Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2532
ถนนธุรกิจสู่อินโดจีนยังมีอุปสรรค             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 


   
search resources

Investment
International




"แม้ว่าสันติภาพในอินโดจีนดูมีลู่ทางราบรื่น แต่การแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้าในดินแดนนี้ ยังมีข้อสงสัย อุปสรรคคืออะไร ? ผู้เชี่ยวชาญอินโดจีนบางคน บอกว่า การรุกธุรกิจเข้าไปในอินโดจีน ต้องทำแบบญี่ปุ่นที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ 20 - 30 ปีก่อน ข้อเท็จจริงการค้าการลงทุนจากไทยในอินโดจีนคืออะไร สิ่งนี้เป็นการบ้านสำหรับพ่อค้าไทยที่ยังต้องอาศัยเวลาตอบอยู่"

"สันติภาพจงกลับมาในอินโดจีน"…

เสียงเรียกร้องของชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ดูจะยังคงดังระงมไปทั่วฝั่งโขง แม่น้ำสายสำคัญที่แบ่งไทยกับลาวออกจากกันด้วยความยาว 1,750 กม.

ลักษณะทางวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของไทยกับประเทศในกลุ่มอินโดจีน (ลาว เขมร เวียดนาม) ดูไม่ห่างกันมากนักเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรือชาติอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายปรารถนาจะเข้าค้าขายลงทุนในดินแดนแถบนี้

หลังสงครามกลางเมืองในลาว เขมร และเวียดนาม สิ้นสุดลงในปี 2518 ความใกล้ชิดด้านพรมแดนและวัฒนธรรมของไทยกับอินโดจีน เป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์สังคมที่ชาวโลกเชื่อกันมากว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมาก ๆ ในการทำมาค้าขายเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากไทยที่จะเข้าไปในตลาดอินโดจีนนี้ ถ้าหากว่าความแตกต่างในระบบการปกครองไม่มาเป็นอุปสรรค จนเป็นป้อมปราการให้ผู้นำในวงการรัฐบาลไทยใช้เป็นข้ออ้างสกัดกั้นการทำการค้าซึ่งกันและกันในระดับปกติเสียก่อน

รัฐบาลไทยสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดูจะเป็นคนแรกที่พยายามเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับลาวและเวีดยนามในระดับปกติ ซึ่งมีความหมายต่อการปรับทัศนคติและนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของไทยครั้งสำคัญที่สุด

เดือนมิถุนายน ปี 2521 เกรียงศักดิ์ ได้ทำข้อตกลงทางการค้าเบื้องต้นกับลาวเพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศได้ซื้อขายสินค้าซึ่งกันและกัน สินค้าที่ไทยนำเข้าจากลาวเป็นพวกไม้แปรรูป ไม้ท่อน ไม้วิเนียร์ ยิปซัม ขณะที่สินค้าออกไปลาวเป็นพวก ข้าว นม ผ้า ด้าย วัสดุก่อสร้าง ซีเมนต์ ที่ลาวผลิตเองไม่ได้

"การค้าขายผลจากข้อตกลงนี้ ส่วนใหญ่เป็นการค้าแบบแลกเปลี่ยนกัน เพราะลาวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ กระนั้นก็ตาม ในกรณีที่มีการเปิด L/C เงินสกุลดอลลาร์มาให้พ่อค้าไทย โดยแบงก์เราขอ CONFIRM L/C จาก FRENCH AMERICAN BANK ในนิวยอร์ก ที่เขาเป็น CORRESPONDENT กับทางแบงก์ต่างประเทศลาว (FOREIGN TRADE BANK OF VIENTIANE) ก็เสียเวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่มีปัญหา" เจ้าหน้าที่แผนกธนาคารต่างประเทศ แบงก์กรุงไทย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงอุปสรรคความไม่สะดวกในการทำการค้ากับลาวในยุคนั้น

นอกจากนี้แล้ว เกรียงศักดิ์ยังได้ทำข้อตกลงกับลาว ให้ลาวใช้ไทยเป็นดินแดนผ่านสินค้าจากประเทศที่ 3 เข้าลาว หรือสินค้าจากลาวผ่านไทยไปประเทศที่ 3 ตามสนธิสัญญาบาร์เซโลน่าที่ไทยและลาวเป็นสมาชิกอยู่ เนื่องจากดินแดนลาวไม่มีทางออกสู่ทะเลได้ การขนส่งสินค้าสู่ต่างประเทศต้องผ่านไทย โดย ร.ส.พ. เป็นผู้รับสิทธิ์ขนส่งให้

