Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2532
กว่าจะพ้นหุบเหวแห่งวิกฤต สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์SAS             
 


   
www resources

Scandinavian Airlines Homepage

   
search resources

Aviation
Scandinavian Airlines (SAS)




"ความพอใจของลูกค้าเป็นของล้ำค่าสิ่งเดียวที่คุ้มกับการเป็นเอสเอเอสใหม่"

"เราจะสรรหาเครื่องบินสวยหรูมาใช้เท่าไหร่ก็ได้เท่าที่ใจอยาก แต่เราไม่มีวันอยู่รอดได้ ถ้าปราศจากผู้โดยสารผู้เต็มใจบินกับเอสเอเอส"

"ตัดสินใจเสียแต่วันนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันท่วงที"

"เอสเอเอสปฏิบัติต่อลูกค้าและพนักงานในฐานะปัจเจกบุคคลไม่ใช่คนทั้งกลุ่ม"

…เหล่านี้เป็นคำพูดบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กรและเป้าหมายที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเอสเอเอสทุกวันนี้ เป็นคำพูดที่สะท้อนองค์กร ซึ่งมีลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ และให้โอกาสแก่ผู้มีความคิดริเริ่ม รวมทั้งเป็นองค์กรที่กล้าทุ่มลงทุนในตลาดเฉพาะส่วน และกล้าเสี่ยงเพื่อเป็นผู้กำชัยชนะในบั้นปลาย

ขอให้เชื่อเถอะว่า เอสเอเอสจะเป็นหนึ่งในสายการบินไม่กี่บริษัทที่อยู่รอดได้ในทศวรรษ 1990 ที่อุตสาหกรรมการบินถึงคราวสั่นคลอนครั้งใหญ่ !

เหตุที่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรนี้ขึ้นมา เพราะมันจำเป็นยิ่งยวดสำหรับความอยู่รอดในตลาดที่การแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ วัฒนธรรมองค์กรแบบเก่านั้นเหมาะกับเอสเอเอสยุคก่อนปี 1975 เมื่อตลาดอยู่ในสภาพกำลังเติบโตอย่างสม่ำเสมอ มีอัตราผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 - 20% ต่อปี

ยุคนั้นมีตัวแปรหลักในอุตสาหกรรมการบินไม่กี่อย่างเท่านั้น คือ เทคโนโลยีเครื่องบิน และการดำเนินงานที่มั่นคง แต่มาถึงยุคนี้กลายเป็นสงครามแย่งชิงผู้โดยสารเอสเอเอนต้องทำให้ผู้โดยสารเชื่อว่า ตนเป็นสายการบินเหนือกว่าคู่แข่งทั้งหมดแล้ว นั่นแหละพวกเขาถึงจะยอมใช้บริการด้วย

และย้อนหลังไปเมื่อไม่นานมานี้เอง เอสเอเอส "ชื่อเสีย" ถึงขนาดเวลาผู้โดยสารที่ต้องการบินจากสแกนดิเนเวียแล้วไปจองที่นั่งกับเอเยนต์ขายตั๋ว พวกเขาจะกำชับเจ้าหน้าที่เลยว่า ให้สำรองที่นั่งของเอสเอเอสเป็นที่สุดท้ายในกรณีสายการบินอื่นเต็มหมดแล้วเท่านั้น !

"แยน คาร์ลสัน" ประธานฝ่ายบริหารเอสเอเอส จะเป็นผู้เล่าเรื่องราวการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งนี้ พร้อมปรัชญาบริหารและการทำธุรกิจในบริษัทที่เน้นงานบริการเป็นหลัก ตลอดจนเปิดเผยวิกฤตการณ์อันเกิดจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องที่กลับกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของเอสเอเอสในเวลาต่อมา

สแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ เป็นกิจการแห่งเดียวที่สะท้อนความเป็นองค์กร "สแกนดิเนเวียน" อย่างแท้จริง ซึ่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ร่วมกันเป็นเจ้าของชาติละเท่า ๆ กันทั้งในภาคเอกชนและรัฐบาล ที่น่าปวดหัวก็ตรงที่เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ประธานฝ่ายบริหารต้องหาทางแก้ปัญหาที่ทั้งฝ่ายบริหารบริษัทและรัฐบาล 3 ชาติยอมรับ

ยิ่งกว่านั้น ทั้ง 3 ชาติเจ้าของยังมีตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานของตนอยู่ในเอสเอเอสอีกต่างหาก นั่นย่อมหมายความว่า ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ก็ต้องเจรจาตกลงกับตัวแทนสหภาพแรงงานถึง 40 สหภาพ !

