Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2532
S&P บนความสำเร็จ สิ่งที่พี่น้อง "ไรวา" มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น !             
โดย ดนุช ตันเทอดทิตย์
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (S&P)

   
search resources

เอสแอนด์พี ซินดิเคท, บมจ.
Food and Beverage
Franchises
Snack and Bakery




"…ธุรกิจร้านอาหารดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่เรามักคุ้นกันอยู่ แต่การทำร้านอาหารให้รุ่งเรือง ขยายสาขาไปทั่วบ้านทั่วเมือง จนไกลไปถึงต่างแดน อย่างเอสแอนด์พีนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่หลับหูหลับตาทำกันได้ง่ายอย่างที่คิด พี่น้อง "ไรวา" เขาบริหารกันอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จมากเช่นนี้…"

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด ได้รับความไว้วางใจจากตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นบริษัทมหาชน นับเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่งของเอส แอนด์ พี ที่สามารถพัฒนาจากร้นไอศกรีมเล็ก ๆ เมื่อ 16 ปีก่อนมาสู่การดำเนินธุรกิจร้านอาหารไอศกรีมและเบเกอรี่ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ และในปัจจุบัน คือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในระบบเฟรนไชส์ และผลิตสินค้าประเภทเบเกอรี่ ภายใต้เครื่องหมายเอส แอนด์ พี

จุดเริ่มต้นของเอส แอนด์ พี เริ่มเมื่อปี 2516 ด้วยความคิดร่วมกันของพี่น้องตระกูล "ไรวา" โดยภัทราพี่สาว ร่วมด้วยน้องชาย, น้องสาว และน้องสะใภ้ ช่วยกันลงขันกันคนละ 2 หมื่น 5 พันบาท ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน เป็นร้านคูหาเดียวเล็ก ๆ ในซอยประสานมิตร ถนนสุขุมวิท โดยมีเจตนาให้เป็นร้านอาหารและไอศครีมของพี่น้อง เพราะเคยเห็นการบริหารงานร้านอาหารในต่างประเทศมาแล้ว และสภาพตลาดโดยทั่วไปในขณะนั้นในประเทศไทยยังไม่มีการแข่งขันกันในธุรกิจร้านอาหารกันอย่างเข้มข้นเหมือนในปัจจุบัน

"เราเปิดร้านวันแรก วันที่ 14 ตุลาคม 2516 วันนั้นพอเลี้ยงพระเสร็จ ก็ปิดร้านเลย เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ" ภัทรา ศิลาอ่อน พี่สาวคนโตของพี่น้อง "ไรวา" และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงบรรยากาศการเปิดร้านวันแรกของ เอส แอนด์ พี

ในช่วงแรกของการดำเนินงานในร้านเป็นการจัดการเฉพาะในส่วนของพี่สาว น้องสาว และน้องสะใภ้ กับพนักงานในร้านเพียง 7 คน ดำเนินงานต่อมาอีก 4 ปี ร้านเอส แอนด์ พี จึงได้เริ่มทำเบเกอรี่กันเอง โดยพันทิพา ไรวา ผู้จัดการฝ่ายเบเกอรี่ เอส แอนด์ พี ซินดิเคท "พอดี ตอนนั้นว่างก็เลยไปเรียนทำขนบแบบสนุก ๆ ทำมาจากบ้านแล้วเอามาขายที่ร้านวันละอัน บางวันไม่อยากทำก็ไม่ทำ ต่อมาเริ่มมีช่างมาช่วย ก็ย้ายมาทำที่ชั้นสองของร้าน" พันทิพา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงจุดเริ่มแรกของการทำเบเกอรี่ของเอส แอนด์ พี

เมื่อ เอส แอนด์ พี เริ่มได้รับความนิยมเป็นที่รู้จักด้วยการบอกปากต่อปาก และพฤติกรรมการทานอาหารนอกบ้านก็มีมากขึ้น ประกอบกับภัทราเป็นคนที่รู้จักคนค่อนข้างมาก เพราะเคยมีประสบการณ์การทำงานทางด้านโรงแรมแกรนด์กับสุริยน ไรวา ผู้เป็นพ่อ ร้านเอส แอนด์ พี เริ่มขยายเป็นสองคูหา ความคิดในการขยายงานของร้านเริ่มเป็นสิ่งที่จะต้องคิดกันว่า จะขยายใหญ่เพียงที่เดียวหรือจะออกมาในรูปของการขยายให้มีสาขากระจายไปในที่ต่าง ๆ