ว่ากันว่า การเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับลาวในระดับปกติของเกรียงศักดิ์ทำให้ผู้นำระดับสูงในลาวยอมรับในความเป็นมิตรของเกรียงศักดิ์มาก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของเกรียงศักดิ์ คือ วงศ์ พลนิกร ผู้เชี่ยวชาญกิจการต่างประทศอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลาว ที่ผู้นำระดับสูงในลาว เช่น พลเอกสีสะหวาด แก้วบุญพัน และพลเอกสิงคโปร์ ก็ล้วนเป็นมิตรเก่าแก่ของวงศ์มาก่อน สมัย วงศ์ เป็นเสรีไทย ร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมกับผู้นำลาวที่ต่อต้านฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกวันนี้ พ่อค้าไทยที่เข้าไปทำธุรกิจกับลาว ถ้าผ่านการแนะนำจากเกรียงศักดิ์หรือวงศ์แล้วรับรองทางลาวให้ความไว้วางใจมาก เพราะสิ่งนี้คือ วัฒนธรรมทางการค้าของลาว และอาจกล่าวเลยไปถึงเป็นวัฒนธรรมการค้าของประเทศในกลุ่มอินโดจีนที่เป็นสังคมนิยมด้วยก็ไม่ผิดนัก

ดอกผลที่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ปูไว้ตั้งแต่ปี 2521 ทำให้การค้าไทย - ลาว มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ตัวเลขจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า การค้าตามชายแดนและผ่านแดนระหว่างปี 2529 - 2531 ได้สูงขึ้นจาก 665 ล้านบาท เป็น 1,886 ล้านบาท สำหรับการค้าตามชายแดนและ 1,552 ล้านบาท เป็น 1,919 ล้านบาทสำหรับการค้าผ่านแดน

นัยสำคัญในการมองการค้าไทยกับอินโดจีนไม่ใช่ดูที่เวียดนามหรือกัมพูชา เพราะทั้ง 2 ประเทศมีพรมแดนไม่ใกล้ชิดกับไทยมากเท่าลาว ปริมาณการค้ากับประเทศทั้ง 2 มีไม่ถึง 10% ที่ไทยค้ากับลาว ด้วยเหตุนี้ ลาวจึงเป็นประเทศที่ไทยอยากค้าขายด้วยมากที่สุด

"ถ้าค้าขายกับลาว เป้าหมายคงไม่ใช่อยู่ที่แค่ตลาดลาว แต่สามารถเข้าตลาดเวียดนามได้ เพราะลาวมีถนนหมายเลข 9 ที่เชื่อมระหว่างท่าเรือแก่งกระเบา แขวงสุวรรณเขต กับท่าเรือดานัง ของเวียดนาม เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากลาวเข้าเวียดนามได้สะดวก ลาวมีประชากรแค่ 3 ล้านคน เวียดนามมีพอ ๆ กับไทยกว่า 60 ล้าคน ถ้าค้ากับลาวเพียงประเทศเดียว สามารถดึงเอาเวียดนามเข้ามาด้วยอย่างสบาย ๆ " วงศ์ วิเคราะห์ตลาดค้าอินโดจีนให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

บริษัทคนไทยที่ค้าขายกับลาวมี 2 จำพวก พวกหนึ่ง - ค้ากับลาวโดยเปิดเผย โดยจดทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีอยู่เกือบ 300 บริษัท อีกพวกหนึ่ง - เป็นพ่อค้าแม่ค้าตามชายแดนที่พรมแดนติดกันกับลาว ค้าขายกันคราว ๆ ละไม่เกิน 50,000 บาท/ครั้ง

"ตัวเลขสถิติที่กรมศุลกากรไทยบันทึกไว้ประมาณปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขค้าขายของบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ แต่ที่พ่อค้าแม่ค้าตามชายแดนไม่ปรากฎหลักฐาน แต่คาดไว้ว่ามีมากกว่าค้าแบบทางการ 4 - 5 เท่า ตกประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านบาท/ปี เพราะจุดค้ายาวตลอดแนวพรมแดนแม่น้ำโขง 1,750 กม. มีมากมายกว่า 50 จุด" วงศ์ ขยายความเล่าให้ฟังต่อ