ก่อนจะลงไปถึงรายละเอียดของยุทธวิธีฟื้นฟูกิจการเอสเอเอส คิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับภาพรวมของสถานการณ์ทั่วไป รวมทั้งแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในต้นทศวรรษ 1980

สิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึง คือ ในฐานะที่เอสเอเอสเป็นบริษัท "สแกนดิเนเวียน" จึงเคยชินอยู่กับงานบริการในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตลาดส่วนนี้มีขีดจำกัดด้านการแข่งขันเอามาก ๆ แต่ปัจจุบันเรามีสินค้าเสนอขายในทั่วโลก จึงจำเป็นต้องพึ่งการตลาดระดับโลกและต้องเผชิญกับการแข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นทุกที ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบถึงยอดขายของเอสเอเอนทั้งในแง่การสำรองที่นั่งและขายบริการ

ถ้าคุณบริหารกิจการในภาวะแทบจะไม่มีการแข่งขัน และคุณสามารถขายเกือบทุกอย่างที่ผลิตได้เหมือนกับเอสเอเอสทำในอดีต มันก็ถูกต้องด้วยเหตุและผลที่การตัดสินใจจะมาจากเบื้องบนเป็นส่วนใหญ่ จุดเริ่มต้นของการบริหารองค์กรในลักษณะนี้ จึงสำคัญที่สินทรัพย์ถาวรและการลงทุนเป็นหลัก จุดประสงค์เบื้องแรกคือต้องสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้สูงที่สุด

มาตรการเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นี้ก็ โดยเน้นที่ป้องกันการลงทุนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม การจะทำอย่างนี้ได้ หมายถึง บริษัทนั้นต้องต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้ทำได้แน่นอนขณะอยู่ในตลาดที่ภาวะการแข่งขันน้อยมาก

แต่ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันละก็ คุณจะพึ่งการลงทุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่นรับกับภาวะแข่งขันแล้วเป็นฝ่ายวิ่งเข้าชนลูกค้า อันนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน แต่มันส่งผลระยะยาวในแง่คุณจะได้รับผลตอบแทนดีกว่า" เมื่อสามารถดึงลูกค้าที่พอใจในบริการมาได้มากที่สุด

การจะทำอย่างนี้ได้ต้องดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อให้ส่งผลถึงสายงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง และลูกค้าเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทันตาเห็น

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายบริหารต้องใช้วิธีกระจายอำนาจความรับผิดชอบออกไป เพราะเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดริเริ่มของตัวเอง แล้วพวกเขาจะสามารถบังคับการกระทำของตนเอง เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเป็นสำคัญ

แต่นั่นหมายความว่า พนักงานเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว เพื่อให้สามารถรับผิดชอบและสร้างสรรค์อำนาจหน้าที่ของตนเองขึ้นมา

ถ้าองค์กรใดอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันน้อยมาก แน่นอนว่า องค์กรนั้นสามารถคำนวณรายได้ประจำปีของตนล่วงหน้าแบปีต่อปีเลยทีเดียว คุณจะรู้ว่าควรผลิตอะไรบ้าง ราคาจะเป็นเท่าไร จะเกิดภาวะเงินเฟ้อไหม อะไรทำนองนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายจึงเป็นตัวกำหนดทิศทางขององค์กร จึงเหลือค่าแปรผันอย่างเดียวเท่านั้น คือ ส่วนต่างระหว่างรายได้ ซึ่งสามารถคำนวณล่วงหน้ากับต้นทุนค่าใช้จ่าย

องค์กรนี้จึงดำเนินธุรกิจโดยมีปริมาณการผลิตเป็นตัวกำหนด แทบจะไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของตลาดเลย

ซึ่งเราสามารถบริหารกิจการแบบนี้ได้ตราบใดที่ภาวะการแข่งขันในตลาดยังไม่เข้มข้นนัก แต่ทันทีที่ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขัน คุณมีทางเลือกเดียวเท่านั้นสำหรับดำเนินกิจการให้ราบรื่นตลอดรอดฝั่งด้วยการตัดสินใจว่า ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและความต้องการแท้จริงในตลาดขณะนั้นเป็นอย่างไร แล้วค่อยปรับสินค้า บริการ ทรัพยากร และค่าใช้จ่ายให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งให้ดีกว่าของคู่แข่งด้วย

การแข่งขันอย่างแท้จริงในอุตสาหกรรมการบินเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตการณ์น้ำมันหนแรก คือ ปี 1974 - 5 ที่ส่งผลให้ตลาดโลกซบเซาและอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในยุโรปก็ชะงักไปนานถึง 4 หรือ 5 ปี

เมื่อราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการเคลื่อนไหวให้ดำเนินนโยบายแข่งขันกันเสรีมากขึ้นในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก เพราะสายการบินส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาขาดทุน และกระโจนเข้าแข่งขันกันในตลาด แต่การแข่งขันครั้งนั้นไม่ได้มุ่งให้ผลประโยชน์กับตัวลูกค้าหรือผู้โดยสารโดยตรง เพราะสายการบินเหล่านี้สรรหาวิธีการมากมายเพื่อเอาใจตัวแทนสำรองที่นั่งบนเครื่องบินแทน ทำให้ลูกค้าไม่มีสิทธิ์รับรู้ความเป็นไปหรือข้อดีข้อด้อยของแต่ละสายการบิน เพื่อเลือกใช้บริการของสายการบินที่ตนคิดว่าดีที่สุด