การตัดสินใจของพี่น้อง "ไรวา" เลือกทางเลือกที่สอง ดังนั้น หลังจากดำเนินงานที่ประสานมิตรได้นานประมาณ 8 ปี สาขาที่ 2 ของเอส แอนด์ พี ถูกตั้งขึ้นที่สยามสแควร์

ถึงแม้ว่า การขยายสาขามาที่สยามสแควร์จะเกิดเนื่องจากโอกาสมากกว่าความตั้งใจ แต่พี่น้อง "ไรวา" คงจะพิจารณาถึงกลุ่มลูกค้าในบริเวณใกล้เคียงแถวนั้นแล้วว่า อย่างน้อยก็ใกล้จุฬาฯ นิสิตนักศึกษากว่าพันคนน่าจะมีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าของร้านเอส แอนด์ พี ได้ไม่ยาก และในช่วงนั้นร้านอาหาร ไอศกรีม และเบเกอรี่ ในย่านสยามสแควร์ ดูเหมือนจะไม่มีร้านไหนเด่นไปกว่าร้านของพี่น้อง "ไรวา" แม้ทำเลที่ตั้งจะไม่เด่นนัก แต่ร้านเอส แอนด์ พี ที่ถูกเรียกกันอย่างทั่วไปว่า "ซิ้ม แอนด์ แป๊ะ" ก็เป็นที่รู้จักกันได้ด้วยการโฆษณา

"ผมคิดว่า ร้านเราเป็นร้านอาหารร้านแรกที่มีการโฆษณา สโลแกนที่เราใช้ในตอนนั้นจนถึงในปัจจุบัน คือ "เอส แอนด์ พี มีแต่ของอร่อย" ประเวศวุฒิ ไรวา น้องชายคนเล็ก ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงกิจกรรมทางการตลาดของเอส แอนด์ พี เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

การริเริ่มให้มีการโฆษณาของธุรกิจร้านอาหารในครั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นธุรกิจครอบครัวสมัยใหม่ที่ได้เริ่มใช้เครื่องมือทางการตลาดเข้ามาช่วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างให้กับผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารที่ตั้งก่อน เอส แอนด์ พี ได้เป็นอย่างดี

ผลจากการโฆษณาของ เอส แอนด์ พี ประกอบการผลิตที่พิถีพิถัน และมีความคิดใหม่ ๆ ในการผลิต โดยเฉพาะเค้กรูปการ์ตูน ได้สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นอย่างมาก ผลการดำเนินงานดูจะคุ้มกับเงินลงทุนค่าตกแต่งร้าน 1 ล้าน 5 แสนบาท และค่าที่อีก 3 ล้านบาทที่ใช้การผ่อนส่งให้กับเจ้าของที่

"ช่วงนั้นเราดังมาก เป็นช่วงที่เรามีเค้กรูปการ์ตูนออกมาขาย" พันทิพา ผู้จัดการฝ่ายเบเกอรี่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ของ เอส แอนด์ พี ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในย่านนั้น

"ช่วงนั้น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ เรียกได้ว่า "เรากินแล้ว" ประเวศวุฒิ กล่าวถึงความสำเร็จ

ลักษณะการบริหารโดยทั่วไป ในช่วง 8 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะไม่เป็นทางการนัก แต่ในเรื่องการบริหารบุคคลของ เอส แอนด์ พี นั่นคือ การให้การดูแลและฝึกฝนงานให้กับพนักงานและสร้างความสนิทสนมกับพนักงานมาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้พนักงานมีความรักต่อร้านและเจ้าของร้านจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เอส แอนด์ พี แม้กระทั่งในปัจจุบันพนักงานบางคนมีอายุการทำงานกับ เอส แอนด์ พี เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่ในยุคบุกเบิกของ เอส แอนด์ พี มาตั้งแต่ต้น