จุดค้าขายชายแดนไทย-ลาว ที่ถูกกฎหมายมี 5 จุด คือ ด่านหนองคาย ด่านมุกดาหาร ด่านช่องเม็ก ด่านบ้านแพง ด่านเขมราฐ สินค้าเข้าออกตามด่านเหล่านี้เป็นช่องทางที่กลุ่มพ่อค้ารายใหญ่ ๆ ที่ค้ากับลาวอย่างเปิดเผย ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากฝั่งไทยไปลาว ด่านแต่ละด่านจะมีกลุ่มพ่อค้าไทยไม่กี่กลุ่มยึดครองปริมาณการค้าอยู่ "ที่จดทะเบียนค้ากับลาวเกือบ 300 รายที่ว่าค้าจริง ๆ มีเพียงนิดเดียวเท่านั้น" แหล่งข่าวในสมาคมหอการค้าจังหวัดนครพนมเล่าให้ฟัง

ด่านมุกดาหาร มี 4 บริษัทที่ยึดกุมปริมาณการค้าอยู่ คือ บริษัท พรสิตมุกดาหาร บริษัทแม่น้ำโขง บริษัทแนนซี่ จิวเวลลี่ และบริษัทโค้วยู่ฮะ ไทย-ลาว ด่านหนองคายก็มีบริษัทนายธเนศ เอียสกุล หรือกิมก่าย เจ้าของกลุ่มบริษัทอีพีซี และวิญญู คุวานันท์ แห่งกลุ่มโค้วยู่ฮะ ด่านช่องเม็กก็มีกลุ่มบริษัทพรสิต มุกดาหาร และบริษัทแม่น้ำโขงยึดครองตลาดลาวแขวงจำปาศักดิ์

ว่ากันว่า กลุ่มบริษัทคนไทยเหล่านี้ ฐานธุรกิจเดิมอยู่หนองคาย อุบลราชธานี ซึ่งมีพรมแดนติดกับลาวอย่างใกล้ชิด จึงเป็นไปได้ว่า ได้เคยค้าขายกับลาวมานานแล้วตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาวเมื่อปี 2518 เสียอีก การค้าชายแดนที่ถูกกฎหมายปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่า เป็นการค้าแบบสากลทั่วไปที่ชำระค่าสินค้าด้วย L/C เงินสกุลดอลลาร์กันเท่าไร ? และแลกเปลี่ยนสินค้ากันเท่าไร ? แต่การสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พอจะอนุมานได้ว่า แนวโน้มการค้าแบบเปิด L/C กันจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับครึ่งต่อครึ่ง

จากการสอบถามไปยังแบงก์กรุงไทย ซึ่งเป็นแบงก์ไทยแห่งแรกที่เปิดธุรกิจติดต่อกับแบงก์การค้าต่างประเทศของลาวได้ทราบว่า ปีที่แล้วมี L/C จากลาวเปิดมาให้บริษัทไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีประมาณเกือบ 24 ล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 612 ล้านบาท (1 เหรียญ = 25.50 บาท) ทางแบงก์กสิกรไทยและไทยพาณิชย์ก็ได้รับการยืนยันจาก "ผู้จัดการ" ที่มี L/C เปิดมาให้บริษัทไทยผ่านแบงก์จริง แต่ไม่มาก

ตัวอย่างเท่าที่ทราบจากแหล่งข่าวระดับสูงในบริษัทโคคาโคลา เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "ทางบริษัทเวียงจันทน์ เอ็กปอร์ต อิมปอร์ต ได้รับการแต่งตั้ง (อย่างไม่เป็นทางกร) ด้วยวาจาจากทาง "โค้ก" (ไทย) ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตสินค้าโค้กในลาวตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ วิธีการก็เปิด L/C เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมาให้บริษัทไทยน้ำทิพย์ โดยผ่านมาทางแบงก์ไทยพาณิชย์ L/C นี้ เป็นเอกสารสั่งซื้อสินค้าโค้กจำนวนเดือนละ 10,000 ถัง ตอนแรกทางโค้กไทยก็ไม่กล้าเท่าไรที่จะค้าขายกับเวียงจันทร์ เพราะยังไม่เชื่อเครดิตกัน แต่ทางบริษัทจิมเม็ก เทรด ของพ่อค้าไทยเป็นผู้รับรองการชำระเงินก็เลยลองค้าดูก็ไม่มีปัญหาอะไร"