สำหรับเอสเอเอสแล้ว เป็นวิกฤตการณ์เลวร้ายทวีคูณเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น เพราะในทุกปัญหาที่สายการบินอื่นเผชิญอยู่จะหนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อเกิดกับเอสเอเอสโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพพจน์เรื่องการให้บริการทั้งภาคพื้นดินและบนเครื่องบินนั้นเสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ

เอสเอเอสกลายเป็นสายการบินที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องไม่ตรงเวลา อีกทั้งสนามบิน "โคเปนเฮเกน" ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของระบบการทำงานของเอสเอเอสก็ไม่เคยเป็นที่ยกย่องชื่นชมในหมู่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวสวีเดนและนอร์เวย์แล้ว จะพยายามหลีกเลี่ยงการบินลงสนามบินโคเปนเฮเกนทุกวิถีทาง

จากองค์ประกอบทั้งหมดนี้ ถ้าเราไม่รีบแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทันการณ์ กิจการเอสเอเอนต้องพังครื่นลงแน่นอน

อันที่จริงแล้ว เอสเอเอนเคยได้ชื่อว่า สายการบินชั้นนำบริษัทหนึ่งเหมือนกัน หลายคนคงสงสัยว่า เราปล่อยให้ภาพจน์ด้านบริการตกต่ำลงขนาดได้อย่างไร ?

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้แน่ เพราะตลอด 5 - 6 ปีให้หลังมานี้ อัตราการเพิ่มของรายได้ต่ำมาก ทำให้ในส่วนของต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นไปโดยอัตโนมัติ เราจึงแก้ปัญหาด้วยนโยบายลดค่าใช้จ่าย แต่พลาดตรงไปลดในส่วนของคุณภาพงานบริการที่ให้กับลูกค้า เพียงเพื่อนำเงินส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายประจำของฝ่ายบริหาร ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่เสียเงินซื้อบริการของเรา คงไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นแน่

จึงไม่น่าแปลกที่เราเริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ จาก 6% ในปี 1975 - 6 เหลือ 5.2% ในปี 1980 - 1 แต่ถ้าพูดกันจริง ๆ แล้วส่วนแบ่งตลาดในมือไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนัก ถึงยังไงเราก็ต้องอยู่ต่อไปได้ไม่ว่าจะมีส่วนแบ่งตลาด 6% หรือ 10% หรือ 3% ปัญหาอยู่ที่การปรับตัวของเรามากกว่า

แต่เราก็ไม่อาจปล่อยให้แนวโน้มการเสียส่วนแบ่งตลาดในลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อไป เพราะในท้ายที่สุดมันจะลงมาถึงศูนย์ หมายถึงบริษัทของเราไม่อาจอยู่ได้นั่นเอง

ตลอดหลายปีที่ตลาดในอุตสาหกรรมการบินมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ศูนย์ จึงกลับเป็นช่วงที่เอสเอเอสถูกคู่แข่งซึ่งดูเหมือนจะปรับตัวในภาวะแข่งขันได้ดีกว่าแย่งชิงลูกค้าไปจากมือทุกปี

เมื่อเอสเอเอสมาถึงจุดวิกฤตเพราะขาดทุนบานเบอะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินกิจการโดยให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นตัวกำหนดเหมือนกัน ต้องหันมากำหนดกลยุทธ์จากการตลาดแทน คือ ต้องตัดสินใจว่า คุณตั้งเป้าหมายไปที่ตลาดกลุ่มไหน แล้วพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อป้อนตลาดกลุ่มนั้น การจะทำอย่างนี้ได้หมายความว่า พนักงานต้องพร้อมใจกันปรับการทำงานให้รับกับความต้องการของตลาดด้วย

นี่เป็นสาเหตุให้เราประกาศว่า 1981 เป็นปีตัดเชือกของเอสเอเอส เพราะเราอยู่ในสภาพเดียวกับสายการบินยุโรปส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทำกำไรอีกต่อไป จึงต้องชี้แจงให้สต๊าฟทุกคนรับรู้ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมทั้งสถานภาพของเอสเอเอสลง และเป้าหมายที่เราวางไว้ในอนาคต

การทำอย่างนี้ฟังดูแล้วอาจจะไม่เข้าท่าสักนิด แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แยบยลมาก เพราะกับคำประกาศว่า เราต้องผงาดขึ้นมามีกำไรในตลาดที่มีอัตรากาเรติบโตอยู่ที่ศูนย์นั้น หมายความว่า เราจะ "คิดฝัน" ว่า ตัวเองต้องร่ำรวยไม่ได้ แต่ต้อง "ทำงาน" สร้างฐานะให้ตัวเอง

ที่สำคัญ คือ เราต้องการสร้างฐานะจากฝีมือบริหารกิจการสายการบินอย่างแท้จริง เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีสายการบินน้อยรายมากที่สามารถทำกำไรจากการดำเนิงานในส่วนของธุรกิจสายการบิน ส่วนมากจะมีกำไรเพราะพยายามลดยอดขาดทุนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน ก็ใช้วิธีขายเครื่องบินใช้แล้วออกไปด้วยส่วนต่างกำไรสูงควบคู่กัน

