของชีวิตคนเหล่านี้ใช้เงินซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง บ้านหลังที่ 2 ที่ดิน คอนโดหรูกับรถยนต์ราคาแพง ในวันนี้ “พวกเศรษฐีใหม่” ไม่มีแรงที่จะผ่อนชำระอีกต่อไป
ไกลออกไปเศรษฐกิจร้อนไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขบวกหรือลบบนกระดาษเท่านั้น แต่กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 85 ล้านคนอย่างหนักหน่วง เนื่องจากราคาอาหารกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาแพงลิ่ว
ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้คนงานตามโรงงานต่างๆ กว่า 300 แห่งได้นัดหยุดงานเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานของนักลงทุนต่างประเทศ
จนกระทั่งถึงเมื่อกลางๆ ปีที่แล้ว เวียดนามยังคงเป็นสวรรค์วิมานของทุนต่างชาติที่มุ่งเข้าไปแสวงหาแรงงานราคาถูก และประเทศนี้ถูกเรียกเป็น "จีนน้อย" (Mini China)
ในปี 2549 มาเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน จากนั้นก็ไหลบ่าแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเลขจีดีพีทะยานไปข้างหน้าอย่างลิงโลด
ทางการเวียดนามกล่าวว่าในปี 2551 นี้มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) มูลค่าราว 35,000 ล้านดอลลาร์รอการอนุมัติ แต่สถานการณ์เงินเฟ้อรุนแรงที่กำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้นักลงทุนหยุดคิดและหันมองรอบๆ ข้าง
ในการประชุมสัมมนาระหว่างรัฐบาลกับประเทศผู้บริจาคและผู้ลงทุนในเมืองซาปา นักลงทุนได้แสดงความกังวลต่อเงินเฟ้ออย่างตรงไปตรงมาและเรียกร้องให้เวียดนามเอาใจใส่กับภาคการเงินของประเทศอย่างจริงจัง
ต่างกับนักลงทุนในตลาดหุ้น สิ่งที่นักลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงกลัวมากที่สุดก็คือ ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือค่าจ้างแรงงานที่จะสูงขึ้นอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตามเวียดนามยังเชื่อว่า จะฝ่าปัญหาต่างๆ ในช่วงนี้ไปได้อย่างเรียบร้อยและผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจะยังคงเติบโตในระดับสูงต่อไป
นายหวอห่งม์ฟุก (Vo Hong Phuc) ได้กล่าวในที่ประชุมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนประเทศผู้บริจาคและบรรดานักลงทุน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ที่เมืองซาปา (Sapa) ทางตอนเหนือของประเทศ ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อในช่วง 5 เดือนแรกของปีอยู่ในระดับ 15.96% เท่านั้น และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ประมาณ 21% ขณะที่เวียดนามได้ปรับลดเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจลงเหลือ 7% จาก 8.5% ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามนายฟุกกล่าวว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ปีนี้พุ่งขึ้นถึง 61.6% เป็น 14,400 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 17.9% หรือ 12,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่การขาดดุลมหาศาลนี้เกิดจากการขาดดุลชำระเงินที่เพิ่มขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน มากกว่าสาเหตุจากการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น
เวียดนามได้เริ่มตัดรายจ่าย โดยสั่งระงับหรือเลื่อนการลงทุนโครงการใหญ่ขนาดใหญ่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ลงนับร้อยโครงการคิดเป็นมูลค่าถึง 14 ล้านล้านด่ง จากทั้งหมดรวมมูลค่า 135 ล้านล้านด่งที่มีกำหนดดำเนินการในปีนี้
แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เวียดนามอาจจะต้องกล้ำกลืนอย่างเจ็บปวดลดค่าเงินด่งลงภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ออกปฏิเสธเมื่อเดือนที่แล้ว
หากไม่มีการลดค่าเงิน ภายใน 6 เดือนข้างหน้าเวียดนามอาจจะต้องกลืนยาขมของไอเอ็มเอฟ เช่นที่เกาหลีใต้กับไทยเคยกลืนมาแล้วหลังวิกฤตใหญ่ปี 21540 นักวิเคราะห์กล่าว
|