ว่ากันว่า L/C ที่แบงก์การค้าต่างประเทศลาวเปิดให้กับบริษัทเวียงจันทน์ เอ็กปอร์ต อิมปอร์ต ผ่านมาทางแบงก์ไทยพาณิชย์ คงไป CLEARING กันที่แบงก์ FRENCH AMERICAN BANKING CORP ในนิวยอร์กที่เป็น CORRESPONDENT ของแบงก์ลาว

ที่น่าสังเกต คือ ลาวเอาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากไหนมาซื้อสินค้าไทย ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เคยทำรายงานไว้ว่า ลาวกำลังอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 (2529 - 2533) ที่เน้นการส่งสินค้าออกเพื่อหาเงินตราต่างประเทศให้เข้ามากที่สุด !

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ลาวค้ากับไทยมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

ณรงค์ ศรีสะอ้าน กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กสิกรไทย ซึ่งเพิ่งได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของแบงก์ชาติลาว ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เงินตราต่างประเทศของลาวที่ลาวต้องการมากที่สุด คือ เงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท เงินดอลลาร์ที่มีอยู่ซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนมาจากเงินช่วยเหลือของธนาคารโลกที่โอนผ่านทางบัญชีมาที่แบงก์กรุงไทย

การที่ไทยจะค้ากับลาวได้สะดวกมากขึ้น ถ้ามองจากแบงเกอร์อยู่ที่ การแสวงหากลไกที่เป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ประเทศ คือ แบงก์ชาติลาวกับไทยในการใช้เงินสกุลบาทเป็นกลไกอัตราแลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้า ณรงค์ได้พูดถึจุดดีของสิ่งนี้ไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง - พ่อค้าไทยไม่จำเป็นต้องเอาดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาท ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเวลาไปโอนที่นิวยอร์ก สอง - ทุกวันนี้เงินบาทไทยไหลเข้าลาวปีละเกือบ 5,000 ล้านบาทจากการค้าขายตามแนวชายแดนเกือบ 50 จุด ถ้าใช้เงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศของลาว ซึ่งลาวยอมรับอยู่แล้ว เป็นการง่ายที่ลาวจะใช้เงินบาทเป็นกลไกซื้อสินค้าไทยได้สะดวก

แต่อย่างไรก็ตาม จุดนี้ก็อาจมีข้อที่ต้องระวังในระยะยาว ถ้าหากการค้าเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในแบงก์ชาติคนหนึ่งได้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ถ้าเงินบาทถูกใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ จะมีผลถึงฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของไทย เพราะยากต่อการควบคุมปริมาณเงิน เพราะลาวคงไม่ใช้เงินบาทค้ากับไทยเพียงประเทศเดียว คงค้ากับชาติอื่น ๆ ด้วย ตรงนี้ยากต่อการควบคุม ตอนที่เงินบาทมันไหลทะลักเข้าไทย ในรูปการชำระค่าสินค้า การที่ทั้งไทยและกลุ่มอินโดจีนยังไม่มีข้อตกลงทางการเงินและภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นกลไกการค้าและลงทุนที่สำคัญที่สุด เป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการขยายตลาดอินโดยจีนให้เป็นตลาดบริวารของนักลงทุนและพ่อค้าไทย