ชื่อเสียงของ เอส แอนด์ พี เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีมากขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีก 1 ปีต่อมา ร้านที่ทองหล่อ 13 ก็ได้เปิดดำเนินการ เพื่อจะสนองต่อกลุ่มผู้บริโภคทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ถึงแม้ซอยทองหล่อเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จะไม่เจริญเหมือนในทุกวันนี้ แต่ก็จัดได้ว่า เป็นแหล่งชุมชนที่พักอาศัยอยู่มาก จะสังเกตได้ว่า ในละแวกนั้น ก็มีร้านอาหารต้นเครื่อง และร้านลายครามเปิดอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับชื่อเสียงของ เอส แอนด์ พี ในขณะนั้นจึงน่าที่จะประเมินได้ว่า ลูกค้าของ เอส แอนด์ พี จะมีไม่น้อยเช่นเดียวกับที่สาขาอื่น

เอส แอนด์ พี ทองหล่อ 13 ได้ถูกใช้เป็นสำนักงานใหญ่ เพื่อใช้เป็นแหล่งรวมศูนย์กำลังทางด้านการบริหาร ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของธุรกิจ "ไรวา" ระบบต่าง ๆ ของการบริหารได้ถูกจัดวางกันอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ประกอบกับความสามารถของผู้บริหารแต่ละคนที่ได้สั่งสมมาทั้งในแง่ที่ได้ดูได้รู้ถึงความสำเร็จอันเป็นตัวอย่างจากต่างประเทศ และได้ลงมือบริหารกันมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี การปรับขบวนทัพบริหาร เอส แอนด์ พี ในช่วงนี้นับได้ว่าเป็นช่วงสำคัญของ "ไรวา" เพื่อความพร้อมก่อนการก้าวไปสู่การทำธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ที่ต้องการความสำเร็จที่มากไปกว่าร้านอาหารเล็ก ๆ ของพี่ ๆ น้อง ๆ อย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อแรกเริ่ม

นโยบายที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการบริหารของเอส แอนด์ พี ก็คือ นโยบายการขยายสาขาอย่างน้อย 1 สาขาในทุกปี เพราะการกำหนดลงไปเช่นนั้นย่อมแสดงว่า เอส แอนด์ พี จะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านกำลังคน และกำลังเงินเพื่อการขยายในแต่ละปี ไม่ใช่เป็นการขยายสาขาแบบรายสะดวกอีกต่อไป

ความพร้อมทางด้านกำลังเงินเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับชื่อเสียงของร้านเอส แอนด์ พี เพราะการกู้เงินจากธนาคารในการขยายสาขาเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว เอส แอนด์ พี จะมีสัดส่วน DEPT EQUITY ในอัตราส่วน 2 : 1 ซึ่งนับได้ว่า เป็นมาตรการควบคุมการขยายสาขาเพื่อให้มีประสิทธิผลทางด้านการลงทุนที่อนุรักษนิยมมาก

ความพร้อมทางด้านกำลังคนนั้น ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเอส แอนด์ พี การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ เพราะพนักงานทุกส่วนได้รับการดูแลและฝึกฝนมาเป็นอย่างดีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น

และสำหรับในส่วนของฝ่ายผู้บริหารเองแล้วนั้น เอส แอนด์ พี นับได้เป็นธุรกิจครอบครัวที่แต่ละคนได้มารวมกันทำธุรกิจได้อย่างลงตัวและเหมาะสมด้านพื้นฐานทางการศึกษา การแบ่งงานกันทำอย่างเด่นชัด และประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสได้รู้ ได้เห็น ได้ศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศมามาก นับเป็นข้อได้เปรียบของเอส แอนด์ พี ที่มีต่อร้านอื่นในธุรกิจเดียวกัน ดังนั้น ความพร้อมของกำลังคนทางด้านฝ่ายบริหารของเอส แอนด์ พี แล้วเรียกได้ว่าไม่มีปัญหา