แต่เราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเราไม่ต้องการเป็นนายหน้าขายเครื่องบินมือสอง และคอยดูแลรักษาสินทรัพย์ถาวรอีกต่อไป เราต้องเป็นผู้ผลักดันทำยอดขายขึ้นมาเอง ต้องเป็นกิจการที่เน้นขายบริการ และมีรายได้จากการขายสินค้าที่แข่งขันได้ และด้วยกลยุทธ์การขายและการตลาดอันทรงประสิทธิภาพ

เอสเอเอสจึงเปลี่ยนโฉมหน้าเป็นบริษัทเน้นขายบริการโดยสิ้นเชิง ทุกคนรู้ซึ้งในความแตกต่างว่า ถ้าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เพียงนายหน้าขายสินทรัพย์แล้ว ต้องใช้นโยบายบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ต้องการแข่งขันในงานบริการแล้ว ต้องใช้หลักกระจายอำนาจความรับผิดชอบไปสู่พนักงานระดับที่ต้องทำงานด้านบริการและสัมผัสกับลูกค้าโดยตรงเป็นกิจวัตร

เอสเอเอสยังเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง ด้วยการเน้นยุทธวิธีสร้างภาพพจน์ให้เป็นสายการบินที่นักธุรกิจผู้ต้องเดินทางบ่อย ๆ โปรดปราน ที่เราให้ความสำคัญกับตลาดส่วนนี้เพราะ เอสเอเอสถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือขยายเครือข่ายธุรกิจและการบริหารชุมชนของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เราต้องการตลาดส่วนนี้เพราะมั่นคงและมีความต้องการที่ค่อนข้างพิเศษ หากเอสเอเอสสามารถเสนอบริการพิเศษตามความต้องการของตลาดนี้ได้ ก็จะสร้างภาพพจน์ให้ติดตลาดขึ้นมา ซึ่งถือว่าจำเป็นยิ่งในภาวะการแข่งขันเข้มข้นอย่างนี้

ความจริงแล้ว แนวความคิดเรื่องจับตลาดนักธุรกิจให้อยู่มือก็ไม่ใช่ของใหม่อะไร สายการบินทั่วโลกก็รู้ดีว่า ตลาดส่วนนี้เป็นแหล่งกำไรมหาศาล ที่เราพูดนั้นไม่ได้หมายความว่า เราเป็นผู้ค้นพบแนวความคิดนี้ แต่อยากให้รู้ว่า เราดำเนินการอย่างไรถึงเหนือกว่าคู่แข่ง

เคล็ดลับอยู่ที่การนำเอาทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่มาพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

เพราะเรายึดมั่นในปรัชญาที่ยังใช้ถึงทุกวันนี้ว่า เราต้องการให้เอสเอเอสเหนือกว่าคู่แข่ง 1% ในบริการที่มีให้ 100 อย่างมากกว่าที่จะเหนือกว่า 100% ในริการเพียงอย่างเดียว

เราจึงปรับโครงสร้างองค์กรเสียใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และปรับกิจการให้ตรงกับความต้องการแท้จริงในตลาดขณะนั้น โดยให้มีการกระจายอำนาจความรับผิดชอบลงสู่พนักงานผู้มีหน้าที่ให้บริการโดยตรง ส่วนจุดประสงค์แท้จริงก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามความจำเป็น แม้จะหมายรวมถึงการเปลี่ยนทิศทางการลงทุนครั้งใหญ่ก็ต้องยอม

จากนั้น เราส่งผ่านยุทธวิธีนี้ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาคิดหาแนวทาง ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติการ หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาให้คำตอบว่า การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องตั้งโครงการขึ้นมาถึง 150 โครงการ ต้องใช้เงินลงทุนราว 40 ล้านดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายสำหรับปฏิบัติการเพิ่มเติมปีละ 12 ล้านดอลลาร์

จากเงินก้อนนี้จะทำให้เราสามารถเสนอบริการรูปแบบที่แตกต่างให้นักธุรกิจเลือกใช้ทั้งภาคพื้นดินและบนเครื่อง อาทิ บริการ "ยูโรคลาส"

แต่ที่สำคัญยิ่งยวดกว่านั้น เราต้องการสร้างชื่อว่า เป็นสายการบินตรงเวลาที่สุดในยุโรป เพราะรู้ดีว่า สิ่งสำคัญเบื้องแรกของนักธุรกิจ คือ การตรงต่อเวลา

เรายังจำเป็นต้องมีโครงการส่งพนักงานฝ่ายบริการ 10,000 คนเข้ารับการฝึกอบรมในโรงเรียนสอนบริการ 2 วัน ต้องส่งผู้บริหารระดับกลาง 2,500 คนเข้าคอร์สฝึกอบรมปรัชญาธุรกิจและการบริหารแบบใหม่อีก 3 อาทิตย์ ต้องย้ายที่ตั้งสำนักงานขายจากเมืองหนึ่งไปอยู่ในย่านธุรกิจของอีกเมืองหนึ่งตามความเหมาะสม ต้องให้การศึกษาแก่พนักงานให้เน้นดูแลเอาใจใส่นักธุรกิจเป็นพิเศษ ต้องซื้ออุปกรณ์บนเครื่องบินใหม่ เพื่อเสนอบริการที่ดีกว่า…และเราก็ทำอย่างนั้นจริงเสียด้วย !