ทั้ง ๆ ที่ความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดบริสุทธิ์ (VIRGIN LAND) ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในสายตาพ่อค้าและนักลงทุนไทยมีอยู่สูงมาก ในอินโดจีนมีทรัพยากรมากมาย เช่น พวกแร่ อัญมณี ไม้ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการป้อนอุตสาหกรรมผลิต จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในลาว ทั้งในรูปร่วมลงทุนกับบริษัทรัฐวิสาหกิจในลาว และลงทุนเอง โครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น กลุ่มโอสถานุเคราะห์ในนามบริษัทนิวไทยลาวเวิลด์ สนใจลงทุนโรงงานแปรรูปไม้ในเขตสาละวัน และศูนย์การค้ขนาด 1,000 หน่วยในเวียงจันทร์ บริษัทอิตาเลียนไทย ของหมอชัยยุทธ กรรณสูต สนใจลงทุนผลิตเสาไฟฟ้า หลังจากได้งานก่อสร้างถนนยาวกว่า 100 กม.ที่เชื่อมระหว่างช่องเม็กไปยังเขื่อนเซเซด ในแขวงจำปาศักดิ์ บริษัทบ่อแก้ว ของนายทุนเหมืองพลอยจันทบุรี ที่อาศัยสายใยของวงศ์ พลนิกร ก็เข้าไปลงทุนขนเครื่องไม้เครื่องมือสำรวจขุดพลอยในแขวงบ่อแก้วของลาว โดยทางลาวลงทุนนรูปการให้พื้นที่สัมปทานบริษัท ฟินิกซ์ พัพ แอนด์ เพเพอร์ สนใจลงทุนปลูกป่าไผ่ 100,000 ไร่ ตั้งโรงงานไม้ชิ้นสับเป็นวัตถุดิบ ผลิตป้อนโรงงานเยื่อกระดาษที่ขอนแก่น

ในกัมพูชาก็เช่นกัน บริษัทสยามกราฟฟิค สนใจลงทุนผลิตเครื่องจักรการพิมพ์ในพนมเปญ ในเวียดนามบริษัทฮ่วยชวนค้าข้าวของ สมาน โอภาสวงศ์ สนใจร่วมลงทุนกับเวียดนาม ตั้งบริษัทค้าผลผลิตเกษตร กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และศิริชัยการประมงสนใจลงทุนกิจการประมง

"ในเวียดนาม เวลานี้การค้าขายและโอนเงินลงทุนกันในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องผ่านที่สิงคโปร์ที่เป็นศูนย์การเงินของโลกย่านเอเชียอาคเนย์ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแปลกมากที่เวลานี้ ปรากฏมี SUMMA BANK OF INDONESIA ร่วมทุนกับแบงก์เวียดนามลงทุนเปิดสาขาที่โฮจิมินห์ซิตี้แล้ว" แหล่งข่าวในวงการแบงก์เล่าให้ฟัง

สิ่งนี้หมายความว่า บริษัท HONDA, FRENCH TELECOM, SHELL, INDIA GAS ที่เตรียมเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเวียดนาม หลังจากเข้าไปศึกษาลู่ทางมานานแล้ว ก็จะสามารถใช้บริการแบงก์ที่ว่านี้ได้

"HONDA เตรียมตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซด์ FRENCH TELECOM เตรียมตั้งข่ายงานโทรศัพท์และผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน" รายงานแบงก์ชาติระบุไว้

การที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการเงินและภาษีศุลกากรที่แน่นอนกับอินโดจีน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจไทยยังไม่กล้าเข้าไปลงทุนผลิตวัตถุดิบ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมในประเทศหรือส่งออกไปยังประเทศที่สามแต่อย่างใด นอกจากนี้ อุปสรรคด้านการติดต่อลงทุนในอินโดจีนยังมีลักษณะความคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก ยกตัวอย่างในลาวอาศัยการคุ้นเคยส่วนตัวมากกว่าความเป็นไปได้ในโครงการตามหลักสากลที่ประเทศเสรีใช้กัน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นอุปสรรคการลงทุนทำธุรกิจในลาว

วงศ์ พลนิกร ผู้เชี่ยวชาญลาว ได้ให้ข้อคิดกับ "ผู้จัดการ" ว่า การลงทุนในลาวจะต้องมองตัวอย่างบทเรียนที่ญี่ปุ่นเคยใช้กับไทยมาก่อนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเมืองไทยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล การประมูลงานก่อสร้างต่าง ๆ บริษัทพวกนี้ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษีสินค้าอุปกรณ์เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านราคา นอกจากนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปเงินให้เปล่าและดอกเบี้ยต่ำแก่โคงการพัฒนาสาธารณูปโภคแก่ประเทศไทยควบคู่ไปด้วย

พูดง่าย ๆ ว่า ญี่ปุ่นได้ทั้งเงินและกล่องจากไทยไปมหาศาล !