การขยายสาขาอย่างมีแผนงานรองรับเริ่มต้นเมือ่ปี 2527 ที่สาขาเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เป็นสาขาแรก และต่อมาจนถึงปัจจุบันมีรวมแล้ว 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นการขยายสาขาที่เป็นไปตามนโยบายแล้ว สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ "ตลาด" เป็นคำถามขึ้นมาว่า ตลาดในที่นี้คือสถานที่ที่จะลงหลักปักฐานอยู่ตรงไหน ? "ในช่วงหลังมีคนมาเสนอสถานที่ให้เราค่อนข้างมาก เราก็พิจารณาสถานที่เหมาะสม ถ้าทุกอย่างดี เราก็เปิด การเปิดตามห้างสรรพสินค้าก็เป็นข้อดีอีกอย่าง คือ เราไม่ต้องห่วงเรื่องที่จอดรถของลูกค้า ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับร้านของเราที่เปิดในกรุงเทพฯ" ประเวศวุฒิ เล่าถึงการเปิดสาขาในช่วงหลัง

ถ้าจะพิจารณาถึงการเปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้าของเอส แอนด์ พี แล้วจะเห็นถึงความสำคัญของเอส แอนด์ พีที่มีต่อธุรกิจห้างสรรพสินค้าในระดับหนึ่ง นั้นคือ การมีร้านเอส แอนด์ พี ในห้างฯ ถือได้ว่า เป็นการเพิ่มจุดขายของห้างฯ ได้อีกจุดหนึ่งเช่นกัน

ผู้บริหาร เอส แอนด์ พี ย่อมสัมผัสได้ถึงชื่อเสียงและความสำคัญของกิจการ ซึ่งอาจดูง่ายๆ ก็คือ การเสนอสถานที่ให้เปิดร้านจากห้างฯ ต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ความตระหนักถึงเรื่องกำลังคนเป็นสิ่งที่ต้องให้การสนใจและพัฒนาอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น "เราได้รับการเสนอมามาก ถ้าเป็นที่ที่ดีแล้ว เราไม่เปิด ก็จะเป็นการเสียโอกาสไป ดังนั้น เราต้องมีความพร้อมอยู่เสมอต่อการขยายสาขา โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังคน" พรพิไล ไรวา ผู้จัดการฝ่ายบุคคล กล่าวถึงเงื่อนไขการขยายสาขา

ดังนั้น ในช่วงปี 2527 นั่นเอง ระบบการบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนาบุคลากรภายในบริษัทอย่างเป็นระบบจึงได้เริ่มขึ้น !

ระบบคิวซี ซึ่งเป็นระบบการบริหารที่ทันสมัยที่สุดในช่วงปี 2527 และได้รับความสนใจจากทุกองค์กร รวมทั้งเอส แอนด์ พี ด้วย

การใช้ระบบคิวซี ในการบริหารงานของ เอส แอนด์ พี ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดในการบริหารที่ทันสมัย และมีความคิดก้าวหน้าของทีมผู้บริหารที่จะพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

ถึงแม้ว่าการใช้คิวซีมาช่วยในการบริหาร เอส แอนด์ พี ในช่วงแรกจะมีปัญหาอยู่บ้างสำหรับพนักงาน เพราะเป็นระบบที่ต้องการการทำความเข้าใจอยู่มาก ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลข และการเก็บข้อมูล แต่เมื่อดูถึงจำนวนพนักงานที่มีพนักงานเฉลี่ยต่อสาขา 60 - 70 คน และแบ่งเป็นตามแผนกต่าง ๆ 5 แผนก คือ แผนกพนักงานบริการ แผนกขายเค้ก แผนกครัวไทย แผนกครัวญี่ปุ่น และแผนกบาร์น้ำ ระบบคิวซี ก็มีส่วนช่วยได้มากในการหาจุดบกพร่องในการดำเนินงาน

นอกจากระบบคิวซี จะมีประโยชน์ต่อการบริหารพนักงานในร้านเอส แอนด์ พี แล้ว ยังมีประโยชน์ในการบริหารทางด้านโรงงานเบเกอรี่ที่เพิ่งตั้งขึ้นในปี 2527 ที่ซอยสมานมิตร รามคำแหง อีกด้วย เพราะพนักงานในขณะนั้นเพิ่มจากแต่เดิม 3 คน เป็น 30 คนในตอนตั้งโรงงานใหม่ ๆ และเป็น 180 คนในปัจจุบัน