เราตกลงดำเนินการตามโครงการเหล่านี้ และอนุมัติเงินลงทุนตามความจำเป็น คือ 40 ล้านดอลลาร์ และอีก 12 ล้านดอลลาร์เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่อปี ทำให้เรามียอดขาดทุนก่อนลงมือดำเนินการสูงสุดในประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไม่เหมือนใครของเอสเอเอสก็ว่าได้

แต่ในเวลาเดียวกันวิธีนี้ ทำให้เราสามารถจำกัดขอบข่ายประเภทของทรัพยากรที่ต้องใช้ และตัดยอดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้

ดังนั้น ขณะที่เราเร่งทุ่มเงินลงทุนก้อนโตไปในธุรกิจบริการแบบใหม่ ๆ เราก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจส่วนอื่นได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์ด้วย…แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า นโยบายลดค่าใช้จ่ายในสถานการณ์ที่เอสเอเอสเผชิญอยู่นี้ มันไม่ผิดอะไรกับการเหยียบเบรกขณะที่รถยังจอดอยู่นิ่ง ๆ มันจะไม่เกิดผลอะไรขึ้นมานอกเสียจากว่าคุณจะดึงดันกระแทกเท้าจนทะลุพื้นรถ ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างเดียวเท่านั้น !

แต่เพราะตอนนี้เรามีทิศทางแน่ชัด รวมทั้งรู้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร จึงได้เวลาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับตลาดส่วนนี้ออกไปให้หมดด้วย หลังจากนั้นเพียง 4 เดือนก็เห็นผลทันตา เมื่อเรากลายเป็นสายการบินตรงเวลาที่สุด ผมคิดว่า มันเป็นความสำคัญครั้งสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะเรารู้ดีว่า เมื่อนักธุรกิจต้องเดินทางพวกเขาถือว่า การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว

วิธีการของเราก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาความช่ำชองในสายงานของตัวเอง ไม่ใช่ด้วยการบังคับให้ทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ แต่มอบอำนาจความรับผิดชอบในงานให้พวกเขาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ความสำเร็จที่ตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เมื่อทำกำไรในปีแรกได้ถึง 500 ล้านโครเนอร์ หรือประมาณ 70 ล้านดอลลาร์เทียบกับยอดขาดทุนปีก่อนหน้า 10 ล้านดอลลาร์

การพลิกผันขึ้นมามีกำไรได้อย่างนี้ ยังไม่ถือว่าสำคัญที่สุดในความคิดของผม ผมว่า เราทำอย่างไรถึงก้าวมายืนตรงจุดนี้ได้ นี่แหละคือสุดยอดล่ะ ผมไม่เถียงว่า หากบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจอย่างเคร่งครัด และลดค่าใช้จ่ายเหมือนที่เคยทำมาในอดีต ก็เป็นวิธีทำให้กิจการมีกำไรขึ้นมาได้ แต่มันจะอยู่ได้ไม่นาน แค่ 2 - 3 ปีให้หลัง เราก็จะกลับไปอยู่ในสภาพขาดทุนอีก แถมยังมีสิทธิ์เสียลูกค้าจนเหลือแค่หยิบมือเดียว และพนักงานที่ทำงานด้วยก็เอื่อยเฉื่อยซังกะตายลงไปทุกที

เราจึงใช้กลยุทธ์ฟื้นฟูกิจการแล้วประสบความสำเร็จด้วยดีด้วยการลงทุนด้านบริการให้ดีขึ้น ซึ่งเรามีข้อพิสูจน์ว่า ได้ทำอย่างที่พูดจริงจากการที่เอสเอเอสได้รับยกย่องจากนิตยสารระหว่างประเทศเล่มหนึ่งให้เป็น "สายการบินแห่งปี" และนิตยสาร "ฟอร์จูน" ก็ยกย่องว่า เราเป็นสายการบินยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับนักธุรกิจ

เรายังทำยอดขายจากการสำรองที่นั่งในยุโรปเพิ่มราว 8% และในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มอีก 16% จากสภาพตลาดที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ศูนย์ แถมยังลดค่าใช้จ่ายประจำได้อีก 25% เพราะเราถือว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่ภาระที่ลูกค้าผู้ซื้อบริการของเราต้องแบกรับ ขณะเดียวกัน เราก็ถือว่าค่าใช้จ่ายประจำในส่วนนี้ไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะเรามีนโยบายกระจายอำนาจความรับผิดชอบสู่พนักงานทุกระดับขององค์กร

เราถือว่า ทรัพยากรแท้จริง สินทรัพย์แท้จริงสำหรับอนาคตของเอสเอเอสอยู่ที่การทุ่มลงทุนในระยะยาว เพราะนั่นหมายถึงกำไรที่จะพอกพูนขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ลูกค้าผู้พึงพอใจในบริการของเรายังหมายถึงการสร้างกำลังใจให้พนักงานกระตือรือร้นอยู่เสมอ