ในเมืองลาวก็เหมือนกัน เวลานี้ทั้งแคนาดาและญี่ปุ่นหน่วยงานพิจารณาของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาได้ปูพื้นให้เอกชนเรียบร้อย ยกตัวอย่างแคนาดาได้ให้ความช่วยเหลือ 700 ล้านบาท สร้างสะพานเชื่อมลาวกับฝั่งหนองคายของไทย

ในลาวและเวีดยนามเมื่อต้นปีนี้เอง ได้ประกาศใช้ กม.การลงทุน ฉบับปรับปรุงใหม่ เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกำไรแก่ผู้ลงทุนที่ร่วมทุนกับลาวและเวียดนาม (เวียดนามประกาศใช้ กม.ลงทุนปี 1988)

ยกตัวอย่างในลาว มาตรา 21 ของ กม.ส่งเสริมลงทุนได้ระบุว่า "ภาษีกำไรสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนตามสัญญาผูกพัน จะเสียภาษี 20 - 30% ของกำไรสุทธิเฉพาะในเขตส่งเสริม นอกเขตส่งเสริมเสีย 35% เฉพาะธุรกิจการค้า โรงแรม และบริการอื่น ๆ เสีย 35%" มาตรา 22 ได้ระบุว่า "สำหรับผู้ลงทุนแต่ผู้เดียวในลาวได้ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 - 4 ปีแรก และถ้าปีถัดไป ๆ ยังมีกำไรอีกจะสามารถได้รับลดหย่อนสูงถึง 50% ของอัตราภาษีที่เสีย นอกจากนี้ ในมาตรา 23 ได้ระบุถึง กม.การคุ้มครองผู้ลงทุนว่า "ถ้าหากมีความขัดแย้งกันระหว่างผู้ลงทุนต่างประเทศกับลาวให้เสนอข้อขัดแย้งต่อองค์การกรรมการรตัดสินเศรษฐกิจของลาวหรือองค์การอื่น ๆ ใดก็ได้ที่ 2 ฝ่ายยอมรับกัน"

ในเรื่องการโอนเงินกำไรออกนอกประเทศ ในมาตรา 19 ของ กม.ได้ระบุว่า "ผู้มาลงทุนในลาวสามารถส่งเงินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนกลับประเทศหรือในประเทศที่ 3 โดยผ่านแบงก์ลาว หรือสาขาของแบงก์ต่างประเทศในลาวก็ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบหลักการคุ้มครองเงินตราต่างประเทศของลาว"

กำไรจำนวนเท่าไรที่ผู้ลงทุนสามารถโอนออกนอกประเทศลาวได้ ? กม.มาตรา 20 ได้ระบุว่า "ภาษีเงินได้ที่ผู้ลงทุนต้องเสีย 5 - 10% ของรายรับเท่านั้น นอกนั้นที่เหลือสามารถส่งเงินกลับประเทศของตน หรือโอนสู่ประเทศที่ 3 ได้โดยผ่านแบงก์ลาวหรือแบงก์ต่างประเทศในลาว"

กม.ส่งเสริมการลงทุนของลาว เป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ลาวพร้อมเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว

แต่นักลงทุนไทยยังไม่พร้อมเข้าไปลงทุนอย่างจริงจังในลาว !

ปัญหาไม่ใช่ในลาวยังมีอุปสรรค แต่อุปสรรรคอยู่ที่ไทยเองที่ หนึ่ง - ยังไม่มีระเบียบจากแบงก์ชาติในการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในอินโดจีนและอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อยังไม่มีระเบียบ ทางแบงก์พาณิชย์ไทยก็ไม่มีรายไหนกล้าเข้าไปทำธุรกิจในอินโดจีนอย่างจริงจัง เมื่อไม่มีแบงก์ต่างประเทศในลาวหรืออินโดจีน นักลงทุนไทยก็ไม่สามารถเปิดบัญชีที่นั่นได้ และไม่รู้ว่าจะเปิดบัญชีในรูปเงินสกุลอะไรจึงปลอดภัยที่สุด

ปัจจุบันมีเพียงแต่ทางลาวเข้ามาเปิดบัญชีในรูปเหรียญสหรัฐที่กรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากเพื่อเดินบัญชี L/C ที่เปิดมาให้ไทย