"โรงงานที่สมานมิตรเป็นการเช่าสถานที่ของคนอื่น เราลงทุนในเรื่องเครื่องจักรประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่จบทางด้าน FOOD SCIENCE เข้ามาเพื่อควบคุมทางด้านเทคนิคการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์" พันทิพา ไรวา ผู้จัดการฝ่ายผลิต กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับการสร้างโรงงานที่ซอยสมานมิตร และการปรับปรุงทางด้านการผลิตของ เอส แอนด์ พี

ส่วนที่เด่นที่สุดของการตั้งโรงงานของ เอส แอนด์ พี ครั้งนั้นก็คือ การเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อจัดการทางด้านการทำวิจัยและพัฒนาสินค้า (RESEARCH AND DEVELOPMENT) ซึ่งเป็นการพัฒนามาสู่การผลิตสินค้าระดับมาตรฐานยิ่งขึ้นในปัจจุบัน "ฝ่ายอาร์ แอนด์ ดีของเรา จะทำหน้าที่ในการพัฒนาการผลิตสินค้า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณพ์ของเอส แอนด์ พี โดยจะต้องมีสินค้าใหม่ออกมาอย่างน้อย 1 ชุด ภายในระยะเวลา 3 เดือน" พันทิพา กล่าวถึงหน่วยงานพิเศษที่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนากกรผลิตโดยเฉพาะสิ่งนี้คือ ปัจจัยของความสำเร็จที่เอส แอนด์ พี มองเห็นก่อนคนอื่น !

การตั้งขึ้นของโรงงานเอส แอนด์ พี และการปรับปรุงการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการวางแผนการในการก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจเบเกอรี่อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ธุรกิจของเอส แอนด์ พี จะไม่ใช่เป็นเพียงร้านอาหารและเบเกอรี่อีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเบเกอรี่ตรา เอส แอนด์ พี อย่างจริงจัง

"ในช่วงนั้น ร้านเค้กดัง ๆ ก็มีร้านลิตเติ้ลโฮม และเอราวัณเบเกอรี่ ตอนนั้นเขาบอก ผมว่าตอนปีใหม่ขายได้เป็นล้าน ผมยังนึกว่า เขาขายได้ยังไง มโหฬารมากมาย รู้สึกอิจฉามาก" ประเวศวุฒิเล่าถึงธุรกิจเบเกอรี่ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และความรู้สึกต่อธุรกิจเบเกอรี่ในขณะนั้น

ในช่วงแรก โรงงานเบเกอรี่จะผลิตสินค้าเพื่อวางขายในร้านเอส แอนด์ พี ทั้งเพื่อเป็นการให้บริการกับลูกค้าที่จะทานกันในร้าน และเป็นสินค้าที่เป็นประเภทที่เรียกว่า BREAK-AWAY ซึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้ากลับบ้านไปทาน

"การที่ลูกค้าเข้ามาทานในร้านเราอย่างเต็มที่ ร้านก็จะรับได้ประมาณ 150 - 180 ที่นั่งก็เต็มแล้ว เราจึงเพิ่มสินค้า BREAK-AWAY เพื่อที่ให้ลูกค้าซื้อกลับไปทานที่บ้านเป็นการเพิ่มยอดขายของสินค้าของเรา" ประเวศวุฒิกล่าวถึง PRODUCT STRATEGY ของเอส แอนด์ พี ของการออกสินค้าประเภท BREAK-AWAY

วิธีการนี้เรียกได้ว่า ครบสูตรของการขาย คือ มีทั้งการดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ พร้อมทั้งผลักสินค้าออกจากร้านโดยให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน เป็นการเข้าสู่อุตสาหกรรมเบเกอรี่ที่ไม่ใช่ธรรมดาเลย เพราะมีช่องทางการวางสินค้าเป็นของตนเองอยู่แล้ว คือ สาขาต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

แต่ดูเหมือนว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายของเบเกอรี่ของเอส แอนด์ พี จะไม่หยุดนิ่งที่สาขาเท่านั้น ในปี 2530 เราจะเห็นสินค้าเบเกอรี่ภายใต้ตรา เอส แอนด์ พี วางขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

การก้าวสู่อุตสาหกรรมเบเกอรี่ของเอส แอนด์ พี ได้มีการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งในปี 2531 เมื่อมีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สุขุมวิท 62 บนเนื้อที่ 6 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรที่พร้อมจะผลิตสินค้าที่เป็น MASS PRODUCT เพื่อผลิตสินค้าให้วางขายให้ทั่วถึงกว่าเดิม เพราะเมื่อโรงงานใหม่สร้างเสร็จ การผลิตจะสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว

ในปี 2531 นั่นเองก็เป็นการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญของเอส แอนด์ พี คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2531 การบริหารงานสาขา และโรงงานเบเกอรี่ จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท มีสำนักงานใหญ่อยู่ชั้นบนของสาขาทองหล่อ 25 โดยมีผู้บริหารก็คือ กลุ่มพี่น้อง "ไรวา" เป็นรูปแบบของธุรกิจแบบแฟรนไชส์

ระบบแฟรนไชส์ เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารงานสาขาในกรณีที่ต้องการขยายสาขาให้เพิ่มมากขึ้นในเวลาที่รวดเร็วขึ้น เป็นระบบที่ร้านอาหารระดับนานาชาติที่มีความสามารถรักษามาตรฐานของการผลิตและการบริการได้ เช่น แมคโดนัล ดังนั้น ในการที่ เอส แอนด์ พี สนใจระบบนี้ สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ "ความสามารถในการควบคุม"

"การบริหารสาขาทุกสาขาทั้งในด้านการบริการและการผลิต จะเป็นทีมผู้บริหารและพนักงานจากเอส แอนด์ พี ซินดิเคท เพื่อความเป็นมาตรฐานอันเดียวกัน" ประเวศวุฒิ กล่าวถึงการรักษามาตรฐานของสินค้าและบริการของร้านเอส แอนด์ พี ภายในประเทศไทย

สำหรับร้านเอส แอนด์ พี ที่จะเปิดบริการในต่างประเทศ จะเป็นในลักษณะการร่วมลงทุนกัน เช่นเดียวกับสาขาที่เอส แอนด์ พี กำลังจะเปิดที่ไทเป ประเทศไต้หวัน ในปีนี้ ก็เป็นการร่วมลงทุนกับ MR.S.C.HO ซึ่งเป็นประธาน SMALL BUSINESS BANK และกลุ่มโรงงานผลิตกระดาษอันดับหนึ่งของไต้หวัน โดยร่วมลงทุนกันคนละ 50% โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมด 15 ล้านบาท

เอส แอนด์ พี วันนี้ได้รับการยอมรับอย่างมากจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"อย่าเรียกว่า เราเลียนแบบแมคโกนัลเลย แต่เรียกว่าเราได้บางอย่างจากเขาจะดีกว่า" ประเวศวุฒิ กล่าว

เพราะถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว เอส แอนด์ พี ในระบบแฟรนไชส์ การรักษามาตรฐานการผลิตและบริการจะทำได้ยากกว่าของแมคโดนัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมคุณภาพ เนื่องจากรายการอาหารของ เอส แอนด์ พี มีหลากหลายมากกว่าและพิถีพิถันมากกว่า

คำถามก็คือว่า วิธีการของ เอส แอนด์ พี คืออะไร ? "เรารักษามาตรฐานได้ด้วยหลายวิธี อย่างหนึ่งก็คือ เราใช้วัตถุดิบอย่างเดียวกัน เรามีฝ่ายจัดซื้อกลาง และเราตั้งศูนย์ฝึกอบรมอย่างเป็นทางการเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อการพัฒนาบุคลากรของเราในทุกส่วนและทุกคนเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตและบริการอย่างเดียวกัน" พรพิไล ไรวา ผู้จัดการฝ่ายบุคคล กล่าวถึงการรักษามาตรฐานของเอส แอนด์ พี

แม้กระทั่งในต่างประเทศ เช่น ที่ไทเป ที่เอส แอนด์ พี จะไปเปิดที่นั่น เอส แอนด์ พีก็ได้ส่งครูผู้ฝึกอบรมการทำอาหาร เดินทางไปสำรวจวัตถุดิบในการทำอาหาร เพื่อที่จะได้รับทราบเป็ข้อมูลในการบริหารงานผลิต "การไปเปิดสาขาในต่างประเทศ เป็นความคิดที่เราอยากจะลองทำมาดูนานแล้ว ที่อื่นมาเปิดร้านในไทยได้ เราก็น่าจะสามารถไปเปิดที่ประเทศเขาได้" ประเวศวุฒิ กล่าวอย่างมั่นใจในสาขาแรกของเอส แอนด์ พี ในต่างประเทศ