ถ้าคุณลองไปเปิดดูบัญชีงบดุลของธุรกิจสายการบินทั่วไป คุณจะเห็นว่า ในช่องมูลค่าสินทรัพย์จะมีตัวเลขนับพันล้านดอลลาร์แทนมูลค่าเครื่องบินที่สายการบินนั้นมีไว้ใช้งาน แต่คุณค่าแท้จริงอยู่ที่คุณสามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจในบริการได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งพนักงานในสังกัดของคุณเองมีความสุขกับงานมากแค่ไหน

สิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตของสายการบิน จึงอยู่ที่ลูกค้าผู้เต็มใจจะบินกับตนซ้ำอีกเมื่อถึงปีหน้า และพนักงานผู้พร้อมจะปฏิบัติงานสุดหัวใจอีกในปีหน้า

สำหรับเราแล้วให้ความสำคัญกับหนทางทำกำไรไม่ยิ่งหย่อนกว่าเงินที่หามาได้อย่างแท้จริงเลย

เราจึงเริ่มได้คิดเป็นครั้งแรกว่า ลูกค้าของสายการบินเราเท่านั้นที่เป็นแหล่งเงินเพียงแหล่งเดียวที่พร้อมจะควักกระเาให้เป็นค่าใช้จ่ายของเอสเอเอส ถ้าเราอยากให้ลูกค้าจ่ายเงินส่วนนี้ให้ เราก็ต้องรับฟังความต้องการของพวกเขา แล้วให้บริการที่ทำให้พวกเขาพึงพอใจเป็นการตอบแทน

และเพราะพนักงานผู้มีหน้าที่ให้บริการถึงตัวลูกค้าโดยตรงเป็นพวกที่รู้ความต้องการของลูกค้าดีที่สุด พวกนี้จึงเป็นหนึ่งในบรรดาผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับปรุงบริการที่เอสเอเอสจะมอบให้ลูกค้า

จากนั้นเราก็ต้องหันมามองดูบทบาทของฝ่าบริหารของฝ่ายพัฒนาเทคนิคว่า ต้องคอยรับฟังความต้องการที่พนักงานฝ่ายบริการเสนอเข้ามา เพื่อจัดหาบริการให้ตรงตามความต้องการของตลาด

เรากล้าสาบานเลยว่า จะไม่มีวันทำอย่างที่บริษัทอื่นนิยมกัน คือ ให้อำนาจทีมสนับสนุนที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายบริหารออกคำสั่งกับฝ่ายบริการลูกค้าว่า ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งวิะนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อตลาดนั้นปราศจากการแข่งขันโดยสิ้นเชิง และมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในภาวะตลาดแข่งขันกันเข้มข้นอย่างนี้ และคุณยังต้องการอยู่รอด ต้องการพัฒนาให้ธุรกิจก้าวหน้าต่อไป คุณจะต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกคำสั่งไม่ได้เด็ดขาด

นับจากนี้ต่อไป เอสเอเอสมีนโยบายให้พนักงานฝ่ายบริการลูกค้าเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ คือ เป็นบริษัทที่เดินตามทิศทางความต้องการของตลาดเต็มตัว เราใช้วิธีรวบรวมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่เคยให้ไว้ในช่วงปีแรก ก็ได้คำตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับแต่ละคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะลูกค้าหรือพนักงาน คือ ต้องรู้ว่าคน ๆ นั้นต้องการอะไรแน่ เรายังพบว่า คนที่ไม่ถูกครอบงำด้วยคำสั่งหรือนโยบายนั้น เมื่อได้รับมอบความรับผิดชอบในการให้ข้อมูล และการฝึกอบรมจะรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยทันที

ในที่สุด เราจึงตั้งกฎไว้ว่า คนที่ "ปราศจาก" ข้อมูล จะไม่สามารถรับผิดชอบได้ และคนที่ "มี" ข้อมูลอยู่ในมือก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อันนี้เป็นสาเหตุอธิบายว่า ทำไมผู้จัดการถึงจำเป็นต้องให้ความรู้และข้อมูลแก่สต๊าฟของตน

เราเคยคิดแต่ว่า เอสเอเอสเป็นฝูงเครื่องบิน โรงงานด้านเทคนิค หรือตึกที่ทำการอะไรสักแห่งหนึ่งในสแกนดิเนเวีย แต่จากทัศนคติใหม่ช่วยให้เราค้นพบว่า แท้จริงแล้วเอสเอเอสไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าที่พบปะระหว่างลูกค้าคนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่เอสเอเอสผู้มีหน้าที่ให้บริการโดยตรง เมื่อทั้งสองฝ่ายมาพบกันแล้วนั่นแหละ "เอสเอเอส" ถึงปรากฏขึ้น…นั่นคือ "เวลาแห่งความจริง" ของพวกเรา

ความเข้าใจที่มีต่อเอสเอเอสจึงอยู่บนพื้นฐานของการพบปะกันแบบตัวต่อตัว ระหว่างลูกค้าคนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการของเอสเอเอสอีกหลายคนที่ลูกค้าจะทยอยเจอไปเรื่อย ๆ เมื่อผ่านแต่ละขั้นตอนของงานบริการที่เราเสนอให้

ลูกค้าทั้ง 12 ล้านคนที่รับบริการจากเอสเอเอสเมื่อปี 1986 ล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่ในฐานะปัจเจกบุคคลทั้งนั้น ถ้าแต่ละคนต้องเข้าติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการของเอสเอเอส 5 ครั้งก็หมายความว่า ชื่อ "เอสเอเอส" ต้องปรากฏต่อลูกค้าถึง 60 ล้านครั้งในปี 1986 เพียงปีเดียว !