ทุกอย่างจึงยังต้องรอต่อไปจนกว่าแบงก์ชาติไทยกับแบงก์ชาติในกลุ่มประเทศอินโดจีน จะมีข้อตกลงทางการเงินในการจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายทุนและอัตราแลกเปลี่ยนต่อกัน สอง - ยังไม่มีระเบียบด้านภาษีศุลกากรที่จะเป็นกลไกในการควบคุม และข้อปฏิบัติด้านภาษีศุลกากรสำหรับพ่อค้าและนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจในอินโดจีน โดยเฉพาะลาวส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาด้านภาษีศุลกากรมากนัก เพราะสินค้าส่งออกและนำเข้าเป็นพวกอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบพวกเศษเหล็กและไม้ แต่ด้านการลงทุนยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก เพราะเครื่องจักรที่นำออกจากไทยไปลาว หรือนำเข้าลาวยังไม่มีกฎระเบียบข้อตกลงที่ 2 ประเทศจะใช้เป็นแนวปฏิบัติ สาม - เป็นที่รู้กันว่า ลาวไม่มีทางออกสู่ทะเล สภาพภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางที่ถูกประกบโดยไทยและเวียดนาม การขนส่งสินค้าต้องผ่านแดนไทยสายหนึ่ง และทางหลวงหมายเลข 9 ที่ตรงไปสู่ท่าเรือดานังของเวียดนาม ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว ยังไม่มี จึงเป็นอุปสรรคทำให้ราคาสินค้าแพงเกินเหตุ ตัวอย่างกรณีการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทยไปประเทศที่สาม ทางลาวอึดอัดใจมากที่การขนส่งมีราคาแพง บริการก็ล่าช้า เพราะองค์การ ร.ส.พ. ของไทยผูกขาดสัมปทานสิทธิ์ แต่ไม่ปฏิบัติเองไปให้เอกชนขน คือ กลุ่มตี๋ใหญ่ หรือ "เจีย เจ่ง กี" ที่รับขนสินค้าจากฝั่งลาวข้ามโขงมาทางฝั่งมุกดาหารเข้าสู่ท่าเรือกรุงเทพฯ ลงเรือสู่ประเทศที่สามต่อไป

อุปสรรค 3 ข้อที่กล่าวนี้ นับเป็นปัญหาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและลงทุนของไทยกับกลุ่มอินโดจนที่ประสบอยู่ ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขการยอมรับและความต้องการของประชาชนในกลุ่มประเทศดังกล่าว พร้อมที่จะเปิดทำธุรกิจซึ่งกันและกันอยู่แล้ว การค้าตามแนวชายแดนไทย-ลาว ปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท โดยใช้เงินบาทเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและซื้อขายกัน เป็นตัวอย่างรูปธรรมชัดเจน หรือแม้แต่ในกรอบของการลงทุน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ได้รับการยืนยันจากผู้นำระดับสูงในรัฐบาลลาวที่บอกฝากมายังอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ วงศ์ พลนิกร ว่า ต้องการนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในลาวมากที่สุดด้วยเหตุผลความเชื่อในสายใยที่ใกล้ชิดทั้งด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนทั้ง 2 ฟากฝั่งที่ใกล้ชิดกันมาก และความสำคัญด้านภูมิศาสตร์ที่ไทยเป็นแห่งเดียวที่ลาวจะสามารถใช้เป็นทางออกสู่ทะเลในการค้าขายกับนานาประเทศได้

"ผู้จัดการ" อยากจะสรุปตรงท้ายของรายงานชิ้นนี้ว่า อุปสรรคการทำธุรกิจในอินโดจีนของไทยยังดำรงอยู่มาก โดยเฉพาะในมิติของการลงทุนที่ยังไม่อาจคาดหวังอะไรมากนัก "จะมีความเป็นไปได้มากก็ด้านการค้าซึ่งกันและกันเท่านั้น" สุวิทย์ หวั่งหลี รองประธานสภาหอการค้าไทย หัวหน้าพ่อค้าไทยที่ไปเยือนเวียดนาม เมื่อต้นปีกล่าวไว้ชัดเจนถึงผลการไปเยือน ซึ่งมีนัยสำคัญถึงความหมายการยังไม่พร้อมสำหรับฝ่ายไทยเองที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการลงทุนในอินโดจีนอย่างปกติ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us