ค่าย “โตโยต้า” เดินหน้ารุกรถพลังงานทางเลือก รับมือสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ประกาศโครงการใหม่ในไทย ผลิตรถยนต์ไฮบริดในเก๋งรุ่นคัมรี่ ถือเป็นแห่งที่ 3 ของโลก ใช้เงินลงทุน 90 ล้านบาท เบื้องต้นผลิต 9,000 คันต่อปี จะเริ่มดำเนินการในปี 2552 ขณะที่ปลายปีนี้เตรียมส่ง “โคโรลล่า ลิโม ซีเอ็นจี” เป็นรถใช้ก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานเอาใจแท็กซี่ พร้อมกันนี้ยังลงทุน 5.4 พันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) ร่วมกับนายชิเงกุ มูราอิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม โตโยต้า อุตสาหกรรม จำกัด (STM) แถลงข่าวโครงการใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป
โดยนายโซโนดะกล่าวว่า โตโยต้ายังคงยึดมั่นแผนงานการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Ultimate eco-friendly vehicle ด้วยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิกค เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TMAP-EM) โดยล่าสุดได้มีเปิดโครงการใหม่ในไทย เพื่อผลิตรถยนต์รองรับพลังงานทางเลือกที่หลากหลายสู่ตลาด
“โตโยต้าได้ตัดสินใจเลือกไทย ในการประกอบรถยนต์ไฮบริดรุ่นคัมรี่ โดยจะดำเนินการผลิตในปี 2552 ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้มีการผลิตรถรุ่นนี้ต่อจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และภายในปีนี้จะมีการแนะนำรถยนต์โตโยต้า โคโรลล่า ที่ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ หรือซีเอ็นจี(เอ็นจีวี) สู่ตลาด นับเป็นรถที่ผลิตออกจากโรงงานโดยตรง”
โดยโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด จะทำการประกอบที่โรงงานเกตุเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา แต่เนื่องจากคัมรี่เป็นไลน์ที่มีผลิตอยู่แล้ว และระบบไฮบริดก็นำเข้าจากต่างประเทศ จึงใช้เงินลงทุนในการปรับไลน์ผลิตประมาณ 90 ล้านบาทเท่านั้น โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะผลิตปีละประมาณ 9,000 คัน รองรับตลาดในประเทศไทยเท่านั้น และหากลูกค้ามีความต้องการมากกว่านี้ พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที
นายโซโนดะกล่าวว่า โดยการประกอบรถคัมรี่ไฮบริดครั้งนี้ ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ มีเพียงอัตราภาษีสรรพสามิตที่ให้อยู่แล้ว สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮบริด หรือรถที่ใช้พลังงานผสมไฟฟ้ากับน้ำมัน โดยเสียภาษีในอัตรา 10% จากภาษีที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันปัจจุบันในรุ่นคัมรี่อยู่ที่ 35%
“การผลิตรถไฮบริดในไทยมีทั้งส่วนที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นและลดลง โดยในส่วนของแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า หรือระบบอุปกรณ์ไฮบริด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสูงยังไม่มีการประกอบการในไทย ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูงและนำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทุนในส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนจะลดลงในส่วนของภาษีสรรพสามิต ทำให้ต้องมาพิจารณาผลบวกลบเป็นอย่างไร จึงยังไม่สามารถประกาศราคาที่ชัดเจนขณะนี้ได้ แต่คาดว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทย และเชื่อว่าจะส่งผลให้ยอดขายคัมรี่เพิ่มขึ้นในปีหน้า จากปีนี้ตั้งเป้ารุ่นคัมรี่ปกติอยู่ที่ 1.4 หมื่นคัน”
ในส่วนของการประกอบรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวี โตโยต้าได้รับการสนับสนุนจาก TMAP-EM ที่ได้พัฒนาและทดสอบรถยนต์ที่ใช้พลังงานซีเอ็นจี ที่สามารถใช้ร่วมกับน้ำมัน ในรถยนต์นั่งรุ่นโคโรลล่า ซึ่งทั้งหมดติดตั้งมาจากโรงงานเกตุเวย์โดยตรง จึงให้ระยะเวลาการรับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตรเช่นเดียวกับรุ่นปกติ โดยคาดว่าจะแนะนำสู่ตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่เบื้องต้นจะมีเฉพาะในรุ่นโคโรลล่า ลิโม สำหรับแท็กซี่เท่านั้น
นายสรยุทธ เพชรตระกูล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนประกอบรถไฮบริดในไทยของโตโยต้า ถือเป็นโอกาสของประชาชนที่จะได้เลือกใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ในสภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่อง โดยรถไฮบริดประหยัดมากกว่ารถใช้เชื้อเพลิงน้ำมันถึง 30%
“รถไฮบริดจึงน่าสนับสนุน และการที่โตโยต้าเลือกผลิตในไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของฐานการผลิตในไทย เพื่อสนับสนุนรถพลังงานทางเลือกไฮบริดให้ได้รับความนิยมแพร่หลาย และจูงใจให้อีกหลายยี่ห้อผลิตรถไฮบริดในไทย กระทรวงอุตฯ จึงได้มีการพูดคุยกับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พิจาณาอัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วนแบตเตอรี่ รวมถึงระบบไฮบริดทั้งหมด ซึ่งจะทำให้มีราคาที่น่าจูงใจมากขึ้น ส่วนคัมรี่ที่จะผลิตออกมา แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนพิเศษ นอกจากภาษีสรรพสามิตที่มีอยู่แล้ว ยังเชื่อว่าจะทำให้ราคาไม่แตกต่างจากรุ่นปกติมากนัก”
นายมูราอิกล่าวว่า จากความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อรถยนต์ในโครงการไอเอ็มวี ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ และฟอร์จูนเนอร์ ทำให้มีความต้องการเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล KD สำหรับรถยนต์ทั้งสองรุ่นสูงถึง 300,000 เครื่องต่อปี แต่เอสทีเอ็มผลิตเต็มกำลังการผลิตได้เพียง 200,000 เครื่องต่อปีเท่านั้น จึงเกิดปัญหาไม่สามารถผลิตตอบสนองได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ทำให้อาจต้องรอรถนานพอสมควร
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเอสทีเอ็ม จึงได้ขยายกำลังการผลิต ด้วยการลงทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5,400 ล้านบาท ที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีกำลังการเพิ่มอีก 150,000 เครื่อง เมื่อรวมกับกำลังการผลิตจะทำให้สามารถผลิตได้ 350,000 เครื่องต่อปี เพียงพอกับความต้องการทั้งตลาดในประเทศ และส่งออกมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยผลจากการขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ ทำให้มีการจ้างแรงงานเพิ่มอีก 700 คนด้วย”นายมูราอิกล่าว
|