เรายังคำนวณตัวเลขออกมาได้ว่า การพะปะระหว่างลูกค้าและเจ้าหน้าที่เอสเอเอสแต่ละคนใช้เวลาราว 15 วินาทีเท่านั้น ทุกคนจึงต้องเข้าใจว่า ถ้าเราเพียงแต่น้อมรับฟังความต้องการของลูกค้าแต่ละคน แล้วตอบสนองไปตามนั้น หมายความว่า เราต้องทำให้ได้ภายใน 15 วินาที ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่อาจอยู่รอดได้ในธุรกิจนี้

นี่เป็นสาเหตุสำคัญว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถบริหารกิจการแบบรวมศูนย์อำนาจที่เราเป็นผู้ออกคำสั่งวางนโยบายและคำชี้แนะ ซึ่งครอบคลุมการพบปะระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่เอสเอเอสถึง 60 ล้านครั้งแต่ละครั้งกินเวลา 15 วินาที แล้วยังหลอกตัวเองว่า เราสามารถให้บริการเฉพาะคนแก่กลุ่มตลาดเป้าหมาย คือ นักธุรกิจได้อย่างครบถ้วน

ทางเดียวที่จะทำได้ คือ ฝึกพนักงานเหล่านี้ให้ตระหนักถึงจุดประสงค์และยุทธวิธีของบริษัทตลอดเวลา เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้อำนาจความรับผิดชอบด้วยตัวเอง แล้วปฏิบัติได้ทันท่วงทีภายใน 15 วินาทีนั้น

หลังจากเอสเอเอสใช้เวลาเพียงปีเดียวดำเนินงานให้บรรลุจุดประสงค์อย่างที่วางไว้ กิจการก็เริ่มมีกำไร เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จสมปรารถนาเมื่อได้รับยกย่องว่า เป็น "สายการบินยอดเยี่ยมที่สุดในโลก" และนิตยสารอีกหลายฉบับก็ยกย่องว่า เราเป็นสายการบินที่ให้บริการนักธุรกิจดีที่สุด

แต่หลังประสบความสำเร็จสูงสุดได้ไม่นาน ก็เกิดความสับสนอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นในองค์กร เมื่อทุกคนเริ่มไม่กระจ่างว่า เป้าหมายใหม่ของเอสเอเอสจะเป็นอย่างไร ทำให้พนักงานแต่ละกลุ่มแต่ละสายงานเริ่มดำเนินการด้วยตัวเอง ต่างตั้งเป้าหมายของตัวเองขึ้น และแทนที่พวกเขาจะพยายามปรับปรุงงานในหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองให้ดีขึ้น กลับเริ่มหันมาแข่งขันกันเองและตั้งเป้าหมายของตัวเองจนหลากหลายกันไป

บรรดาช่างเทคนิค นักบิน และพนักงานอีกมากมายที่เคยคิดว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างต่างรู้สึกว่า กำลังถูกคุกคามจากความกดดันที่ต้องเน้นบริการดีเลศเป็นหลัก พวกเขาต้องย้ำเตือนตัวเองตลอดเวลาว่า การเสนอบริการดีที่สุด คือ ต้องสามารถนำผู้โดยสารร่อนลงสู่ที่หมายอย่างปลอดภัย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องมีความช่ำชองเป็นเลิศนั่นเอง

"ผู้นำ" ในองค์กรที่บริหารแบบกระจายอำนาจความรับผิดชอบอย่างนี้ จึงเหลือทางเลือกเดียวเท่านั้น คือ "คงไว้ซึ่งบทบาทของผู้นำด้านยุทธวิธี" หมายความว่า คุณต้องเป็นคนค้นหาเป้าหมายและยุทธวิธีใหม่ ๆ ที่สมเหตุสมผล รวมทั้งมีความเป็นไปได้สำหรับคนส่วนใหญ่ในองค์กรด้วย

แต่แล้วเมื่อบรรดารัฐบาลของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปมีมติจะให้แข่งขันกันอย่างเสรีมากขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน พนักงานเอสเอเอสเลยเกิดวิตกจริตอย่างใหม่ขึ้นมาอีกว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตลาดสายการบินมีบรรยากาศแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าให้แข่งขันอย่างเสรีในกลุ่มสแกนดิเนเวียแล้ว เอสเอเอสภายใต้การปรับองค์กรใหม่จะอยู่รอดหรือไม่ ? เอสเเอสจะอยู่ในฐานะแข่งขันได้ไหม ?