นอกจากทางด้านวัตถุดิบในการทำอาหารแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างมากก็คือ "พนักงาน" ซึ่งเอส แอนด์ พี รู้ซึ้งถึงข้อนี้ดีมาตั้งแต่ต้น การฝึกอบรมพนักงานของ เอส แอนด์ พี จึงมีมานานแล้ว แต่เพื่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ผิดพลาด ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานอย่างเป็นรูปเป็นร่าง มีผู้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่สาขาทองหล่อ 13

การฝึกอบรมพนักงานมีหลักสูตรอย่างเป็นขั้นตอน สำหรับพนักงานในทุกระดับตั้งแต่พนักงานบริการจนถึงผู้บริหารระดับสูง ในส่วนของพนักงานหลักสูตรจะแบ่งออกเป็นในหลายระดับตามความเหมาะสมในการเพิ่มทักษะ และความสามารถในการทำงานของแต่ละคน แต่ละแผนก

สำหรับในส่วนของระดับผู้บริหารก็จะเป็นการรับรู้ถึงเทคนิค และทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาช่วยในการบริหาร ซึ่งในส่วนนี้นับเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของการบริหารของเอส แอนด์ พี

ในปัจจุบัน เอส แอนด์ พี ได้รับเอาระบบการบริหารที่เรียกว่า ระบบ 5 ส.ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจระบบคิวซี และเป็นหลักการบริหารบุคคลสมัยใหม่ของญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อเป็นการเสริมระบบคิวซี ที่ยังคงใช้อยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น "ที่ เอส แอนด์ พี เป็นธุรกิจร้านอาหารแห่งแรกและแห่งเดียว ในประเทศไทยในขณะนี้ที่ใช้เทคนิคการบริหาร 5 ส." เรืองเวช วิทวัสการเวช หัวหน้าศูนย์ฝึกอบรม กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการบริหารของเอส แอนด์ พี ที่ใช้เทคนิคที่ทันสมัยในการบริหารการทำงานของพนักงาน

5 ส. เป็นการดัดแปลงมาจากการบริหารงานของญี่ปุ่นที่เรียกว่า 5 เอส ซึ่งได้แก่ SEIRI, SEITON, SEISO, SEIKETSU และ SHITSUKE ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยให้ใกล้เคียงกับการทำงานได้ว่า สะสาง, สะดวก, สะอาด, สุขลักษณะ และสร้างนิสัย ซึ่งแต่ละ ส.มีความหมายง่ายต่อการทำความเข้าใจ และมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกัน "สะสางคือการทิ้งในสิ่งที่ควรทิ้ง เก็บในสิ่งที่ควรเก็บ สะดวกคือการวางสิ่งของเครื่องใช้ให้สะดวกต่อการทำงาน สะอาดคือการรักษาความสะอาดของสถานที่ทำงาน สุขลักษณะคือการสร้างบรรยากาศสถานที่ทำงานให้น่าอยู่แลดูสวยงาม และสร้างนิสัยคือการทำทั้ง 4 ส.แรกให้เป็นนิสัย เพื่อการทำงานที่ดี" เรืองเวช อธิบายถึงความหมายของเทคนิคการบริหาร 5 ส. ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ที่ เอส แอนด์ พี ได้ใช้การบริหาร 5 ส.นี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งได้ผลดีในทางการบริหารการทำงานโดยเฉพาะในแต่ละสาขา พนักงานให้ความสนใจเพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจ และทุกเดือนจะมีการประกวดการทำงานของแต่ละสาขา ในแต่ละ ส. เวียกันไปในแต่ละเดือน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ออกสำรวจให้คะแนนเพื่อคัดเลือกสาขาที่มีการปฏิบัติงานประจำเดือนได้ดีที่สุด และมอบรางวัลแก่สาขาที่ชนะเป็การสร้างกิจกรรมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมกับผู้บริหารอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากฝ่ายบริหารจะให้ความสนใจกับการบริหารงานในเทคนิคใหม่ ๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริหารเอส แอนด์ พี กำลังให้ความสนใจในการที่จะพัฒนาระบบให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นก็คือ การบริหารทางด้านระบบข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของคอมพิวเตอร์ มีศูนย์ปฏิบัติการที่ชั้น 3 ของร้านที่ทองหล่อ 25 และมีระบบเชื่อมต่อไปยังคอมพิวเตอร์ของผู้บริหารที่จะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันทีที่ต้องการ "เราจะจัดการให้มีระบบเชื่อมต่อทางด้านข้อมูลกับสาขาทุกสาขา" ประเวศวุฒิ กล่าวถึงแผนการพัฒนาระบบข้อมูลของบริษัท ซึ่งนับวันก็ยิ่งทวีความสำคัญตามจำนวนของสาขาของเอส แอนด์ พี

การดำเนินธุรกิจของ เอส แอนด์ พี ตั้งแต่เป็นห้างหุ้นส่วน เมื่อ 16 ปีที่แล้ว จนกระทั่งเป็นบริษัท และเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเป็น เอส แอนด์ พี ซินดิเคท นับได้ว่าเป็นการทำธุรกิจของครอบครัวที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งในปี 2532 ธุรกิจครอบครัว เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ได้ปรับตัวครั้งสำคัญอีกครั้งเมื่อได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นบริษัทมหาชน

ความคิดของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เคยคิดกันมานาน โดยผู้ที่มาจุดประเด็นก็คือ เกษสุดา ไรวา ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและวางแผน "สมัยก่อนการขยายสาขา เรามักจะต้องใช้การกู้เงินจากธนาคาร เราก็เลยมาคิดทบทวนกันอีกครั้ง เพราะในช่วงหลังการขยายสาขาของเรามีค่อนข้างมาก และเราคิดว่า บริษัทของเราก็มีคนรู้จักกันมาพอสมควร และผลการดำเนินงานของเราก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ เราก็เลยคิดที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้การขยายสาขาในเรื่องเงินทุนเป็นไปได้ง่ายขึ้น และมีผลต่อภาพพจน์ของบริษัทด้วย เพราะต่อไปนี้ บริษัท เอส แอนด์ พี ไม่ได้เป็นของพวกเราเพียงฝ่ายเดียวแล้ว แต่เป็นบริษัทมหาชนของผู้ถือหุ้น" เกษสุดา บอกถึงเหตุผลของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ เอส แอนด์ พี

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ของเอส แอนด์ พี ในปีนี้ ทำให้ภาพพจน์ของเอส แอนด์ พี ไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจของครอบครัวอีกต่อไป แต่เป็นบริษัทมหาชนที่มีการบริหารงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

16 ปีของการบริหารเอส แอนด์ พีของพี่น้อง "ไรวา" ได้แสดงถึงความเป็นครอบครัวที่มีความคิดก้าวหน้า ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับการบริหารที่เป็นแบบแผนตายตัว แต่มีการปรับโครงสร้าง ปรับวิธีการบริหารให้เหมาะสมกับสภาพทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั้นคือ จุดเด่นที่สุดของครอบครัว "ไรวา"

แต่จุดเด่นจุดนี้เป็นจุดที่ได้สร้างสรรค์การบริหารที่มีประสิทธิภาพทางด้านต่าง ๆ ออกมาอยู่เสมอทั้งในด้านการผลิต การบริหารระบบข้อมูล การบริหารการตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจบริการ ซึ่งเอส แอนด์ พี รู้ซื้อถึงข้อนี้ดี

ไม่ใช่ร้านอื่น ๆ จะไม่รู้ถึงความจริงข้อนี้ แต่เอส แอนด์ พี รู้และสามารถบริหารงานทางด้านนี้ได้อย่างดีด้วยเทคนิคการบริหารที่ดีและเหมาะสมในการพัฒนาบุคลากร ประกอบกับความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีที่ผู้บริหารมีต่อพนักงานทุกคน ที่ทำให้พนักงานมีความรู้สึกเหมือนกับการอยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน - ครอบครัวเอส แอนด์ พี

ความสำเร็จของเอส แอนด์ พี เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไต่เต้ามาจากธุรกิจเล็ก ๆ ลงทุนไม่มาก แต่ความตั้งใจจริงของผู้บริหารที่จะทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยสายตาของคนที่มองเห็นถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us