เราจึงหยิบยกปัญหาความหวาดวิตกนี้มาวิเคราะห์ แล้วยืนยันด้วยเป้าหมายเดียวว่า เอสเอเอสไม่เพียงแต่จะอยู่รอดได้ ยังต้องสามารถขยายกิจการท่ามกลางบรรยากาศแข่งขันเสรีนี้ด้วย มันเป็นเป้าหมายที่จะประสานให้สต๊าฟร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง และจะคว้าชัยชนะมาครองจากแนวทางใหม่นี้ด้วย

พูดง่าย ๆ เอสเอเอสต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับภาวะแข่งขันในตลาดเสรี ถ้าทำไม่ได้เราจะต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดอย่างเหมือนที่สายการบินอเมริกันเจอมาแล้ว

ความอยู่รอดในที่นี้จึงหมายถึงการเตรียมพร้อม เตรียมรับสถานการร์ได้ดีกว่าคู่แข่งเมื่อถึงวันยุโรปเปิดตลาดเสรีด้านการบิน เพราะตอนนี้ทุกคนต่างตระหนักดีแล้วว่า เหตุการณ์นี้ต้องเกิดขึ้นแน่ไม่ช้าก็เร็ว

เอสเอเอสจึงตั้งเป้าหมายใหม่ขององค์กรว่า ต้องเตรียมพร้อมเพื่อความอยู่รอดและขยายกิจการท่ามกลางการแข่งขันรูปแบบใหม่ให้ได้

หนทางเดียวที่จะทำได้ คือ ต้องทรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพและความดีเลิศในทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำลงไป เพื่อจะได้เข่นคู่แข่งทุกรายได้ เมื่อต้องทำสงครามตัดราคา หรือถ้าจะสู้กันด้วยคุณภาพก็สู้เขาได้สบายมาก

เอสเอเอสต้องการผนวกทั้งสองโอกาสนี้เข้าด้วยกัน เราต้องการทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพเป็นเลิศ จะเน้นด้านใดด้านหนึ่งแล้วละเลยอีกด้านหนึ่งไปไม่ได้

เอสเอเอสจึงตั้งมาตรฐานที่ทุกคนยกย่อง คือ ทั้งด้านความปลอดภัย เทคนิค และบริการ ซึ่งเป็นเสาหลักที่เอสเอเอสสร้างขึ้นมา และธำรงไว้เพื่ออนาคต องค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวตัดสินว่า เอสเอเอสจะยังคงแข่งขันได้หรือไม่อยู่ที่ว่า พนักงานของเอสเอเอสจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อมาตรฐานที่เราตั้งไว้อย่างไร และพวกเขาเตรียมพร้อมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและชื่อเสียงด้านการปฏิบัติงานของตนเองแค่ไหน

ปัจจุบัน เอสเอเอสพยายามจัดรูปแบบองค์กรให้มี 3 ระดับเท่านั้น ระดับแรกเป็นผู้บริหารยุทธวิธี มีหน้าที่ปรับองค์กรให้เข้ากับความท้าทายและโอกาส รวมทั้งรวบรวมจุดประสงค์ต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรก้าวเดินต่อไปในอนาคต

ระดับต่อมาเกี่ยวข้องกับการวางแผนทรัพยากร และเข้ารับผิดชอบผลที่ตามมา และระดับสุดท้ายเป็นพนักงานที่ต้องลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง โดยมีอำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจและปฏิบัติงานเอง รวมทั้งการสร้างสรรค์แนวทางความคิดของตัวเองด้วย

สำหรับ 2 ระดับแรกจะเป็นพนักงานระดับผู้นำในองค์กร และระดับที่สามจะรวมทั้งผู้บริหารระดับกลางด้วย

ปัจจุบันผู้บริหารของเอสเอเอสเหล่านี้ จะไม่เป็นฝ่ายตัดสินใจในทุกเรื่องทุกปัญหาอีกต่อไป เพราะ "เจ้านาย" กลายเป็นพนักงานทุกคนที่มีหน้าที่ให้บริการและรับผิดชอบตัวสินค้าโดยตรง พวกเขาทุกคนมีอำนาจความรับผิดชอบที่จะตัดสินใจเอง

สหภาพแรงงานเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้สหภาพจึงมีบทบาทในกระบวนการทั้งหมดมากขึ้น แต่ในรูปแบบของความเป็นมิตรมากกว่าจะสร้างความขัดแย้งกับผู้บริหารระดับสูง

จวบจนทุกวันนี้ เอสเอเอสจึงถูกกล่าวขวัญถึงว่า เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์โชกโชนด้านฟื้นฟูกิจการยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ "ทอม ปีเตอร์ส" ปรมาจารย์ด้านบริหารชาวอเมริกันก็เคยยอมรับว่า

"ผมเคยคิดว่า เอสเอเอสไม่มีวันฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะ 5 เหตุผลหลักด้วยกัน แต่พวกเขาก็ทำสำเร็จในระยะเวลาสั้นเป็นประวัติการณ์เสียด้วย เอสเอเอสคือผู้ให้ "ประทีปแห่งความหวัง" ให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้บริหารทุกคน"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us